extraordinary-attorney-woo-genealogy-in-korea

ไขข้อสงสัย ‘การไล่ถิ่นตระกูล’ ของคนเกาหลี ในซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo

เป็นอีกครั้งที่ดูซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo แล้วเกิดประเด็นสงสัย จนพาให้เราต้องไปตามสืบเสาะข้อมูลกันต่อ และทำให้ได้พบจักรวาลอันกว้างใหญ่จากข้อสงสัยเล็กๆ เรื่อง ‘การไล่ถิ่นตระกูล’ ใน EP.12 ฉากที่ผู้พิพากษารยูมยองฮา ถามถึงต้นตระกูลของทนายรยูแจซุก

ผู้พิพากษา: ถิ่นตระกูลคือที่ไหนครับ
ทนาย: อ้อ ฉันตระกูลรยูจากพุงซานค่ะ
ผู้พิพากษา: ผมก็ตระกูลรยูจากพุงซานครับ…
ทนาย: คำว่า ‘แจ’ จากชื่อรยูแจซุกของฉัน เป็นชื่อรุ่นที่ชี้ว่าฉันคือรุ่น 26 ของตระกูลรยูจากพุงซานค่ะ ส่วนผู้พิพากษามี ‘ฮา’ อยู่ในชื่อ ฉันว่าน่าจะเป็นรุ่น 27 ถูกไหมคะ ถ้าอย่างนั้นฉันก็มีศักดิ์เป็นอาสินะคะ

การไล่ถิ่นตระกูล ที่เราได้เห็นกันในซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo นั้น คนเกาหลีเขาทำกันเพื่ออะไร ชีวิตจริงของคนยุคนี้ยังทำกันอยู่ไหม แล้วการรู้ถิ่นตระกูลของตัวเองมันบ่งบอกอะไรได้บ้าง ดูซีรีส์ให้ซีเรียส หาคำตอบมาให้แล้ว

extraordinary-attorney-woo-genealogy-in-korea

นามสกุลของคนเกาหลี

ก่อนจะไปเจาะถึงเรื่องการไล่ถิ่นตระกูล ต้องมาเริ่มที่การทำความเข้าใจเรื่องนามสกุลของคนเกาหลีกันก่อน เพราะอย่างที่นักดูซีรีส์หลายคนน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่าชาวเกาหลีมีนามสกุลที่ไม่ค่อยหลากหลายเหมือนกับคนชาติอื่น คือโดยส่วนมากจะเป็นนามสกุล 1 พยางค์ แล้วตามด้วยชื่อ 2 พยางค์ เช่น พัค-อึนบิน, คิม-ซอนโฮ, คัง-แทโอ ฯลฯ ทั้งนี้ นามสกุลแบบ 2 พยางค์ก็มีอยู่บ้าง แต่พบได้น้อย เช่น นัมกุง-มิน เป็นต้น

ปัจจุบันเกาหลีใต้มีจำนวนประชากรประมาณ 51 ล้านคน แต่เมื่อสำรวจสำมะโนประชากรอย่างละเอียดแล้วก็พบว่ามีเพียง 288 นามสกุลเท่านั้นที่ใช้อยู่ในตอนนี้ โดยนามสกุลที่มีผู้ใช้มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ คิม (21.5%), อี (14.7%) และพัค (8.4%) ตามลำดับ

ซึ่งสาเหตุที่นามสกุลยอดฮิตทั้ง 3 ถูกใช้มากที่สุดก็มีเหตุผลรองรับเช่นกัน ย้อนเวลากลับไปหลายร้อยปีก่อน ประชาชนคนธรรมดาระบุตัวตนกันด้วยชื่อเพียงอย่างเดียว โดยคนที่มีสิทธิ์ใช้นามสกุลจะเป็นเหล่า ‘ยังบัน’ (양반) ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองเท่านั้น จนมาถึงช่วงท้ายของยุคโชซอน (1392-1910) ประชาชนถึงจะได้รับอนุญาตให้มีนามสกุลได้ แต่เพราะไม่เคยมีนามสกุลมาก่อน ทำให้ไม่รู้ว่าจะประดิษฐ์คำยังไงดี จนมาจบที่การเลือกใช้นามสกุลตามราชวงศ์หรือชนชั้นปกครองที่ตนเองนิยมชมชอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น คิม อี พัค และไม่น่าเชื่อว่า 3 นามสกุลนี้ก็ยังคงถูกใช้อย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

extraordinary-attorney-woo-genealogy-in-korea

นามสกุลเดียวกัน ต้องเป็นญาติกันหรือเปล่า?

อย่างที่บอกว่าคนเกาหลีมีนามสกุลซ้ำกันเยอะมากๆ โดยเฉพาะ ‘คิม’ ที่ใช้กันอยู่มากกว่า 10 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้นหากจะบอกว่าคนที่นามสกุลคิมเหมือนกันจะมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกันทั้งหมดก็อาจดูเกินจริงไปหน่อย เพราะมันไม่น่าจะเป็นไปได้ 

แต่ถ้ามีนามสกุลเดียวกันแล้วเกิดสงสัยขึ้นมาจริงๆ ว่า เอ๊ะ เรามีความเกี่ยวดองกันในทางใดทางหนึ่งหรือเปล่า ชาวเกาหลีเขาก็มีวิธีตรวจสอบเหมือนอย่างที่เห็นในซีรีส์  Extraordinary Attorney Woo เลย คือต้องสอบถามไปถึงถิ่นของต้นตระกูลว่ามาจากที่ไหน เพราะถ้ามาจากรากเดียวกัน ก็เป็นไปได้ว่าอาจเป็นญาติกันนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น หากนามสกุล ‘คิม’ ก็จะแตกแขนงไปหลายสาย มีทั้งคิมจากปูซาน คิมจากคังนึง คิมจากอันดง เป็นต้น โดยนามสกุลคิมนั้นมีต้นกำเนิดในภูมิภาคต่างๆ อย่างน้อย 348 แห่งเลยทีเดียว

แต่ถิ่นตระกูลที่ว่านี้ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าหมายถึงจังหวัดที่ปู่ย่าตายายเราอาศัยอยู่ แต่หมายถึงถิ่นตระกูลของบรรพบุรุษรุ่นแรกสุดว่าอยู่ที่ไหน ซึ่งข้อมูลนี้คนเกาหลีโดยทั่วไปจะรู้กันอยู่แล้ว เพราะคนสมัยก่อนจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับถิ่นกำเนิด วงศ์ตระกูล รวมถึงความกลมเกลียวภายในครอบครัว จึงมีธรรมเนียมในการจดบันทึกสายตระกูลที่ส่งต่อกันมาในแต่ละรุ่น เพื่อเป็นการบันทึกรายชื่อสมาชิกในครอบครัว โดยมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 โดยเรียกสิ่งนี้ว่า จกโบ (족보) ซึ่งแต่ละตระกูลอาจมีรูปแบบสร้างสรรค์ในการจดบันทึกแตกต่างกันไป เบสิกที่สุดก็เป็นรูปแบบตัวหนังสือ หรือบางครอบครัวก็ทำออกมาเป็นภาพ ตาราง หรือแผนภูมิ เพื่อให้สืบค้นได้ง่ายขึ้น

jokbo
extraordinary-attorney-woo-genealogy-in-korea

ทำไมพยางค์แรกของชื่อจึงสามารถบอกลำดับชั้นในตระกูลได้

ด้วยความที่คนสมัยก่อนมีลูกเยอะ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป สมาชิกครอบครัวเหล่านั้นก็แตกแขนงต่อกันไปอีกจนเยอะขึ้นเรื่อยๆ เวลาต้องมารวมญาติกันแต่ละทีจึงเกิดความสับสนในการจำแนกว่าใครคือญาติใคร มาจากสายไหน มีศักดิ์เป็นอะไรกับเรา

ปัญหานี้ได้จุดประกายออกมาเป็นไอเดียการตั้งชื่อแบบจัดหมวดหมู่ นั่นคือคนที่เป็นชั้นลูกเหมือนกัน ชื่อพยางค์หน้าจะเป็นคำเดียวกันทั้งหมด เช่น อึนฮี อึนฮยอบ อึนซอม อึนฮา แล้วพอเป็นชั้นหลานก็ทำแบบเดียวกัน ซึ่งพอเป็นวิธีนี้ ต่อให้สมาชิกในครอบครัวจะแตกหน่อไปเยอะแค่ไหน ถ้าหากรู้ถิ่นตระกูลแล้วมาสืบค้นจากชื่อต่อ ก็จะลำดับญาติกันได้ง่ายขึ้น อย่างที่เราเห็นจากบทสนทนาระหว่างทนายรยูแจซุกและผู้พิพากษารยูมยองฮาใน EP.12 นั่นเอง

แม้ในยุคปัจจุบันการให้ความสำคัญกับการไล่ถิ่นตระกูลเพื่อลำดับญาติจะลดน้อยลงไปมาก เพราะมีหน่วยงานรัฐที่บันทึกประวัติของแต่ละบุคคลเอาไว้อยู่แล้ว แต่ธรรมเนียมนี้ก็ยังไม่หายสาบสูญไปเสียทีเดียว เพราะคนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายก็ยังยึดถือขนบนี้อยู่ในบางครอบครัว โดยเฉพาะตระกูลที่มีสมาชิกเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ก็เชื่อว่าอาจจะยังมีการจดบันทึกอยู่ก็เป็นไปได้ 

FYI

– เกาหลีเคยมีกฎหมายที่ห้ามมิให้คนมีนามสกุลเดียวกันแต่งงานกัน แต่สุดท้ายข้อห้ามนี้ก็ถูกยกเลิกไปในปี 1994 ซึ่งประเด็นนี้เคยปรากฏให้เห็นมาแล้วในซีรีส์ Reply 1988

– ในบางครอบครัวที่ยังไม่สบายใจหากลูกหลานจะแต่งงานกันคนนามสกุลเดียวกัน ก็จะใช้วิธีไล่ถิ่นตระกูลเพื่อสืบค้นรากเหง้าของตัวเองว่าเป็นญาติกันหรือไม่ โดยจะต้องไล่ลำดับไปทั้งหมด 7-8 ชั้น จึงจะนับว่าเป็นระยะปลอดภัย

– แม้ยุคนี้จะไม่มีสมุดจกโบให้สืบหาต้นตระกูลแล้ว แต่ก็ยังมีช่องทางออนไลน์ที่ช่วยได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลากับการกรอกข้อมูลเยอะสักหน่อย ใครอยากลองเล่นดูให้เข้าไปที่ koreangenealogy.org แต่จะสืบค้นได้เฉพาะนามสกุลเกาหลีเท่านั้น

อ้างอิง: overseas.mofa.go.kr, koreatimes.co.kr, koreangenealogy.org

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้