link-eat-love-kill-stalker-law

Link: Eat, Love, Kill ‘คลั่งรัก’ หรือ ‘คุกคาม’ สำรวจกฎหมายสตอล์กเกอร์ (Stalker) และความปลอดภัยของผู้หญิงเกาหลี

Link: Eat, Love, Kill ซีรีส์ใหม่แกะกล่องจากช่อง tvN ที่เปิดมาอีพีแรกก็เนื้อหาเข้มข้น สนุก และน่าติดตามมากๆ อีกทั้งในเรื่องก็มีจุดที่น่าสนใจ คือประเด็นเรื่อง สตอล์กเกอร์ (Stalker)

เราจะเห็นว่า อีจินกึน (รับบทโดย ชินแจฮวี) แอบสะกดรอยตาม โนดาฮยอน (รับบทโดย มุนกายอง) และแอบส่งของไปที่พักของเธออยู่บ่อยๆ มิหนำซ้ำยังแอบถ่ายรูปเธอเก็บไว้อีกด้วย จนโนดาฮยอนเริ่มรู้สึกระแวงและหวาดกลัว

จากประเด็นดังกล่าว ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จึงอยากพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสตอล์กเกอร์ว่าคืออะไร? การกระทำแบบไหนเข้าข่ายสตอล์กเกอร์? ในเกาหลีมีกฎหมายที่สามารถเอาผิดได้ไหม? และทำไมดูเหมือนว่าในเชิงกฏหมายแล้วผู้หญิงจะเสียเปรียบกว่า?

link-eat-love-kill-stalker-law

‘คลั่งรัก’ หรือ ‘คุกคาม’ ?
สตอล์กเกอร์ (Stalker) หมายถึงบุคคลที่มีพฤติกรรม ‘สะกดรอยตาม’ หรือตามติดชีวิตผู้อื่นมากเกินไป แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ต้องการก็ตาม จนอาจกลายเป็นการรุกล้ำพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของอีกฝ่ายได้โดยที่ตนเองไม่รู้ตัว สตอล์กเกอร์มีหลายประเภท แต่รูปแบบที่เราอยากนำเสนอให้รู้จักครั้งนี้มี 2 ประเภทที่คนอาจพบเจอได้อยู่บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับตัวละตนโนดาฮยอนในซีรีส์ Link: Eat, Love, Kill 

1. Simple Obsession Stalkers เป็นกลุ่มที่มีคดีความมากที่สุดถึง 60% คนเหล่านี้มักมีทัศนคติที่ว่า “ถ้าฉันไม่ได้เธอ ก็อย่าหวังว่าคนอื่นจะได้เธอ” และฝ่ายที่ถูกติดตามมักจะจบลงด้วยการถูกฆาตกรรม เนื่องจากสตอล์กเกอร์กลุ่มนี้เกือบทั้งหมดมีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น เป็นคนขี้อิจฉา หึงหวงขั้นรุนแรง มีความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ และมีความไม่มั่นใจในตัวคนรักสูง

2. Love Obsession Stalkers เป็นกลุ่มคนที่ติดตามคนที่ตัวเองแอบชอบ เช่น ติดตามดารา เน็ตไอดอล เพื่อนที่โรงเรียน คนที่ทำงาน เป็นต้น คนกลุ่มนี้เชื่อว่าตัวเองและฝ่ายที่ถูกติดตามมีความสัมพันธ์แบบพิเศษอยู่ เพราะมีการได้พบเจอ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายตรงข้าม แม้แต่เรื่องเล็กน้อยเขาก็สามารถเอาไปจินตนาการต่างๆ นานาว่าอีกฝ่ายมีใจให้จนได้ เช่นในซีรีส์ Link: Eat, Love, Kill จะเห็นว่าดาฮยอนแค่ยิ้มให้จินกึน บังเอิญเจอตอนกลับบ้าน หรือนั่งทานข้าวใกล้กัน แต่เขาก็กลับคิดว่าเธอมีใจให้กับตนเอง และคิดไปจนถึงขั้นที่ว่าทั้งคู่ตกลงเป็นแฟนกันเรียบร้อย โดยที่อีกฝ่ายไม่รู้เรื่องอะไรเลย

อย่างไรก็ดี เมื่อสตอล์กเกอร์กลุ่มนี้ถูกปฏิเสธแรงๆ หลายหน และอีกฝ่ายไม่มีท่าทีที่จะแสดงความรักกลับมา สตอล์กเกอร์ก็อาจจะแสดงพฤติกรรมรุนแรง เช่น ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ หรือแม้แต่ทำการฆาตกรรมฝ่ายตรงข้ามอย่างที่เราได้เห็นกันในซีรีส์นั่นเอง




link-eat-love-kill-stalker-law

แบบไหนถึงเรียกว่าเป็นสตอล์กเกอร์?
การที่เราได้แอบชอบใครสักคนก็ถือเป็นเรื่องราวดีๆ แต่ก็มีเส้นบางๆ กั้นอยู่ระหว่างคำว่า ‘แอบชอบ’ กับ ‘คลั่งเกินเบอร์’ ซึ่งเราอาจเผลอกระทำไปโดยที่ไม่รู้ตัวว่านั่นคือสตอล์กเกอร์ และเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่สบายใจหรืออึดอัดจนเกินไป เรามาดูกันดีกว่าว่าพฤติกรรมแบบไหนที่เข้าข่ายสตอล์กเกอร์ และอาจถูกดำเนินคดีตามกฏหมายได้

เมื่อคุณติดตามเขาตลอดเวลาหรือบ่อยครั้ง ถ้าเขาเห็นคุณยืนอยู่ในละแวกบ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงานที่เขาทำอยู่บ่อยๆ โดยตัวเขารู้ว่านี่ไม่ใช่ที่ที่คุณอยู่

ส่งของให้มากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นของขวัญที่ราคาแพงเกินไป หรือประหลาดจนน่ากลัว ทั้งนี้รวมรูปภาพและคลิปวิดีโอที่อาจมีเนื้อหาอนาจารด้วย

ตีสนิทกับคนใกล้ตัว เมื่อคุณเริ่มตีสนิทกับเพื่อนฝูงหรือครอบครัวของเขาเพื่อเข้าหาโดยเฉพาะ โดยที่เขารู้ดีว่าคุณทำไปโดยมีความหมายแอบแฝง

สแปมจดหมาย ข้อความ หรือโพสต์ กล่าวคือเป็นการส่งจดหมาย ข้อความ หรือข้อความเสียง ทั้งในโทรศัพท์และโซเชียลมีเดียในปริมาณมาก รวมถึงการโพสต์ในโซเชียลมีเดียที่ผิดปกติด้วย

พูดจาว่าร้าย เมื่อคุณใช้คำพูดหยาบคายหรือทำร้ายจิตใจเพื่อทำให้เขารู้สึกผิด และมองว่าการกระทำของคุณเป็นเรื่องที่ถูกต้อง รวมถึงใช้คำพูดที่ทำให้เขาดูแย่ในสายตาของเพื่อนฝูง ครอบครัวหรือคนทั่วไป

แบล็กเมล โดยใช้ข้อมูลลับเผื่อขู่ให้เขายอมทำตามในสิ่งที่คุณต้องการ หากไม่ทำตามแล้วจะนำไปปล่อยข้อมูลให้เป็นสาธารณะ

link-eat-love-kill-stalker-law

กฎหมายเอาผิดสตอล์กเกอร์ในเกาหลี
ต้องบอกก่อนว่าในเกาหลีมีสตอล์กเกอร์ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราจะเห็นได้จากข่าวที่ศิลปินดารามักถูกแอบตามหรือคุกคามอยู่บ่อยครั้ง แม้แต่คนธรรมดาก็มีข่าวให้เห็นว่าโดนด้วยเช่นกัน แต่กฎหมายเอาผิดคนกลุ่มนี้กลับไม่มีความรุนแรงและอ่อนแอมากๆ ขนาดที่ว่าผู้ก่อเหตุยังเคยบอกว่า ‘ไม่เป็นไร โดนปรับแค่หน่อยเดียวเอง’ 

เนื่องจากก่อนหน้านี้บทลงโทษนั้นเป็นเพียงแค่การปรับเงิน 98,000 วอนเท่านั้น ซึ่งเราจะเห็นว่าดูเป็นกฎหมายที่ไม่ค่อยช่วยเหลือเหยื่อสักเท่าไหร่ และยังเอื้อประโยชน์ให้กับผู้กระทำซะมากกว่า แม้แต่เจ้าหน้าที่เองก็ยังบอกว่ามาตรการคุ้มครองเหยื่อที่ล้มเหลวนี้อาจทำให้เกิดอาชญากรรมรุนแรงต่อไปได้อีก เช่น การฆาตกรรม

จำนวนสตอล์กเกอร์นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2019 มีผู้ถูกจับด้วยข้อหาสตอล์กเกอร์ถึง 587 คน และในปี 2021 ถึงพฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา มีมากถึง 5,248 คน จนในวันที่ 10 ตุลาคม 2021 กระทรวงยุติธรรมเกาหลีก็ได้ประกาศและบังคับใช้การลงโทษแบบใหม่ คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30 ล้านวอน และหากพกอาวุธหรือวัตถุอันตราย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50 ล้านวอน และห้ามเข้าใกล้เหยื่อหรือที่อยู่อาศัยของพวกเขาภายในระยะ 100 เมตร




อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่มมองว่า 100 เมตรยังเป็นระยะทางที่สั้นเกินไป ซึ่งจะยังทำให้เหยื่อเกิดความรู้สึกกลัวหรือระแวงได้อยู่ดี อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวว่าระยะห่างเพียงแค่นี้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการปกป้องเหยื่ออย่างแน่นอน ซ้ำร้าย 100 เมตรเป็นระยะทางที่ผู้ชายสามารถวิ่งเข้ามาได้ภายใน 15 วินาที ดังนั้นจึงไม่สามารถถือได้ว่านี่เป็นมาตรการที่ปลอดภัยและเหมาะสมแล้ว

ปัจจุบันรัฐบาลก็เล็งเห็นถึงปัญหานี้และกำลังเร่งทำการแก้ไขอยู่ เบื้องต้นรัฐได้มีการติดไฟส่องสว่างตามถนน ไฟบนพื้นถนน รวมทั้งยังติดกล้อง CCTV และปุ่มฉุกเฉินเพิ่มอีกด้วย เพื่อให้ผู้คนมีความอุ่นใจมากขึ้นหากต้องเดินบนถนนตอนกลางคืน

ย้อนกลับมาในซีรีส์ Link: Eat, Love, Kill ประเด็นสตอล์กเกอร์นับเป็นจุดพลิกผันของเรื่องราว เมื่อเพื่อนร่วมงานอีจินกึนคลั่งรักโนดาฮยอนจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่อง 

การที่ซีรีส์ฉายให้เห็นประเด็นกฎหมายสตอล์กเกอร์ในซีรีส์ นอกจากสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมแล้ว ยังเป็นกระบอกเสียงส่งไปถึงผู้หญิงทุกคนที่อาจประสบปัญหานี้ให้กล้าออกมาแจ้งความ หรือร้องขอความช่วยเหลือ และไม่แน่ว่าอาจก่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้หญิงผู้เสียหายมากกว่านี้ในอนาคต

เรื่องโดย ธนภัทร จันทร์เหม
อ้างอิง:
facebook.com/psycstory, mangozero.com, dek-d.com, korea.kr, chosun.com

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้