Taxi Driver 2 EP.1 ช่องโหว่กฎหมายคนหาย กับแก๊งพนันออนไลน์ที่ไม่ใช่มาเก๊า 888
Taxi Driver 2 เรียกว่าเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีซีรีส์ที่คนรอคอยมากที่สุดอีกเรื่องแห่งปี กับซีรีส์แท็กซี่รับจ้างแก้แค้นแทน ที่กระแสแรงตั้งแต่ยังไม่จบซีซันแรกก็ประกาศสร้างซีซัน 2 โดยล่าสุดในการออกอากาศ EP.1 ก็ทุบสถิติผู้ชมไปได้ที่ 12.1% พร้อมตัวเลขผู้ชมทั่วประเทศ 2,370,000 คน
ซึ่งเหตุผลที่ Taxi Driver 2 มาแรงเอามากๆ ก็เพราะ
– พล็อตที่ใครดูก็อินได้ง่ายๆ คนเลวไม่ได้รับการลงโทษที่เหมาะสม ซ้ำร้ายช่องโหว่ทางกฎหมายก็เปิดทางให้คนชั่วได้ดีมีถมไป
– อีเจฮุน กับออร่าสุดเปล่งประกายในบท คิมโดกี ที่เจ้าตัวทุ่มเทสุดพลัง ทั้งออกกำลังกายฟิตหุ่น เรียนการต่อสู้ เพื่อถ่ายทอดตัวละครให้แทนความรู้สึกในใจคนทั้งประเทศ
– ประเด็นคำถามว่า “ความยุติธรรมมีจริงหรือ” คนในกระบวนการยุติธรรมก็เข้าเกียร์ว่าง ปล่อยตามน้ำ ซึ่งมันจริงมากๆ
– “คนอ่อนแอก็แพ้ไป” ไม่ควรเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ตกเป็นเหยื่อ
และไม่ให้เป็นการเสียเวลา Taxi Driver 2 เปิดตัวด้วยฉากการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของทีมงานแท็กซี่สายรุ้ง พร้อมย้อนเล่าถึงช่วงเวลา 2 ปีที่หายไปนับจากซีซันแรก นั่นก็คือ
– คิมโดกี เมนหลักของแท็กซี่สายรุ้งในการปฏิบัติภารกิจแก้แค้น
– อันโกอึน แฮกเกอร์ตัวแม่ของทีม
– ชเวคยองกู และพัคจินอน คู่หูวิศวกรเครื่องยนต์
– จางซองชอล เจ้าของบริษัทแท็กซี่สายรุ้ง
พวกเขาพร้อมแล้วที่จะเปิดให้บริการแก้แค้นแทนเหยื่อที่เจ็บช้ำจนอยากจะตายจากโลกนี้ไปให้รู้แล้วรู้รอด!
ช่องโหว่กฎหมายคนหาย
และประเด็นแรกที่ Taxi Driver 2 หยิบมาเป็นหัวใจหลักก็คือปัญหากฎหมายคนหายของเกาหลี ที่ถ้าหากเขาเหล่านั้นอายุเกิน 20 ปี เจ้าหน้าที่ตำรวจก็แทบไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะผิดกฎการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการติดตามการใช้บัตรเครดิต หรือการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว
ทั้งนี้ มีรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีว่ามีการแจ้งความคนสูญหายที่อายุมากกว่า 18 ปี จำนวนทั้งสิ้น 66,259 รายในปี 2020 / 75,432 รายในปี 2019 และ 75,592 รายในปี 2018 ซึ่งหน้าที่ในการตามหาคนหายเหล่านั้นมักจะตกเป็นของสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากตำรวจไม่ได้รับอนุญาตในการติดตามข้อมูลของคนที่หายตัวไปเหล่านั้น
จากตัวเลขคนหายที่สูงกว่า 60,000 คนในแต่ละปี ส่วนหนึ่งอาจหายตัวไปเพราะไม่ต้องการติดต่อกับทางบ้านก็จริง แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่หายตัวไปเนื่องจากเหตุการณ์ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งได้กลายเป็นข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายส่วนนี้อย่างเร่งด่วน
เช่นเดียวกับเรื่องราวใน Taxi Driver 2 ที่แท็กซี่สายรุ้งรับงานตามหาลูกชายที่หายตัวไปอย่างผิดสังเกต หลังบอกทางบ้านว่าจะไปทำงานต่างประเทศเป็นเวลา 2 ปี โดยคิมโดกีบินเดี่ยวไปช่วยเหลือถึงประเทศเวียดนาม ซึ่งเดาทางไม่ได้เลยว่าเขาจะรอดปลอดภัยกลับมาหรือไม่
แก๊งพนันออนไลน์ ค้ามนุษย์ สุดไร้จริยธรรม
“ต้องโทษพ่อแม่ที่ยากจนของพวกแก” มาเฟียแก๊งพนันออนไลน์ที่ค้ามนุษย์มาใช้แรงงานในการสร้างเกมเพื่อดูดเงินผู้คนบนโลกออนไลน์ เขาพูดกับเหยื่อที่เพิ่งมาใหม่ไว้อย่างนั้น
ความจนคือความผิด และเหยื่อเหล่านี้ครบทุกข้อในวงจร ‘โง่ จน เจ็บ’ อันหมายถึงประชากรที่อยู่ฐานล่างของวงจรอุบาทว์ทั้งในสังคมเกาหลีและสังคมไทย
จากการสืบค้นข้อมูล #ดูซีรีส์ให้ซีเรียส พบว่ามีข่าวเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์และเครือข่ายพนันออนไลน์ผิดกฎหมายจำนวนมาก โดยมักมีนายทุนจีนหนุนหลัง และดำเนินการกักขัง หน่วงเหนี่ยว ทารุณกรรมผู้คนจำนวนมากที่ถูกหลอกมาใช้แรงงานในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งกัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว รวมถึงประเทศไทย
โดยวิธีการหลอกลวงก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ประกาศรับสมัครงานเพื่อดึงดูดใจหนุ่มสาวที่ต้องการหางาน หาเงิน ค่าแรงราคาสูง กับการทำงานออนไลน์ในต่างประเทศ พร้อมสิทธิประโยชน์จากนายจ้าง นั่นทำให้มีคนมากมายหลงเชื่อและตกหลุมพรางที่วางเอาไว้
ในความเป็นจริง ไม่ใช่แค่หนุ่มสาวจากเกาหลีใต้ที่โดนหลอกอย่างในซีรีส์ Taxi Driver 2 แต่หมายรวมถึงหนุ่มสาวจากประเทศอินโดนีเซีย ไต้หวัน และไทย ก็มีข่าวว่าถูกล่อลวงไปทำงานผิดกฎหมายและใช้แรงงานเยี่ยงทาสให้กับแก๊งพนันออนไลน์ข้ามชาติเช่นกัน
เพราะฉะนั้นประเด็นการล้างแค้นของแท็กซี่สายรุ้งใน Taxi Driver 2 จึงกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากๆ ว่าซีรีส์จะเล่าเรื่องราวต่อไปอย่างไร ในการกระตุ้นเตือนถึงปัญหาช่องโหว่กฎหมายและกระบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติที่นับวันยิ่งเติบโต แม้ทุกประเทศจะมีกระบวนการยุติธรรมมารองรับก็ตาม
ที่แน่ๆ ถ้าเราเรียกหาความยุติธรรมจากชีวิตจริงไม่ได้ และเราไม่มี Rainbow Taxi ให้โทรหา แล้วเราจะใช้ชีวิตกันต่อไปอย่างไร?
อ้างอิง: koreatimes.co.kr, japannews.yomiuri.co.jp, thediplomat.com