Money Heist: Korea กับ 8 เหตุผลที่ไม่ควรพลาดชม แม้จะดูเวอร์ชันต้นฉบับไปแล้วก็ตาม
Money Heist: Korea – Joint Economic Area ออริจินัลซีรีส์เรื่องล่าสุดจาก Netflix ที่หลายคนใจจดใจจ่อรอกันมานาน และเราใกล้จะได้ดูกันจริงๆ แล้วในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ และ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส ก็พยายามสรรหาข้อมูลมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันเป็นระยะ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สมรภูมิปล้นสุดเดือดครั้งนี้ไปพร้อมกัน
ในซีรีส์ Money Heist เวอร์ชันต้นฉบับของสเปนที่ชื่อว่า (La Casa de Papel) เราได้เห็นเรื่องราวการปล้นครั้งยิ่งใหญ่ในโรงกษาปณ์ไปแล้ว หลายคนยกมือสงสัยว่าแล้วทำไมเราจะต้องดูซีรีส์รีเมกฉบับเกาหลีซ้ำอีก แล้วคนที่ยังไม่เคยดูเวอร์ชันก่อน ถ้ามาเริ่มใหม่ที่เวอร์ชันนี้ จะดูรู้เรื่องไหม?
ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จัดมาให้แล้ว กับ 8 เหตุผลที่จะทำให้การปล้นในครั้งนี้ไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน
อ่านต่อ:
– เปิดเบาะแสคำใบ้เล็กๆ จากหน้ากาก ก่อนออกปล้นพร้อมหัวขโมย
– Money Heist: Korea ใครเป็นใคร เผยคาแรกเตอร์ครั้งแรกของแก๊งปล้นเกาหลี
1. แลนด์มาร์คการปล้นแห่งใหม่ที่ต้องจับตามอง
Money Heist: Korea – Joint Economic Area เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายหลังการยุติสงคราม มีการรวมประเทศระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ และกำเนิดเป็นเขตเศรษฐกิจร่วม หรือ Joint Economic Area (JEA) ทางรัฐบาลจึงพัฒนาและปรับสกุลเงินใหม่สำหรับใช้ร่วมกัน ซึ่งโรงกษาปณ์นี้เองที่จะเป็นเป้าหมายในการปล้นเงินจำนวน 4 ล้านล้านวอนในครั้งนี้ ทำให้สภาพแวดล้อม ลักษณะพื้นที่ และบริบททางวัฒนธรรมของการปล้นเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลต่อการวางแผนปล้นของศาสตราจารย์ในครั้งนี้ด้วย
2. แผนการไล่ล่าที่ยากยิ่งกว่าเดิม
จากแผนที่ด้านหลังของศาสตราจารย์ที่ปรากฏในโปสเตอร์ และฉากการปีนเขื่อนในทีเซอร์ตัวที่สอง ทำให้คาดว่าโรงกษาปณ์นี้อาจตั้งอยู่กลางน้ำ หรืออาจเป็นสถานที่สำคัญแห่งใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในเวอร์ชันสเปน ซึ่งอาจทำให้ศาสตราจารย์ต้องปรับแผนใหม่ที่แตกต่างออกไปเพื่อบุกยึดโรงกษาปณ์แห่งนี้
3. จุดเปลี่ยนทางสังคมและระบบเศรษฐกิจ เมื่อสองเกาหลีรวมกันเป็นหนึ่ง
นอกจากบริบททางสังคมหลายๆ อย่างของเกาหลีและสเปนจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ยังมีประเด็นการยุติสงครามและรวมตัวกันของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นใหญ่ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับเรื่องนี้
เพราะเมื่อเกาหลีเหนือเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทำให้ระบบทุนนิยมเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญของสองฟากฝั่ง แล้วการบุกยึดโรงกษาปณ์ที่ชาวเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้รวมกันอยู่ ทั้งในกลุ่มทีมปล้น ตัวประกัน และตำรวจ จะเป็นอย่างไร
4. การรวมตัวกันของทีมนักแสดงระดับท็อปของวงการบันเทิงเกาหลี
ยูจีแท รับบทเป็น ศาสตราจารย์ มีผลงานการแสดงอันโดดเด่นจากเรื่อง Oldboy
พัคแฮซู รับบทเป็น เบอร์ลิน ที่มีผลงานการแสดงอันดุเดือดจาก Squid Game, Yaksha และ Time to Hunt
จอนจงซอ รับบทเป็น โตเกียว ที่เคยได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ The Call ในงาน Baeksang Arts Awards 2021 ครั้งที่ 57
คิมยุนจิน รับบทเป็น ซอนอูจิน หัวหน้าตำรวจเจรจา ที่มีชื่อเสียงจากซีรีส์อเมริกาเรื่อง Lost รวมถึงหนังและซีรีส์เกาหลีอีกจำนวนมาก
พร้อมด้วยนักแสดงคนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่มีบทบาทผ่านตามาแล้วนับไม่ถ้วน ซึ่งช่วยยืนยันความเข้มข้นของซีรีส์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
5. ผลงานของผู้กำกับ คิมฮงซอน
แผนการปล้นครั้งนี้ได้ผู้กำกับ คิมฮงซอน ที่เคยมีทั้งผลงานแนวระทึก สืบสวน และจิตวิทยามาแล้วหลายเรื่อง เช่น L.U.C.A.: The Beginning ซีรีส์ไล่ล่าแนวดราม่า-ไซไฟ, Black ซีรีส์ระทึกขวัญแฟนตาซี หรือ Voice ซีรีส์สืบสวนสอบสวนที่ถูกนำมาสร้างในเวอร์ชันไทยชื่อ สัมผัสเสียงมรณะ ผลงานมากมายของคิมฮงซอนในแนวทางนี้จึงช่วยยืนยันความเข้มข้นของซีรีส์ได้อย่างแน่นอน
6. เขียนบทโดย รยูยงแจ
ซีรีส์เรื่องนี้ยังได้นักเขียนอย่าง รยูยงแจ ที่เคยเขียนบทร่วมกับผู้กำกับใน Pied Piper และ Liar Game มาร่วมออกแบบแผนการปล้น และจากผลงานล่าสุดเรื่อง Monstrous, My Holo Love, Psychopath Diary, I Holo You เรื่องราวของการปล้นครั้งนี้จึงน่าจะมีทั้งความดราม่า ตลก หรือโรแมนติก(?) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความกลมกล่อมของเรื่องให้มากขึ้นได้อีกด้วย
7. ทีมโปรดักชันมืออาชีพร่วมออกแบบฉากการปล้น
ในส่วนของทีมโปรดักชันได้ BH Entertainment และ Zium Content ที่อยู่ในเครือ JTBC มาออกแบบฉากการโจรกรรมครั้งนี้ โดยผลงานอันโดดเด่นที่ผ่านมาของ Zium Content คือ Itaewon Class จึงรับรองได้ว่าการโจรกรรมครั้งนี้น่าจะออกมาอลังการและน่าติดตามไม่แพ้กัน
8. Bella Ciao เพลงหลักที่แฟนซีรีส์คุ้นหูจากเวอร์ชันสเปน
Bella Ciao หรือเพลงประจำกลุ่มต่อต้านที่ถูกนำมาเป็นเพลงหลักและภาพจำของ Money Heist ในเวอร์ชันสเปน เดิมเพลงนี้เป็นเพลงพื้นบ้านของอิตาลี ซึ่งมาจากการเรียกร้องความเป็นธรรมที่มีต่อแรงงานกำจัดวัชพืชในไร่ข้าวโพดที่ได้ค่าแรงไม่เหมาะสม
เพลงนี้จึงถูกนำมาใช้ในการต่อต้านระบบสังคม ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และถูกนำมาแปลหลายภาษา เช่น ภาษาไทยในชื่อว่า ‘ปลดปล่อย เปลี่ยนแปลง’ โดยวงไฟเย็น ที่ปล่อยในปี 2556 ส่วนในภาษาเกาหลีถูกแปลโดยเกาหลีเหนือ ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่าเวอร์ชันนี้จะนำเนื้อเพลงแปลในเวอร์ชันเกาหลีเหนือมาใช้หรือไม่ หรือจะนำมาแปลเนื้อเพลงใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้หน้ากากหรือเนื้อเพลงจะถูกนำมาดัดแปลง แต่คาดว่าก็จะยังคงไว้ซึ่งการต่อต้านระบบสังคมเช่นเดิม
——————————
ตัวอย่างซีรีส์
เรื่องโดย อรณิชา ชูสกุล