Hometown Cha-Cha-Cha EP.1-2 ซีรีส์โรแมนติกคอเมดี้ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ช่องว่างระหว่างกัน
Hometown Cha-Cha-Cha EP.1-2 เปิดฉากสัปดาห์แรกของการออกอากาศด้วยเรตติ้งอันดับหนึ่งในสล็อตเวลาเดียวกัน อาจจะด้วยพลังชินมินอาและคิมซอนโฮที่แฟนๆ ซีรีส์รอคอย ซึ่งมาพร้อมแนวรอมคอมที่นับเป็นทางถนัดอย่างยิ่งของชินมินอา กับคิมซอนโฮที่โชว์ตัวตนความตลกหลุดโลกให้ได้เห็นแล้วในวาไรตี้ 2 Days 1 Night
แต่กลับกลายเป็นว่าความดีงามของ Hometown Cha-Cha-Cha คือการเขียนบทที่เต็มไปด้วยรายละเอียด บรรจุเรื่องราวของตัวละครรายล้อมที่เชื่อมโยงอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ อย่างท่าเรือกงจิน สะท้อนชีวิตในต่างจังหวัดที่ไม่ต้องธุระกับรถติด เทรนด์ทวิตเตอร์ ค่าครองชีพโหดๆ หรือความหมางเมินระหว่างกันของผู้คน (*นักเขียนชินฮาอึน จาก The Crowned Clown)
ประเด็นสำคัญในซีรีส์ Hometown Cha-Cha-Cha จึงอยู่ที่ความแตกต่างของชีวิตเมืองและชนบท คล้ายๆ ซีรีส์หลายเรื่องก่อนหน้าอย่าง When the Camellia Blooms ที่ถ่ายทำเมืองเดียวกัน และ Racket Boys ที่พาเราไปซึมซับความใสสะอาดของเด็กๆ เมืองแฮนัมทางใต้สุดของเกาหลี
ระยะทางระหว่างเมืองและชนบท
ยุนฮเยจินเป็นผู้หญิงเมืองโดยแท้ เรียนเก่ง เป็นหมอฟัน หน้าตาดี รายได้ดี มีชีวิตสุขสบายได้ด้วยตัวเอง และแม้ว่าจะเปิดเรื่องให้เห็นว่าเธอไม่คิดค้ากำไรเกินควร หรือมองหาผลประโยชน์จากการรักษาคนไข้ จนทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายตามมา แต่ถึงแม้ยุนฮเยจินจะกล้าลุกขึ้นต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็น ‘คนเมือง’ มันกลายเป็นเหมือนกลิ่นที่ติดตัวเธอไปโดยไม่รู้ตัว
ฝุ่นที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ, งานรำวงในงานเลี้ยงผู้สูงอายุ, ความไม่อยากพูดคุยกับคนแปลกหน้า ทั้งที่เป็นแม่ของคนที่อยู่ข้างห้อง, การไม่ไว้เนื้อเชื่อใจใครง่ายๆ, การเลือกใช้มุมมองตัวเองในการตัดสินคนอื่น เหล่านี้ทำให้ยุนฮเยจินเป็นตัวแทนคนเมืองอย่างเราๆ ได้อย่างเห็นภาพเหลือเกิน
ดังนั้นเหตุการณ์ ‘ลืมปิดไมค์’ อย่างในเรื่องจึงเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เพราะมันคือสิ่งที่ยุนฮเยจินมองเห็นปัญหา อยากบอก และด้วยความที่ไม่เคยอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์ที่เหมือนญาติในเมืองเล็กๆ แบบนี้ เป็นไปได้ว่าเธอเองก็ไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร
นอกจากนี้ การที่เธอเคยใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงออกความรู้สึกจนเกิดปัญหายุ่งยากที่โซล และเลือกมาตั้งหลักที่กงจิน ปัญหาใหม่ที่เธอสร้างที่นี่กลับแตกต่างจากโซเชียลมีเดีย เพราะเธอได้รับรีแอ็กชัน ‘ไม่ต้อนรับ’ แบบซึ่งหน้าจากผู้คนทั้งเมือง ที่ในตอนแรกมันย่ำแย่ขนาดว่าเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวที่มียังแนะนำให้เธอหนีไปจากที่นี่
ขณะเดียวกัน ตัวแทนหนุ่มชนบทอย่าง ฮงดูชิก หรือ ‘หัวหน้าฮง’ เป็นเหมือนคู่ตรงข้ามกับยุนฮเยจิน เขารู้จักสนิทสนมกับคนในหมู่บ้านจนสามารถแวะทักทาย พูดคุย ช่วยงานทุกคนทุกบ้านได้ทั้งเมือง ยิ่งกับผู้สูงอายุที่ดูมีช่องว่างระหว่างวัยสูงสุด เขายังเป็นคนที่อ่อนโยน คอยเอาใจใส่ได้อย่างน่าทึ่ง ทุกงาน ทุกอย่าง จะเห็นเขาไปมีส่วนร่วมอยู่เสมอ และยังเป็นคนที่คอยช่วยเหลือยุนฮเยจินให้ผ่านเหตุการณ์แต่ละอย่างไปได้
หัวหน้าฮงรู้ว่าโดยเนื้อแท้แล้วยุนฮเยจินไม่ได้เป็นคนเลวร้ายอะไร ที่เธอทำผิดพลาดซ้ำๆ เหล่านี้คือการมาจากต่างวัฒนธรรม ซึ่งทุกวันที่ผ่านไปก็เหมือนการสอน และยอมให้เธอเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็เหมือนที่เขาบอกเธอว่า คนเราผิดพลาดกันได้ แต่ต้องรู้จักเปิดใจ ปรับตัวเรียนรู้กันไป และอย่างหนึ่งที่เธอต้องทำเมื่อทำผิดคือการขอโทษอย่างจริงใจ
เลือกที่จะอยู่ ‘บ้าน’ ที่กงจิน
Hometown Cha-Cha-Cha ตัวละครของฮงดูชิก หรือหัวหน้าฮง อาจจะมีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้ แต่ความเป็นตัวเขาที่เติบโตมาเพียงลำพัง มีป้าย่ายายในละแวกบ้านคอยเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมา ฮงดูชิกจึงเป็นคนหนุ่มจำนวนน้อยที่ยังคงทำงานสารพัดในเมืองนี้ ไม่คิดจะไปทำงานในเมืองใหญ่อย่างหนุ่มสาวคนอื่นๆ
ประชากรของเมืองโพฮังมี 513,104 คน (ส่วนที่โซลมี 10,000,000 คน) ซึ่งถ้าหากเทียบเคียงกับกงจินที่ใช้โพฮังเป็นเมืองในการถ่ายทำ คนวัยทำงานอายุ 20-49 ปี มีจำนวน 204,148 คน, คนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปมี 218,147 คน และเด็กที่อายุตั้งแต่ 15 ปีลงมามีจำนวน 64,594 คน
เกาหลีเองก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมที่ประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดช่วงหลังปี 2000 และปัจจุบันปัญหาช่องว่างระหว่างวัยกลายเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญ อย่างที่เราได้เห็นซีรีส์หลายเรื่องพยายามให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ และพยายามเชื่อมต่อความรู้สึกของหนุ่มสาวกับญาติผู้ใหญ่ให้ยังคงสายใยความรักความผูกพัน อย่างในเรื่องที่มีคุณยายคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเธออยู่คนเดียว เพราะลูกชายเป็นนักบัญชีใหญ่โตอยู่ที่โซล
Hometown Cha-Cha-Cha ยังไม่ได้เปิดเผยเรื่องราวภูมิหลังของหัวหน้าฮง แต่เท่าที่รู้ การที่เขาถนัดการทำงานหลากหลายนั้นใช้ความรู้มากกว่าคนที่มีวิชาชีพเดียวแน่ๆ บ้านที่เปิดให้เห็นชั้นหนังสืออัดแน่นไปด้วยหนังสือดีๆ การที่เขาพูดภาษารัสเซียได้ ใช้ภาษามือเป็น อ่าน Walden ระหว่างนั่งตกปลา ก็พอจะบอกให้เข้าใจได้แล้วว่าเขาเป็นคนมีความรู้มีความสามารถ แต่เลือกที่จะใช้ชีวิตเมืองบ้านเกิดมากกว่าจะไปประสบความสำเร็จที่อื่น
กลับสู่บ้านเกิด ไม่ใช่ความพ่ายแพ้
เทรนด์การใช้ชีวิตยุคโควิดแบบ Now Normal เราได้เห็นคนเมืองมากมายหนีหายออกไปอยู่ต่างจังหวัด หลายคนกลับบ้านเกิดเปิดกิจการเล็กๆ มีชีวิตที่วุ่นวายน้อยลง เทรนด์นี้ก็กำลังนิยมเหมือนกันที่เกาหลี หลายคนเลือกไปอยู่บนเกาะเชจูเป็นเดือนๆ เพื่อให้ชีวิตมีความรื่นรมย์มากยิ่งขึ้น
ซึ่งการ ‘กลับบ้าน’ ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่คือการเริ่มต้นใหม่ เช่นเดียวกับในซีรีส์ Hometown Cha-Cha-Cha ที่ยุนฮเยจินตัดสินใจย้ายจากโซลไปเปิดคลินิกทันตกรรมที่กงจิน เมืองที่ฝากความหลังเอาไว้ให้เธอจดจำ และทุกๆ ปีเธอจะมาที่ชายทะเลกงจินเพื่อนึกถึงคนที่เธอรัก
โอชุนแจ เดินทางไปหลายเมืองก่อนจะมาปักหลักเปิดคาเฟ่ที่กงจิน ในยุค 90 เขาเป็นนักดนตรีดังชื่อโอยุน แต่ในช่วงเดียวกันวง Seo Taiji and Boys แจ้งเกิดเป็นที่หนึ่งของแวดวงดนตรี ทำให้เขาเป็นได้แค่อันดับสอง และหลังจากอัลบั้มแรกที่มีเพลงดังแบบ One Hit Wonder แล้วก็เจออุปสรรคจนไม่ได้ทำเพลงต่อ สุดท้ายเขาก็ได้แต่ฝันหวานถึงวันเก่าๆ ขณะที่เวลาเดินทางไปข้างหน้าเรื่อยๆ
ตัวละครรายล้อมที่อยู่ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ยังมีอีกมาก ทั้งแม่ชเวโบรา ร้านของชำ, จางยองกุก ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้นำชุมชน เจ้าของร้านปลาดิบ รวมถึงผู้สูงวัยสาวสาวสาว ลูกค้าประจำสบู่หัวหน้าฮง พวกเขาต่างมีเรื่องที่รอจะบอกเล่า มีความหลังที่อยากกลับไปแก้ไข อดีตที่อยากจดจำและอยากลืม รวมถึงความฝันที่ไม่เป็นจริงอย่างที่ตั้งใจ และการมา ‘เริ่มต้นใหม่’ ของยุนฮเยจินกับคลินิกทำฟันที่ไม่เคยมีในเมืองนี้ จึงเป็นเหมือนการเริ่มต้นใหม่ๆ ของชาวกงจินเช่นกัน
Hometown Cha-Cha-Cha กลายเป็นซีรีส์ประจำวันเสาร์-อาทิตย์ของเราในตอนนี้ไปแล้ว เพราะด้วยมวลรวมของความสนุกสนานตามขนบซีรีส์โรแมนติกคอเมดี้ของเกาหลี แล้วเพิ่มคุณค่าด้วยการใส่รายละเอียดตัวละครที่จะทำให้เราทั้งหัวเราะ ร้องไห้ ยิ้มทั้งน้ำตาไปกับพวกเขา