รีวิว FX’s Shogun EP. 1-2 ซีรีส์ดูยาก แต่อยากให้ดู และนี่คือข้อมูลประวัติศาสตร์จริงที่จะทำให้ดูซีรีส์สนุกขึ้น
FX’s Shogun คือซีรีส์มหากาพย์ที่ทำให้ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส อดใจไม่ไหวในการมาหาข้อมูลประกอบการรับชม เพราะมันเต็มไปด้วยประเด็นซับซ้อน เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ การนำชีวิตจริงและเรื่องราวจริงที่เกิดขึ้นมาสวมทับกับเรื่องแต่ง แล้วออกมางดงามอย่างที่สุด ไม่เฉพาะพล็อตเรื่อง แต่ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นความสัมพันธ์ การเมือง ศาสนา การค้าขายของโลก และยังแสดงให้เห็นการทำงานซีรีส์โทรทัศน์แบบบ้าพลังไม่ให้โลกลืม ใส่เต็มไม่ยั้งกับพร๊อพ ฉาก เสื้อผ้า ท่าทาง ไปจนถึงการบาลานซ์ให้ FX’s Shogun เป็นอีกหนึ่งสมบัติระดับคลาสสิกให้กับวงการซีรีส์
ขณะที่ดูซีรีส์ FX’s Shogun EP.1-2 แนะนำให้นอนหลับเต็มอิ่ม แม้ตัวละครจะเยอะหน่อย แต่ก็ดูไหลๆ ไป ถึงจะจำได้และเข้าใจไม่หมดก็อยากให้อดทนไปให้ถึงปลาย EP.2 ก็น่าจะพอเข้าใจภาพรวมได้บ้าง
ถึงอย่างนั้น เชื่อว่าระหว่างที่ดูซีรีส์ก็น่าจะเกิดคำถามขึ้นมากมาย หลายๆ คำถามเย้ายวนให้กลับไปอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เสียใหม่ หลายๆ ประเด็นก็ชวนให้นึกถึงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่คิดว่ามีพื้นความรู้พอสมควร แต่ไม่เลย นี่คือความรู้ใหม่มาก รวมไปถึงประวัติศาสตร์โลกในช่วงเวลานั้น
สำหรับใครที่ได้ดูซีรีส์ FX’s Shogun แล้ว หรือยังไม่ได้ดู สามารถอ่านรีวิวนี้ได้ และถ้ามีข้อมูลตกหล่นหรือผิดพลาดบางส่วนอย่างไร เรายินดีร่วมกันสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่สมบูรณ์แบบไปด้วยกัน
และเพื่อช่วยให้การดูซีรีส์สนุกขึ้น เข้าใจมากยิ่งขึ้น ดูซีรีส์ให้ซีเรียส ได้รวบรวมความรู้ทางประวัติศาสตร์สำหรับอ่านเพิ่มเติมเอาไว้ตามหัวข้อเหล่านี้
การล่าอาณานิคมเริ่มต้นได้อย่างไร ทำไมโปรตุเกสไปถึงญี่ปุ่นก่อนใคร
โปรตุเกส ประเทศเล็กๆ ในตอนนี้ แต่ยิ่งใหญ่มากในตอนนั้น เพราะโปรตุเกสนับเป็นประเทศแรกๆ ที่เดินทางไปติดต่อค้าขาย เผยแผ่ศาสนา ไปจนถึงล่าอาณานิคมในโลกตะวันออกไกล
สเปน เป็นประเทศที่ออกเดินเรือไปค้นหาดินแดนใหม่ๆ ในช่วงแรกเช่นกัน โดยทั้งโปรตุเกสและสเปนเป็นคู่รักคู่แค้นมาแต่ไหนแต่ไร แม้ว่าจะดินแดนอยู่ติดกันบนคาบสมุทรไอบีเรียก็ตาม
ด้วยความที่ในสมัยก่อนนั้น โปรตุเกสและสเปนก็ไม่ได้มีทรัพยากรมากมายหลากหลาย การเดินเรือออกค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับดินแดนอื่นๆ จึงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ทั้งกับแอฟริกาใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย จีน แต่การจะเดินเรือไปได้ ทางที่ง่ายและใกล้ที่สุดคือผ่านทางอาณาจักรออตโตมัน ซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงเวลานั้น แต่ด้วยความที่อาณาจักรออตโตมันนับถือศาสนาอิสลาม ก็เลยทำให้การล่องเรือผ่านเป็นไปได้ยากมาก
ทางออกของกองเรือสเปนและโปรตุเกสก็คือล่องเรืออ้อมแอฟริกา แล้วใช้เมืองเคปทาวน์เป็นจุดแวะพัก ก่อนมุ่งหน้าไปตะวันออกไกล หรือคาบสมุทรเอเชีย ดังนั้นแล้วการที่สเปนและโปรตุเกสจะเดินทางไปถึงญี่ปุ่นได้ก่อนอังกฤษก็เป็นความเข้าใจได้
โดยระหว่างเดินเรือไปยังเมืองต่างๆ ทั้งโปรตุเกสและสเปนต่างก็มองเห็นช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเอง ทั้งสองประเทศได้เริ่มต้นครอบครองอาณานิคม เพราะหลายครั้งที่ไปพบดินแดนใหม่ๆ และมีทรัพยากรมากมาย ชาวพื้นเมืองก็ไม่ได้มีระบบการปกครองที่จะมาทำข้อตกลงด้วย นั่นจึงเกิดเป็นดีลลับสำหรับสองประเทศ เรียกว่า Treaty of Tordesillas (สนธิสัญญาทอร์เดซิยาส) ในปี 1494 ในการแบ่งดินแดนบนโลกเป็นสองซีก และแบ่งกันเป็นเจ้าของสิทธิ์ในการสำรวจและครอบครองดินแดนนั้นๆ ซึ่งในตอนนั้นประเทศใหญ่ๆ อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ก็ไม่ได้เห็นชอบด้วย
ในฝั่งของน่านน้ำตะวันตก
สำหรับอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ ที่แม้มาทีหลังแต่ก็ดังเอาเรื่อง เพราะไม่ได้เดินเรือค้นหาดินแดนใหม่เฉพาะฝั่งตะวันออก แต่ยังเดินทางไปจับจองพื้นที่บนทวีปอเมริกาด้วย ซึ่งเป็นต้นทางประวัติศาสตร์ของทวีปอเมริกา เช่น
– อังกฤษเริ่มปักธงที่อ่าวเชสพีกในปี 1607 เรียกว่าเมืองเจมส์ทาวน์
– ฝรั่งเศสสร้างเมืองควิเบกในปี 1608 ที่อยู่ในประเทศแคนาดาปัจจุบันนี้
– เนเธอร์แลนด์ลงหลักปักฐานในชื่อ นิวอัมสเตอร์ดัม หรือพื้นที่ของนิวยอร์กในปัจจุบัน รวมถึงพื้นที่ในรัฐนิวยอร์ก บางส่วนของนิวเจอร์ซีย์, เพนซิลวาเนีย, แมริแลนด์, คอนเนกทิคัต, เดลาแวร์
– สวีเดนก็มีการสร้างเมือง นิวสวีเดน บริเวณแม่น้ำเดลาแวร์ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของรัฐเดลาแวร์, นิวเจอร์ซีย์ และเพนซิลวาเนีย
นอกจากนี้ อังกฤษที่อยู่ในการดูแลของควีนอลิซาเบธ ได้ส่งเรือออกติดต่อค้าขายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในปี 1600 เป็นปีจุดเปลี่ยนที่มีการก่อตั้งบริษัท East India ธุรกิจข้ามชาติที่มีบทบาทสำคัญกับประวัติศาสตร์อินเดีย อังกฤษ ไปจนถึงไทยในเวลาต่อมา ซึ่งในซีรีส์ FX’s Shogun ก็จะเห็นได้ว่าการติดต่อค้าขายระหว่างอังกฤษและญี่ปุ่นเริ่มต้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่องก็ด้วยความสามารถของ จอห์น แบล็กธอร์น นี่เอง
ตัดกลับมาที่กองเรืออังกฤษ-ดัตช์ ที่เดินทางไปญี่ปุ่นกันบ้าง
ซีรีส์ FX’s Shogun เปิดฉากมาก็ว่าด้วย จอห์น แบล็กธอร์น นักเดินเรือจากอังกฤษคนแรกที่เดินทางมาถึงญี่ปุ่น ซึ่งเรือ De Liefde (แปลว่า Charity) ที่เขานำทางจนมาถึง เป็นเรือลำเดียวจากทั้งหมด 5 ลำที่เริ่มต้นเดินเรือไปยังเอเชียด้วยกัน
ที่ว้าวมากๆ ก็คือเรื่องในซีรีส์อ้างอิงจากประวัติศาสตร์จริง ก็คือเรื่องราวของ วิลเลียม อดัมส์ ชาวอังกฤษคนแรกที่ขึ้นฝั่งประเทศญี่ปุ่น บริเวณอูซุกิ ในจังหวัดโออิตะ ของเกาะคิวชูนั่นเอง
ไล่เรียงไทม์ไลน์การเดินทางของเรือ De Liefde ได้คร่าวๆ ดังนี้
27 มิถุนายน 1598
– De Liefde ออกจากท่าเรือรอตเตอร์ดัมพร้อมๆ กับเรืออีก 4 ลำสัญชาติดัตช์และอังกฤษ เพื่อเดินทางไปยังทวีปเอเชีย โดยมีลูกเรือรวมกันมากกว่า 500 ชีวิต
– เส้นทางเดินเรือแตกต่างออกไป เพราะต้องการหลีกเลี่ยงหูตาของโปรตุเกส
– พวกเขาเลือกเส้นทางที่ไม่ผ่านแหลมกู๊ดโฮป แอฟริกาใต้ ที่ทางโปรตุเกสดูแลอยู่ แต่เลือกล่องเรือไปมหาสมุทรแปซิฟิกผ่านทางแหลมใต้สุดของอเมริกาใต้แทน
– การเดินทางอันยาวนานและแสนทรมานนั้นทำให้เรือทั้ง 5 ลำกระจัดกระจาย ทั้งพายุ การขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บที่ติดต่อกันบนเรือด้วยสุขอนามัยที่ไม่ดีนัก
– เรือลำหนึ่งกลับไปยังอัมสเตอร์ดัมได้ ขณะเรือที่เหลือนั้นล่องไปยังบริเวณต่างๆ ของเอเชียแตกต่างกันไปตามยถากรรม
– ซึ่ง De Liefde เป็นเรือลำเดียวที่ไปถึงญี่ปุ่นในสภาพที่เรียกว่าใกล้ตายเต็มที
19 เมษายน 1600
– De Liefde เรือลำเล็กที่สุดของกลุ่มเรือทั้ง 5 ลำ อับปางตรงชายฝั่งของเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น
– เมืองอูซุกิของจังหวัดโออิตะ อยู่บนเกาะคิวชู เกาะเดียวกับเมืองฟุกุโอกะนั่นเอง
– บนเรือเหลือเพียงผู้รอดชีวิต 25 คน จากลูกเรือทั้งหมดมากกว่า 100 คน และใน 25 คนนั้นก็ป่วยหนักบ้าง ถูกเอาชีวิตบ้าง จนเหลือเพียงแค่ 5 คนเท่านั้นที่ได้ขึ้นฝั่งประเทศญี่ปุ่นในท้ายที่สุด
– พวกเขาโดนคุมตัวไปที่โอซาก้า ซึ่งนับเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นในเวลานั้น
วิลเลียม อดัมส์ ซามูไรต่างชาติคนแรก หรือในซีรีส์ใช้ชื่อว่า จอห์น แบล็คธอร์น
วิลเลียม อดัมส์ เป็นนักเดินเรือในสายเลือด ตอนอายุ 12 เขาได้เริ่มทำงานในอู่เรือ จนอายุ 34 ก็ได้เก็บประสบการณ์การเดินเรือมากมาย
เดือนมิถุนายน ปี 1598 เขาเป็นหัวหน้าทีมเดินเรือดัตช์-อังกฤษ ร่วมกับเรือทั้งหมด 5 ลำจากยุโรปไปยังเอเชีย เรือทั้ง 5 ลำโดนพายุถล่ม ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม จนเหลือรอดเพียงลำเดียวก็คือเรือ De Liefde ของอดัมส์ ซึ่งไปอับปางอยู่ชายหาดทางตอนใต้ของญี่ปุ่น
ตัวเขาและลูกเรือที่เหลือรอดชีวิตถูกพาตัวไปยังโอซาก้า เมืองหลวงของญี่ปุ่นในเวลานั้น ด้วยความที่อดัมส์มีความรอบรู้ทั้งเรื่องการเดินเรือ การเมือง ศาสนา และรอบรู้ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ในเวลานั้น ทำให้เป็นที่ถูกใจของ โทกุกาวะ อิเอยาสึ หนึ่งในห้าไดเมียวคนสำคัญ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ขึ้นเป็นโชกุน
อดัมส์มีบทบาทสำคัญในการเป็นนักการทูต ช่วยเหลือการค้าขายระหว่างอังกฤษและญี่ปุ่น ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 เขาได้รับตำแหน่งซามูไรชาวต่างชาติคนแรก ช่วยงานการปกครองให้กับโชกุนอย่างมากมาย
แม้ว่าการเดินเรือจะเจริญขึ้นมาก ตัวเขาเองก็อยากกลับไปอังกฤษเพื่อพบภรรยาและครอบครัว แต่ก็ไม่เคยได้กลับไปอีก สุดท้ายเขาตั้งรกรากในญี่ปุ่น แต่งงานมีครอบครัว และเป็นที่รู้จักในชื่อ อันจิน หรือ Miura Anjin (三浦按針) โดยคำว่า Anjin ก็หมายถึง Pilot หรือนักเดินเรือนั่นเอง
ปัจจุบันยังคงมีการระลึกถึงเขา ทั้งอนุสาวรีย์และสวนสาธารณะ สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมกันได้ที่ Anjin Memorial Park ที่เมืองอิโตะ ส่วนตัวเรือ De Liefde มีการทำแบบจำลองตั้งไว้ที่เมืองฮิราโดะ นางาซากิ สถานที่ในบั้นปลายชีวิตของเขา นอกจากนี้บริเวณหลุมศพยังจัดวางให้หันหน้าไปทางทะเล สลักหินเป็นงานสั่งลงจารึกจากอังกฤษที่ภรรยาเก่าของเขาส่งมาให้เพื่อระลึกถึงอดัมส์เป็นครั้งสุดท้าย
ประเด็นศาสนาในซีรีส์ FX’s Shogun โปรแตสแตนท์ และคาทอลิก ทำไมดูไม่ค่อยถูกคอกัน
จริงๆ แล้วพวกเขานับถือพระเจ้าคนเดียวกัน เพียงแต่เส้นทาง ความเชื่อ และการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน นั่นเลยกลายเป็นหนึ่งสิ่งที่เห็นในซีรีส์ FX’s Shogun ว่าแม้จะเป็นผิวขาวเหมือนกัน แต่ก็แตกต่าง
การเกิดนิกายโปรเตสแตนท์มาจากความเห็นต่างที่เริ่มใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้กลุ่มผู้คัดค้าน หรือโปรแตสแตนท์ ได้แยกตัวออกมาจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกในปี 1529 โดยประเทศในกลุ่มโปรเตสแตนท์ก็จะมี สแกนดิเนเวีย เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน อังกฤษ
ถ้าสังเกตเราจะเห็นว่า ‘ไม้กางเขน’ มีบทบาทสำคัญ เพราะมีการฉายให้เห็นและสร้างความหมายที่เข้าใจได้ว่านี่คือนิกายใด และจะมีปมขัดแย้งระหว่างกันอย่างไร
– นิกายโปรเตสแตนท์ ขึ้นตรงต่อพระเยซูเพียงพระองค์เดียว ไม่เน้นกราบไหว้บูชา นับถือรูปเคารพ ไม่นิยมสวมสร้อยไม้กางเขน
– นิกายคาทอลิก นับถือพระเยซูและพระแม่มารี ไม้กางเขนมักจะมีพระเยซูถูกตรึง
ความไม่ลงรอยกันด้านศาสนากลายมาเป็นประเด็นบนดินแดนญี่ปุ่น โดยเฉพาะในซีรีส์ FX’s Shogun ที่หลังจาก โทกุกาวะ อิเอยาสึ ขึ้นเป็นโชกุนแล้วได้มีการต่อต้านคาทอลิก เนื่องจากมองเห็นว่าต้องการเผยแผ่ศาสนาและทำให้คนญี่ปุ่นเข้ารีต ส่งผลต่อเนื่องทั้งเรื่องการเมือง การค้าเศรษฐกิจ
และถ้ายังจำกันได้ ไดเมียวบางคนที่นับเป็นหมากสำคัญก็เข้ารีตเป็นคาทอลิก ซึ่งทำให้เกิดรอยร้าวภายในคณะผู้ปกครองอยู่แล้ว จริงอยู่ที่ว่าการนับถือศาสนาเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อภายใน แต่ประเด็นศาสนาที่เกี่ยวพันกับอำนาจก็ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างกัน
ตามเรื่องราวในซีรีส์ FX’s Shogun
ดัตช์ หรือเนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศโปรแตสแตนท์ ซึ่งมีคอนฟลิกต์กับสเปนอยู่แล้ว จึงร่วมมือกับอังกฤษในการส่งทีมเรือออกเดินทางเพื่อค้นหาการค้าขายใหม่ๆ โดยที่มิชชันนารีโปรตุเกสได้ขึ้นฝั่งประเทศญี่ปุ่นก่อนหน้าถึง 6 ปี และเริ่มเผยแผ่ศาสนา ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจะผูกขาดการค้าทั้งหมดของเอเชียเอาไว้เป็นของตนเอง
สำหรับโปรตุเกส มองการมาถึงของอังกฤษและดัตช์ว่าเป็น ‘หัวขโมย’ ที่จะมาแย่งชิงพื้นที่การค้าและดินแดนที่สำคัญมากๆ เพราะสินค้าอย่างผ้าไหมและเงินเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในยุโรปนั่นเอง
ไล่เรียงยุคสมัยของญี่ปุ่นให้เข้าใจฉากหลังของ FX’s Shogun โดยเฉพาะยุคเอโดะ ของโชกุนโทกุกาวะ
ประวัติศาสตร์อย่างย่อๆ ของญี่ปุ่นก่อนที่จะมาถึงยุคเอโดะ หรือราวปี 1600 ซึ่งเป็นเรื่องราวใน FX’s Shogun
– ย้อนกลับไป นักโบราณคดีพบว่าญี่ปุ่นมีอารยธรรมย้อนหลังไปนับ 100,000 ปี และสืบต่อการใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคหินเก่า ยุคหินใหม่
– สมัยโจมน หรือราว 13,000 ปีจนถึง 10,000 ปีก่อนคริสตกาล เริ่มมีการเรียนรู้ ปลูกข้าว ปลูกผัก สร้างอาวุธที่ทำจากเหล็กต่างๆ รวมถึงศาสนาที่มีการประกอบพิธีกรรม
– สมัยยาโยอิ หรือระยะเวลา 1,000 ปีก่อนคริสตกาลจนถึง ค.ศ. 300 เริ่มมีการรวมตัวเป็นดินแดน มีการรวมตัวกันของประชาชนและผู้ปกครอง
– ศตวรรษที่ 4 มีการสร้างศูนย์กลางทางการเมืองที่จังหวัดนารา มีการพัฒนาด้านเกษตรกรรม ศาสนาพุทธ และลัทธิขงจื้อ แพร่เข้ามาในญี่ปุ่นจากจีนและเกาหลี
– จากนั้นเริ่มมีการรวมประเทศเป็นญี่ปุ่น ไล่เรียงยุคต่างๆ เช่น ยุคยามาโตะ ราวปี ค.ศ. 300-700, ยุคนารา – เฮอัน ราวปี ค.ศ. 710-1192 สร้างเมืองหลวงที่เกียวโต, ยุคคามาคุระ ราวปี ค.ศ. 1192-1333 มีการสถาปนาผู้นำขึ้นเป็นโชกุน มีอำนาจปกครองทุกอย่าง, ยุคมูโรมาจิ ราวปี ค.ศ. 1338-1573, ยุคอะสึชิ – โมโมยามา ราวปี ค.ศ. 1573-1603, ยุคเอโดะ ราวปี ค.ศ. 1603-1868, ยุคเมจิ ราวปี ค.ศ. 1868-1912, ยุคโชวะ ราวปี ค.ศ. 1912-1945 และยุคหลังสงคราม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945
ยุคอะสึชิ – โมโมยามะ (Azuchi – Momoyama) ค.ศ. 1568-1603
โอดะ โนบุนากะ ได้เข้าโจมตีเมืองเกียวโตที่เป็นเมืองหลวง แล้วล้มขั้วอำนาจเดิมได้สำเร็จ แต่แล้วเขากลับถูก โดโยโตมิ ฮิเดโยชิ ลูกน้องคนสนิททรยศจนต้องสูญเสียทุกอย่าง ฮิเดโยชิได้สถาปนาตนขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด รวบรวมดินแดนต่างๆ ในญี่ปุ่นให้กลายเป็นแผ่นดินเดียวกันได้สำเร็จ จากนั้นได้สร้างเมืองหลวงใหม่ที่เมืองโอซาก้า
ฮิเดโยชิ ได้แต่งตั้ง 5 ไดเมียวคนสำคัญขึ้นเป็นผู้ช่วยราชการเพื่อหวังให้เกิดการคานอำนาจ โดยหนึ่งในไดเมียวหรือเจ้าเมืองต่างๆ นั้น โทกุกาวะ อิเอยาสึ คือคนสำคัญที่มีอิทธิพลสูงสุดในเวลานั้น
ค.ศ. 1598 ฮิเดโยชิป่วยหนักและเสียชีวิตลง มีบุตรชายสืบทอดบัลลังก์ก็คือ โทโยโดมิ ฮิเดโยริ ซึ่งระหว่างการร่วมกันปกครองญี่ปุ่นขณะที่ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ยังอายุน้อยเกินไปนั้นก็มีการสู้รบกันหลายครั้ง สุดท้ายฝั่งโทกุกาวะได้รับชัยชนะและขึ้นเป็นโชกุน
ยุคเอโดะ (Edo) ค.ศ. 1603-1868
โทกุกาวะ อิเอยาสึ จัดการกับฝ่ายต่อต้านเรียบร้อยก็สถาปนาตนเป็นโชกุน และรวบอำนาจทั้งหมด ก่อตั้งรัฐบาลโชกุนขึ้นที่เมืองโตเกียวในปี ค.ศ. 1603
ในปี 1600 ประเทศไทยอยู่ตรงไหนใน FX’s Shogun
ระหว่างที่ดูซีรีส์ FX’s Shogun ก็มีคำถามที่ผุดขึ้นมาตลอดว่า ‘ดินแดนสยาม’ อยู่ตรงไหนในเรื่องราวนี้ และจากการสืบค้นพบว่า ค.ศ. 1600 จะเท่ากับ พ.ศ. 2143 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยารุ่งเรือง ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
FX’s Shogun ซีรีส์ออริจินัลฟอร์มยักษ์ที่ดัดแปลงจากนิยายขายดีของ James Clavell ที่เล่าเรื่องราวของ โยชิอิ โทรานางะ ไดเมียวแห่งแคว้นคันโตในปี 1600 ที่เหล่าขุนนางแก่งแย่งอำนาจเพื่อเป็นใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น แต่แล้วการปรากฏตัวของ จอห์น แบล็กธอร์น นักเดินเรือชาวอังกฤษ กลับกลายเป็นความลับอันล้ำค่าที่เป็นประโยชน์ต่อโทรานางะในการเอาชนะศัตรู
ฮิโรยูกิ ซานาดะ นำแสดงในบท โยชิอิ โทรานางะ นอกจากนี้เขายังขึ้นแท่นเป็นผู้ควบคุมการผลิตซีรีส์นี้ให้ออกมาสมบูรณ์แบบ ทั้งดูแลการซักซ้อม ฉากต่อสู้ ไปจนถึงคัดเลือกด้ายที่ตัดเย็บเสื้อผ้า เขาใช้ความรู้ที่สั่งสมมาและประสบการณ์จากบ้านเกิดขับเคลื่อนให้ซีรีส์มีความคล้ายคลึงกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมากที่สุด
FX’s Shogun ศึกชิงอำนาจโชกุน มีทั้งหมด 10 ตอน เริ่มสตรีม 27 กุมภาพันธ์ และจะสตรีมสัปดาห์ละ 1 ตอน รับชมได้ทาง Disney+ Hotstar