twenty-five-twenty-one

Twenty-Five, Twenty-One เรียนวิชา ‘ฟันดาบ’ กีฬาสุดฮอตที่พาเกาหลีคว้าเหรียญทองโอลิมปิก

Twenty-Five, Twenty-One ซีรีส์โรแมนติก-คอเมดี้ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตของวัยรุ่น ทั้งความรัก ความฝัน และการเติบโต ผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 1998 ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้ นาฮีโด (รับบทโดย คิมแทรี) สมาชิกชมรม ‘ฟันดาบ’ ที่ชีวิตกำลังไปได้ดี ต้องกลับมาคิดทบทวนความฝันของตัวเองใหม่ เนื่องจากพิษเศรษฐกิจทำให้ชมรมต้องปิดตัวลง ในขณะที่ชีวิตของ แบคอีจิน (รับบทโดย นัมจูฮยอก) ก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากหนุ่มรูปหล่อบ้านรวย กลายเป็นต้องดิ้นรนทำงานพาร์ตไทม์เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว 

ถึงแม้โลกจะส่งบททดสอบชีวิตมาให้อย่างหนักหน่วง แต่ในปีเดียวกันนั้น นาฮีโดและแบคอีจินได้พบกันเป็นครั้งแรก อาจเรียกได้ว่าเป็นความโชคดีในโชคร้าย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวที่ต่างต้องตามล่าความฝัน

twenty-five-twenty-one

นอกเหนือไปจากกลิ่นอายของวันวานในยุค 90 ที่สร้างแรงดึงดูดให้ผู้ชมได้ย้อนกลับไปในอดีตพร้อมกับตัวละครแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือซีรีส์เรื่อง Twenty-Five, Twenty-One ได้หยิบยกกีฬา ‘ฟันดาบ’ มาเป็นประเด็นสำคัญที่่จะทำให้ผู้ชมเห็นถึงการพัฒนาของตัวละครนาฮีโด และความทุ่มเทจนได้กลายเป็นนักกีฬาฟันดาบทีมชาติในตอนอายุ 21 ปี

ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จึงได้ลองสวมบทบาทแฟนกีฬาตัวยงเพื่อทำการบ้านเพิ่มเติม และพบว่ามีเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้ทุกคนดูซีรีส์เรื่องนี้ได้อย่างเข้าใจและสนุกไปกับลีลาการฟันดาบของนาฮีโดและโกยูริม สองสาวจากชมรมฟันดาบของโรงเรียนมัธยมแทยัง




twenty-five-twenty-one

1896 ต้นกำเนิดกีฬาฟันดาบ

ต้นกำเนิดของกีฬาฟันดาบ (Fencing) เริ่มมาจากการฝึกฝนของทหาร และได้กลายเป็นกีฬาในประเทศอิตาลีและเยอรมนีในช่วงศตวรรษที่ 14 จากนั้นกีฬาชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในช่วงศตวรรษที่ 17-18 เนื่องจากความก้าวหน้าของวิทยาการในการประดิษฐ์ดาบที่มีลักษณะแบน แต่ปลายกลม เกิดเป็นดาบชนิดแรกที่เรียกว่า ‘ฟอยล์’ (fleure) มีการทำหน้ากากสำหรับสวมใส่ และสร้างกติกาการทำแต้มอย่างจริงจัง ในที่สุดกีฬาฟันดาบก็ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในกีฬาถาวรของโอลิมปิกปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

กีฬาฟันดาบเป็นหนึ่งในกีฬายอดฮิตของประเทศแถบยุโรป แต่ในเอเชีย กีฬาชนิดนี้กลับไม่ได้รับความนิยมในช่วงแรก ด้วยค่าใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์ที่ค่อนข้างแพง ทำให้กีฬาชนิดนี้จะเล่นกันเฉพาะกลุ่มคนมีฐานะ

การแข่งขันกีฬาฟันดาบในโอลิมปิก ปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

แล้วเกาหลีกลายเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของกีฬาฟันดาบได้อย่างไร?

ในเกาหลีมีสมาคมที่ชื่อว่า Korean Fencing Federation ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1947 (ชื่อเดิมคือ Chosun Fencing Federation) เป็นองค์กรที่คอยสนับสนุนและเผยแพร่วัฒนธรรมของกีฬาฟันดาบ อีกทั้งยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนานักกีฬาทีมชาติสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก 

จนในปี 2000 คิมยองโฮ นักกีฬาฟันดาบสัญชาติเกาหลี ก็คว้าเหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิกที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้สำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการกีฬาของเกาหลี 

หลังจากนั้น SK Telecom จึงเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนและบ่มเพาะให้เกาหลีมีนักกีฬาทีมชาติที่แข็งแกร่ง สามารถทำผลงานได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ในการแข่งขันหลายเวที และกลายเป็นประเทศที่น่าจับตามองมาจนถึงปัจจุบัน

จากโปสเตอร์เดี่ยวของนาฮีโดในซีรีส์ Twenty-Five, Twenty-One ที่ทาง tvN ได้ปล่อยออกมา นอกจากองค์ประกอบที่แสดงถึงความเป็นยุค 90 อย่างเทปและหูฟังมีสายนั้น เรายังแอบสังเกตเห็นด้ามจับของดาบที่นาฮีโดใช้ว่าเป็นดาบแบบ ‘เซเบอร์’ (saber) ซึ่งโดยปกติแล้วดาบที่ใช้ในกีฬาฟันดาบจะแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ฟอยล์ (fleure) เอเป้ (épée) และเซเบอร์ (sabre) ซึ่งดาบแต่ละแบบก็จะมีลักษณะ กติกา และวิธีการนับแต้มที่แตกต่างกันออกไป




twenty-five-twenty-one
ดาบฟอยล์ (fleure) เอเป้ (épée) และเซเบอร์ (sabre)

กติกาของการแข่งขันกีฬาฟันดาบประเภทเซเบอร์จะมีจุดทำคะแนนอยู่ที่บริเวณหัวและลำตัว โดยนักกีฬาหรือเฟนเซอร์ (Fencer) สามารถใช้ดาบทั้งเล่มในการทำคะแนน (ต่างจากฟอยล์และเอเป้ที่สามารถใช้ได้แค่ปลายดาบเท่านั้น)

จุดทำคะแนนของดาบฟอยล์ (fleure) เอเป้ (épée) และเซเบอร์ (sabre)

และเมื่อดูซีรีส์ให้ซีเรียสได้ค้นข้อมูลลึกลงไปก็พบกับความน่าประหลาดใจของกีฬาชนิดนี้ คือการที่เราแตะบริเวณทำคะแนนของฝ่ายตรงข้ามก่อน ไม่ได้แปลว่าเราจะได้คะแนน แต่จะต้องดู Priority หรือ Right of Way ซึ่งเป็นสิทธิความได้เปรียบของนักกีฬาฝ่ายที่โจมตีเป็นคนแรก

– ถ้าดาบของเขาสัมผัสบริเวณหัวหรือลำตัวของฝ่ายตรงข้ามก็จะสามารถทำคะแนนได้ 

– แต่ถ้าหากไม่สามารถโจมตีได้สำเร็จ หรือฝ่ายตรงข้ามป้องกันการทำคะแนนของคนที่มี Priority ได้ สิทธินี้จะถูกย้ายไปยังฝ่ายตรงข้ามและเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ 

– ต่อสู้เช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้ถึง 15 คะแนน

แน่นอนว่าเวทีการแข่งขันระดับโลกเป็นความฝันสูงสุดของนักกีฬาทุกคน รวมถึงนาฮีโด ในซีรีส์ Twenty-Five, Twenty-One เองด้วย เพราะกว่าจะมาถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เธอต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจกับการฝึกฝนตั้งแต่ช่วงมัธยม เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมนาฮีโดไม่ละทิ้งความพยายาม ถึงแม้จะมีอุปสรรคอย่างวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ไม่อาจทำลายความฝันที่อยากจะเป็นนักกีฬาฟันดาบทีมชาติได้

หากเนิร์ดซีรีส์คนไหนอยากก้าวเข้าสู่วงการฟันดาบ เราขอแนะนำคลิปอธิบายกติกาการแข่งขันฟันดาบแบบเซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในซีรีส์ Twenty-Five, Twenty-One เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น

ขอเตือนไว้เลยว่าซีรีส์เรื่องนี้จะทำให้เราหลงรักกีฬาฟันดาบแบบไม่รู้ตัวอย่างแน่นอน เพราะตอนนี้ทางเราก็หยิบกระบี่กระบองมากำ พร้อมวาดลวดลายไปกับฮีโดแล้ว

ตัวอย่างซีรีส์ Twenty-Five, Twenty-One

เรื่องโดย อภิชญา จิราพงษ์

อ้างอิง: namu.wiki, olympics.com, hankyung.com, fencing.sports.or.kr

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้