หนังสือการ์ตูนเกาหลี ย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ก่อนจะกลายมาเป็นยุคของเว็บตูนในวันนี้ | แอบรู้หลังดูซี
รู้หรือไม่… เคยมีซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจาก หนังสือการ์ตูนเกาหลี ด้วย วัฒนธรรมของหนังสือการ์ตูนในประเทศเกาหลีเกิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนไหน มีประวัติความเป็นมายังไง แล้วก่อนจะพัฒนาจนกลายมาเป็นยุคเว็บตูนอย่างในปัจจุบัน ต้องผ่านอะไรมาบ้าง
หนังการ์ตูนเกาหลี ‘มันฮวา’ สู่ ซีรีส์เกาหลี วัฒนธรรมป๊อปที่อยู่มาทุกยุคสมัย
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Full House ไอคอนิกสุดฮิตของเด็กยุค 90 กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง เมื่อซีรีส์ Twenty Five, Twenty One หยิบหนังสือการ์ตูน หรือถาษาเกาหลีเรียกว่า ‘มันฮวา’ เรื่องนี้มาใช้เป็นสัญลักษณ์ชีวิตวัยรุ่นของ นาฮีโด ซึ่งทำให้ยอดขาย Full House แบบรูปเล่มเพิ่มขึ้นถึง 1,044% จากเดือนมกราคม และมียอดขายเพิ่มขึ้นอีก 24.3% ในเดือนมีนาคม
รวมถึงซีรีส์เกาหลีที่กำลังโด่งดังอยู่ในช่วงไม่กี่ปีนี้ต่างเป็นเรื่องที่ถูกดัดแปลงมาจากเว็บตูน เช่น Itaewon Class, True Beauty, Nevertheless หรือล่าสุดอย่าง All of Us are Dead, Sweet Home, Taxi Driver ที่ประสบความสำเร็จจนประกาศสร้างซีซัน 2 ออกมาเมื่อไม่นานมานี้
ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จึงอยากพาย้อนรอยเส้นทางความเป็นมาของ มันฮวา ในช่วงเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่มันฮวาจะปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มมาเป็นเว็บตูน และถูกนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ชื่อดังหลายเรื่อง
ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน เรื่องราวของ มันฮวา เครื่องมือชิ้นสำคัญของฮันรยู
ในช่วงเกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองญี่ปุ่นปี 1910-1945 ทำให้วัฒนธรรมเกาหลีได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก รวมถึง การวาดการ์ตูน โดยคำว่า มันฮวา เริ่มปรากฏการใช้งานในช่วงปี 1920 ด้วยเนื้อหาที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่พอใจจนสั่งแบนสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านั้น และแทนที่ด้วยมันฮวาที่มีเนื้อหาตลกขบขัน
ภายหลังจากเกาหลีเป็นอิสระจากญี่ปุ่นในปี 1948 มันฮวาทางการเมืองก็เริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง แต่ยังคงมีมันฮวาบางส่วนที่รัฐไม่พอใจและใช้อำนาจสั่งปิดสื่อสิ่งพิมพ์อยู่
ต่อมาช่วงสงครามเกาหลีในทศวรรษที่ 1950 มันฮวาก็ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจากทั้งฝั่งรัฐและประชาชน โดยรัฐใช้มันฮวาเป็นโฆษณาชวนเชื่อเพื่อปลุกระดมพลเมืองให้เข้าร่วมสงครามเกาหลี ทำให้จิตรกรบางกลุ่มแสดงการต่อต้านและนำเสนอประเด็นทางสังคมผ่านทางมันฮวา ส่งผลให้รัฐบาลไม่พอใจและออกกฏหมายเพื่อเซนเซอร์มันฮวาอีกครั้ง
ในปี 1960 เริ่มมีการเปิดร้าน มันฮวาบัง (만화방) หรือร้านคาเฟ่สำหรับอ่านหนังสือการ์ตูน ทำให้ในทศวรรษ 1980 ตลาดมันฮวาก็เริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง จากการได้อ่านการ์ตูนในมันฮวาบัง อีกทั้งยังมีเรื่องราวที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งรักโรแมนติก ดรามา หรือกีฬา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากคอมิกฝั่งตะวันตก ในช่วงสงครามเกาหลี และมังงะ โดยเฉพาะมังงะ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตวัยรุ่นและความสัมพันธ์โรแมนติกที่มีอิทธิพลต่อมันฮวาเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดมันฮวาตาหวานชื่อดังหลายเรื่อง เช่นFull house ที่ได้รับความนิยมจนมีการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องในช่วงนี้
แต่ทว่าหลังจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโซลปี 1988 เกิดการหดตัวของอุตสาหกรรมมังฮวาบัง จากประมาณ 10,000 แห่งทั่วประเทศ เหลือน้อยกว่า 5,000 ในปี 1990 เนื่องจากกระแสเกมฟามิคอม และคอมพิวเตอร์ ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจของเกาหลีในช่วงปลายยุค 90 ก็ทำให้มันฮวาได้รับความนิยมลดลง
เว็บตูน ยุคใหม่ของมันฮวาร่วมสมัย
ในปี 2000 มันฮวาแบบรูปเล่มก็เริ่มเปลี่ยนแปลงหน้าตามาอยู่บนอินเทอร์เน็ตในรูปแบบ เว็บตูน ซึ่งมีที่มาจากคำว่า เว็บ และ การ์ตูน หมายถึง การ์ตูนที่อยู่บนเว็บไซต์ โดยไม่ว่าใครก็สามารถวาดและเผยแพร่ผลงานได้ด้วยตนเอง รวมถึงนักอ่านก็สามารถเข้าถึงเว็บตูนได้ง่ายขึ้น ทำให้เว็บตูนเริ่มได้รับการตอบรับที่ดีจากสังคม
กระทั่งในช่วงปี 2004 นักวาดเว็บตูนเริ่มกลายเป็นอาชีพที่จับต้องได้มากขึ้น เมื่อ Naver และ Kakao เริ่มจ้างนักวาดให้เข้าทำงานในบริษัท และผลิตผลงานเพื่อเผยแพร่ใน Naver Webtoon และ Kakao Webtoon อย่างจริงจัง
ตั้งแต่ปี 2000 รัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมมันฮวาและเว็บตูนในฐานะหนึ่งในวัฒนธรรมฮันรยูที่มีศักยภาพในการสร้างประโยชน์และผลักดันเศรษฐกิจให้ประเทศได้ เช่นเดียวกับดนตรี K-pop และซีรีส์เกาหลี ทำให้มันฮวาและเว็บตูนกลายเป็นวัตถุดิบชิ้นสำคัญที่ถูกหยิบเอามาทำซีรีส์ชื่อดังหลายเรื่อง เช่น Full House (2004), Princess Hours (2005) และถูกนำไปแปลและรีเมกในหลายประเทศ โดยเฉพาะไทย ที่นำซีรีส์ทั้งสองเรื่องมารีเมกในชื่อ วุ่นนักรักเต็มบ้าน และเจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา
จุดเด่นของเว็บตูน
จุดเด่นของเว็บตูนคือการมีลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างจากมังงะและคอมิกอย่างสิ้นเชิง พร้อมด้วยเนื้อเรื่องที่แปลกใหม่และหลากหลาย แต่ก็ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนปัญหาและประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้น ทำให้เว็บตูนยิ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากขึ้น และถูกนำมาทำซีรีส์ด้วย เช่น Annarasumanara เว็บตูนในปี 2014 ที่ถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์มิวสิคัล The Sound of Magic ที่บอกเล่าปัญหาของระบบการศึกษาในสังคมเกาหลี
ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า มันฮวา หรือ หนังสือการ์ตูนเกาหลี เป็นหนึ่งในคลื่นวัฒนธรรมกระแสนิยมที่สำคัญที่มีความสามารถในการเผยแพร่วัฒนธรรม พร้อมกับขับเคลื่อนสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้มันฮวากลายเป็นการ์ตูนที่สามารถครองใจนักอ่านทั่วโลกได้ และยังถูกนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์หลายเรื่องที่สร้างความฮือฮาให้ผู้ชมใจจดจ่อและรอคอยซีซันถัดไปได้อย่างดี
เรื่องโดย อรณิชา ชูสกุล
อ้างอิง: wikipedia, lareviewofbooks.org, barnettcenter.osu.edu, gwenchanoona.com, aljazeera.com