law-school-panel

Law School กับการพิพากษาคดีโดยคณะลูกขุนที่มีในเกาหลี แต่ไม่มีในประเทศไทย

“การพิสูจน์จนกว่าจะสิ้นข้อสงสัยที่มีเหตุผลคืออะไร” คำถามจาก ‘คณะลูกขุน’ หมายเลข 4 ถูกส่งขึ้นไปให้ผู้พิพากษาอธิบาย เขาอธิบายด้วยภาษากฎหมายที่ไม่ใช่แค่ตัวละครในซีรีส์ Law School จะทำหน้างงกันเป็นแถบ กระทั่งเราคนดูก็สมองไม่ประมวลผลเช่นกัน

นั่นทำให้ผู้พิพากษายกหน้าที่ให้อาจารย์ยังช่วยอธิบาย ซึ่งคำอธิบายของอาจารย์ยังทำให้เห็นภาพมากว่าการพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัยที่มีเหตุผลนั้นคือการหาหลักฐานมาพิสูจน์จนชัดเจนจนไม่มีข้อสงสัย เช่น จิ๊กซอว์ที่มองเห็นชัดแล้วว่าเป็นรูปอะไรแน่นอน ไม่จำเป็นต้องต่อให้ครบทุกชิ้นก็บอกได้แล้ว เป็นต้น (อยากให้ไปดูกัน เพราะในซีรีส์ถ่ายทอดรายละเอียดออกมาได้ดีมาก)

Law School ซีรีส์ที่ไม่ใช่แค่นักศึกษาได้เข้าคลาสอาจารย์ยัง แต่คนดูก็ได้เข้าไปเรียนด้วย

เมื่อได้ดูซีรีส์ Law School แล้วก็เป็นอีกครั้งที่ทำให้สงสัยในการพิจารณาคดีโดย ‘คณะลูกขุน’ ที่ไม่เหมือนในกระบวนการศาลบ้านเรา ดูซีรีส์ให้ซีเรียสจึงไปทำการบ้านค้นคว้าหาความรู้ก่อนที่คลาสเรียน Law School จะออนแอร์ในวันที่ 3 มิถุนายนนี้

ซึ่งการพิพากษาคดีโดยคณะลูกขุนคืออะไร กระบวนการเป็นอย่างไร ในซีรีส์ Law School ได้บอกไว้ค่อนข้างชัดเจน เพราะเราจะได้เห็นขั้นตอนว่ามีตั้งแต่การสมัคร คัดเลือกลูกขุนจากประชาชนทั่วไป ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทน 60,000 วอน โดยรายละเอียดที่ได้เห็นในซีรีส์นั้นเริ่มตั้งแต่

– ประชาชนได้รับแบบสอบถาม ต้องตอบให้ครบถ้วน และส่งกลับไปภายในระยะเวลาที่กำหนด
– เข้ารายงานตัวเพื่อรับหมายเลขในช่วงเช้าวันที่มีการพิจารณาคดี
– เข้าคัดเลือกจากทางอัยการและทนายความเพื่อหาคณะลูกขุนที่จะพิจารณาคดีร่วมกับผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น
– มีคณะลูกขุนสำรอง ในกรณีที่ลูกขุนคนใดคนหนึ่งไม่สามารถทำงานต่อได้
– ร่วมฟังการสืบพยาน ชี้แจงหลักฐานต่างๆ
– จากนั้นร่วมประชุมเพื่อสรุป โดยลูกขุนแต่ละคนตัดสินคดีตามข้อมูลที่ได้รับว่าจำเลยได้ทำผิดจริงตามคำฟ้องหรือไม่
– การนำข้อมูลคดีในชั้นศาลไปเผยแพร่จะถูกปรับและลงโทษ
– การพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนใช้ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ ฯลฯ

ข้อดีของการมีคณะลูกขุนคือการเป็นกระบอกเสียงของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้รู้ข้อกฎหมายได้แสดงสิทธิและเสียงของตน ซึ่งอาจแตกต่างจากนักกฎหมายที่ยึดถือตัวกฎหมายเป็นสำคัญ ทั้งยังเป็นการเปิดให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม

ส่วนข้อเสียก็อย่างที่ได้เห็นในซีรีส์ Law School ที่อาจมีการใช้อำนาจหรือเงินทองในการล็อกคำตัดสินของลูกขุน ซึ่งสำหรับประเทศไทย รวมถึงประเทศที่รูปแบบสังคมเป็นระบบอุปถัมภ์ หากใช้ระบบลูกขุนก็อาจเกิดปัญหานี้ได้เช่นกัน รวมถึงปัญหาความอคติที่อาจเกิดขึ้นจากการโน้มน้าวชักจูงของทนายความและอัยการ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคม

ซึ่งคณะลูกขุนจะเป็นการทำงานในศาลชั้นต้นเท่านั้น ส่วนศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาไม่มีระบบนี้

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้