แมทธิว กรีน Move to Heaven การเติบโตที่ไร้รากของเด็กเกาหลีบนแผ่นดินอเมริกา
ซีรีส์ Move to Heaven อีพี 9 เป็นเรื่องราวของ แมทธิว กรีน หรือชื่อเกาหลีว่า คังซองมิน เขาเกิดที่เกาหลี ได้รับอุปการะจนเติบโตเป็นอเมริกันชน และเมื่อพบว่าตัวเองถูกผลักดันออกจากอเมริกาเพราะครอบครัวอุปถัมภ์ไม่ได้ช่วยเหลือทางด้านเอกสารและกฎหมาย เขาจึงเดินทางกลับมาเกาหลีเพื่อตามหา ‘บ้าน’ ที่แท้จริง
เขาใช้เวลา 4 ปีเรียนภาษาเกาหลี หางานทำ และตามหาแม่ผู้ให้กำเนิด แต่เขาไม่ได้มีสถานะเป็นพลเมืองเกาหลี ยิ่งพูดภาษาเกาหลีไม่ได้ เขาก็ไม่ได้รับการยอมรับให้กลับเข้าสังคม หรือกระทั่งมีสิทธิในการเป็น ‘คนเกาหลี’ สถานะของแมทธิวจึงอยู่ในสุญญากาศ ทั้งที่ยืนอยู่บนแผ่นดินแม่ผู้ให้กำเนิด
มันเป็นเรื่องที่แสนเศร้า ซึ่งยิ่งย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์แล้วจะพบความจริงที่ชวนให้โมโหโลกที่บิดเบี้ยวใบนี้
– ตั้งแต่สงครามเกาหลี (ปี 1950-1953) เด็กจากเกาหลีมากกว่า 200,000 คน ถูกส่งไปเป็นบุตรบุญธรรมทั่วโลก
– โดยมีเด็กเกาหลีส่งไปที่อเมริกาถึง 110,000 คน
– เด็กแต่ละคนมีหมายเลขประจำตัว เช่น K85-160 พร้อมข้าวของเล็กน้อยติดตัวไป ส่วนมากจะเป็นภาพถ่ายตอนเป็นทารก
– เฉพาะปี 1985 มีข้อมูลว่าเกาหลีส่งเด็กออกไปทั้งสิ้น 8,800 คน หรือเฉลี่ยวันละ 24 คน
ในหนังสือ To Save the Children of Korea: The Cold War Origins of International Adoption โดยผู้เขียน Arissa H. Oh อาจารย์ประวัติศาสตร์จาก Boston College ได้ทำการสำรวจลงลึกในประวัติศาสตร์ว่าอะไรคือบริบททางวัฒนธรรม ความเชื่อ การเมืองในเกาหลีใต้ รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่ทำให้เกาหลีใต้ได้ชื่อว่า ‘เป็นผู้ส่งออกเด็กอันดับหนึ่งของโลก’
ตั้งแต่สงครามเกาหลีจนถึงปลายยุค 90 เกาหลีใต้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกเด็ก (Exportation of Babies) เด็กจากเกาหลีมากกว่า 200,000 คนถูกส่งไปเป็นบุตรบุญธรรมในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอเมริกาที่มีการส่งเด็กไปถึง 110,000 คน
หากย้อนไปไล่เลียงตามประวัติศาสตร์แล้ว ในยุค 50 เด็กกำพร้าเกาหลีที่ถูกส่งออกไปต่างประเทศ จะถูกแบ่งเป็นสองแบบคือ เด็กกำพร้าที่พ่อแม่ไม่ต้องการ และเด็กที่เป็นลูกครึ่งของทหาร GI (GI Babies)
ซึ่งสังคมเกาหลีจะตีความว่าเด็กลูกครึ่งทหาร GI Babies เกิดจากหญิงขายบริการ นอกจากสังคมไม่ยอมรับ รัฐเองก็ทอดทิ้งเขาในฐานะที่ทำให้เชื้อชาติเกาหลีแปดเปื้อน ดังนั้นจึงไม่มีที่ทางไหนให้ GI Babies จะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เท่ากับการส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา ประเทศที่คอยหนุนหลังเกาหลีใต้ระหว่างสงคราม โดยในฟากฝั่งอเมริกาเองก็มีการสร้างกระแสว่าการรับเด็กเกาหลีมาเลี้ยงคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ต้องเผชิญความยากลำบากจากภาวะสงคราม
ตั้งแต่ยุค 50 อเมริกาเริ่มมีองค์กรในการอุปการะเด็กเกาหลีมากมาย โดยองค์กรแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในอเมริกาก็คือ Holt International เป็นองค์กรที่ทำให้การส่งเด็กเกาหลีไปอเมริกากลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้นับล้านดอลลาร์ ซึ่ง Holt International เองก็มีเอเจนซี่อยู่ในเกาหลี คอยดูแลผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ที่ยังไม่ได้แต่งงาน โดยจะดูแลค่ายา ค่าทำคลอด และค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ด้วย
ต่อมาในยุค 60-70 เป็นการส่งออกเด็กที่เป็นเกาหลีเต็มตัวในทางกายภาพ ซึ่งเกิดจากการที่ประเทศเกาหลีมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการหย่าร้างสูงขึ้นตามไปด้วย
ด้วยปัญหาความยากจน, ผู้หญิงที่มีลูกโดยยังไม่มีสามี, แม่วัยรุ่น ล้วนเป็นข้อห้ามทางสังคม ผู้หญิงที่ตัดสินใจเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องทำงานและเลี้ยงลูก นอกจากกลายเป็นตัวประหลาดในสังคม พวกเธอยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล นั่นทำให้เกิดแรงกดดันจนต้องตัดสินใจยกเด็กไปสู่กระบวนการอุปการะในต่างประเทศ
โดยทางรัฐบาลเกาหลีใต้เองมีความพยายามจะปรับเปลี่ยนความคิดเรื่อง ‘เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้ส่งออกเด็กอุปการะ’ ตั้งแต่หลังโอลิมปิกในปี 1988 เป็นต้นมา แต่กระนั้นการส่งให้เด็กเกาหลีไปเติบโตในดินแดนต่างสีผิวและเชื้อชาติยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายยุค 90
และเมื่อกาลเวลาพัดผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ เด็กเกาหลีที่ไปเติบโตแบบไร้รากในประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างต้องเผชิญปัญหาและอุปสรรคนานาประการ อย่างน้อยๆ คือการรู้สึกแปลกแยกจากครอบครัวอุปถัมภ์ ไม่รู้ภูมิหลังของตัวเอง และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็นจากครอบครัวอุปถัมภ์ หรือกระทั่งถูกทำร้ายร่างกายและทารุณทางเพศ
สำหรับ แมทธิว กรีน ตัวละครในซีรีส์ Move to Heaven เขาอาจจะโชคร้ายที่โดนผลักดันจากประเทศที่เลี้ยงดู และเมื่อกลับประเทศแม่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งในจำนวนเด็กกว่า 200,000 คนที่ถูกส่งออกไปยังประเทศต่างๆ คงมีคนที่ชะตากรรมไม่ต่างจากแมทธิวอยู่มากมาย
และนี่คือเหตุการณ์สำคัญที่ซีรีส์ Move to Heaven สะท้อนให้เห็นชีวิตหนึ่งที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว เจ็บปวด และว้าเหว่เกินกว่าจะกล้าพูดชื่อเกาหลีของตัวเองออกไปให้คนที่คิดว่าเป็น ‘แม่’ ได้ยินด้วยซ้ำ