วิเคราะห์ซีรีส์ Alice in Borderland และ Sweet Home ในประเด็น ‘คนที่โลกไม่ต้องการ’
Alice in Borderland และ Sweet Home คือซีรีส์สองเรื่องที่ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส เพิ่งดูล่าสุด เพราะกำลังอยู่ในวังวนซีรีส์วัยรุ่นเอาชีวิตรอดและช่วยโลก ซึ่งบอกเล่าประเด็นเดียวกันคือโลกแห่งความจริงกับโลกแฟนตาซี ที่ไม่ว่าจะโลกใบไหน เราก็ยังต้องมีความหวัง มีความเชื่อ และมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้
มาดูที่ตัวละครหลักในซีรีส์ Alice in Borderland อะริสุ (รับบทโดย เคนโตะ ยามาซากิ) ชายหนุ่มผอมๆ ผมเผ้าปล่อยอิสระ แต่งตัวด้วยชุดอยู่บ้าน คีบรองเท้าแตะออกมาเดินชิบูย่า จะบอกว่าเขาเป็น NEET* ก็น่าจะอธิบายได้ง่ายที่สุด เพราะฉากสั้นๆ ที่น้องชายบอกว่าพี่ห่วย พยายามไล่ให้เขาออกไปสัมภาษณ์งาน แต่อะริสุก็ดูไม่ได้แคร์อะไรเลย
และแม้ตอนที่โลกเงียบ คนหายไปแล้ว เขาไม่ได้คิดจะติดต่อครอบครัวหรือกลับบ้านไปเจอใคร เช่นเดียวกับเพื่อนอีกสองคนที่คนหนึ่งกลับไปออฟฟิศที่ว่างเปล่า ส่วนอีกคนก็กลับไปที่บาร์ และพบว่าหญิงที่กำลังนัวกันอยู่นั้นก็หายตัวไปเช่นกัน
Sweet Home ตัวละครหลักของเราคือ ชาฮยอนซู (รับบทโดย ซงคัง) เด็กหนุ่มวัย 18 ปีที่เป็นฮิคิโคโมริ** ในอีพีแรกเราได้เห็นการสื่อสารผ่านแชตระหว่างเขาที่เล่นเกมอยู่ในห้องกับแม่ที่รออยู่หน้าห้อง, ฉากที่เขาใส่รองเท้าแตะที่เล็กกว่าเท้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้ออกนอกบ้านนานแล้วจนไม่มีรองเท้าที่พอดีไว้ใส่, การที่เขาสั่งรามยอนมาเป็นลัง เพราะตั้งใจจะเก็บตัวอยู่ในห้องไปยาวๆ ก่อนถึงวันที่จะตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เป็นต้น
ดังนั้นการที่ตัวละครนำ/พระเอกของเรื่อง ซึ่งพูดตามตรงว่าเป็น ‘คนที่สังคมไม่ต้องการ’ กลับกลายมาเป็นฮีโร่คนสำคัญที่ช่วยชีวิตผู้คนให้รอด จึงเป็นการลบล้างคติเดิมที่เป็นมาของพระเอกในอุดมคติไปยังขั้วตรงข้ามที่ไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟ็กต์ เรียนดี กีฬาเด่น มีงานการดีๆ ทำ หรือประสบความสำเร็จในชีวิตก็ได้ พูดง่ายๆ คือ “เราห่วยก็ได้ เราเป็นคนที่โลกไม่ต้องการก็ได้”
และการที่ซีรีส์เลือกบอกเล่าแบบนี้ ก็ยิ่งสะท้อนข้อเท็จจริงบางอย่างของสังคมโลกในทุกวันนี้
เราอาศัยอยู่คนละประเทศ คนละทวีป แต่เราเป็น World Citizen หรือพลเมืองของโลกที่แชร์เรื่องราวสุขเศร้าเดียวกัน
การยอมรับในความแตกต่าง ยอมรับในความสามารถ รูปลักษณ์ สีผิว ภาษา เพศสภาพที่แตกต่าง ล้วนเป็นการเรียกร้องที่เห็นได้ชัดเจนในยุคสมัยนี้
คนทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นพระเอก ทายาทตระกูลดัง NEET หรือฮิคิโคโมริ ยิ่งเมื่อยืนอยู่บนความเป็นความตาย คุณค่าก่อนหน้านั้นก็ไม่อาจช่วยให้มีชีวิตรอด
แต่สิ่งสำคัญที่เป็นเหตุผลรองรับให้ซีรีส์ทั้งสองเรื่องก็คือ ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม อย่างหนึ่งที่ควรยึดถือคือคุณธรรมในจิตใจที่มองเห็นคุณค่าที่เท่าเทียมของคนทุกคน และแม้จะอยู่ในความมืดหม่นแค่ไหน ก็จงมีความหวัง จงมีชีวิตอยู่ รอคอยวันหนึ่งที่แสงสว่างจะเดินทางมาถึง
ข้อมูลหนึ่งที่สืบค้นมาได้และคิดว่าเกี่ยวข้องกันพอสมควรคือ NEET และฮิคิโคโมรินับวันจะยิ่งมีจำนวนมากขึ้น เพราะทบกับยอดเดิมที่เป็นอยู่ในปีก่อนๆ ทำให้ช่วงอายุที่มีอาการต่อต้านสังคมกินช่วงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ตามไปด้วย
ซึ่งทั้ง NEET และฮิคิโคโมริต่างเป็นภาวะทางจิตที่ผิดปกติจากความเครียดและเจ็บป่วยทางจิตใจซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะเราต้องการฮีโร่ที่ฝังตัวอยู่ในโลกเสมือนกลับคืนมาต่อสู้ในโลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง
*NEET (Not in Education, Employment or Training) เท่าที่หาข้อมูลเจอ มีคนญี่ปุ่นที่เป็น NEET ราว 6.4 แสนคนในปี 2008 ช่วงปีหลังๆ ญี่ปุ่นไม่เปิดเผยตัวเลขแล้ว ซึ่งปัญหาวัยหนุ่มสาวที่ไม่ยอมทำงานไม่ได้มีแค่ในญี่ปุ่น เพราะปัจจุบันมันได้ลุกลามไปแทบทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
**ฮิคิโคโมริ (Hikikomori) การปิดกั้นตัวเองออกจากสังคม เก็บตัวอยู่ในห้องหรือในบ้านนานกว่า 3 เดือน เป็นความผิดปกติทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งสำหรับคนวัย 12-30 ปี โดยสาเหตุของการเกิดอาการฮิคิโคโมริยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่าจะมีสาเหตุดังต่อไปนี้ ความผิดหวังจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างรุนแรงและโทษตัวเอง, แรงกดดันจากคนรอบข้างที่ทำให้เกิดความเครียดสะสม เช่น เรื่องการเรียนที่ถูกคาดหวังจากครอบครัวมากเกินไป, ถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนหรือคนรอบข้างบ่อยครั้ง ทำให้รู้สึกแย่และสูญเสียความมั่นใจ, กลัวการเข้าสังคม อารมณ์อ่อนไหวกับคำแนะนำหรือคำวิจารณ์ เมื่อเจ็บปวดก็มักจะยอมรับไม่ได้ และเมื่อเลือกหนีปัญหาก็จะค่อยๆ ทำตัวตัดขาดจากโลกภายนอก