hometown-cha-cha-cha-milk

Hometown Cha-Cha-Cha ‘นมกล่อง’ เครื่องดื่มที่สื่อสารความห่วงใยถึงคนในชุมชน

ใน Hometown Cha-Cha-Cha EP.7 มีฉากที่หัวหน้าฮงปั่นจักรยานมาส่ง ‘นมกล่อง ตามบ้านต่างๆ ยามเช้า ทั้งยื่นให้กับมือ และหย่อนใส่ในกระเป๋าที่แขวนไว้หน้าบ้าน

จากจุดเริ่มต้นของความสงสัยว่านมชองโฮในซีรีส์มีจริงไหม ก็ทำให้เราได้ค้นพบเรื่องราวน่ารักอบอุ่นใจที่ใช้นมกล่องแทนความห่วงใยมาเพิ่ม และอยากนำมาแชร์ให้ทุกคนได้ยิ้มแก้มบุ๋มไปด้วยกัน

hometown-cha-cha-cha-milk

นมชองโฮมีจริงไหม?

หลังโดนล่อซื้อด้วยการโคลสอัพชื่อแบรนด์ ‘ชองโฮ’ (청호우유) ให้เห็นแบบใกล้ๆ จึงทำให้เราสนใจว่านมชองโฮมีวางจำหน่ายจริงไหม แล้วสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปในเกาหลีหรือเปล่า

ซึ่งหลังจากค้นหาด้วยชื่อแบบตรงๆ จึงทำให้เราได้ข้อสรุปว่านมชองโฮนั้นไม่มีจริง! และการตั้งชื่อว่าชองโฮนั้นน่าจะมาจากชื่อเมืองที่ซีรีส์สมมติเอาไว้ เหมือนอย่างที่ก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่าป้ายสถานีตำรวจโพฮังเองก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีตำรวจชองโฮมาก่อนแล้ว

และการตั้งชื่อเมืองเป็นชื่อแบรนด์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในท้องตลาดเองก็มีแบรนด์ที่มีชื่อว่านมโซล (서울우유) และนมปูซาน (부산우유) วางจำหน่ายเช่นกัน

hometown-cha-cha-cha-milk

ร้านนมชองโฮในกงจิน

ถึงจะไม่มีแบรนด์นมชองโฮจริงๆ แต่การที่ซีรีส์เนรมิตตลาดชองฮาในเมืองโพฮังให้กลายเป็นตลาดกงจินนั้นก็เก็บดีเทลทุกเม็ดชนิดไม่ให้หลุด! เพราะในละแวกตลาดที่เป็นที่ตั้งของร้านคาเฟ่, ร้านของพ่อแม่น้องโบรา, ร้านซุปแก้เมาค้าง ฯลฯ ทางซีรีส์ยังเนรมิตร้านนมชองโฮเอาไว้ด้วย

เราเห็นชาวเกาหลีหลายคนที่ไปตามรอยซีรีส์ตลาดกงจินและถ่ายรูปลงบล็อกให้เห็นโลเคชันหลายมุม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือร้านนมชองโฮที่มีป้ายหน้าร้านตัวใหญ่ว่า 청호우유 มีกันสาดสีขาว-ฟ้า และติดโปสเตอร์รูปกล่องนมแบบเดียวกับที่หัวหน้าฮงเอาไปให้คุณกัมรี และลงดีเทลไปจนถึงกระบะใส่นมสีเขียวและสีฟ้าที่ถูกวางเอาไว้หน้าร้านเหมือนที่วางไว้ท้ายจักรยานของหัวหน้าฮงเป๊ะ!

hometown-cha-cha-cha-milk

กล่องนมป้องกันความเหงา

อย่างที่เราเห็นในซีรีส์ว่าหัวหน้าฮงมีการหย่อนนมกล่องลงไปในกระเป๋าที่หน้าบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งถ้ามองตามบริบทปกติแล้ว กระเป๋าใส่นมใบนี้น่าจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ทำให้คนส่งนมรู้ว่าบ้านหลังนี้รับนมเป็นประจำเพียงเท่านั้น

แต่ใครจะคาดคิดว่ากระเป๋าและนมกล่องจะกลายเป็น ‘สัญญาณของความอบอุ่น’ เมื่อหลายองค์กรและบริษัทในเกาหลีใต้ได้นำไอเดียการส่งนมยามเช้ามาเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันความเหงาของเหล่าผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง

เราค้นพบว่าการส่งนมให้ผู้สูงอายุในเกาหลีนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2003 โดยบาทหลวงที่มีชื่อว่า โฮยงฮัน จากโบสถ์อ๊กซูในกรุงโซล ที่ช่วงแรกเขาตระเวนส่งนมให้กับผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนในละแวกประมาณ 100 คน ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากคนรู้จัก และมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อต้องการเสริมสร้างโภชนาการให้กับผู้สูงอายุที่กระดูกไม่แข็งแรง เหมือนกับที่หัวหน้าฮงมักจะพูดย้ำกับคุณกัมรีเสมอว่า “ดื่มนมเยอะๆ จะได้ไม่เป็นโรคกระดูกพรุน”

ก่อนที่ต่อมาในปี 2007 อัตราการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจะทำให้ทิศทางการส่งนมเพื่อเสริมสร้างโภชนาการเริ่มพ่วงไปกับการป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน และป้องกันการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวด้วย

เพราะหากอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการเกาหลี จะพบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวไม่เคยลดน้อยลง และเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับจำนวนผู้สูงอายุที่เสียชีวิตเพียงลำพังที่ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ต่างกัน

จำนวนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวในเกาหลีใต้ ปี 2016-2019
ปี 2016 จำนวน 1,275,000 คน
ปี 2017 จำนวน 1,346,000 คน
ปี 2018 จำนวน 1,431,000 คน
ปี 2019 จำนวน 1,500,000 คน (ตัวเลขโดยประมาณ)

โดย 1,145 คือตัวเลขของผู้สูงอายุที่เสียชีวิตเพียงลำพังในปี 2020 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 2016 ที่มีจำนวน 735 ราย

ภาพ: www.maeil.com

ดังนั้นการส่งนมยามเช้าจึงไม่เพียงแต่นำความอิ่มท้อง แต่ยังเปรียบได้กับการทักทายเหล่าผู้สูงวัยให้อิ่มใจในแต่ละวัน โดยมีคนส่งนมเป็นหัวใจสำคัญ

เพราะจุดประสงค์ของการส่งนมนั้นพ่วงมากับการที่คนส่งจะต้องคอยสังเกตจำนวนกล่องนมหน้าบ้านของเหล่าออรือชินในแต่ละวัน หากพบว่ากล่องนมของเมื่อวานยังอยู่ที่เดิม ไม่มีความเคลื่อนไหว นั่นเป็นหนึ่งใน ‘สัญญาณ’ ที่บ่งบอกถึงความผิดปกติแรกที่อาจเกิดขึ้น

และหากกล่องนมหน้าบ้านมีปริมาณมากถึง 2 กล่องเมื่อไร นั่นหมายความว่าผู้สูงวัยในบ้านอาจเกิดอันตรายบางอย่างขึ้น เหล่าคนส่งนมต้องรีบติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ชุมชนที่เกี่ยวข้องให้มาตรวจสอบความเป็นอยู่ของเหล่าออรือชินทันที

นับเป็นวิธีที่ง่ายและสามารถเข้าถึงเหล่าผู้สูงวัยได้แบบที่ต่างฝ่ายต่างไม่เคอะเขินกันมากนัก คล้ายกับการเข้าหาของจีพีดีที่แวะเวียนมาหาคุณกัมรีทุกวัน จนก่อเกิดเป็นกระแสความอบอุ่นเล็กๆ เข้ามาในจิตใจที่โดดเดี่ยวให้ไม่ต้องรู้สึกเหงาอย่างที่ควรจะเป็น

ภาพ: www.maeil.com

พันธมิตรนมสูงวัย

นอกจากสิ่งต่างๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว นมกล่องเล็กๆ ที่ถูกส่งมอบให้แก่เหล่าออรือชินยังมีดีเทลที่ละเอียดมากขึ้นไปกว่านั้น เมื่อมันไม่ได้บรรจุไว้เพียงแค่นมธรรมดา แต่ยังอัดแน่นไปด้วยความรู้สึกและความใส่ใจ

อย่างที่เราบอกตอนต้นว่ามีหลายองค์กรและบริษัทที่ทำโครงการดังกล่าวนี้ขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการจากเว็บไซต์ milk1009.org ที่ปัจจุบันมีการส่งนมให้กับผู้สูงวัยในแต่ละวันกว่า 2,700 ครัวเรือนทั่วกรุงโซล ซึ่งมีพันธมิตรที่สนับสนุนโครงการมากมายจากหลายแขนงอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวงโฮยงฮัน จากโบสถ์อ๊กซู, อีแจฮยอน จาก Goldman Sachs, ชเวซองโฮ จากมหาวิทยาลัยสตรีซุกมยอง, แบจองโฮ จากสำนักงานกฎหมาย EZER และคิมซอนฮี จาก Maeil Dairies ฯลฯ

ซึ่งการยื่นมือมาสนับสนุนของ Maeil Dairies ในปี 2016 นี้เองที่ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นหัวใจมากขึ้น เมื่อได้รู้ว่าบริษัทนี้มีผลิตภัณฑ์ในเครือเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มอย่าง นม, น้ำผลไม้, กาแฟ, อาหารเพื่อสุขภาพ ฯลฯ นั้นได้ปรับและเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์นมของพวกเขาให้เป็น ‘นมที่ย่อยง่าย’ เพื่อให้เหล่าผู้สูงอายุดื่มได้อย่างสบายใจ

hometown-cha-cha-cha-milk

เพราะข้อมูลจากเว็บไซต์ ChosunMedia และ Hankyung.com ระบุว่าชาวเกาหลี 1 ใน 2 คนมักจะมีอาการแพ้แลคโตส และคนที่แพ้จะไม่สามารถย่อยนมได้เมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นการปรับผลิตภัณฑ์นมกล่องของ Maeil Dairies จึงไม่เพียงแต่จะทำให้เหล่าผู้สูงวัยดื่มนมได้มากขึ้น แต่ยังช่วยทำให้คนที่แพ้แลคโตสสามารถดื่มได้อย่างสบายใจเช่นกัน

โดยนมที่ปรับสูตรดังกล่าวนั้น ทาง Maeil Dairies ยังนำมาวางจำหน่ายจริง พร้อมกับตั้งเป้าหมายบริจาคเงินจากรายได้ 1% ของยอดขายนมชนิดนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการสนับสนุนโครงการส่งนมให้ผู้สูงอายุอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาก็สามารถทำได้ดี และเป็นหนึ่งในพันธมิตรรายใหญ่ของโครงการตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้