woo-youngwoo-introduces-herself

“กนก บวบ นลิน ยาย วาดดาว อูยองอู” ทำความรู้จักสไตล์การแนะนำตัวของ อูยองอู ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

“ชื่อของฉัน ไม่ว่าอ่านตามตรงหรืออ่านกลับด้านก็ยังเป็นอูยองอู”
“กนก บวบ นลิน ยาย วาดดาว อูยองอู”

ประโยคสุดเก๋และมีเอกลักษณ์ที่อูยองอูจะใช้ทุกครั้งเวลาเธอจะแนะนำตัว แต่ทุกคนรู้ไหมว่าทำไมต้องเป็น ‘กนก บวบ นลิน ยาย วาดดาว’ คำเหล่านี้หมายถึงอะไร? วันนี้ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จะพาทุกคนมาไขข้อข้องใจและทำความรู้จักกับวิธีการแนะนำตัวของอูยองอู จากซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo กัน

อันที่จริง ‘คำ’ หรือ ‘วลี’ ที่ไม่ว่าอ่านจากซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้ายก็สามารถอ่านได้เหมือนเดิม และมีความหมายคงเดิม มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า พาลินโดรม (Palindrome) ซึ่งมาจากคำภาษากรีกว่า ‘palindromos’ โดยมาจากการรวมกันของ palin (ย้อนหลัง, อีกครั้ง) + dromos (ทิศทาง) ซึ่งเมื่อก่อนชาวกรีกใช้คำนี้เพื่อพูดถึงการเดินถอยหลังของปู ต่อมา Henry Peacham นักกวีชาวอังกฤษก็เริ่มนำคำนี้มาใช้ในบริบทของคำที่อ่านได้จากหน้าไปหลังและหลังไปหน้าในปี 1638

woo-youngwoo-introduces-herself

เดิมทีคำพาลินโดรมนั้นมีการค้นพบครั้งแรกในแผ่นจารึก Sator Square ที่เขียนเป็นภาษาละตินในประโยคที่ว่า ‘Sator Arepo Tenet Opera Rotas’ โดยคาดว่ามันถูกเขียนขึ้นในปี 79 คำพาลินโดรมสามารถพบได้ในหลายภาษาทั่วโลก และในภาษาไทยก็มีคำพาลินโดรมเช่นกัน แต่มักไม่ค่อยพบคำในลักษณะที่เป็นประโยคยาวๆ เนื่องด้วยข้อจำกัดของตำแหน่งสระและวรรณยุกต์ ส่วนมากจึงพบเป็นคำสั้นๆ เช่น นอน, รรรรรร (ระ รัน รอน), กอดอก, ทายาท

ส่วนคำพาลินโดรมที่ยาวที่สุดในโลกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือคำว่า saippuakivikauppias ในภาษาฟินแลนด์ ที่แปลว่า คนขายสบู่หิน

ในทางคณิตศาสตร์ก็มีจำนวนพาลินโดรมเช่นกัน คือตัวเลขที่ดูจากหลังไปหน้าก็ได้ โดยมีค่าเท่าเดิม เช่น 2002, 12321, 72911927

ทีนี้ก็กลับเข้าสู่คำถามที่ว่าทำไมต้องเป็นชุดคำนี้ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าตามบทพูดของอูยองอูตอนแนะนำตัวในภาษาเกาหลีจริงๆ คือ 기러기 (คีรอคี) 토마토 (โทมาโท) 스위스 (ซือวีซือ) 인도인 (อินโดอิน) 별똥별 (พยอลตงพยอล) 우영우 (อูยองอู) ซึ่งหมายถึง ห่านป่า มะเขือเทศ สวิตเซอร์แลนด์ คนอินเดีย ดาวตก อูยองอู ในภาษาไทย ตามลำดับ




woo-youngwoo-introduces-herself

ด้วยเหตุนี้ หากแปลคำตามภาษาต้นฉบับมาตรงๆ ผู้ที่อ่านซับก็อาจจะไม่เข้าใจได้ว่าหมายถึงอะไร เกี่ยวข้องอะไรกัน มันดูไม่เข้ากับบริบทที่บทในภาษาต้นฉบับต้องการสื่อจริงๆ ดังนั้นผู้ที่แปลซับจึงเลือกใช้คำในภาษาของแต่ละประเทศตัวเองมาใช้แทนคำข้างต้น และสำหรับประเทศไทย ผู้แปลเลือกใช้คำว่า ‘กนก บวบ นลิน ยาย วาดดาว’ นั่นเอง เพื่อให้เข้ากับบริบทที่ว่า ไม่ว่าจะอ่านตามตรงหรืออ่านกลับด้านก็ยังเหมือนเดิม

หากเราไปดูถึงการแปลซับของภาษาอื่นๆ ก็ได้มีการปรับคำให้เข้ากับบริทบทในแต่ละภาษาด้วย เช่น ซับภาษาอังกฤษจะใช้เป็น ‘kayak, deed, rotator, noon, racecar, woo youngwoo’ ซับภาษามาเลย์จะใช้เป็น ‘malam, tomato, rotor, radar, makam, woo youngwoo’

ไม่ใช่แค่อูยองอูเท่านั้นที่มีสไตล์การแนะนำตัวเช่นนี้ เพราะในเกาหลี การเจอคนที่ชื่อสามารถอ่านตามตรงหรือกลับด้านค่อนข้างมีเป็นปกติ เพราะชื่อคนเกาหลีมักจะมีแค่ 2-3 คำ เช่น 이하이 (อีฮาอี), 윤시윤 (ยุนชียุน), 하하 (ฮาฮา) จึงทำให้ในบางครั้งเราจึงเห็นดารานักแสดงบางคนแนะนำตัวแบบเดียวกับอูยองอูเช่นกัน อาทิ จองซูจอง (คริสตัล f(x)) ในซีรีส์ More Charming by the Day (2010) หรืออีซังอี ในรายการ Problem Child in House (2018) 

จากทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาที่ไปของประโยคแนะนำตัวของอูยองอูที่ว่า ‘กนก บวบ นลิน ยาย วาดดาว อูยองอู’ ที่เราได้เห็นกันนั่นเอง

FYI:
ชื่อ ‘ยองอู’ (영우) ของอูยองอู มาจากการรวมกันของคำว่า ยอง (英) ที่หมายถึง กลีบดอกไม้หรืออัจฉริยะ กับคำว่า อู (祐) ที่หมายถึง การช่วยเหลือหรือความโชคดี เมื่อมารวมกันจึงมีความหมายว่า ‘สิ่งนำโชคที่งดงามดั่งดอกไม้’ หรือ ‘อัจฉริยะที่ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น’

เรื่องโดย ธนภัทร จันทร์เหม
อ้างอิง: examples.yourdictionary.com

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้