autism-spectrum-disorder-extraordinary-attorney-woo

ออทิสติกสเปกตรัม คืออะไร? ไขข้อสงสัยในจักรวาล อูยองอู Extraordinary Attorney Woo

หลังจากที่ดูซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo หลายๆ คนอาจมีข้อสงสัยได้ว่า ออทิสติกสเปกตรัม คืออะไร หรือการเรียกแค่ว่า ‘สเปกตรัม’ มีความต่างหรือเหมือนออทิสติกโดยทั่วไปหรือไม่ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส ได้รวบรวมคำตอบมาให้ทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน

autism-spectrum-disorder-extraordinary-attorney-woo

ออทิสติกสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) เป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องทางสมองที่ส่งผลต่อพัฒนาการทั้งด้านการสื่อสาร การใช้ภาษา และสังคม คำว่าออทิสติกมาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า autós ซึ่งแปลว่า ลำพัง หรือการแยกตัวอยู่ลำพังในโลกของตนเอง 

แรกเริ่มเดิมที ออทิสติกเป็นกลุ่มอาการที่โลกได้ทำความรู้จักครั้งแรกโดย นายแพทย์ลีโอ เคนเนอร์ ในปี 1943 ที่กล่าวถึงอาการของเด็กที่ไม่ตอบสนองต่อการเรียก โดยมักจะแยกตัวอยู่ลำพัง และงานวิจัย Autism Psychopathy ของนายแพทย์ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ ในปี 1944 หมายถึงอาการทางจิตที่มักแยกอยู่ลำพัง ซึ่งฟังจากชื่อแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องที่รุนแรงมากทีเดียว

อย่างที่อูยองอูได้กล่าวไว้ “ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ คนแรกที่ค้นคว้าเกี่ยวกับออทิสติก และเป็นแนวร่วมนาซี งานของเขาคือการจำแนกเด็กที่ควรค่าและไม่ควรค่าแก่การมีชีวิตอยู่ และตามแนวคิดของนาซี ผู้ไม่ควรค่าแก่การมีชีวิตคือผู้พิการ ผู้ป่วยโรคร้าย หรือผู้ป่วยทางจิต ซึ่งรวมถึงผู้ที่เป็นออทิสติก ที่เมื่อ 80 ปีก่อน ออทิสติกก็เป็นโรคที่ไม่ควรค่าแก่การมีชีวิตอยู่”

ซึ่งในทุกวันนี้ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดขึ้นของอาการออทิสติก แต่มีเหตุผลที่รองรับว่าเกิดจากความผิดปกติที่มาจากสมองมากกว่าที่จะมาจากการเลี้ยงดูหรือสภาพแวดล้อม ออทิสติกอาจจะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องร้ายแรงมากในอดีต แต่ก็มีความพยายามในการศึกษาเรื่อยมา และจัดกลุ่มอาการให้สามารถทำการรักษาให้เหมาะสมกับกลุ่มอาการแต่ละประเภท




autism-spectrum-disorder-extraordinary-attorney-woo

ในปี 1994 ออทิสติกจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Pervasive Developmental Disorders (PDD) ซึ่งหมายถึงความผิดปกติในด้านพัฒนาการในหลากหลายด้าน ตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับที่ 4 (DSM-IV, 1994) และปรับปรุงในปี 2000 (DSM-IV-TR, 2000) ซึ่งจัดแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 กลุ่มย่อย ได้แก่

– ออทิสติก (Autistic Disorder) 
แอสเพอเกอร์ (Asperger’s Disorder)
เรทท์ (Rett’s Disorder)
ซีดีดี (Childhood Disintegrative Disorder) หรือความถดถอยทางพัฒนาการเด็ก
พีดีดี เอ็นโอเอส (Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified) หรือความผิดปกติด้านพัฒนาการในหลากหลายด้านที่ไม่เข้าเกณฑ์อื่นๆ ข้างต้น

ต่อมาในปี 2013 สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับที่ 5 (DSM-5, 2013) ได้มีการจัดกลุ่มอาการออทิสติกใหม่ โดยเรียกรวมอาการออทิสติกมีอาการทั้งหมดที่ตรงตามเกณฑ์ว่า Autism Spectrum Disorder หรือออทิสติกสเปกตรัม ซึ่งแบ่งเกณฑ์ออกเป็น 2 ข้อใหญ่ๆ ได้แก่

1. บกพร่องอย่างชัดเจนในการสื่อสารทางสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Communication and Social Interaction) 

2. มีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัดซ้ำๆ (Restricted, Repetitive Patterns of Behavior, Interest or Activities)

autism-spectrum-disorder-extraordinary-attorney-woo

ออทิสติกสเปกตรัม คือชื่อใหม่อย่างเป็นทางการในการวินิจฉัยกลุ่มอาการที่ลักษณะอาการตรงกับเกณฑ์ทั้งสองข้อข้างต้น และจะไม่มีการแบ่งประเภทย่อยๆ ออกไป แต่จะแบ่งระดับความรุนแรงออกเป็นทั้งหมด 3 ขั้น ได้แก่

ขั้นที่หนึ่ง รู้จักกันในกลุ่มอาการแอสเพอเกอร์ (Asperger’s Syndrome) ซึ่งถือว่าเป็นขั้น High-Funtioning Autism คือไม่มีปัญหาด้านสติปัญญา หรืออาจจะมีระดับสติปัญญาสูงกว่าปกติ แต่จะมีปัญหาในด้านการสื่อสาร การสร้างหรือสานต่อความสัมพันธ์ส่วนตัว 

ออทิสติกสเปกตรัม ขั้นที่หนึ่ง จะพบปัญหาพฤติกรรมที่ไม่ยืดหยุ่น เช่น การสับเปลี่ยนระหว่างงานที่ทำ การวางแผน การจัดระเบียบอยู่เสมอ อย่างเช่น อูยองอู จาก Extraordinary Attorney Woo (2022) และฮันกือรู จาก Move to heaven (2021) รวมถึงนักกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศชาวสวีเดน เกรต้า ธันเบิร์ก ก็ถูกวินิจฉัยในกลุ่มอาการแอสเพอเกอร์ (Asperger’s Syndrome) เช่นกัน

ฮันกือรู จากซีรีส์ Move To Heaven




ขั้นที่สอง จะพบพฤติกรรมซํ้าๆ หรือการแสดงออกทางสื่อสารมากกว่าขั้นที่หนึ่ง โดยจะมีปัญหาทั้งในการสื่อสารที่ใช้ภาษาและอวัจภาษา รวมถึงอาจจะมีการตอบสนองที่น้อยลง หรือตอบสนองที่ผิดแปลกไปจากปกติ ซึ่งออทิสติกสเปกตรัมขั้นที่สองนี้จะพบปัญหาในการรับมือกับพฤติกรรมที่ไม่ยืดหยุ่น เช่น  การเปลี่ยนแปลงกิจวัตร ที่มากกว่าขั้นที่หนึ่งแบบเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น 

ขั้นที่สาม ถือเป็นขั้นที่รุนแรง ซึ่งคนทั่วๆ ไปมักจะเห็นเป็นภาพจำของออทิสติก โดยผู้มีอาการจะมีความสามารถในการพูดให้เข้าใจตํ่ามาก หรืออาจจะไม่พูดโต้ตอบเลย การสื่อสารกับผู้อื่นเป็นไปอย่างจำกัด รวมถึงการตอบสนองด้วยเช่นกัน ออทิสติกสเปกตรัมขั้นที่สามจะแสดงออกในการตอบโต้ผู้อื่นผิดปกติแบบเห็นได้ชัด หรือตอบสนองเพื่อความต้องการในทันทีของตัวเองเท่านั้น

ออทิสติกสเปกตรัมขั้นที่สามจะไม่มีการยืดหยุ่นทางพฤติกรรมเลย และมีปัญหาอย่างมากในความเปลี่ยนแปลงของกิจวัตร มีพฤติกรรมที่จำกัดและซํ้าซาก อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงความจดจ่อจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่งอาจก่อปัญหาทุกข์ใจและยุ่งยากเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาการหนึ่งที่มักจะพบในผู้เป็นออทิสติก เรียกว่า กลุ่มอาการซาวองต์ (Savant Syndrome) เป็นกลุ่มอาการหายาก ซึ่งด้านหนึ่งจะแสดงออกถึงความเป็นอัจฉริยะ ส่วนใหญ่พบว่ามีความจำแบบพิเศษ (Memory Ability) ที่สามารถจดจำข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ และตัวเลข ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะแสดงออกถึงความอัจฉริยะเฉพาะด้าน อาทิ คณิตศาตร์ ดนตรี ศิลปะ ฯลฯ

ตัวละครหนึ่งที่สะท้อนกลุ่มอาการนี้ได้ชัดเจนก็คือ พัคชีอน จากซีรีส์ Good Doctor (2013) เขาสามารถจดจำรายละเอียดต่างๆ ด้านการแพทย์ในแบบที่คนทั่วไปไม่สามารถทำได้ แต่ถึงอย่างไร กลุ่มอาการซาวองต์ก็ไม่ได้เกิดแค่ในผู้เป็นออทิสติกเท่านั้น แต่สามารถพบได้ในคนปกติทั่วไปได้เช่นกัน

พัคชีอน จากซีรีส์ Good Doctor

ถึงแม้ออทิสติกสเปกตรัมเป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน แต่ออทิสติกสเปกตรัมในขั้นที่หนึ่ง หรือที่มักจะถูกเรียกว่ากลุ่มอาการแอสเพอเกอร์ สามารถพัฒนาให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติ เพียงแค่พวกเขาแสดงออกแตกต่างจากผู้อื่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างที่อูยองอูกล่าว “ฮานส์ แอสเพอเกอร์ คิดว่าออทิสติกมีด้านที่ดีอยู่ ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งที่ผิดแผกและผิดปกติ จะต้องด้อยกว่าเสมอไป เด็กออทิสติกอาจจะสร้างผลงานที่น่าทึ่งในอนาคต ด้วยวิธีการคิด และประสบการณ์ใหม่ๆ”

Extraordinary Attorney Woo พยายามจะบอกกับเราว่า อย่าตัดสินเพียงแค่มีคำว่าออทิสติก หรือมองภาพเกี่ยวกับผู้เป็นออทิสติกว่าจะเป็นเหมือนกันไปทั้งหมด แต่เหมือนอย่างที่อูยองอูพูด “เช่นเดียวกับคำว่าสเปกตรัม คนที่มีอาการออทิสติกก็มีหลากหลายเช่นกัน” การที่ใช้ชื่อสเปกตรัมมาจากการที่สเปกตรัม หรือคลื่นความถี่ที่หลากหลาย ผู้มีอาการออทิสติกสเปกตรัมย่อมมีอาการที่หลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละคนนั่นเอง

เรื่องโดย ธนัชชา เหมืองหม้อ
อ้างอิง: verywellhealth.com, happyhomeclinic.com, ssmhealth.com, theplaceforchildrenwithautism.com

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้