the-first-responders-survival-tips

The First Responders ซีรีส์สอนวิธีเอาตัวรอดจากวิกฤตที่คิดไม่ถึง!

The First Responders เป็นซีรีส์ที่น่าสนใจมากอีกเรื่องในตอนนี้ ว่าด้วยการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่หน่วยแรกในเหตุการณ์ร้ายแรง โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง และทีมแพทย์ฉุกเฉิน โดยในแต่ละเอพิโสดจะเล่าถึงเหตุการณ์คับขันหนึ่งๆ และฮาวทูในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ชนิดที่ว่าคนดูทางบ้านลุ้นกันจนนั่งแทบไม่ติด

ตัวละครหลักๆ ของ The First Responders ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจจินโฮแก (รับบทโดย คิมแรวอน) ที่บ้าดีเดือดจนโดนย้ายมาเป็นตำรวจใหม่ของเมือง, นักดับเพลิงบงโดจิน (รับบทโดย ซนโฮจุน) และแพทย์ฉุกเฉินซงซอล (รับบทโดย กงซึงยอน) โดยทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันในการช่วยสืบคดี 

ในอีพีแรก เปิดเคสแรกกับคดีลักพาตัวและฆาตกรต่อเนื่องสุดจิต ซึ่งแค่คดีแรกก็ดูไปลุ้นไปตลอดเวลา เนื่องจากทางฝั่งเหยื่อก็ต้องเอาตัวรอดสุดชีวิต ส่วนทีมกู้ภัยก็ต้องช่วยเหลือผู้ถูกลักพาตัวให้ได้ โดยไม่รู้ว่าอยู่ในตึกไหนและห้องอะไรในเวลาที่จำกัด 

หลังจากผ่านมา 3 อีพี ในหนึ่งตอนมีประเด็นค่อนข้างหลากหลายให้ติดตาม แถมเราจะยังได้ความรู้เกี่ยวกับการดับเพลิง การจำลองเหตุไฟไหม้ การปฐมพยาบาล และการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์รอบตัวในภาวะคับขัน 

วันนี้ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จึงรวมวิธีเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และเกร็ดความรู้เล็กๆ ที่เชื่อได้ว่าผู้สร้างต้องการสร้างการรับรู้ให้ผู้ชมมีข้อมูลในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ในวันใดวันหนึ่ง

the-first-responders-survival-tips

ทำอย่างไร ถ้าถูกแทง

มีฉากหนึ่งที่เหยื่อถูกมีดปักเข้าที่ต้นขา ซึ่งเกี่ยวพันกับเส้นเลือดใหญ่ของร่างกาย เพราะฉะนั้นการถูกมีดแทง ไม่ควรดึงออกเอง แต่ต้องพบแพทย์โดยด่วน โดยข้อแนะนำจากทีมแพทย์ซีรีส์ The First Responders ก็คือ

1. อย่าดึงของมีคม เช่น มีด ดาบ เหล็ก หรืออื่นๆ ที่เสียบอยู่ออกเด็ดขาด ให้ปักคาไว้แบบนั้น

2. สังเกตจากเลือดที่ไหลออกมา ถ้าไหลเป็นจังหวะตามการเต้นของหัวใจแปลว่ามีดไปโดนเส้นเลือดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ผู้บาดเจ็บเสียเลือดจนเกิดอาจภาวะช็อกได้

3. ห้ามเลือดด้วยผ้าสะอาด กดรอบแผล และใช้ผ้าพันไว้ เพื่อให้ของมีคมอยู่นิ่งที่สุด

4. หากไม่ได้ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว อาจจะเกิดอาการตัวเย็นและช็อกจากการเสียเลือด สามารถตรวจเช็กได้ง่ายๆ ด้วยการกดเล็บไปบนนิ้วมือ ถ้าไม่กลับมาเป็นสีชมพูอาจจะเกิดภาวะเขียวคล้ำ คือเนื้อเยื่อขาดออกซิเจนไปเลี้ยง

5. รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล 

เกร็ดเพิ่มเติมจากซีรีส์: ภาวะเขียวคล้ำ (Cyanosis) คืออาการที่เนื้อเยื่อต่างๆ ขาดออกซิเจนจนส่งผลให้สีของเนื้อเยื่อคล้ำลง ต้องได้รับออกซิเจนภายใน 5 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้อวัยวะสำคัญขาดออกซิเจน ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต 

the-first-responder-survival-tips

ทำอย่างไร เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ และออกจากห้องไม่ได้

1. หากเพลิงไหม้เกิดขึ้นภายในห้อง สิ่งแรกที่ต้องทำคือการตั้งสติ 

2. หาผ้าชุบน้ำมาปิดปาก ปิดจมูก หรือหาผ้าห่มชุบน้ำมาห่มตัว เพื่อป้องกันการสูดควันไฟ และป้องกันความร้อนจากเปลวไฟ

3. ก้มตัวลงต่ำไว้

4. ใช้ผ้าชุบน้ำอุดบริเวณขอบบานประตู

5. รีบแจ้งเหตุ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงที

เกร็ดเพิ่มเติมจากซีรีส์: ปรากฏการณ์ Backdraft คือการลุกไหม้อย่างรวดเร็วขณะที่ไฟยังไม่ดับ โดยในห้องที่ปิดสนิท อากาศจากภายนอกจะไหลเข้าบริเวณช่องใต้ประตูจนทำให้ปัจจัยการเกิดไฟครบสมบูรณ์ และเมื่อถึงจุดหนึ่งจะเกิดการจุดระเบิดอย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน รุนแรง จนเพลิงมีขนาดใหญ่และเกิดอันตรายได้

วิธีสังเกตว่าจะเกิดปรากฏการณ์ Backdraft ได้อย่างไร
– ปริมาณควันดำหนาแน่นมาก
– ควันไหลเข้า-ออกตามรอยประตูหน้าต่าง
– ห้องหรืออาคารที่เกิดเหตุมีลักษณะที่ปิดสนิท ขนาดเล็ก มีช่องระบายอากาศน้อย

the-first-responder-survival-tips

ทำอย่างไร ถ้าเกิดภาวะเป็นพิษจากพาราควอท 

พาราควอท (Paraquat) เป็นสารที่กำจัดวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็มีพิษต่อร่างกายร้ายแรง ถ้ากินเข้าไปแม้เพียงปริมาณเล็กน้อยก็อาจทำให้ระบบอวัยวะภายในล้มเหลว ปอดเกิดพังผืดจนไม่สามารถทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแก๊สได้ ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากพาราควอทหาซื้อได้ง่าย จึงมีผู้นำพาราควอทมาใช้เป็นยาพิษ และทำให้มีผู้เสียชีวิตจากสารเคมีชนิดนี้จำนวนมาก

The First Responders สอนวิธีการรักษาอาการพิษจากพาราควอทไว้ดังนี้

1. เช็กทางเดินหายใจ ถ้าไม่หายใจ ให้วัดสัญญาณชีพจรและให้สารน้ำอย่างเพียงพอ เนื่องจากพาราควอทมีพิษต่อไต ซึ่งอาจทำให้ไตวายหากให้สารน้ำไม่เพียงพอ 

2. ตรวจร่างกายเพื่อดูรอยไหม้ในปากและลำคอว่ามีหรือไม่ ใส่สายล้างกระเพาะเพื่อดูดน้ำในกระเพาะออกให้มากที่สุด และให้สารดูดซับอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ 

– ผงถ่านกัมมันต์ขนาด 100 กรัม ในผู้ใหญ่ หรือสำหรับเด็กคือ 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
– สารละลายดินเหนียว 15% Fuller’s earth ขนาด 1 ลิตรในผู้ใหญ่ หรือ 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวของเด็ก เพื่อลดการดูดซึมเข้าสู่ทางเดินอาหาร โดยการให้สารดูดซับอย่างรวดเร็วนั้นเชื่อว่าจะช่วยลดอันตรายจากพิษของพาราควอทได้ 

เนื่องจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเกิดจากการกินสารนี้เข้าไป ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม การที่ผู้ผลิตพาราควอทเลือกใส่กลิ่นฉุน สี และสารทำให้อาเจียนลงไปในพาราควอท จึงนับเป็นการช่วยลดโอกาสในการกินได้ด้วย

เกร็ดเพิ่มเติมจากซีรีส์: ห้ามให้การรักษาด้วยออกซิเจน เนื่องจากจะทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น

เรื่องโดย ณัฏฐริณีย์ แย้มแก้ว
อ้างอิง: sanook.com, haamor.com, genie-property.com, samsenfire.com, summacheeva.org

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้