run-on-seniority-system

ซีรีส์ Run On กับ ‘ระบบอาวุโส’ ที่ฝังรากลึกในสังคมนักกีฬาเกาหลี

ในซีรีส์ Run On มีประเด็นหนึ่งที่ทำให้ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส นึกถึงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในวงการกีฬาเกาหลีใต้ เรื่องราวอันน่าเศร้าที่เกิดจาก ‘ระบบอาวุโส’ วัฒนธรรมที่หยั่งรากฝังลึกในวงการกีฬาและสังคมเกาหลี ที่ในซีรีส์ว่าโหดร้ายแล้ว แต่ในชีวิตจริงโหดร้ายยิ่งกว่า! โดยซีรีส์พูดถึงเรื่องราวของนักกรีฑาหนุ่มทีมชาติ คีซอนกยอม (รับบทโดย อิมชีวาน) และนักแปลบทภาพยนตร์สาว โอมีจู (รับบทโดย ชินเซคยอง)

ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร

ในอีพี 1-4 เล่าเรื่องราวของนักกีฬา คิมอูชิก (รับบทโดย อีจองฮา) ที่ถูกรุ่นพี่ในทีมกรีฑาทำร้ายร่างกาย มีความคล้ายกับเรื่องจริงของ ชเวซุกฮยอน วัย 22 ปี นักไตรกีฬาสาวชาวเกาหลีใต้ เจ้าของเหรียญทองแดงการแข่งขันไตรกีฬาชิงแชมป์เอเชีย ปี 2015 ที่เลือกจบชีวิตของตัวเองในหอพัก (เดือนมิถุนายน 2020) หลังจากเสียงแห่งความเจ็บปวดของเธอไม่ดังพอที่จะส่งออกไปถึงโลกภายนอก

โดยสาเหตุที่ชเวซุกฮยอนเลือกจบชีวิตของตัวเองลงนั้นเกิดจากการถูกโค้ช แพทย์ประจำทีม และนักกีฬารุ่นพี่ในทีมอีก 2 คน รวมทั้งหมด 4 คน ทำร้ายร่างกายและจิตใจด้วยคำพูดเป็นเวลาหลายปี

และถึงแม้ว่าชเวซุกฮยอนจะร้องเรียนเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการกีฬาและโอลิมปิกเกาหลี (KSOC) ด้วยตัวเองเพื่อขอให้มีการสอบสวน แต่เธอก็ไม่ได้รับการตอบรับอย่างที่ควรจะเป็น จึงทำให้สุดท้ายชเวซุกฮยอนตัดสินใจจบชีวิตของตัวเอง พร้อมกับมอบคลิปเสียงและไดอะรี่บันทึกเหตุการณ์ที่เผชิญมาตลอดหลายปีให้กับแม่เพื่อใช้ในการเปิดเผยความจริง

ชเวซุกฮยอน

ลำดับอาวุโสคือปัญหา

‘ลำดับอาวุโสที่ฝังรากลึกในวงการกีฬาคือปัญหา’ คือหนึ่งในคอมเมนต์ที่ปรากฏในอีพี 4 ของซีรีส์ Run On หลังจากที่ข่าวการทำร้ายร่างกายภายในทีมกรีฑาถูกเผยแพร่ออกไป

หากอ้างอิงจากคอมเมนต์ข้างต้น การกล่าวว่า ‘ลำดับอาวุโส’ คือ ‘ปัญหา’ ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงนัก เพราะนอกจากวงการกีฬาแล้ว ในชีวิตประจำวันของคนเกาหลีที่ปรากฏให้เห็นผ่านซีรีส์ส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่มีเรื่องของลำดับอาวุโสเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างในอีพี 1 ที่ คิมอูชิก น้องเล็กของทีมต้องทำหน้าที่จัดวางช้อนและตะเกียบบนโต๊ะอาหารให้กับรุ่นพี่ในร้านอาหาร ซึ่งดูเผินๆ แล้วภาพเหล่านี้เหมือนภาพชินตาและไม่ได้ต่างจากซีรีส์เรื่องอื่นๆ ที่เรามักจะเห็นรุ่นน้องต้องอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับรุ่นพี่ แต่ถ้ามองลึกลงไปแล้ว นี่คือหนึ่งในลำดับอาวุโสที่กลมกลืนไปกับชีวิตประจำวันของคนเกาหลีจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาและไม่มีใครกล้าทักท้วงใดๆ

หรือจะเป็นเหตุการณ์ในอีพี 2 ที่ยกระดับการใช้ประโยชน์จากลำดับอาวุโสให้รุนแรงขึ้นด้วยการแทนที่ด้วยคำว่า ‘การฝึกวินัย’ ในหมู่นักกีฬา ที่คิมอูชิกยังคงตกเป็นเหยื่อในสนามอารมณ์ให้กับสองรุ่นพี่ได้เตะต่อยและทำร้ายร่างกายโดยไม่กล้าขัดขืนด้วยสาเหตุง่ายๆ (ที่เขาต้องยอมรับ) เพียงเพราะไม่สามารถหาซื้อบุหรี่ให้รุ่นพี่ได้ แม้ว่าในความจริงแล้วรุ่นพี่ทั้งสองจะรู้สึกหงุดหงิดและต้องการหาที่ระบายหลังจากโดนตำหนิเรื่องสถิติที่แย่ลงในการฝึกซ้อมก็ตาม

เมื่ออ้างอิงกับบทความในปี 2016 จากเว็บไซต์ Hankook Ilbo ที่พูดถึงเรื่องราวการถูกทำร้ายร่างกายของนักกีฬารายหนึ่ง มีท่อนหนึ่งในบทความที่เผยว่า

“คดีทำร้ายร่างกายที่ปะทุขึ้นเปรียบเสมือนโรคเรื้อรังของวงการกีฬาเกาหลีที่มีต้นกำเนิดจากลำดับชั้นที่ผิดเพี้ยน… มีหลายกรณีที่รุ่นพี่ทำร้ายรุ่นน้อง… ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเกาหลีจึงส่งเสริมให้อาจารย์ด้านสิทธิมนุษยชนด้านการกีฬาไปบรรยายในโรงเรียนระดับต่างๆ แต่ก็ไม่ดีขึ้น เนื่องจากลำดับชั้นที่หยั่งรากลึก โดยสมาคมกีฬาเกาหลีได้รับรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศและการทำร้ายร่างกายของนักกีฬารวมทั้งหมด 816 รายตั้งแต่ปี 2011 และมีเพียง 79 คดี (หรือคิดเป็น 9.7%) เท่านั้นที่ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษ”

โดยในบทความยังเผยให้เห็นถึงแผนภูมิสถิติจำนวนผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางร่ายกายและทางเพศตั้งแต่ปี 2011-2015 (อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมกีฬาเกาหลี)

ปี 2011
– ความรุนแรงทางเพศ 34 คดี
– ความรุนแรง 100 คดี
– ได้รับการลงโทษ 17 คดี

ปี 2012
– ความรุนแรงทางเพศ 29 คดี
– ความรุนแรง 122 คดี
– ได้รับการลงโทษ 19 คดี

ปี 2013
– ความรุนแรงทางเพศ 37 คดี
– ความรุนแรง 135 คดี
– ได้รับการลงโทษ 17 คดี

ปี 2014
– ความรุนแรงทางเพศ 57 คดี
– ความรุนแรง 151 คดี
– ได้รับการลงโทษ 17 คดี

ปี 2015
– ความรุนแรงทางเพศ 28 คดี
– ความรุนแรง 123 คดี
– ได้รับการลงโทษ 9 คดี

หมายเหตุ: สถิติของปี 2015 เก็บรวบรวมจนถึงเดือนสิงหาคม 2015 เท่านั้น

“แต่ละวันมีแต่สถิติ ลดเวลา ฝึกซ้อม คงเพราะเอาแต่คิดแบบนั้น… ไม่สิ ลำดับอาวุโสก็ยากเหมือนกันครับ คงเพราะผมเพิ่งมาอยู่หมู่บ้านนักกีฬาใช่ไหมครับ” ประโยคซื่อๆ แต่แฝงไปด้วยความเศร้าของคิมอูชิกที่พูดกับคีซอนกยอมในอีพี 1 ถึงระบบอาวุโสที่เขาพบว่ามันยากกว่าที่คิด ในฐานะที่เขาเป็นน้องใหม่ของทีมกรีฑา

run-on-seniority-system

อ่อนแอก็แพ้ไป

และการทำร้ายร่างกายโดยใช้คำว่า ‘ลำดับอาวุโส’ มาเป็นเกราะป้องกันนี้เองที่ทำให้คิมอูชิกและชเวซุกฮยอนไม่ได้รับความเป็นธรรมในซีรีส์และชีวิตจริง

สำหรับคิมอูชิกใน Run On แม้ว่าเรื่องราวของเขาจะถูกรับรู้โดยคีซอนกยอม รุ่นพี่เพียงหนึ่งเดียวที่พยายามช่วยเหลือเขา และทำให้เรื่องราวดำเนินไปถึงคณะกรรมการทางวินัยเพื่อหวังจะใช้กฎกติกาในการลงโทษคนผิด แต่สุดท้ายแล้วเพื่อไม่ให้เรื่องราวใหญ่โตจนก่อให้เกิดข่าวเสียหายกับทีมชาติ เหล่าคณะกรรมการและผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องจึงทำเหมือนกับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ และการที่นักกีฬารุ่นพี่จะ ‘ฝึกวินัย’ รุ่นน้องเพื่อให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้นก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ จึงส่งผลให้บทสรุปของสองรุ่นพี่จบลงที่การไปเข้ากรมเพื่อให้เรื่องที่เกิดขึ้นค่อยๆ ซาลงไปตามกาลเวลา ส่วนคิมอูชิกที่บาดเจ็บสาหัสก็ต้องดูแลรักษาตัวเองต่อไป

แม้ว่าจะมีหนึ่งในคณะกรรมการทางวินัยหญิงคนหนึ่งเสนอขึ้นมาว่า “เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะมีการบังคับใช้ลำดับอาวุโส เพราะองค์กรที่มีแต่ผู้ชายเป็นคนจัดการ ต้องแต่งตั้งผู้นำหญิงเพิ่ม” เพราะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่านำปัญหาไปซุกไว้ใต้พรม แต่กลับกลายเป็นว่าคำพูดของเธอถูกปัดตกไปโดยกรรมการทางวินัยชายอีกคน ที่แอดมินคิดว่าประโยคสั้นๆ นี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงอีกหนึ่งประเด็นที่ยังคงฝังลึกอยู่ในสังคมเกาหลีที่ไม่ต่างกัน

ในขณะที่ชีวิตจริงของนักไตรกีฬาชเวซุกฮยอนนั้น แม้เพื่อนร่วมทีมจะรู้และเห็นเหตุการณ์ที่เธอถูกทำร้ายด้วยคำพูดและร่างกาย แต่พวกเขาก็ไม่อาจเอื้อมมือเข้ามาช่วยเหลือได้ เพราะเกรงว่าตัวเองจะกลายเป็นเป้าหมายรายต่อไปที่ถูกเพ่งเล็ง

แม้เธอจะพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยการยื่นเรื่องร้องเรียน แต่สุดท้ายแล้วความเป็นจริงอันโหดร้ายก็ต้อนให้เธอจนมุม และเลือกแก้ปัญหาด้วยการจบชีวิตของตัวเอง ซึ่งแลกมากับบทลงโทษของผู้กระทำผิดทั้ง 4 ที่โดนแบนจากวงการกีฬา และถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 9-10 ปี (ตามแต่ความผิดที่กระทำไว้)

จากหนึ่งชีวิตนำมาซึ่งจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ หลังจากประธานาธิบดีมุนแจอินนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกีฬาในเกาหลี รวมถึงมีการจัดตั้งหน่วยงานที่นำโดยรองรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว เพื่อหวังว่าจะไม่ให้เหตุการณ์อันโหดร้ายนี้เกิดขึ้นกับกีฬาคนไหนอีก

“โลกของกีฬาควรหลุดพ้นจากพฤติกรรมล้าหลังที่ดำเนินมาตามอัตภาพ” – มุนแจอิน

ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ ‘วัวหายล้อมคอก’ ไปสักหน่อย แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจะทำให้หลายคนในสังคมได้ฉุกคิดถึงความรุนแรงที่แฝงตัวอยู่ในระบบอาวุโสที่พวกเขาเองต่างมองข้ามไป

“ประเทศของเราอาจก้าวหน้าไปมากในภาคส่วนอื่นๆ แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนในวงการกีฬาของเรานั้นยังคงติดอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980” – แม่ของชเวซุกฮยอนกล่าวทิ้งท้ายในบทความของ The New York Times

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้