mr-queen-ep-11-12

Mr. Queen EP.11-12 ไม่ใช่แค่มื้ออาหาร แต่คือการเมืองวังหลวง

จากซีรีส์ Mr. Queen EP.11-12 ฉากงานเฉลิมฉลองวันซูริตที่พระเจ้าชอลจงตั้งใจจัดขึ้นหลังอาการป่วยของพระมเหสีดีขึ้น ฉากหน้าที่ดูเหมือนงานรื่นเริงปกติ แต่แท้จริงแล้วกลับเต็มไปด้วยคลื่นการเมืองระหว่างสองตระกูลที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น รวมถึงแผนการของชอลจงที่เริ่มเดินเกมของตัวเองอย่างช้าๆ และเงียบเชียบ

จนทำให้ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส เกิดความสงสัยถึงที่มาและเบื้องหลังของงานเฉลิมฉลองในวังครั้งนี้ว่า วันซูริตคืออะไร? 3 เมนูอาหารที่สร้างความฮือฮานั้นเชื่อมโยงความเชื่อและการเมืองในวังหลวงอย่างไร? และงานเลี้ยงครั้งนี้สะท้อนให้เราเห็นอะไรบ้าง? มาวิเคราะห์ไปพร้อมกัน!

“เพื่อแสดงว่าเข้าใจความหิวโหยของราษฎร ข้าขอใช้โอกาสนี้ประกาศเรื่องหนึ่ง เริ่มจากงานเลี้ยงนี้ เราจะลดอาหารในสำรับลง ในเมื่อบ้านเมืองกำลังเดือดร้อน กษัตริย์ก็ควรจะลดจำนวนอาหารในสำรับลงเพื่อร่วมทุกข์ไปกับราษฎร เมื่อลดจำนวนอาหารลง เราจะรับรู้ความเจ็บปวดของบ้านเมือง”

นี่คือประโยคที่ พระเจ้าชอลจง พูดขึ้นในงานวันซูริต และทำให้ Mr. Queen กลายเป็นซีรีส์สะท้อนการเมืองวังหลวงยุคโชซอนทันที

mr-queen-ep-11-12

ซูริตนัล วันแห่งการเฉลิมฉลองและขับไล่วิญญาณร้าย

วันซูริต หรือ ซูริตนัล (수릿날) มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า ทันโอ (단오) ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี (ช่วงเดือนมิถุนายน) โดยซูริตถูกกำหนดให้เป็นวันเฉลิมฉลองและพักผ่อนหลังจากเสร็จสิ้นการหว่านเมล็ดพืช รวมถึงการอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ โดยมี ซูรีชวีต๊อก (수리취떡) ต๊อกรูปทรงกลมแบนสีเขียวที่ได้มาจากซุก (쑥) พืชชนิดหนึ่งที่พบได้มากในเดือนพฤษภาคมมาเป็นอาหารประจำเทศกาล

และเมื่อวิเคราะห์คำพูดของพระพันปีโจที่กล่าวกับพระมเหสีในอีพี 11 ว่า “ในวันซูริตเราจะขับไล่วิญญาณร้ายออกไป” เราพบว่าคำพูดดังกล่าวไม่ใช่เพียงเพราะพระพันปีโจชื่นชอบในเรื่องไสยศาสตร์เท่านั้น โดยข้อมูลจากบล็อก Korea Basic Science Institue มีการกล่าวถึงธรรมเนียมในการขับไล่วิญญาณร้ายในวันซูริตว่า ‘ผู้หญิงจะสระผมและล้างหน้าด้วยน้ำที่ต้มจากพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ชื่อว่าซังโพ (창포) เพื่อขับไล่วิญญาณร้าย ก่อนจะสวมเสื้อผ้าใหม่สีแดงและน้ำเงิน และตัดรากของต้นซังโพมาทำเป็นปิ่นปักผม’

รวมถึงอีกหนึ่งฉากที่นำไปสู่การต่อสู้อันดุเดือดระหว่างพระเจ้าชอลจงและคิมบยองอิน หลังจากที่ชอลจงมอบ พัดทันโอ หรือ ทันโอซอน (단오선) ให้กับเหล่าขุนนาง นี่คือหนึ่งในประเพณีที่มีความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยโชซอน ซึ่งกษัตริย์จะมอบพัดทันโอให้ในวันซูริต โดยพัดดังกล่าวจะมีลวดลายที่เรียกว่าคิลซัง (길상) ที่เปรียบดังสัญลักษณ์แห่งความโชคดีหรือสัญญาณแห่งความดี ส่วนสาเหตุที่ต้องมอบพัดให้เหล่าขุนนางนั้นอาจเพราะตามปฏิทินจันทรคติ วันซูริตถูกจัดอยู่ในช่วงฤดูร้อน การมอบพัดเพื่อคลายความร้อนจึงเป็นของขวัญที่เหมาะสม

mr-queen-ep-11-12

อีแซงมัง พ่อครัวรับเชิญผู้สรรสร้างเมนูสุดฮือฮาแห่งโชซอน

“ฝ่าบาทส่งข้ามาเตรียมงานเลี้ยงในฐานะพ่อครัวรับเชิญ” – อีแซงมัง

งานเลี้ยงที่เกือบล่มของชอลจง ซึ่งได้ อีแซงมัง (พระมเหสีในคราบชายหนุ่ม) มาช่วยกอบกู้วิกฤตที่เกิดจากฝีมือของตระกูลคิม โดยการนำวัตถุดิบจากไร่นาหลวงมาพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการแสดงฝีมือ จนกลายเป็นอาหาร 3 เมนูที่เรียกความฮือฮา ประกอบด้วย

ยงซูกัมจา (용수감자)

หรือ มันฝรั่งยงซู มันฝรั่งลูกโตที่ถูกนำมาเสียบไม้ทอด ซึ่งมีที่มาจากคำว่า ยง (용) ที่หมายถึงมังกร, ซูยอม (수염) ที่หมายถึงหนวด และคัมจา (감자) ที่หมายถึงมันฝรั่ง ซึ่งเมื่อรวมกับคำบรรยายของชอลจงที่กล่าวว่า

“เมนูนี้ชื่อว่ายงซูกัมจา มันคล้ายหนวดมังกร จึงมีชื่อว่ามันฝรั่งยงซู เป็นอาหารนำโชคในวันโชคดีเช่นนี้… ถ้าไม่มีมันฝรั่ง เราคงเสียผู้คนไปมากกว่านี้ทุกปี มันฝรั่งหน้าตาบ้านๆ เติบโตได้แม้ในดินแดนแห้งแล้ง แถมเก็บรักษาง่าย ถือเป็นอาหารหลักของชาวบ้านในช่วงแล้ง นี่คือวัตถุดิบศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยชีวิตผู้คน มันเป็นมากกว่ามันฝรั่งธรรมดานะ”

ก็ยิ่งทำให้สายตาดูแคลนของเหล่าขุนนางที่มองมันฝรั่งแท่งเสียบไม้ตรงหน้าเปลี่ยนไป และเมื่อนำไปรวมกับที่มาของ เครื่องปรุง 3 ชนิด ซึ่งเป็นตัวแทนของวัตถุดิบจากบ้านเกิดของพระสนมทั้งสามที่เพิ่งเข้าวังมาได้ไม่นานอย่าง ผงสีเขียว ที่ทำจากเกลือสนเข็มของวังฮวาซองในเขตตระกูลนัมยังฮง, ผงสีแดงอ่อน ที่ทำจากลูกอมผงผสมน้ำตาลองุ่นป่าจากภูเขากามักของตระกูลพาพยองยุน และ น้ำจิ้มสีเหลือง ที่ทำจากพีชที่ดีที่สุดจากยอจูของตระกูลยอฮึงมิน ยิ่งช่วยสร้างความประทับใจให้กับครอบครัวของพระสนมทั้งสามที่เดินทางมาจากแดนไกลได้ไม่น้อย

“แนวคิดของงานเลี้ยงในวันนี้คือการผสานเป็นหนึ่งเดียว การเมืองแบ่งแยกผู้คน แต่อาหารเลิศรสทำให้ทุกคนมารวมตัวกัน หวังว่าเจ้าจะได้ลิ้มรสการผสมผสานของทั้งสามตระกูลที่มาร่วมงานในวันนี้” – พระเจ้าชอลจง

แมคดูนัลดู (맥두날두)

เมนูไฮไลต์ของงานเลี้ยงที่ล้อเลียนแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่าง McDonald’s ที่คนเกาหลีออกเสียงว่า แมคโดนัลดือ (맥도날드) ซึ่งในซีรีส์มีการปรับชื่อให้ออกเสียงเพี้ยนไปเล็กน้อยเป็น แมคดูนัลดู (맥두날두) แฮมเบอร์เกอร์มังสวิรัติเสิร์ฟพร้อมซุปที่มีส่วนประกอบของมันเทศ แตง มะเขือม่วง และไข่ โดยใช้มะเขือเทศลูกอวบอิ่มแทนชามในการเสิร์ฟ ที่อีแซงมังคิดว่าเหล่าเชื้อพระวงศ์ พระสนม และขุนนางจะต้องเซอร์ไพรส์กับภาชนะกินได้นี้

เมื่อรวมกับคำอธิบายของชอลจงที่เชื่อมโยงอาหารจานดังกล่าวไปกับความเชื่อในการขับไล่ความโชคร้ายในวันซูริต จึงยิ่งทำให้ระดับความน่าสนใจของอาหารไม้ได้เป็นเพียงแค่นำวัตถุดิบที่มีในไร่นาหลวงมาประกอบอาหารแต่เพียงส่งๆ เท่านั้น

“นี่คือกระเป๋าที่กินได้ ผลผลิตนี้เป็นสีแดงตลอดทั้งปี จึงมีชื่อว่าพลับหนึ่งปี สีแดงของผลผลิตนี้ขับไล่ความโชคร้ายในวันซูริตได้” – พระเจ้าชอลจง

โพชุน ยักเกง (포춘 약갱)

ปิดท้ายงานเลี้ยงด้วย วุ้นหวานเย็น เมนูธรรมดาที่เติมความไม่ธรรมดาลงไปด้วยการตกแต่งดอกไม้ประดับลงบนวุ้นสีสันสดใส ที่มาพร้อมกับ แท่งไม้เสี่ยงทาย ตามที่มาของชื่อ โพชุน ยักเกง (포춘 약갱) โดยคำว่า โพชุน (포춘) นั้นทับศัพท์มาจากคำว่า Fortune และ ยักเกง (약갱) ที่หมายถึงวุ้น รวมกันเป็น ‘วุ้นเสี่ยงทาย’ คล้ายกับคุกกี้เสี่ยงทาย (Fortune Cookie) ที่หลายคนรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี

“เจ้าแท่งนี้ช่วยให้เรากินวุ้นง่ายขึ้น แถมยังเสี่ยงทายดวงได้อีก จานนี้อบอวลด้วยกลิ่นอายใบไม้ผลิ เรียกว่าวุ้นเสี่ยงทาย แสดงถึงความหวังของข้าที่อยากให้อนาคตของทุกคนรุ่งโรจน์ดุจฤดูใบไม้ผลิ มาปิดท้ายงานเลี้ยงนี้ด้วยการเสี่ยงทายดวงเถิด” ซึ่งคำกล่าวของชอลจงนี้เองที่ทำให้พระพันปีโจผู้ชื่นชอบไสยศาสตร์ตาลุกวาวไปกับคำทำนายที่เธอจะได้รับ รวมถึงพระพันปีหลวงที่ตื่นเต้นกับการได้วุ้นเพิ่มอีกแท่งราวกับเด็กๆ

mr-queen-ep-11-12

หุ่นเชิดที่มีหัวใจและยังเชื่อในความหวัง

สำหรับชอลจงนั้น หลังจากที่เขาถูกชักใยในฐานะหุ่นเชิดมานาน เมื่อวันหนึ่งเขาค้นพบอีกหนึ่งทางออกที่เฝ้ารอมาหลายปี (การสร้างตระกูลใหม่) รวมถึงการได้ออกไปเห็นความยากลำบากของราษฎรนอกรั้ววังด้วยตัวเอง งานเลี้ยงฉลองในวันซูริตนี้จึงเป็นหนึ่งในโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะแสดงให้เห็นถึงความต้องการบางอย่างของเขา ดังคำกล่าวในช่วงท้ายของอีพี 12 ว่า

“เพื่อแสดงว่าเข้าใจความหิวโหยของราษฎร ข้าขอใช้โอกาสนี้ประกาศเรื่องหนึ่ง เริ่มจากงานเลี้ยงนี้ เราจะลดอาหารในสำรับลง ในเมื่อบ้านเมืองกำลังเดือดร้อน กษัตริย์ก็ควรจะลดจำนวนอาหารในสำรับลงเพื่อร่วมทุกข์ไปกับราษฎร เมื่อลดจำนวนอาหารลง เราจะรับรู้ความเจ็บปวดของบ้านเมือง

“เพื่อผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน ในเวลาเช่นนี้การนำธัญพืชที่สามารถช่วยคนนับสิบมาทำเนื้อชิ้นหนึ่งให้เพลินลิ้นเป็นบาปยิ่งนัก ด้วยเหตุนี้หากมีผู้ใดในวังนี้มีเนื้ออยู่ในสำรับอาหาร ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ ไม่เพียงแค่เนื้อ แต่ขอห้ามไม่ให้มีมื้ออาหารโอ่อ่า เหล่าเสนาบดีห้ามดื่มสุราเมรัย ร้องรำทำเพลง และแบ่งพรรคแบ่งพวกต่อสู้กัน ถ้าละเมิดคำสั่งเหล่านี้ ข้าจะถือว่าเจ้าเต็มใจรับการลงโทษ”

ซึ่งสำหรับเราแล้ว ประโยค “กษัตริย์ก็ควรจะลดจำนวนอาหารในสำรับลงเพื่อร่วมทุกข์ไปกับราษฏร” นั้น เนื่องจากในอดีตครอบครัวของชอลจงค่อนข้างยากจนข้นแค้น จึงทำให้เขาเข้าใจความรู้สึกของความยากลำบากนั้นโดยตรง แตกต่างจากเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ และเหล่าขุนนางที่มีพื้นเพที่ดีและไม่เคยตกระกำลำบากมาก่อน การให้พวกเขาได้ลองใช้ชีวิตเหมือนกับราษฎรทั่วไปโดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างการลดอาหารในสำรับก็ดูจะเป็นเรื่องที่เริ่มได้ง่าย เพราะพวกเขาเหล่านี้เองก็เพิ่งเรียนรู้รสชาติของอาหารบ้านๆ ในงานเลี้ยงฉลองมาแล้ว

และประโยค “แบ่งพรรคแบ่งพวกต่อสู้กัน” นั้น เราคิดว่านี่คงเป็นหนึ่งในความปรารถนาเล็กๆ จากก้นบึ้งหัวใจของเขา หลังจากที่ต้องเฝ้าดูความบาดหมางระหว่างสองตระกูลมาตลอดหลายปี ด้วยความหวังที่ว่าสักวันหนึ่งไฟแห่งความโลภในอำนาจของทั้งสองตระกูลจะเบาบางจนทำให้เส้นใยที่พันรอบตัวเขาคลายหรือหายไป และการเติบโตมาในครอบครัวที่ถูกเนรเทศบ้านแตกสาแหรกขาดทั้งที่ตัวเองมีเชื้อกษัตริย์ ความล่มจมที่ได้เห็นตลอดชีวิตที่ผ่านมาทำให้เขาหวังจะได้เห็นแสงสว่างในการเป็นกษัตริย์ที่ดี และทำให้เขาได้เริ่มต้นใหม่ในฐานะกษัตริย์ที่แท้จริงโดยไม่มีใครคอยชักนำ

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้