Mad for Each Other ซีรีส์ที่ทั้งสุข เศร้า เหงา เยียวยา และแอ็กชั่นสั่นประสาท
ซีรีส์ Mad for Each Other ออกอากาศอีพีละ 30 นาที มีแค่ 13 ตอน คือหนึ่งในหัวใจของ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส ตอนนี้เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นเรื่องราวครบรสที่ทำให้เห็นว่าเกาหลีเก่งเรื่องการสร้างคอนเทนต์บันเทิงคู่ความรู้ ใส่ประเด็นยากๆ ไม่ว่าจะเป็น จิตวิทยา วิชาป้องกันตัว ความหลากหลายทางเพศ กฎหมายความรุนแรง และคละรวมทุกอารมณ์ไว้ในซีรีส์เรื่องเดียวได้อย่างกลมกล่อม
ซึ่งอย่างหนึ่งที่ต้องชื่นชมคือการแสดงของ จองอู หรือพี่ขยะจาก Reply 1994 และโอยอนซอ ที่ทำให้ตัวละครโดดเด่นมากๆ และคนดูเชื่อตามไปได้กับทุกอารมณ์ที่แสดงออกมา
จองอู รับบทเป็น โนฮวีโอ สายสืบหัวร้อนที่โดนพักงานไม่มีกำหนด เขาอาศัยอยู่ในห้อง 507 ที่นอกจากไม่มีงานทำแล้วยังโดนแฟนสาวที่จะแต่งงานด้วยบอกเลิก และความหวังเดียวคือใบรับรองจากจิตแพทย์ว่าเขาควบคุมอารมณ์โกรธได้แล้ว เพื่อจะได้กลับไปทำงานสายสืบอีกครั้ง
โอยอนซอ รับบทเป็น อีมินกยอง หญิงสาวที่อยู่คนเดียวในห้อง 506 มีอาการย้ำคิดย้ำทำ หลงผิด และมีเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลทางใจร้ายแรง
ทั้งคู่รักษาอาการทางใจกับจิตแพทย์คนเดียวกัน ซึ่งในซีรีส์เผยให้เห็นสิ่งที่จิตแพทย์เขียนลงไปในชาร์ตของโนฮวีโอว่า PTED หรือ Post-Traumatic Embitterment Disorder กลุ่มอาการที่เกิดจากเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นบาดแผลทางใจ ซึ่งกรณีของโนฮวีคือการบุกเข้าจับตัวคนร้ายโดยไม่มีหมาย และทำให้ลูกน้องมือดีถูกทำร้ายจนอาการสาหัส คนร้ายหนีไปได้ ส่วนตัวเขาเองก็ถูกใส่ความทับซ้อนเข้าไปอีก ด้วยความเลือดร้อน หัวร้อนจนควบคุมตัวเองไม่อยู่ ทำให้เขาโดนพักงาน และใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่รู้ได้เลยว่าหญิงสาวห้องข้างๆ จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของชีวิต
จิตแพทย์เขียนในชาร์ตของมินกยองว่า PTSD, delusions, OCD and more ซึ่งก็คือบาดแผลจากเหตุการณ์ในอดีตเหมือนกัน แต่เหตุการณ์รุนแรงถึงกับชีวิต เช่น โดนข่มขืน, น้ำท่วม, ไฟไหม้, เห็นคนรักหรือคนในครอบครัวเสียชีวิตต่อหน้า ซึ่งอาการส่งผลถึงปัจจุบัน คือเดินผ่านที่เดิมไม่ได้ เห็นภาพหลอน เห็นเหตุการณ์ในวันนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ซีรีส์ Mad for Each Other ทำให้คนดูได้เห็นความหม่นเศร้าของอีมินกยองที่หวาดกลัวโลกภายนอกจนต้องใส่แว่นกันแดดเอาไว้ ติดล็อกประตูห้องหลายชิ้น เขียนโน้ต ถ่ายรูปเพื่อเตือนตัวเองว่าปิดแก๊ส ปิดเตาหมดแล้วก่อนออกจากบ้านหรือเข้านอน ในตอนต้นเราอาจยังไม่รู้ว่าเธอผ่านเหตุการณ์เลวร้ายอะไรมาบ้าง แต่ซีรีส์ได้เปิดให้เห็นว่าเราไม่ควรตัดสินใครจากภายนอกเพียงเพราะว่าเขาทำตัวแปลกประหลาดกว่าคนอื่น อย่างในกรณีของอีมินกยองที่โทรไปสถานีตำรวจจนเจ้าหน้าที่เอือมระอา หรือคนบนท้องถนนที่มองว่าเธอสติคงไม่ดีนักที่ทัดดอกไม้และใส่แว่นกันแดด
จริงๆ แล้ววิธีเล่าเรื่องของซีรีส์อาจจะสุ่มเสี่ยงกับประเด็นอ่อนไหวเรื่องจิตวิทยา โดยเฉพาะกับคนดูที่อาจมีอาการในด้านต่างๆ เหล่านี้เช่นเดียวกับตัวละคร ซึ่งมันจะเป็นการทำให้สิ่งที่พวกเขาและเธอเผชิญอยู่เป็นเรื่องเบาๆ หรือถูกมองว่าเป็นเรื่องตลกได้ แต่ในความจริงมันหนักหนาเกินกว่าจะเอื้อนเอ่ยออกมาด้วยซ้ำ แต่ตัวซีรีส์ก็นำประเด็นนี้มาขยายผลให้เห็นและเข้าใจได้ว่าสังคมยังไม่มีความรับรู้ในเรื่องนี้เพียงพอ
เพราะในสังคมเกาหลีใต้เองคงไม่ต่างจากประเทศไทยเท่าไหร่ที่เรื่องของอาการทางจิตเหล่านี้สามารถสรุปได้ง่ายๆ สั้นๆ ด้วยการเหมารวมว่า ‘คนบ้า’ เพราะในซีรีส์เองก็เลือกใช้คำนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าในสังคมรอบตัวอีมินกยองและโนฮวีโอยังไม่ได้มีความเข้าใจกลุ่มอาการทางจิตใจมากนักว่ามีความแตกต่างหลากหลาย เป็นกลุ่มอาการที่รักษาให้หายได้ ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ และไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อถึงวันหนึ่งก็อาจเกิดอาการทางจิตใจได้เช่นเดียวกัน
เรื่องราวใน Mad for Each Other จับจังหวะการวางความพีคในแต่ละตอนไว้ให้ชวนดูต่อได้ดี อีพีแรกก็ขึ้นไปสุดเรื่องความขำ ระหว่างปูพื้นตัวละครให้เห็นคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน ส่วนใครที่คิดถึงพี่ขยะก็เป็นอีกครั้งที่ต้องบอกว่า “พี่เขาไม่ทำให้ผิดหวัง” สำหรับโอยอนซอก็สวยสุดเบอร์ในทุกลุคเหมือนกัน
การดูซีรีส์เรื่องนี้ครั้งละ 30 นาทีในแต่ละวันจึงเหมือนกับการได้คลายจากปัญหาหนักหน่วงในชีวิตเราลงบ้าง ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับเรื่องราวที่พี่ขยะพร้อมจะหัวร้อนเกรี้ยวกราดแทนเราไปหมดแล้ว ส่วนชะตาชีวิตของอีมินกยองก็ทำให้มองเห็นปัญหาความสัมพันธ์ที่นำไปสู่คดีความ ซึ่งแม้ผู้หญิงจะเสียเปรียบในการถูกติฉินนินทา แต่เธอก็กล้าหาญพอที่จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของตัวเอง
จนมาถึงอีพี 11-12 ที่ต้องบอกว่าเป็นช่วงทองของการระเบิดพลังทางการแสดงที่ถ่ายทอดออกมาได้ดีมากๆ และจริงมากๆ ของความรู้สึกอัดอั้นในใจตัวละคร ทั้งอีมินกยองและโนฮวีโอที่ต่างมีปัญหาของตัวเองในจิตใจ แล้วยังต้องมาแบกรับน้ำหนักของกันและกันเพิ่มไว้บนบ่า ตรงตัวกับคำว่า Mad for Each Other อย่างที่สุด
เหนืออื่นใด ซีรีส์เรื่องนี้ยังเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ใส่เข้ามาเพื่อให้ความรู้คนดู ทั้งฉากที่โนฮวีโอสอนให้อีมินกยองรู้จักป้องกันตัวด้วยการวิ่งหนีให้เร็วที่สุด หรือใช้เข่าพิฆาตจัดการจุดอ่อนของคนร้าย รวมถึงเอาของใช้ส่วนตัวมาให้อีมินกยองประดับห้อง เพื่อให้ดูเหมือนว่าเธอไม่ได้อยู่คนเดียวลำพัง และการที่ทั้งคู่ได้เรียนรู้ที่จะมีใครสักคนคอยประคับประคองและก้าวข้ามผ่านเรื่องยากๆ ในชีวิตไปด้วยกัน
ถ้าคุณชอบซีรีส์สายเยียวยาจิตใจอย่างเช่น It’s Okay To Not Be Okay ก็ต้องบอกว่าขอป้ายยาเรื่องนี้เลย!
คลิกชมทีเซอร์ซีรีส์ Made for Each Other ได้ที่ https://youtu.be/DjtxX7Ilk5U