Seoul Vibe 1988 มองยุค 80 ผ่านเกาหลีในช่วงเปลี่ยนแปลง: การเมือง โอลิมปิก และวัฒนธรรมตะวันตก
Seoul Vibe ซิ่งทะลุโซล ภาพยนตร์ออริจินัลของ Netflix เป็นเรื่องราวในปี 1988 ของกลุ่มนักซิ่งรถที่ทำงานลับให้กับอัยการเพื่อจับกุมผู้มีอำนาจแห่งเกาหลีใต้ ที่ได้เริ่มพาผู้ชมดริฟต์กันไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงทิ้งค้างคำถามน่าสนใจหลายข้อที่สะท้อนให้เห็นผ่านภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่องนี้
โดยในปี 1988 ช่วงที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้ เพราะนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 และสงครามเกาหลีในปี 1953 เกาหลีใต้ก็เปิดประเทศมากขึ้น และรับวัฒนธรรมจากตะวันตกจนเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ขณะเดียวกันก็พยายามไต่เต้าเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียตั้งแต่นั้นมา
วันนี้เราจะพาไปไล่ล่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นว่ามีอะไรเกิดขึ้น และส่งผลอย่างไรบ้างกับเกาหลีใต้ เตรียมตัวให้พร้อม รัดเข็มขัดให้แน่น ถ้าพร้อมแล้วก็ออกสตาร์ทกันเลย!
ฉากหลังการเมืองหลังยุคเผด็จการ
จะเห็นได้ว่ามีการพูดถึง ‘คอมมิวนิสต์’ และ ‘เผด็จการ’ ใน Seoul Vibe ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญก่อนที่เกาหลีใต้จะได้รับประชาธิปไตยในปี 1987
ต้องย้อนกลับไปช่วงปี 1980 ที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารของ นายพลชอนดูฮวาน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Gwangju Uprising แต่ก็ไม่สำเร็จ และกลายเป็นโศกนาฏกรรมของผู้คนจำนวนมาก เพราะทหารมีอำนาจมาก และแทรกแซงอยู่ทุกตำแหน่งทางการเมืองในสมัยนั้น
จนในปี 1987 เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ โดยมีผู้ชุมนุมถึงหลักล้านคนหลังเหตุการณ์สังหารนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตย รัฐบาลเตรียมที่จะสลายการชุมนุมและประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน พลังของประชาชนและการมองเห็นจากประชาคมโลกได้พลิกผันเหตุการณ์ให้รัฐบาลยกเลิกการปราบปรามผู้ชุมนุม และออกประกาศ 8 ข้อ ยอมรับข้อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นต้นทางของการได้รับประชาธิปไตยที่แท้จริงของเกาหลีใต้ในที่สุด
มาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเผด็จการทหารถึงเปลี่ยนใจ และได้มีการคาดเดากันไปหลายเหตุผล แต่หนึ่งในนั้นคือการที่เกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพในการจัดโอลิมปิกในปี 1988
เพราะการได้จัดโอลิมปิกถือเป็นการนำเสนอประเทศสู่สายตาชาวโลก ได้แสดงถึงเอกลักษณ์ ความก้าวหน้า และความยิ่งใหญ่ ในขณะที่เศรษฐกิจในเกาหลีใต้ในตอนนั้นกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก แต่ตรงกันข้ามกับเสรีภาพของประชาชนที่ถูกจำกัดและริดรอน เพื่อพัฒนาเกาหลีใต้ให้พร้อมกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอย่างสมบูรณ์แบบ การมีประชาธิปไตยจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่เกิดขึ้น
ถึงแม้การเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ปี 1987 จะได้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะฝ่ายต่อต้านเผด็จการลงสมัครประธานาธิบดีถึง 2 คน ทำให้แย่งคะแนนกันเอง และฝั่งทหารเป็นฝ่ายชนะไปด้วยคะแนนเพียง 36% เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีการแทรกแซงจากทหารอีกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะประชาธิปไตยที่แข็งแรงของเกาหลีใต้
อพาร์ตเมนต์สุดหรู ที่อยู่อาศัยในฝันของชาวโซล
การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้ บวกกับการที่จะต้องเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1988 ทำให้รัฐบาลต้องปรับภาพลักษณ์ประเทศครั้งใหญ่ มีการรื้นถอนที่อยู่อาศัยในกรุงโซล เพื่อปรับภูมิทัศน์โดยรอบให้ดูดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับแก๊งนักซิ่งของเราที่ต้องย้ายไปอยู่อู่ซ่อมรถที่ใหม่ เนื่องจากโดนรัฐบาลทำลายที่อยู่เดิม
ถึงแม้การอาศัยอยู่อู่ซ่อมรถจะไม่ได้ดูลำบากอะไร แต่พวกเขาก็มีความฝันที่อยากจะอยู่อพาร์ตเมนต์สุดหรูใจกลางกรุงโซล และในที่สุดความฝันก็เป็นจริงหลังจากที่ทำภารกิจสำเร็จไปได้ครึ่งทาง และได้อพาร์ตเมนต์สุดหรูเป็นโบนัส
อพาร์ตเมนต์แห่งแรกในเกาหลีใต้เปิดให้เข้าอยู่ในปี 1960 จากความคิดของรัฐบาลที่พยายามจะผลักดันให้ประเทศมีความก้าวหน้าและทันสมัย ผลตอบรับก็ดีด้วย มีคนย้ายเข้ามาอยู่ค่อนข้างเยอะ อีกทั้งคนที่ซื้อไว้ปล่อยเช่าหรือขายก็ยังได้กำไรสูงอีกด้วย
ในช่วงทศวรรษ 1970 เศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ถึงอย่างนั้นก็กระจุกอยู่แค่เมืองหลวงและจังหวัดโดยรอบ ทำให้ผู้คนต่างหลั่งไหลกันเข้ามาในเมือง ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นไปอีก จากพื้นดินว่างเปล่าและรกร้าง กลับกลายมาเป็นอพาร์ตเมนต์สูงเสียดฟ้าอย่างนับไม่ถ้วน
ผู้คนย้ายเข้ามาอยู่อพาร์ตเมนต์กันเยอะในช่วงปี 1960-2000 และเนื่องจากความสะดวกสบายในการเดินทาง ความทันสมัยของอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ส่งผลให้อพาร์ตเมนต์ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
ฟาสต์ฟู้ด แฟชั่น ฮิปฮอป
การใช้ชีวิตประจำวันของเหล่านักซิ่งจาก Seoul Vibe ก็ได้แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารการกิน แนวเพลง หรือแฟชั่น ที่มีความแตกต่างจากยุคก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด
แมคโดนัลด์ (McDonald’s)
แมคโดนัลด์สาขาแรกในเกาหลีเปิดตัวที่ย่านอับกูจอง กรุงโซล ในเดือนมีนาคม 1988 ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่เกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน อย่างที่เห็นได้ใน Seoul Vibe ที่น้องเล็กอย่าง จุนกิ ตื่นเต้นที่ได้เบอร์เกอร์แมคโดนัลด์จากบกนัม หรือการที่แก๊งนักซิ่งของเราได้ฉลองหลังจากทำภารกิจที่ 5 ได้สำเร็จโดยการไปกินแมคโดนัลด์นั่นเอง จากการที่คนเกาหลีส่วนใหญ่กินข้าวเป็นหลัก ฟาสต์ฟูดส์อย่างแมคโดนัลด์นับว่าเป็นความแปลกใหม่ของคนเกาหลีในช่วงเวลานั้นเลย
ฮิปฮอปเกาหลี
ได้รับความนิยมและเกิดการยอมรับในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เช่นเดียวกับ อูซัม หนึ่งในสมาชิกแก๊งนักซิ่ง ที่เป็นดีเจและทำมิกซ์เทปสไตล์ฮิปฮอป
กลุ่มคนเกาหลีที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้นำเอาแนวเพลงฮิปฮอปและอาร์แอนด์บีมาสู่เกาหลี เพลงฮิปฮอปเกาหลีในช่วงนั้นจึงมีกลิ่นอายของฮิปฮอปอเมริกันผสมอยู่ด้วย โดยฮิปฮอปแบบอเมริกันจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเงินและยาเสพติด แต่ฮิปฮอปของเกาหลีจะเน้นไปที่การดำเนินชีวิต และความรักมากกว่า
และถ้าพูดถึงวงการเพลงเกาหลีในยุค 80 แล้ว ก็ต้องพูดถึงกลุ่มบอยแบนด์ โซบังชา (소방차) ที่เดบิวต์ในปี 1987 ซึ่งเป็นบอยแบนด์กลุ่มแรกในเกาหลีใต้ มีสมาชิก 3 คน และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ยุนฮี สาวสวยแห่งแก๊งนักซิ่ง ก็เป็นแฟนคลับของโซบังชาเช่นกัน และพวกเขายังมีเพลงฮิตติดหูที่ใครได้ดู Reply 1988 ก็คงจะคุ้นเคยกันดี นั่นคือเพลง Last Night Story (어젯밤 이야기) ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเพลงนี้มาประกอบในฉากซิ่งรถสุดมันในตอนท้ายของเรื่องด้วย
แฟชั่นยุค 80
ผู้คนเริ่มแต่งตัวสไตล์พังก์และฮิปฮอป ซึ่งจะเป็นการแต่งตัวที่เน้นสีสัน สวมแจ็กเก็ต มีการเปิดเผยเรือนร่างมากขึ้น และยังนิยมใส่บู๊ตหรือรองเท้าผ้าใบ โดยใน Seoul Vibe ก็โชว์แฟชั่นสุดจี๊ดในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี โดยมีการนำเอารองเท้าผ้าใบสุดฮิต 2 รุ่นคือ Air Jordan 3 (III) และ Adidas Superstar มาเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ด้วย
Air Jordan 3 (III)
Air Jordan 3 เป็นรองเท้าของ ไมเคิล จอร์แดน นักบาสเกตบอลชื่อดังระดับโลกที่สร้างตำนานไว้มากมาย โดยเปิดตัวครั้งแรกในปี 1988 ด้วยทรงและความสูงของรองเท้าที่ยังไม่เคยมีมาก่อน บวกกับเป็นรองเท้ารุ่นแรกที่มีโลโก้ Jumpman ที่มาจาก ไมเคิล จอร์แดน ในท่ากระโดดเพื่อสแลมดังก์ ทำให้ Air Jordan 3 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เป็นหนึ่งในรองเท้ายอดฮิตและเป็นที่ต้องการของตลาดมาจนถึงตอนนี้
นอกจากนั้นยังมี Air Jordan 3 Retro ‘Seoul’ โดยลิ้นรองเท้าฝั่งขวาด้านนอกจะเป็นธงชาติเกาหลี และด้านในเป็นคำขวัญของงานโอลิมปิก 화합과 전진 (ความสามัคคีและความก้าวหน้า) ส่วนฝั่งซ้ายด้านนอกจะเป็นสัญลักษณ์ Jumpman และด้านในจะเป็นคำว่า 서울 (โซล) ซึ่งเป็นรุ่นพิเศษที่จัดทำขึ้นเพื่อรำลึกถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 1988 ที่กรุงโซล
Adidas Superstar
ถ้าพูดถึงรองเท้าผ้าใบสุดฮิต Adidas Superstar ก็คงเป็นหนึ่งในรองเท้าที่เรานึกถึง ด้วยรูปทรงเปลือกหอยที่แปลกตา หัวรองเท้าเป็นยาง พร้อมกับสายคาด 3 แถบ ถือว่าเป็นซิกเนเจอร์ของรองเท้ารุ่นนี้เลย โดยเปิดตัวครั้งแรกในปี 1969 และได้รับความนิยมพอสมควร
แต่ความฮิตก็ไม่หยุดแค่นั้น ต่อมาในปี 1983 กลุ่มแรปเปอร์ชื่อดังชาวอเมริกัน Run DMC ได้ใส่ Adidas Superstar ขึ้นเล่นคอนเสิร์ตโดยไม่ผูกเชือกรองเท้าและโชว์ลิ้นรองเท้า ทำให้รองเท้ารุ่นนี้กลับมาฮิตอีกครั้ง อย่างที่เราเห็น ดงอุค หัวโจกแก๊งนักซิ่งใส่ Adidas Superstar ด้วยสไตล์นี้ตลอดทั้งเรื่อง ถือว่าเป็นรองเท้าคู่ใจของเขาเลยก็ว่าได้
Seoul Vibe ซิ่งทะลุโซล ได้นำเสนอให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเกาหลีในหลายด้าน และยังเก็บรายละเอียดของยุค 80 ได้ดีเลยทีเดียว ใครที่ยังไม่ได้ดู รีบหาเวลาดูกันเลย รับรองว่ามัน ลุ้น และตื่นตาตื่นใจสุดๆ สายซิ่งห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง !
เรื่องโดย ธัญฐรัตน์ โกมลวัฒน์
อ้างอิง: mcdonalds.co.kr, sbs.com.au, mendetails.com, sneakerbardetroit.com, unlockmen.com, sanook.com, youtube.com