วิธีแยกขยะ แบบคนเกาหลี เขาทำกันยังไง | แอบรู้หลังดูซี

ปัญหาขยะ เป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องพบเจอและหาแนวทางแก้ไข โดยเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการผลิตขยะมากพอสมควร จากสถิติในปี 2019 พบว่ามีขยะมูลฝอยในโซลถึง 9,189 ตันต่อวัน แต่เมื่อเทียบสัดส่วนดูแล้วกลับพบขยะและถังขยะตามท้องถนนน้อยมาก

เกาหลีใต้จึงขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบที่มีความสามารถด้านการจัดการขยะ โดยความจริงจังนี้ได้แสดงให้เห็นผ่านซีรีส์หลายเรื่องที่มีฉากเกี่ยวกับ วิธีแยกขยะ ที่น่าจะเคยผ่านตา เช่น 

– หมู่บ้านกงจินใน Hometown Cha-Cha-Cha นับได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่มีความจริงจังกับขยะมาก ทุกคนในหมู่บ้านที่มาช่วยกันเก็บขยะในแต่ละสัปดาห์ ผู้ใหญ่บ้านและหัวหน้าฮงที่ช่วยกันร้องเรียนเรื่องการขอติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณจุดทิ้งขยะ 

– หมู่บ้านทังกึดในเมืองแฮนัม ซีรีส์ Racket Boys ที่ช่วยกันต่อสู้กับคนกรุงที่ทิ้งขยะผิดในบริเวณภูเขา

– ล่าสุดซีรีส์ Link: Eat, Love, Kill ก็แอบเห็นว่า โนดาฮยอนนำกล่องของขวัญที่ได้รับจากอีจินกึนไปวางข้างถังขยะรีไซเคิลขวดน้ำ

แม้จะยกตัวอย่างมาเพียง 3 เรื่อง แต่ก็เห็นได้ว่าการจัดการขยะเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่ไทยไม่ได้มีระบบจัดการขยะที่เข้มงวดมากนัก ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จึงสงสัยว่าระบบ แยกขยะที่เกาหลี เกิดขึ้นได้อย่างไร วิธีและข้อปฏิบัติการแยกขยะเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะไปเที่ยวหรือตามรอยซีรีส์เกาหลีหลังเปิดประเทศ

การพัฒนาระบบจัดการขยะ กระตุ้นการรีไซเคิล

ในปี 1970-1990 เกาหลีใต้ประสบกับปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยจำนวน 12,000-84,000 ตันต่อวัน การฝังกลบและการเผาขยะจำนวนมากเหล่านั้นส่งผลให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางดิน น้ำ และอากาศ ตามมาเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มให้ความสนใจและหาแนวทางบรรเทาปัญหานี้ 

ปี 1986 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ตรากฎหมายการจัดการของเสีย (Waste Management Law) มาแทนที่กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และกฎหมายความสกปรกและการทำความสะอาด โดยมุ่งหวังว่าจะลดการสร้าง เผา ฝังกลบขยะ และสร้างนิสัยการแยกขยะก่อนทิ้ง ทำให้การจัดการขยะในประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงรัฐบาลยังให้ทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะเพื่อนำมาพัฒนาแผนการจัดการขยะด้วย 

ต่อมาในปี 1992 มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการประหยัดทรัพยากรและการรีไซเคิล (Resource Saving and Recycling Promotion) ด้วยระบบจ่ายค่าขยะตามปริมาณขยะมูลฝอยที่ทิ้ง (Pay-as-you-throw) 

และระบบนี้ยังถูกพัฒนาต่อมาจนปี 1995 กลายเป็น The Volume-based Waste Fee System (VBWF) หรือระบบการจ่ายค่าขยะตามปริมาณขยะมูลฝอยเท่านั้น โดยไม่ต้องจ่ายค่าขยะรีไซเคิล ขยะขนาดใหญ่ และถ่านหินอัดก้อน เพื่อลดการสร้างขยะและส่งเสริมการรีไซเคิล ทำให้การจัดการขยะในเกาหลีใต้มีความเข้มข้นมากขึ้น จนถึงขั้นมีการติดกล้องวงจรปิดบริเวณหน้าบ้าน เพื่อตรวจดูการลักลอบทิ้งขยะในบริเวณบ้านคนอื่น

waste-management-in south-korea

จงรยังเจ การจัดการขยะสุดซับซ้อน แต่ได้ผลดี

จงรยังเจ (종량제) หรือระบบจัดการแยกขยะของเกาหลีใต้ แบ่งออกเป็น ขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์หรือเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะขนาดใหญ่ 

1. ขยะทั่วไป คือขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้และไม่ใช่เศษอาหาร เช่น กระดาษทิชชู่ใช้แล้ว ผ้าอนามัย

2. ขยะรีไซเคิล คือขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วขยะเหล่านี้จะมีเครื่องหมายรีไซเคิลว่าเป็นขยะใด แบ่งเป็น
– กระดาษ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ลังกระดาษ  
– กล่องกระดาษ เช่น กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ 
– แก้ว เช่น ขวดเบียร์ 
– กระป๋อง อลูมิเนียม โลหะ 
– พลาสติกทุกชนิด ยกเว้น ของเล่น ปากกา และซองลูกอม 
– ขวดพลาสติก PET
– ถุงพลาสติกไวนิล เช่น ซองขนม  

หากเป็นขยะบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถรีไซเคิลได้ ต้องเทสิ่งปนเปื้อนภายในบรรจุภัณฑ์ ล้างทำความสะอาด และดึงฉลาก หรือแยกวัสดุที่แตกต่างกันออกก่อนทิ้งเสมอ และหากบริเวณนั้นไม่มีถังขยะรีไซเคิล สามารถแยกขยะรีไซเคิลและนำใส่ถุงพลาสติกใส่ก่อนนำไปทิ้งได้ 

3.เศษอาหาร คือขยะทุกอย่างที่สัตว์กินได้ เช่น เศษผักและผลไม้ เนื้อและไข่ดิบ เนื่องจากเป็นหนึ่งในมาตราการลดขยะตั้งแต่ปี 2013 ที่เริ่มนำเศษอาหารมาแปรรูปเป็นอาหารปศุสัตว์ 

ยกเว้น เศษอาหารจำพวกหนึ่งที่ถูกจัดเป็นขยะทั่วไป เนื่องจากไม่สามารถนำไปทำเป็นอาหารปศุสัตว์ได้ เช่น
– ผักที่มีราก เปลือกหัวหอม เปลือกกระเทียม พริก ผักและผลไม้ที่มีก้านแข็ง เช่น ข้าวโพด แกลบข้าวโพด 
– ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดต่าง ๆ เช่น เมล็ดแอปริคอต
– เปลือกไข่ เปลือกสัตว์อาหารทะเลแข็ง เช่น กุ้ง ปู หอย 
– ขนและกระดูกสัตว์
– ชา กาแฟ  สมุนไพร ใบไม้ และไม้จิ้มฟัน

waste-management-in south-korea

หากเป็นที่พักอาศัยทั่วไป จะต้องทิ้งลงในถุงสำหรับทิ้งเศษอาหาร แต่ถ้าหากเป็นอพาร์ตเมนต์จะต้องทิ้งลงในถังเศษอาหาร ซึ่งจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือนตามน้ำหนักผ่านบัตร Radio Frequency Identification (RFID) 

เนื่องจาก ในปี 2005 รัฐบาลออกคำสั่งห้ามทิ้งเศษอาหารในหลุมฝังกลบ ส่งผลให้ประชาชนตระหนักถึงภาระค่าใช้จ่ายจากเศษอาหาร จนทำให้ปริมาณเศษอาหารมีจำนวนลดลง

4.ขยะขนาดใหญ่ เช่น เตียง โต๊ะ ตู้เย็น ทีวี เครื่องปรับอากาศ ต้องติดต่อสำนักงานเขตในพื้นที่เพื่อติดสติกเกอร์และวางไว้ในบริเวณที่กำหนดในวันที่นัดหมาย ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ในบางพื้นที่จะมีถังขยะแยกเฉพาะ หรือหากไม่มีก็ต้องแยกชิ้นส่วนเพื่อรีไซเคิลตามปกติ 

ขยะแต่ละประเภทนั้นต้องทิ้งใส่ถุงขยะเฉพาะตามแต่ละประเภทและเขตที่อยู่ ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป โดยสามารถรับได้ที่สำนักงานเขต ผู้ใหญ่บ้าน หรือซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต และมินิมาร์ท ทำให้ตรวจสอบได้ว่าเป็นขยะจากเมืองใด จึงไม่สามารถนำขยะจากเขตหนึ่งไปทิ้งที่อีกเขตหนึ่งได้ อย่างที่เราได้เห็นในซีรีส์ Hometown Cha Cha Cha ผู้ใหญ่บ้านฮวาจองและหัวหน้าฮงแห่งกงจินจึงต้องไปรับถุงขยะของหมู่บ้านที่สำนักงานเขต และนำมาแจกจ่ายให้ลูกบ้านในชุมชนต่อ

“ทิ้งขยะรีไซเคิลวันจันทร์กับวันพฤหัส” 

ประโยคหนึ่งจาก Move to Heaven ที่กือรูพูดกับโจซังกูย้ายเข้ามาไม่นาน ทำให้ได้เห็นตัวอย่างวันจัดการขยะของพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ เนื่องจากวัน เวลา และสถานที่ทิ้งขยะเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป

ควรนำขยะมาทิ้งในวันและเวลาที่กำหนด โดยสามารถตรวจสอบได้ที่รายละเอียดบนถุงทิ้งขยะ เพื่อนบ้าน สำนักงานหรือเว็บไซต์ราชการ แม้วันจะไม่แน่นอน แต่จะมีการเก็บขยะช่วงประมาณ 6 โมงเย็นถึงเช้าตรู่ ประมาณตี 5 ของเช้าวันถัดไป

ข้อกำหนดเหล่านี้เป็นสิ่งที่เข้มงวดมาก หากไม่ปฏิบัติตามต้องจ่ายค่าปรับตามที่แต่ละเขตกำหนดไว้ ซึ่งอาจสูงถึง 400,000 – 1,000,000 วอน

ตัวอย่างถุงขยะของเมืองพูชอน คยองกี ที่มีภาษาจีนและภาษาอังกฤษ สำหรับชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ยังมีขยะพิเศษที่จะต้องใส่ถุงหรือทิ้งลงถังขยะเฉพาะที่ระบุไว้เท่านั้น เช่น 
– เศษไม้หัก เศษแก้ว หรือเซรามิกแตก เรซินสังเคราะห์ หรือพีวีซี จัดเป็นขยะพิเศษ และต้องทิ้งในถุงขยะมาตรฐาน
– เศษผ้า หรือเสื้อผ้า ต้องทิ้งลงในถังขยะสำหรับผ้า
– ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่ ต้องทิ้งลงในถังขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ตามข้อบังคับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า (Waste Electrical and Electronic Equipment: WEEE)

สถานการณ์ปัจจุบัน และทิศทางการจัดการขยะในอนาคตของเกาหลี

ภายหลังปี 2017 จีนออกคำสั่งห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ ทำให้เกาหลีใต้สั่งห้ามการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และเปลี่ยนมาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิลได้ เช่น ถุงกระดาษ หรือถุงผ้า เพื่อลดการเกิดขยะพลาสติกให้ได้มากที่สุด 

รวมถึงเกาหลีใต้ยังกำลังอยู่ในช่วงพยายามสร้างสังคมไร้ขยะเพื่อลดการฝังกลบและเพิ่มการรีไซเคิล และพยายามผลักดันนโยบายเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานสำหรับการผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงต่างๆ เนื่องจากเป็นพลังงานที่มีราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะสามารถช่วยลดปริมาณ PM2.5 ในเกาหลีลงได้ 

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้เป็นส่วนสำคัญในการจัดการปัญหาขยะ โดยอาศัยอำนาจในการออกกฎหมายที่เข้มงวด เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดการขยะให้ประชาชนปฏิบัติตาม แม้จะดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและวุ่นวายในช่วงแรก แต่การร่วมมือกันของประชาชนก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ส่งผลให้การจัดการขยะเป็นไปได้ด้วยดี โดยซีรีส์เป็นช่องทางหนึ่งที่มีการสอดแทรกเรื่องนี้ได้อย่างแนบเนียน เหมือนเป็นชีวิตประจำวันที่ชาวเกาหลีทุกคนต่างก็ปฏิบัติ ซึ่งทำให้ผู้ชมทั้งในและนอกประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการขยะมากขึ้น

ในปัจจุบัน ไทยก็เป็นประเทศที่กำลังประสบกับปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจากเกาหลีใต้ จึงนับได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องใส่ใจและร่วมมือกันแก้ไข โดยเฉพาะภาครัฐที่มีอำนาจในการออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะและสามารถบังคับใช้ได้อย่างเข้มงวด เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน และประชาชนเองก็จำเป็นต้องใส่ใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยให้ทิศทางการจัดการขยะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต

เรื่องโดย อรณิชา ชูสกุล
อ้างอิง: www.downtoearth.org.in, en.wikipedia.org, www.ydp.go.kr, 10mag.com

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้