Law School 101 ลงลึกเรื่อง โรงเรียนกฎหมาย และการสอบเนติบัณฑิตในเกาหลี
เกาหลีเป็นประเทศหนึ่งที่ทำซีรีส์เกาหลีสายกฎหมายออกมาให้เราดูเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น Stranger (2017), Law School (2021), Extraordinary Attorney Woo (2022), Why Her? (2022) ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องก็จะมีเนื้อหาเฉพาะแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกเรื่องมีเหมือนกันคือการสอดแทรกประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ โรงเรียนกฎหมาย Law School หรือ การสอบเนติบัณฑิต เข้ามาด้วย ทำให้ทุกคนที่ดูซีรีส์เกิดความอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่แพ้กัน
วันนี้ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับการเรียน Law School รวมทั้งการสอบเนติบัณฑิตในเกาหลีกันว่ามีความเหมือนหรือต่างจากในไทยมากน้อยแค่ไหน
โรงเรียนกฎหมาย (Law School) คืออะไร?
Law School (법학전문대학원) คือการศึกษากฎหมายระดับปริญญาโท ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 3 ปี เมื่อเรียนจบแล้วจะได้วุฒิที่เรียกว่า Juris Doctor (J.D.) ซึ่งการเรียน Law School จะเป็นทางเดียวในการประกอบอาชีพสายกฎหมายในเกาหลี หลังจากที่มีการยกเลิกเนติบัณฑิตแบบเก่าไปในปี 2017
การเข้าเรียน Law School ในเกาหลี สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. เรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ และเรียนต่อ Law School ได้ทันที
2. เรียนจบจากคณะอื่นๆ ที่ไม่ใช่คณะนิติศาสตร์
จากสถิติในปี 2022 คณะที่มีอัตราการตอบรับให้เข้าเรียน Law School สูงสุด ได้แก่ คณะสายสังคมต่างๆ เช่น สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ จิตวิทยา ฯลฯ ตามมาด้วยสายการเงิน เช่น การเงิน บริหารธุรกิจ บัญชี ฯลฯ โดยมีอัตราส่วนรวมกันเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ซึ่ง อูยองอู จากเรื่อง Extraordinary Attorney Woo (2022) ก็จบเอกเศรษฐศาสตร์ ก่อนจะเข้าเรียน Law School ในภายหลัง
โดยทั้งสองแบบจะต้องใช้ผลสอบ Legal Education Eligibility Test (LEET) หรือการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษากฎหมาย รวมไปถึง GPA ผลสอบภาษาอังกฤษ จดหมายแนะนำตัวเอง และการสอบสัมภาษณ์ เพื่อที่จะนำมาคัดเลือกในการเข้าเรียนใน Law School เมื่อเรียนจบแล้วจะได้วุฒิ J.D. ก่อนที่จะไปสอบ 변호사시험 ที่ได้ชื่อว่าเป็นเหมือนการสอบ ‘เนติบัณฑิตแบบใหม่’ ให้ผ่านตามลำดับ เพื่อจะสามารถมาประกอบอาชีพต่างๆ ด้านกฎหมายได้
การเรียน Law School ในไทยกับเกาหลี ต่างกันไหม?
การเรียน Law School ทั้งในไทยและเกาหลีค่อนข้างต่างกัน ประการแรก ในไทยจะเรียนปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ เป็นเวลา 4 ปี ประการต่อมา ถ้าต้องการเป็นทนายในไทย สามารถสอบตั๋วทนายได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องสอบเนติบัณฑิต และประการสุดท้าย การเป็นอัยการหรือผู้พิพากษาในไทยจะต้องมีอายุ 25 ปีบริบูรณ์ และสอบเนติบัณฑิตให้ผ่าน เก็บชั่วโมงทำงานทางกฎหมายให้ครบ 2 ปี และเข้าสอบอัยการผู้ช่วยหรือผู้ช่วยผู้พิพากษา ซึ่งจะแบ่งออกเป็นสนาม ใหญ่-เล็ก โดยมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป ถ้าผ่านจึงจะได้เป็นอัยการผู้ช่วยหรือผู้ช่วยผู้พิพากษา และจะเลื่อนลำดับไปเรื่อยๆ
อันที่จริง ช่วงก่อนปี 2017 คนส่วนใหญ่จะนิยมเรียนปริญญาตรีนิติศาสตร์วุฒิ LL.B. (Legum Baccalaureus) เมื่อก่อนเกาหลีเคยใช้ระบบนี้ทั้งประเทศ ซึ่งประเทศไทยในปัจจุบันก็ใช้ระบบนี้เช่นกัน พอเรียนจบแล้วจึงไปสอบเนติบัณฑิตแบบเก่า (사법 시험) ซึ่งจริงๆ แล้วการสอบแบบเก่านี้ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีมาก่อน จบแค่มัธยมก็สมัครสอบได้แล้ว
สำหรับคนที่ดูซีรีส์เรื่อง Why Her? นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมโอซูแจที่เรียนจบแค่มัธยมถึงสามารถสอบเป็นทนายได้นั่นเอง
การสอบเนติบัณฑิต (Bar Examination) ในเกาหลี
เมื่อก่อนเกาหลียังมีการจัดสอบเนติบัณฑิต (사법 시험) หรือ Bar Examination แบบเก่าสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นทนายหรืออัยการ โดยผู้ที่เข้าสอบจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำกัดอายุ และไม่จำกัดการศึกษา ขอแค่สามารถทำข้อสอบผ่านได้ก็พอ เมื่อสอบผ่านแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการฝึกอบรมภาคบังคับเป็นเวลา 2 ปี ที่สถาบันวิจัยและฝึกอบรมตุลาการ (사법연수원)
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2017 ก็ได้มีการยกเลิกการสอบเนติบัณฑิตแบบเก่าไป เนื่องจากถูกมองว่าเป็น ‘ข้อสอบของคนว่างงาน’ (고시낭인) ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ใช้เวลาในการเตรียมตัวสอบหลายปีเกินไป
หลังจากสอบเนติบัณฑิตใหม่แล้วไปไหนต่อ?
หลังจากจบเนติบัณทิตแบบใหม่แล้วสามารถไปต่อเส้นทางด้านกฎหมายได้ทั้งหมด 3 ทาง ได้แก่
1. การเป็นทนายความ สามารถสมัครงานใน Law Firm ได้ทันที เหมือนกับในซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo ที่ อูยองอู สมัครเข้าทำงานในบริษัทกฎหมายฮันบาดา หลังจากสอบเนติบัณฑิตแบบใหม่ นอกจากนี้ยังสามารถที่จะเปิดสำนักกฎหมายเป็นของตัวเองก็ได้ หรือการทำงานในสายงานด้านกฎหมายอื่นๆ เช่น ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของบริษัททั่วๆ ไป หรือธนาคาร
2. การเป็นอัยการ หลังจากสมัครแล้วจะต้องได้รับการคัดเลือกจากการทดสอบเบื้องต้นจากกระทรวงยุติธรรม เมื่อได้รับการคัดเลือกจะต้องไปฝึกอบรมกฎหมาย หรือ Institute of Justice (법무연수원) เป็นเวลา 1 ปี ถึงจะได้รับการแต่งตั้งไปปฏิบัติงาน
3. การเป็นนิติกรประจําตัวผู้พิพากษา มีหน้าที่ช่วยผู้พิพากษาในการค้นหากฎหมาย เตรียมข้อมูล เขียนข้อโต้แย้งและความเห็นในคดี รวมทั้งมีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารคดีต่างๆ ซึ่งตำแหน่งนี้เปรียบเสมือนกับผู้พิพากษาท่านหนึ่งทีมีอาวุโสน้อยที่สุด ซึ่งต้องได้รับการคัดเลือกอีกครั้งจากประธานศาลฎีกาก่อนโดยการคัดเลือกจากเอกสาร การสอบข้อเขียน และสอบสัมภาษณ์ ถ้าผ่านจึงจะได้เป็นผู้พิพากษาเต็มตัว
เรื่องโดย ธนภัทร จันทร์เหม, ธนัชชา เหมืองหม้อ
อ้างอิง: veritas-a.com, ilaw.or.th, edupolnews.com