ออทิสติกสเปกตรัม ‘มีความรัก’ ได้จริงไหม? และประเด็นที่น่าสนใจจากซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo
Extraordinary Attorney Woo ซีรีส์กฎหมายฟีลกู๊ดที่ทำเอาแฟนๆ มีความสุขและร่วมลุ้นไปกับคดีความที่หลากหลายและน่าสนใจ มิตรภาพที่ดีระหว่างเพื่อน ปมครอบครัวที่ชวนติดตาม รวมถึงความรักของพระนางที่ผู้ชมเอาใจช่วย เรียกได้ว่าเป็นซีรีส์ที่ครบรส ฮีลใจ และมีประเด็นชวนให้ขบคิดอยู่ตลอด นั่นทำให้ซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo ได้รับความนิยมอย่างมาก และขึ้นแท่นอันดับ 7 ซีรีส์ช่องเคเบิลเกาหลีที่มีเรตติ้งสูงที่สุดอีกด้วย
โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอูยองอูและอีจุนโฮ ที่ผู้ชมคอยลุ้นและเอาใจช่วยมาตลอดทั้งเรื่อง จนในที่สุดก็ลงเอยด้วยดี พร้อมกับประโยคสารภาพรักแสนน่ารักที่เปรียบเทียบตัวเองเป็นน้องแมวและเจ้าของ
แต่นั่นคือเรื่องในละคร ถ้าหากเป็นชีวิตจริง น้องแมวและเจ้าของของมันจะยังมีความรักให้แก่กันได้ไหม?
แน่นอนว่าการ ‘มีความรัก’ ลำพังคนธรรมดายังยาก เพราะมันไม่ใช่แค่การที่คนสองคนรักกัน แต่ยังต้องปรับตัวเข้าหากัน คอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน และผลักดันกันไปในทางที่ดีขึ้น
สำหรับซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo หลายคนอาจจะมีคำถามว่าความรักของผู้มีภาวะ ‘ออทิสติก’ เป็นความรู้สึกที่แท้จริงหรือไม่ และถ้าหากออทิสติกมีความรัก จะมีประเด็นอะไรบ้างที่แตกต่างจากความรักทั่วไป
และเมื่อพร้อมแล้ว เราจะพาทุกคนไปคิด วิเคราะห์ แยกแยะกันว่า หากออทิสติกมีความรัก จะมีประเด็นไหนบ้างที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะการมีความรักของคนที่พิเศษ เรายิ่งต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษด้วย
อ่านต่อ: ออทิสติกสเปกตรัม คืออะไร? ไขข้อสงสัยในจักรวาล อูยองอู Extraordinary Attorney Woo
การสื่อสารและพฤติกรรม
คนที่มีภาวะออทิสติกจะมีความจำกัดในด้านการสื่อสารและพฤติกรรม ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การที่ยองอูกินแต่คิมบับ พูดตามผู้อื่น หรือการที่ยองอูชอบพูดถึงสิ่งที่ตัวเองสนใจ (วาฬ) ในเกือบทุกสถานการณ์จนคนอื่นต้องคอยห้ามไว้ เหล่านี้เป็นอาการทั่วไปของออทิสติก ไม่ได้เป็นผลมาจาการเลี้ยงดูหรือสภาพแวดล้อมแต่อย่างใด
“พ่อแม่หลายคนกังวลว่าลูกออทิสติกจะได้พบกับความรักหรือไม่ ฉันรู้ว่าพ่อแม่ของฉันก็มีความกังวลนั้น
“เพราะออทิสติกต้องต่อสู้กับการสื่อสารทางสังคมและอารมณ์ เราจึงไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้อย่างง่ายดาย หรือสร้างความสัมพันธ์ในวิธีเดียวกันกับคนที่มีอาการทางระบบประสาทที่คล้ายกับเรา และนั่นอาจเป็นสาเหตุหลักของความวิตกกังวลสำหรับครอบครัวของเรา และยิ่งกว่านั้นคือสำหรับตัวเราเองด้วย“ ซาร่า ลูเทอร์แมน นักข่าวและบรรณาธิการจากสหรัฐอเมริกา ผู้มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม ได้กล่าวไว้ในบทความชื่อว่า ‘บทวิจารณ์: ‘Love on the Spectrum’ นั้นอ่อนโยน แต่ไม่ใช่แบบอย่าง’ ซึ่งเป็นการวิจารณ์รายการออกเดทของคนออทิสติกชื่อว่า Love on the Spectrum ที่ออกอากาศทาง Netflix
การสื่อสารและพฤติกรรมถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ชีวิตคู่ด้วย เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นความพิเศษของออทิสติก ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไป
ออทิสติกจึงมักมีความกังวลว่าตัวเองจะปรับตัวเข้ากับคนรักได้หรือไม่ คนรักจะยอมรับในพฤติกรรมของตัวเองได้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งมีคำถามที่ว่าตัวเองจะเป็นภาระให้กับคนรักหรือไม่ ทำให้มีคนออทิสติกจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่กล้าออกเดทและกลัวที่จะมีความรัก
การหลอกลวงและฉวยโอกาส
หนึ่งในอาการของออทิสติกคือการไม่เข้าใจสีหน้าหรืออารมณ์ของผู้อื่น เหมือนกับยองอูที่มีรูปสีหน้าของพ่อที่แสดงความรู้สึกต่างๆ แปะไว้ข้างกระจก หรือการที่กือรามีสอนยองอูให้รู้จักวิธีการจับโกหก สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนออทิสติกเลยก็ว่าได้ และยังส่งผลต่อการมีความรักด้วย
ผู้ปกครองมีความกังวลเกี่ยวกับลูกที่มีภาวะ ออทิสติก ในการ มีความรัก เนื่องจากคนเหล่านี้มีความสามารถในการเข้าใจและคาดเดาสภาพจิตใจของผู้อื่นน้อยกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้ไม่สามารถรับรู้อารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของคนที่เข้าหาได้อย่างเต็มที่ เหมือนกับคดีที่ 9 ใน Extraordinary Attorney Woo ซึ่งเป็นคดีที่ชายคนหนึ่งถูกตั้งข้อหาฉวยโอกาสกับหญิงสาวที่ทุพพลภาพ ซึ่งทั้งคู่อ้างว่าเป็นคู่รักกัน แต่ผู้ปกครองของฝ่ายหญิงไม่เห็นด้วย และแจ้งความฝ่ายชายในข้อหาเสมือนข่มขืนผู้พิการ
โดยพยานที่เป็นจิตแพทย์ได้กล่าวว่า ผู้บกพร่องทางสติปัญญามีความเสี่ยงเป็นพิเศษที่จะถูกทารุณ โดยฉกฉวยผลประโยชน์จากมิตรภาพหรือแสร้งทำเป็นรัก
ในทางการแพทย์ ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับภาวะออทิสติก แต่ก็ไม่ใช่ภาวะเดียวกันทั้งหมด แต่ถึงอย่างนั้น ในภาวะออทิสติกมักพบภาวะบกพร่องทางสติปัญญาเป็นภาวะร่วมมากถึง 50-70% เลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการหวังผลประโยชน์จากคนออทิสติกด้วย ผู้ปกครองบางคนถึงขั้นฟ้องร้องลูกตัวเองที่มีภาวะออทิสติกให้เป็นคนไร้ความสามารถ เพื่อที่จะต้องมีการยินยอมจากผู้พิทักษ์ในการทำนิติกรรม อีกทั้งหากผู้ใดที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถจะไม่สามารถสมรสได้ หากฝ่าฝืน การสมรสนั้นจะถือเป็นโมฆียะอีกด้วย
ความกังวลที่จะได้รับการยอมรับ
ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะออทิสติกมากขึ้น ส่งผลให้มีการยอมรับคนที่มีภาวะนี้มากขึ้นไปด้วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธคนกลุ่มนี้อยู่เช่นกัน โดยการปฏิเสธนั้นก็ถูกแสดงออกในหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมรับเข้าสังคม การดูถูก หรือที่เราเห็นได้บ่อยคือการกลั่นแกล้ง
“ในช่วงที่ฉันเรียนมัธยมในประเทศไทย ฉันถูกข่มเหงทั้งทางร่างกายและทางคำพูดโดยเพื่อนร่วมชั้น มันรุนแรงถึงขั้นที่ว่าพ่อกับแม่ของฉันแจ้งตำรวจ สิ่งนี้เป็นผลมากจากการที่ฉันถูกตัดสินจากภายนอกในสิ่งที่ฉันเป็น” ฟ้า เพียงฝัน นาคสุขไพบูลย์ นักเรียนทุนออทิสติกไทยคนแรกที่ได้รับทุนการศึกษาปริญญาเอก สาขาแพทยศาสตร์ ที่สหราชอาณาจักร ได้กล่าวไว้บนเวที TedTalks ในหัวข้อ ‘เราทุกคนล้วนแตกต่าง’ (We are all differently)
เพราะความแตกต่างทางด้านการสื่อสารและพฤติกรรมส่งผลให้ออทิสติกส่วนมากมีความกลัวในการเข้าสังคม รวมไปถึงการมีความรักด้วย การถูกยอมรับจากสังคมนับว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับออทิสติกแล้ว การถูกยอมรับจากคนใกล้ตัวหรือครอบครัวของคนรักนับเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก
เช่นเดียวกับการที่เพื่อนบอกว่าความรักที่จุนโฮมีให้กับยองอูนั้นเป็นแค่ความเห็นใจ ไม่ใช่ความรักที่แท้จริง หรือการที่ยองอูกังวลว่าจะไม่สามารถทำให้จุนโฮมีความสุขได้ จากการที่ได้ยินคำพูดของพี่สาวจุนโฮ ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ยองอูปฏิเสธจุนโฮเลยก็ว่าได้
การมีลูก สร้างครอบครัว
ปัจจุบันยังไม่มีการระบุถึงสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะออทิสติก แต่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าภาวะออทิสติกเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองมากกว่าสิ่งแวดล้อมหรือการเลี้ยงดู และยังพบอีกว่าภาวะออทิสติกมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมสูงมาก โดยข้อสรุปนี้เป็นผลจากการศึกษาและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของโครโมโซม และพบว่ามีความเชื่อมโยงกับโครโมโซมในหลายตำแหน่งด้วย
อีกทั้งการที่มีคนในครอบครัวหรือเครือญาติมีภาวะออทิสติก หากมีลูกหรือหลานก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นออทิสติกมากกว่าครอบครัวที่ไม่มีคนที่มีภาวะนี้ โดยถึงแม้เรื่องนี้ยังไม่ถูกพูดถึงในซีรีส์ แต่ก็ถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญทีเดียวในการที่จะมีครอบครัว
“ฉันได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะออทิสติกสเปกตรัมเมื่ออายุ 39 ปี และฉันได้เห็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะออทิสติกในลูกสาววัย 2 ขวบของฉันด้วย จากการค้นคว้าของฉันได้ข้อสรุปว่าเราทั้งคู่มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม” เจน มาเลีย นักเขียนหนังสือการ์ตูนเด็กจากสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวไว้ในบทความที่มีชื่อว่า ‘ส่วนที่ดีและส่วนที่แย่ของการพบรักกับคนออทิสติกสเปกตรัม’
สำหรับคนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ การมีลูกนับว่าเป็นหนึ่งในการวางแผนครอบครัวที่สำคัญของชีวิตคู่เลยก็ว่าได้ การมีลูกของคนทั่วไปอาจจะไม่ได้ยุ่งยากมากนักหากมีความพร้อม แต่สำหรับออทิสติกนั้น การมีความพร้อมอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากมีเรื่องของภาวะออทิสติกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร
ถึงแม้ประเด็นเหล่านี้จะทำให้การมีความรักของออทิสติกเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ อย่างอูยองอูได้เจอคนที่แม้จะเหงาบ้างบางครั้ง แต่ก็มีความสุขที่ได้อยู่ด้วยอย่างอีจุนโฮ, ซาร่า ลูเทอร์แมน ที่หมั้นในเดือนสิงหาคม ปี 2020, ฟ้า เพียงฝัน ที่เข้าพิธีแต่งงานกับแฟนสาวเมื่อเดือนเมษายน ปี 2021 และ เจน มาเลีย ที่ตอนนี้มีลูกที่น่ารัก 3 คนในครอบครัวที่แสนอบอุ่น
สำหรับบางคนที่ยังมีความคิดว่าออทิสติกไม่สามารถมีความรักได้นั้น อยากให้ลองเปลี่ยนมุมมอง และเปิดใจดูว่าออทิสติกเป็นความหลากหลายอย่างหนึ่ง ซึ่งโลกทุกวันนี้ก็มีการยอมรับความหลากหลายเหล่านี้มากขึ้นแล้ว
ดังนั้นการที่ออทิสติกสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป ถ้าหากพวกเขาจะมีความรัก หรือความสัมพันธ์เชิงชู้สาว ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร
การที่ใช้ชื่อว่า ‘สเปกตรัม’ ซึ่งมีความหมายว่า คลื่นความถี่ มาจากคลื่นความถี่ที่หลากหลาย ส่งผลให้ออทิสติกมีอาการที่หลากหลายตามไปด้วย มากไปกว่านั้น พวกเขายังมีคำเรียกแทนความหลากหลายทางเพศของตัวเองด้วยเช่นกัน นั่นก็คือคำว่า ‘ออทิเจนเดอร์’ (autigender) และ ‘ออทิเควียร์’ (autiqueer) ทั้งสองคำนี้ช่วยบ่งบอกถึงภาวะออทิสติกและอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา นั่นคือการที่คนออทิสติกไม่นิยามว่าตัวเองเป็นเพศไหน และไม่จำกัดว่าต้องมีความรักกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น
ใครก็ต้องการความรักกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะคนทั่วไปหรือคนที่มีความพิเศษ การมีภาวะออทิสติกหรือมีข้อจำกัดอาจเป็นอุปสรรค แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางการมีความรักของคนสองคนได้ และคงไม่มีอะไรที่สามารถการันตีได้ว่าความรักของสองคนนั้นเป็นความรักที่แท้จริงหรือไม่ แต่หากการที่ใครสักคนได้เจอคนที่ดี ยอมรับในตัวเรา และพร้อมจะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปด้วยกัน การมีความรักก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี
เรื่องโดย ธัญฐรัตน์ โกมลวัฒน์
อ้างอิง: www.spectrumnews.org, th.rajanukul.go.th, cdc.parliament.go.th, www.youtube.com, www.nytimes.com, www.bbc.com