เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด: ส่อง ‘ระบบการศึกษา’ เกาหลีใต้ ผ่านมุมมองซีรีส์
เกาหลีใต้ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มี ‘ระบบการศึกษา’ ดีที่สุดในโลก แต่ทว่าเบื้องหลังสิ่งที่น่ายินดีนี้กลับต้องแลกมาด้วยความเครียดและการทำร้ายจิตใจนักเรียนจำนวนไม่น้อย จนถึงขั้นที่ว่ามีเด็กหลายคนลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบเองแล้ว
อะไรเป็นปัจจัยให้นักเรียนเกาหลีใต้เริ่มมีความคิดที่จะลาออกกันมากขึ้น ทั้งที่ระบบการศึกษาดีขนาดนี้? แล้วการไม่เรียนต่อมัธยมปลายจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้จริงไหม? วันนี้ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จะพาทุกคนมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
ระบบการศึกษาในเกาหลีใต้
ระบบการศึกษา เกาหลีใต้ กำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาตามความสามารถ โดยจัดแบ่งการศึกษาเป็นระบบ 6-3-3-4 คือ ชั้นประถมศึกษา 6 ปี, มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี, มัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี, วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย 4 ปี
สำหรับการศึกษาระดับ ม.ต้น ของเกาหลีนั้น เป็นการศึกษาแบบฟรีบางส่วน คือฟรีในส่วนของนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท และนักเรียนในกลุ่มการศึกษาพิเศษภายใต้ข้อกำหนดของประกาศกฎหมายส่งเสริมการศึกษาพิเศษ (Special Education Promotion Act) นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาจะได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่ด้วยวิธีจับฉลาก วิธีการเช่นนี้ใช้ทั้งการรับนักเรียนในโรงเรียนมัธยมของรัฐและเอกชน
นอกจากนี้ โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก็แบ่งย่อยได้อีก 2 สายคือ สายสามัญ และสายอาชีพ โดยทั้งสองสายแยกย่อยตามเป้าหมายเฉพาะวิชาหลายอย่าง ได้แก่ โรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ภาษาต่างประเทศ เพื่อมุ่งหวังตอบสนองเด็กที่มีอัจฉริยภาพให้พัฒนาไปสู่โปรแกรมการศึกษาแบบเฉพาะเจาะจง
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เกาหลีมีประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง ‘ยุนซอกยอล’ ที่มีนโยบายจะเปลี่ยนให้เด็ก 5 ขวบ (นับแบบสากล) เข้าเรียนชั้น ป.1 แทนที่จากเดิมจะต้องเข้าเรียนตอน 6 ขวบ เพื่อแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ จนทำให้แรงงานในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลงทุกที อีกทั้งประเทศเกาหลีใต้ก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน ยุนซอกยอลจึงตั้งใจจะเปลี่ยนอายุเข้าเรียนให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ระบบนี้ก็เป็นระบบการเข้าเรียนประถมแบบเดียวกับที่อเมริกาใช้อยู่เช่นกัน
เมื่อประธานาธิบดียุนซอกยอลประกาศนโยบายนี้ออกมาก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงตัวคุณครูด้วย ถึงขั้นมีการรวมตัวกันออกมาถือป้ายประท้วงเพื่อให้รัฐบาลถอนนโยบายนี้ออก เพราะพวกเขามองว่านอกจากนโยบายนี้จะแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำแบบไม่ตรงจุดแล้ว มันยังเร็วเกินไปที่เด็กวัยเพียง 5 ขวบจะเข้าเรียนชั้น ป.1 เพราะเด็กควรพัฒนาในด้านอื่นให้พร้อมกว่านี้ก่อน ซึ่งก็มีประชาชนที่เห็นด้วยกับการประท้วงนี้เป็นจำนวนมาก
เมื่อครูผู้สอนดี นักเรียนก็มีชัยไปกว่าครึ่ง
เดิมทีประเทศเกาหลีเคยเป็นหนึ่งในประเทศด้อยพัฒนาของโลก แต่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษก็สามารถพัฒนาประเทศให้หลุดจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนาได้สำเร็จ อันเนื่องมาจากความร่วมมือของประชาชนในประเทศ และรัฐบาลที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านทางการศึกษา
จากข้อมูลทางสถิติขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ได้ทำการจัดอันดับประเทศที่ระบบการศึกษาดีที่สุดในโลกในช่วงหลายปีมานี้ ซึ่งเกาหลีใต้ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับต้นๆ มาโดยตลอด
เกณฑ์ที่เป็นตัวชี้วัดคือ กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี ซึ่งจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเรียบร้อยแล้วในประเทศต่างๆ ว่าเขาเหล่านั้นได้รับการศึกษาที่สามารถบ่มเพาะให้พวกเขาเป็นคนแห่งอนาคต สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในทศวรรษที่ 21นี้ ด้วยองค์ความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติที่จำเป็น มีศักยภาพพร้อมในการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงาน
ปัจจัยที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จทางด้านการศึกษาก็คือ ‘ครู’ เกาหลีใต้คัดเลือกครูมาจากคนที่เก่งที่สุด และกว่าจะผ่านเข้าไปเป็นนักเรียนครูได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้เข้าสอบที่ได้คะแนนสูงสุด 5% จากผู้เข้าสอบทั้งหมดเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าศึกษาในสถาบันผลิตครู อีกทั้งในเกาหลีใต้ ครูมีสถานะทางสังคมสูง มีค่าตอบแทน และมีความมั่นคงในอาชีพสูงมาก คนเกาหลีรุ่นใหม่ส่วนมากจึงต้องการเข้าสู่อาชีพครู
ความเครียด ความกดดัน และอนาคตที่ใฝ่ฝัน
“แล้วทำไมแกถึงอยากเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ล่ะ”
“ไม่ใช่ว่าผมอยากนะ แต่สังคมกดดันมาตลอดชีวิตว่าต้องเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้”
บทสทนาระหว่างพ่อลูกจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Reach for the SKY (2015) ที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนเกาหลีต้องแบกรับความกดดันและความคาดหวังของสังคมรอบข้างเป็นอย่างมาก จนการเรียนของนักเรียนเกาหลีมีความหมายเป็นเพียงแค่ ‘การติวสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย’ เท่านั้น
เด็กนักเรียนจริงจังกับการเรียนมาก ทั้งที่จริงจังด้วยตนเอง และจริงจังเพราะที่บ้านฝากความหวังเอาไว้ พวกเขาจะใช้เวลาในการเรียนมากถึงวันละ 14-16 ชั่วโมง โดยนอกจากเรียนตามปกติในโรงเรียนแล้ว หลังเลิกเรียนก็จะต้องเรียนพิเศษ บางคนอาจเรียนพิเศษที่โรงเรียน บ้างก็เรียนที่สถาบันกวดวิชา (학원) และบ้างก็มีครูพิเศษที่พ่อแม่จ้างเอาไว้มาสอนถึงที่บ้าน อย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่อง Parasite (2019) ที่กีอูกับกีจองต้องปลอมตัวไปเป็นครูสอนพิเศษที่บ้านของครอบครัวคนรวย
หากใครที่ได้ดูซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo (2022) EP.9 ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าเด็กๆ ในประเทศเกาหลีใต้เรียนหนักกันมากจริงๆ โดยเริ่มเรียนกวดวิชากันตั้งแต่อายุยังน้อย อยู่เพียงชั้นประถม แต่ครอบครัวก็ส่งเรียนกวดวิชากันแล้ว เมื่อเลิกเรียนจากที่โรงเรียนก็มีรถมารับไปส่งที่กวดวิชาต่อเลย อีกทั้งสถาบันกวดวิชาก็เข้มงวดมากไม่แพ้กัน หากเด็กไม่สามารถแก้โจทย์ได้ตามเวลาที่กำหนดก็จะถูกลงโทษ จึงทำเห็นเกิดความกดดันกับตัวเองมากขึ้น
มิหนำซ้ำ เด็กๆ ในเรื่องกว่าจะเลิกเรียนก็ปาเข้าไป 3-4 ทุ่มแล้ว ทั้งที่จริงๆ เด็กในวัยนี้ควรจะได้ไปสนุกกับช่วงวัยของเขา ควรที่จะได้เล่นมากกว่านี้แท้ๆ ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องมาเคร่งเครียดขนาดนั้น แต่กลับต้องมานั่งเรียนจนดึกดื่นเพราะการปลูกฝังค่านิยมที่ว่า ยิ่งเรียนเยอะ เรียนหนักเท่าไหร่ เราก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น
นอกจากนี้ซีรีส์ SKY Castle (2019) ก็เคยตีแผ่ค่านิยมการเรียนหนักของเกาหลีเอาไว้ด้วยเช่นกัน เด็กนักเรียนเกาหลีมุ่งมั่นกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาก พวกเขาจะต้องสอบ ‘ซูนึง’ หรือการทดสอบความสามารถด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดีๆ ที่หมายตาไว้ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของเด็กเกาหลีก็คือ ‘SKY’ ซึ่งเป็นการนำตัวอักษรตัวแรกของมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ดีที่สุดมารวมกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยโซล (Seoul National University), มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) และมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University)
เราจะเห็นว่าในซีรีส์ SKY Castle พ่อแม่ได้มีการจ้างโค้ชเพื่อมาทำการติวข้อสอบให้ลูกตัวเองถึงที่บ้าน เพื่อให้ลูกตัวเองรักษาเกรดให้ดีและสอบติดมหาวิทยาลัยโซลให้ได้ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกของพวกเขาเกรดตก สิ่งแรกที่พ่อแม่มักจะทำคือโทษติวเตอร์ โดยไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุที่แท้จริง ทั้งสภาพจิตใจและอารมณ์ของเด็ก การมีติวเตอร์สามารถช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในการศึกษาได้ก็จริง แต่พวกเขาต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียนได้ด้วย การประสบความสำเร็จต้องมีทั้งแรงสนับสนุนจากทั้งการเรียนพิเศษและความพยายามด้วยตนเอง เมื่อประสบความสำเร็จ นักเรียนถึงจะรู้คุณค่าของมันโดยแท้จริง
ความเหลื่อมล้ำทางสังคม นำไปสู่การแข่งขันทางการศึกษาที่เข้มข้น
ด้วยความที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นโหดและการแข่งขันสูงมาก ประกอบกับการเรียนที่เคร่งเครียดจนเกินไปและเริ่มไม่ตอบโจทย์ จนทำให้ไม่นานมานี้เด็กนักเรียนในเกาหลีเริ่มมีเทรนด์ที่ลาออกจากโรงเรียนตอน ม.ปลาย แล้วเอาเวลาไปเตรียมตัวสอบให้เต็มที่ยังจะดีซะกว่า
จากข้อมูลของสถาบันพัฒนาการศึกษาเกาหลี (Korean Educational Development Institute) เปิดเผยว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมา มีนักเรียน ม.ปลาย เลือกลาออกไปอ่านหนังสือเองมากถึง 14,140 คน แล้วถ้าถามว่าอ่านหนังสือเอง ไม่ได้เรียน ม.ปลาย จะมาสามารถสอบเข้ามาหาวิทยาลัยได้ไหม คำตอบคือ ได้!
โดยนักเรียนที่เลือกลาออกจากโรงเรียนทุกคนจำเป็นต้องสอบเทียบวุฒิ ม.6 หรือ ‘검정고시’ ซึ่งคล้ายๆ กับการสอบ General Educational Development (GED) ของระบบอเมริกา โดยเมื่อสอบแล้วจะได้วุฒิเทียบเท่ากับมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนั้นแม้จะไม่เรียน ม.ปลาย แล้วก็ยังสามารถสอบเทียบเพื่อนำวุฒินี้ไปยื่นสอบซูนึงได้เหมือนกัน
การลาออกไปอ่านหนังสือเองแบบนี้มันก็ดีตรงที่นักเรียนได้ทบทวนตัวเองถึงสิ่งที่ชอบ สิ่งที่อยากเรียนต่อ มีเวลาโฟกัสกับความชอบของตัวเองมากขึ้น ดีกว่าเสียเวลาเรียนในสิ่งที่ไม่ใช่ ยิ่งด้วยสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ด้วยนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่จะมีนักเรียนเกาหลีลาออกจากโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเหตุผลในเรื่องของค่าเทอมในโรงเรียนเกาหลีที่แพงเอามากๆ รวมทั้งชุดยูนิฟอร์มของโรงเรียนก็ราคาสูงมากเช่นกัน ซึ่งมันเกินกำลังที่หลายครอบครัวจะจ่ายไหว จึงทำให้เด็กบางคนอาจต้องเรียนพร้อมกับทำงานหาค่าเทอมไปด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่เราจะเห็นผ่านซีรีส์เรื่อง Extracurricular (2020) ที่สะท้อนถึงปัญหาการก่ออาชญากรรมของนักเรียน ม.ปลาย เพื่อหาเงินส่งตัวเองเรียนมหาวิทยาลัยโดยไม่สนใจวิธีการและความถูกต้อง นำมาซึ่งความเสี่ยงและความผิดพลาดบางอย่างจนไม่มีวันที่จะลบล้างได้ แต่พวกเขาก็กล้าที่จะเสี่ยง เพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่ได้เงินเยอะขนาดนี้แล้ว เพื่อผลักตัวเองออกไปจากจุดที่รู้สึกว่าต้อยต่ำ และต้องการการยอมรับจากสังคม
อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วการลาออกก็อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดของทุกคนเสมอไป เราควรคิดไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนว่าถ้าลาออกแล้วเราจะสามารถรับผลที่ตามมาได้จริงไหม เราสามารถบังคับตัวเองให้อ่านหนังสือสอบได้จริงใช่ไหม ไม่ใช่แค่ลาออกเพราะมันกำลังเป็นเทรนด์
อย่าลืมว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาตนเอง ส่วนพ่อแม่ก็คาดหวังให้ลูกประสบความสำเร็จได้ แต่การส่งกำลังใจในบางครั้งก็อาจเป็นการกดดันเด็กโดยไม่ตั้งใจเหมือนกัน อีกทั้งพ่อแม่ก็ไม่ควรเอาตนเองเป็นที่ตั้งแล้วฝากความหวังกับลูกมากจนเกินไป ให้เขาได้เรียนในสิ่งที่ชอบดีกว่า เพราะเขาคือคนที่ต้องเรียนไม่ใช่เรา และเกรด ใบปริญญาอาจไม่ใช่ทุกสิ่งที่การันตีว่าชีวิตจะประสบความสำเร็จเช่นกัน
สอบไม่ติด = ชีวิตที่ล้มเหลว?
เมื่อครอบครัวไม่เคยหยุดกดดันเรื่องคะแนนสอบ
เมื่อเพื่อนร่วมห้องทุกคนพร้อมใจกันเรียนถึง 5 ทุ่มทุกคืน
เมื่อใครๆ ก็พักรอสอบใหม่ในปีถัดไปหากผลคะแนนไม่เป็นไปตามหวัง
เมื่อสถาบันกวดวิชาได้รับอนุญาตให้ทำโฆษณาประกาศก้องไปทั่วประเทศว่าการสอบไม่ติดนั้นเท่ากับชีวิตที่ล้มเหลว
เมื่อผู้ประกาศข่าวพร้อมใจย้ำเตือนว่าสิ่งนี้เองคือเป้าหมายเดียวของการตรากตรำอันยาวนานของการเรียน
เมื่อรัฐบาลประกาศให้ทั่วประเทศพร้อมใจกันหยุดเคลื่อนไหวเพื่อหลีกทางให้แก่การสอบใหญ่ประจำปี
เมื่อนี่คือความเชื่อร่วมกันของคนทั้งชาติ หากสังคมยังคอยย้ำเตือนพวกเขาอยู่เช่นนี้ เด็กเกาหลีก็คงไม่กล้าที่จะปล่อยวางและมีความสุขกับการเรียนได้ เพราะพวกเขาต้องแบกรับความหวังและความกดดันเอาไว้อยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ เมื่อเรียนจบมาแล้ว การสอบเข้าทำงานไปจนถึงการได้ทำงานจริงๆ ก็ยังหนีไม่พ้นการแข่งขันอีกเช่นกัน ถึงขั้นที่ว่ามีการเปิดสถาบันเพื่อติวสอบเข้าทำงานด้านสายงานต่างๆ ในเกาหลีด้วย เพราะสมมติมีบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน จะมีตำแหน่งในบริษัทใหญ่ บริษัทมหาชน และหน่วยงานรัฐที่มั่นคงรองรับแค่ 1 แสนตำแหน่งเท่านั้น ส่วนอีก 4 แสนคนก็อาจจะต้องตกงานหรือต้องทำงานในบริษัทเล็กลงมา ซึ่งไม่มั่นคงและไม่สามารถต่อกรกับบริษัทยักษ์ใหญ่หรือกลุ่ม ‘แชโบล’ ได้เลย
เมื่อก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานเกาหลีก็ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานอย่างหนักเช่นกัน คนเกาหลีทำงานเกินเวลากันจนเป็นเรื่องปกติ จากสถิติลูกจ้างในเกาหลีพบว่าทำงานหนักที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และมีคนถึง 74% รู้สึกว่างานที่ทำอยู่กำลังทำให้พวกเขาเป็นโรคซึมเศร้า
เพราะเป็นคนเกาหลีจึงเจ็บปวด
ด้วยข้อมูลที่ว่ามา เราจึงไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่เกาหลีในช่วงหลังๆ มานี้มักจะผลิตรายการหรือซีรีส์ที่เป็นในเชิงของการแข่งขัน หาผู้ชนะและได้เงินรางวัล และส่วนมากรายการเหล่านี้ก็มักจะได้รับความนิยมสูงในประเทศด้วย เช่น รายการ Produce 101 (2016) รายการ Street Women Fighter (2021) ซีรีส์ Squid Game (2021)
เนื่องมาจากสังคมที่เป็นการแข่งขันสูงอยู่แล้ว ที่เริ่มตั้งแต่เรียนไปจนถึงตอนทำงาน ทำให้ชาวเกาหลีที่อยู่ในสังคมแห่งการแข่งที่โหยหาถึงชัยชนะและความสำเร็จเมื่อดูแล้วอาจเกิดความรู้สึกร่วมได้ และรายการหรือซีรีส์นี้ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมเกาหลีต้องใช้ชีวิตเพื่อที่จะพยายามเอาตัวรอดเป็นอย่างมาก ชีวิตเต็มไปด้วยความเครียด และต้องทำทุกวิถีทางที่สามารถหาเงินเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัวได้
หากเราย้อนคิดให้ดี สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นแค่กับประเทศเกาหลีใต้ที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือการทำงาน หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเอง คนก็กำลังประสบชะตากรรมเช่นนี้ไม่ต่างกัน หลายคนต่างต้องดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็ จและพาตัวเองไปอยู่ในจุดสูงสุดให้ได้ เมื่อไม่มีเงินและไม่มีโอกาส ก็ไม่มีทางเลือกในการใช้ชีวิต
ต้นทุนชีวิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน และทุกคนต่างมีเส้นทางชีวิตของตัวเองทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราทุกคนเกิดมาแค่ครั้งเดียว จงใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง ไม่ใช่ปล่อยให้ตัวเองถูกหมุนไปมาเสมือนผ้าที่ติดอยู่ในเครื่องซักผ้า วนเวียนซ้ำไปมาแบบนั้นจนหาทางออกจากวังวนไม่ได้
เรื่องโดย ธนภัทร จันทร์เหม
อ้างอิง: studywiz.net, isas.arts.su.ac.th, dek-d.com, wealthmeup.com, Facebook: Roundfinger, prachatai.com