Extraordinary Attorney Woo EP.10 เปิดแฟ้มคดีเสมือนข่มขืนผู้พิการ [Feat. จับเข่าคุย Law]
ดูซีรีส์ให้ซีเรียส หลงรักทนายอูยองอูขึ้นทุกอีพี และใน Extraordinary Attorney Woo EP.10 นักเขียนเก่งมากในการหยิบยกคดีเสมือนข่มขืนผู้พิการมาเป็นเส้นเรื่อง ที่สะท้อนทั้งด้านตัวบทกฎหมายและการลงโทษที่หนักกว่า รวมถึงสิทธิของผู้พิการในเรื่องความรัก
เรื่องมีอยู่ว่า ยางจองอิล ชายหนุ่มหน้าตาดีผู้ถูกจับข้อหาเสมือนข่มขืนผู้พิการ ซึ่งจำเลยอ้างว่าการมีค่ำคืนที่เร่าร้อนนั้นเป็นเพราะความรักที่แท้จริงระหว่างเขากับ ชินฮเยยอง หญิงสาวที่พิการด้านสมอง แม้เธอจะอายุ 27 ปี แต่มีความคิดความอ่านเท่ากับเด็ก 13 ขวบ
แม่ของชินฮเยยองปักใจเชื่อว่าเหตุการณ์เสมือนข่มขืนที่เกิดขึ้นเป็นเพราะยางจองอิลล่อลวงลูกสาวของเธอ และความรักที่เกิดขึ้นนั้นก็มาจากการถูกล่อลวงเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่ายางจองอิลใช้บัตรเครดิตของชินฮเยยองเป็นเงินจำนวนมาก ทั้งยังมีประวัติว่าเคยมีพฤติกรรมเช่นนี้มาก่อนหน้าแล้ว
การที่ซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo เลือกทางลงของคดีนี้อย่างที่เราได้ชมกันใน EP.10 เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และคำตัดสินก็มีความยุติธรรมตามตัวบทกฎหมาย ขณะเดียวกันซีรีส์ยังเปิดให้เห็นมุมมองใหม่ที่มาจากตัวผู้พิการเองว่า แม้จำเป็นต้องมีผู้ปกครอง แต่พวกเขาก็มีสิทธิที่จะรัก แม้ความรักนั้นจะเป็นการมอบให้กับผู้ชายที่ไม่ดีนักก็ตาม
และเมื่อดูซีรีส์จบก็ทำเอาสงสัยว่าบ้านเรามีกฎหมายเสมือนข่มขืนผู้พิการหรือไม่? และด้วยความร่วมมือจากเพจ จับเข่าคุย Law จึงได้มาซึ่งคำตอบอย่างที่จะได้อ่านกันในบทความนี้
ความผิดฐานข่มขืนของประเทศไทยไม่มีบทบัญญัติโทษในกรณีที่เหยื่อเป็นคนพิการหรือเป็นผู้บกพร่องทางสติปัญญาโดยเฉพาะ ข้อหาข่มขืนตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยอาจแบ่งได้กว้างๆ ตามระดับความรุนแรงคือ ข่มขืน, ข่มขืนและทำร้ายร่างกาย, ข่มขืนและทำให้เสียชีวิต
ตัวอย่างเช่น โทษในคดีข่มขืน โดยทั่วไปจะต้องรับโทษจำคุก 4-20 ปี ปรับ 8,000-40,000 บาท แต่หากเป็นกรณีมีการใช้อาวุธหรือรุมโทรม ก็จะเป็นเหตุให้โทษหนักขึ้นไปถึง 15-20 ปี ไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 30,000-40,000 บาท หรือหากเป็นกรณีรุนแรงถึงขั้นที่เหยื่อเสียชีวิต โทษสูงสุดก็ถึงขั้นประหารชีวิตเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ในที่สุดศาลจะลงโทษหนักเบามากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน และวิจารณญาณของศาลในแต่ละคดีนั่นเอง
ซึ่งเป็นไปได้ว่าในซีรีส์ ตัวจำเลยได้รับโทษจำคุก 2 ปี เนื่องมาจากการที่ผู้เสียหายยอมรับว่าพวกเขารักกันและกัน แต่ถึงอย่างนั้น หลักฐานก็ไม่ได้เพียงพอที่จะชี้ชัดว่าฝ่ายชายที่เคยทำผิดในลักษณะเดียวกันนี้จะมีความบริสุทธิ์ใจอย่างที่กล่าวอ้าง การปรับโทษจำคุก 2 ปีจึงมีความสมเหตุสมผลในความเห็นของผู้เขียน
นอกเหนือจากนี้ น่าสนใจว่าสำหรับคดีข่มขืนในกฎหมายแทบทุกประเทศไม่ได้มีการแยกออกมาสำหรับผู้พิการ โดยจะเป็นการพิจารณาตามเหตุแวดล้อมเสียมากกว่า และถ้าอยากทำความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับคดีข่มขืน เราได้ยกมาตราที่เกี่ยวข้องมาให้แล้ว
บทลงโทษอาศัยความตามลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ
มาตรา 276* ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000-40,000 บาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด หรือร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี และปรับตั้งแต่ 30,000-40,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
*มาตรา 276 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2525
มาตรา 277* ผู้ใดกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000-40,000 บาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่เด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 13 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7-20 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-40,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกหรือวรรคสองได้กระทำโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม หรือได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรก ถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุมากกว่า 13 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยผู้กระทำความผิดนั้นไป
*มาตรา 277 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2530
มาตรา 277 ทวิ* ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 276 วรรคแรก หรือมาตรา 277 วรรคแรกหรือวรรคสอง เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ
(1) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี และปรับตั้งแต่ 30,000-40,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
(2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
*มาตรา 277 ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2530
มาตรา 277 ตรี* ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 276 วรรคสอง หรือมาตรา 277 วรรคสาม เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ
(1) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
(2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
*มาตรา 277 ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2530
มาตรา 278* ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุมากกว่า 15 ปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*มาตรา 278 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2530
มาตรา 279* ผู้ใดกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ผู้กระทำได้กระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้เด็กนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*มาตรา 279 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2530
มาตรา 280* ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 278 หรือมาตรา 279 เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ
(1) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-40,000 บาท
(2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
*มาตรา 280 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2525
มาตรา 281* การกระทำความผิดตามมาตรา 276 วรรคแรกและมาตรา 278 นั้น ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้
*มาตรา 281 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514
เจอคดีเด็ดแล้วไม่มีอูยองอู ให้ติดต่อใครดี?
นอกจากทนายอูยองอู ในเบื้องต้นเราสามารถปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับคดีจากทั้งหน่วยงานรัฐหรือเอกชนก่อนที่จะดำเนินคดีได้ด้วยเช่นกัน
ถ้าเป็นคดีเล็กหรือมีงบน้อย สามารถประเมินคดีและติดต่อ JusThat ได้ ผ่าน https://justhat.app/
ถ้าเป็นคดีปกครอง สามารถปรึกษากับศาลปกครองออนไลน์ได้ ผ่าน https://www.admincourt.go.th/admincourt/site/qonline.php
หรือสามารถเข้าร้องทุกข์และปรึกษาทนายได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ https://www.moj.go.th/thainiyom/detail?id=6
สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ให้คำแนะนำและปรึกษาปัญหากฎหมายแก่ประชาชนทั่วไป อาคารเนติบัณฑิตยสภา โทร. 02-887-6801-7 ต่อ 104, 108,109 ในวันและเวลาทำการ หรือ www.thethaibar.or.th