Thirty-Nine กับ The Piano Concerto No.2 ของรัคมานินอฟ ศูนย์พักพิงใจในวันที่ไม่เหลือใคร
สำหรับ Thirty-Nine EP.5 ได้เน้นย้ำถึงความหมายของเพลง The Piano Concerto No.2 จนทำให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นรายละเอียดในเรื่องราว แม้เนื้อเรื่องหลักยังคงบอกเล่าถึงการช่วยให้ชานยองได้มีชีวิตที่เหลือทุกวันอย่างคุ้มค่าและมีความสุขที่สุด ในขณะเดียวกัน ซีรีส์ยังค่อยๆ เปิดเผยเรื่องราวของคนรอบข้างชานยองไปพร้อมๆ กัน
และใน EP.5 เราจึงเริ่มเห็นแบ็กกราวด์ของมีโจ เด็กสาวจากบ้านเด็กกำพร้าที่กว่าจะโชคดีได้มาเจอครอบครัวแสนอบอุ่น เธอต้องผ่านการโดนปฏิเสธและส่งตัวกลับสถานสงเคราะห์อนนูรีมาหลายครั้ง ดังนั้น The Piano Concerto No.2 จึงเป็นเหมือนตัวแทนชีวิตของมีโจได้เป็นอย่างดี
ทั้งชื่อตอนและบทพูดของตัวละครใน EP.5 มีการกล่าวถึงเพลงที่เป็นมาสเตอร์พีซของ รัคมานินอฟ ศิลปินมากความสามารถผู้อยู่เบื้องหลังบทเพลง Piano Concerto No.2 ไม่ได้มีแค่ความไพเราะหรือมอบความรู้สึกอบอุ่นอย่างที่มีโจรู้สึก แต่เบื้องหลังของการแต่งเพลงนี้กลับแฝงความหมายไว้อย่างลึกซึ้งจากประสบการณ์ชีวิตของรัคมานินอฟ ที่สามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดในชีวิตจนกลายมาเป็นนักแต่งเพลงคลาสสิกสุดอัจฉริยะที่สร้างผลงานทรงคุณค่าแก่คนรุ่นหลังไว้มากมาย
ทั้งมีโจและโซวอน ต่างก็เคยหรือกำลังเป็นคนที่แตกสลายถึงขีดสุด แต่ในวันหนึ่ง หากพวกเธอได้พบที่พักใจอันอบอุ่นโอบกอดเอาไว้ เราเชื่อว่าบาดแผลในใจจะค่อยๆ จางหาย
**แนะนำให้กดฟังเพลงนี้ไปด้วยระหว่างอ่านบทความเพื่อเพิ่มความอบอุ่น
รัคมานินอฟ ศิลปินตัวจริงผู้อยู่เบื้องหลังเพลง Piano Concerto No.2
รัคมานินอฟ ศิลปินชาวรัสเซีย เกิดเมื่อปี 1873 ในตระกูลอันสูงศักดิ์ที่รับใช้กษัตริย์ผู้ปกครองรัสเซียมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 พ่อและแม่ของเขาเป็นนักเปียโนมือสมัครเล่น รัคมานินอฟจึงได้รับอิทธิพลในการเล่นเปียโนมาจากพ่อและแม่ แต่การจะเป็นนักดนตรีที่เก่งกาจ แค่ความชื่นชอบอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ รัคมานินอฟยังเป็นคนที่มีพรสวรรค์ด้านเทคนิคและจังหวะที่เหนือชั้น เขาสามารถเล่นเพลงที่มีองค์ประกอบซับซ้อนได้หลังจากได้ยินเพียงแค่ครั้งเดียว ประกอบกับมือของเขาที่มีขนาดใหญ่ทำให้เขาสามารถกดโน้ตเปียโนได้มากกว่าคนทั่วไป เหล่านักเปียโนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าผลงานเพลงของรัคมานินอฟเป็นงานหินที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนมากทีเดียว
ถึงแม้ว่ารัคมานินอฟจะเกิดในครอบครัวที่มีฐานะ แต่ชีวิตของเขากลับไม่ได้ราบรื่นเอาเสียเลย เพราะแทบจะทั้งชีวิตของเขาต้องจมอยู่กับภาวะซึมเศร้าซึ่งสั่งสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เมื่อตอนที่เขาเริ่มเล่นเปียโนอาชีพในปี 1894 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเอง ไชคอฟสกี (Tchaikovsky) ศิลปินผู้เป็นเหมือนต้นแบบของรัคมานินอฟได้เสียชีวิตลง นั่นทำให้เขารู้สึกหมดกำลังใจในการแต่งเพลงและไม่มีความสุขในการเล่นเปียโนอีกต่อไป เส้นทางอาชีพของเขาจึงหยุดชะงักไปชั่วครู่
รัคมานินอฟได้เข้ารับการรักษาภาวะซึมเศร้าอย่างที่ควรจะเป็น เขารับรู้ จัดการกับมัน และพยายามที่จะก้าวผ่านความรู้สึกเศร้าในใจ แต่แล้วชีวิตกลับเล่นตลกอีกครั้ง เมื่อ Symphony No.1 ได้จัดแสดงขึ้นในปี 1897 ผลงานชิ้นนี้ไม่ค่อยเป็นที่พอใจของผู้ชมเท่าไรนัก มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงจนทำให้เขากลายเป็นโรคซึมเศร้าอย่างจริงจังถึงขั้นแต่งเพลงไม่ได้ไปอีก 3 ปี กล่าวกันว่าการแสดง Symphony No.1 เป็นเหมือนเพลงต้องคำสาป เราจึงไม่ค่อยเห็นวงซิมโฟนีนำเพลงนี้มาบรรเลง
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น รัคมานินอฟก็ได้เข้ารับการรักษากับ นิโคไล ดาห์ล (Nicolai Dahl) จิตแพทย์บำบัด ด้วยการใช้วิธีสะกดจิตให้เขาเริ่มแต่ง Concerto และตอกย้ำว่าผลงานชิ้นนี้ของเขาจะประสบความสำเร็จ การรักษาครั้งนี้สามารถกู้คืนความเชื่อมั่นในตนเอง พร้อมทั้งเป็นแรงผลักดันให้เกิดเป็นบทเพลง Piano Concerto No.2 ที่รัคมานินอฟแต่งให้ดาห์ล เพื่อขอบคุณที่รักษาและคอยปลอบประโลมเขาในวันที่ไม่เหลือใคร ซึ่งก็ถือเป็นผลงานชิ้นเอกที่สร้างชื่อเสียงให้เขาได้กลับมายืนในฐานะนักแต่งเพลงและนักเปียโนได้อย่างสง่าอีกครั้ง
‘Piano Concerto No.2 ของรัคมานินอฟ’ กับชามีโจ
ชีวิตของชามีโจมีความคล้ายคลึงกับรัคมานินอฟมาก นี่คงเป็นสาเหตุว่าทำไมเมื่อได้ฟังเพลงนี้แล้ว เธอจึงรู้สึกอบอุ่น ทั้งๆ ที่ไม่เคยฟังมาก่อน ราวกับเพลงนี้แต่งมาเพื่อเธอโดยเฉพาะ
ก่อนหน้าที่มีโจจะมาเจอครอบครัวที่ให้ความรักและความอบอุ่นราวกับเธอเป็นลูกแท้ๆ เหมือนทุกวันนี้ ชีวิตในวัยเด็กของมีโจก็เป็นเหมือนเพลง Symphony No.1 ที่แสดงถึงช่วงมรสุมของชีวิต การต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าที่ไม่รู้ว่าแม่แท้ๆ ของตัวเองอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าใครจะเป็นคนรับเราไปเลี้ยง และที่สำคัญคือการรู้สึกว่าครอบครัวที่รับอุปการะนั้นไม่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางใจให้เธอได้เลย เด็กผู้หญิงคนหนึ่งจึงต้องเจอกับเรื่องร้ายๆ ที่สร้างบาดแผลภายในใจมานับไม่ถ้วน
แต่เมื่อมีโจได้มาเจอกับครอบครัวชา ก็เหมือนเธอได้พบกับ Piano Concerto No.2 ของตนเอง มีโจรู้สึกว่าคนในบ้านหลังนี้พร้อมจะโอบกอดเธอในวันที่รู้สึกเคว้งคว้างและไม่เหลือแรงจะสู้ ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะในตอนเด็กที่มีโจได้สัมผัสถึงคำว่าครอบครัวเป็นครั้งแรก จวบจนวันที่ทุกอย่างพังครืนจากการรับรู้ข่าวร้ายของชานยอง ก็เป็นครอบครัวชาที่อยู่เคียงข้างมีโจเสมอมา
การเคยเป็นเด็กกำพร้าที่อยู่ในสถานสงเคราะห์มาก่อน ทำให้มีโจเข้าใจความรู้สึกของโซวอนเป็นอย่างดี เธอรู้ดีว่าชีวิตไม่มีอะไรเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจได้ และรู้ดีว่าการถูกปฏิเสธจากคนที่รับอุปการะไปเลี้ยงนั้นเจ็บปวดแค่ไหน มันจึงไม่แปลกที่มีโจจะขอเป็นรัคมานินอฟของโซวอน เพียงเพื่อให้เด็กคนนี้มีที่พึ่งทางใจไว้แวะพักให้คลายความอ่อนล้า ก่อนที่จะใช้ชีวิตต่อไป
ทั้งมีโจและโซวอนต่างก็เคยหรือกำลังเป็นคนที่แหลกสลายถึงขีดสุด แต่ถ้าเกิดวันหนึ่งได้เจอบางอย่างที่สามารถเป็นที่พักใจหรือสิ่งที่เยียวยาแผลใจแล้ว เราเชื่อว่าในที่สุดบาดแผลในใจจะค่อยๆ สมาน และถึงแม้มันจะทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้ดูต่างหน้าว่าอดีตของเราเคยเป็นอย่างไร แต่มันจะไม่เจ็บปวดอีกต่อไปแล้ว
สำหรับใครที่กำลังเจ็บปวดหรืออยู่ในช่วงมรสุมชีวิต เราได้รวมเพลย์ลิสต์เพลงคลาสิกของรัคมานินอฟมาให้แล้ว ลองหลับตาฟังและปล่อยให้รัคมานินอฟโอบกอดคุณเอาไว้ แล้วทุกๆ อย่างจะดีขึ้นเอง 🙂
เรื่องโดย อภิชญา จิราพงษ์