Love Next Door EP.2 ถูกต้องหรือไม่ “การเป็นคนว่างงานที่มีความสุข”
Love Next Door EP.2 นอกจากจะเป็นซีรีส์โรแมนติกเรื่องราวของหนุ่มสาวรั้วบ้านติดกัน ยังมีเรื่องราวสะท้อนสังคมเกาหลี ความแตกต่างของวัยพ่อแม่ Gen X กับลูกๆ ใน Gen Mellennials แรงปะทะของความฝัน ความหวัง และความสุขที่แตกต่าง
“อยากเป็นคนว่างงานที่มีความสุข” ที่แบซอกรยูบอกกับแม่ ถ้าพูดตามตรงใน พ.ศ. นี้ นิยามการว่างงานและมีความสุขเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะอย่าลืมว่าเทคโนโลยีเอื้อให้การทำงานที่บ้าน การให้เงินทำงาน การรวยด้วยคริปโต หุ้น หวย ก็ต่างเป็นทางลัดไปสู่การว่างงานและมีความสุขได้ นอกจากนี้สัดส่วนของ Work-Life balance ก็ไม่ได้เป็นแบบเดียวกับยุคสมัยที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก Forbes ซึ่งอ้างอิงงานวิจัยของ Brigham Young University ระบุว่า Gen Z มากกว่า 69% ให้ความสำคัญกับความสุขมากกว่าเจเนอเรชันอื่นๆ พวกเขามองว่าการทำงานแบบผสมผสานการเล่นไปด้วยจะช่วยให้โปรดักทีฟเพิ่มขึ้น 20% เพราะการที่ทำงานไปด้วย เล่นไปด้วย เปิดโอกาสให้สมาชิกในทีมได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ได้มองเห็น ได้แชร์ความรู้สึกร่วมกัน และทำงานร่วมกันไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
แต่ขณะเดียวกัน แม่ของแบซอกรยู รวมถึงเพื่อนๆ แม่จาก Gen X ก็เหมือนมาจากคนละดวงดาว การใช้เวลาเพื่อหาเงิน หารายได้ มุ่งสู่ดวงดาว คือความสำเร็จที่จะกลายเป็นความสุขในท้ายที่สุด พวกเขา “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ตลอดวัยหนุ่มสาว เพื่อรอวันเกษียณและได้มีความสุขจากการเป็นคนว่างงานเสียที เพราะฉะนั้นใครที่เลือกเกษียณและมีความสุขจากการเป็นคนว่างงานตั้งแต่ยังหนุ่มสาว จึงกลายเป็นความไม่ตรงใจที่ไม่อยากยอมรับ และไม่ยอมให้เกิดกับลูกหลานตัวเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าลองมองจากมุมของตัวละครแต่ละเจนก็จะเห็นภาพกว้างได้ว่า ความแตกต่างของยุคสมัยที่เราเกิดและเติบโต มอบความเป็นเราในแบบที่แตกต่างกันไป ไม่ต้องเรียนจบจากมหาวิทยาลัย Top 3 ทำงานในบริษัทระดับโลก แต่ขอให้เรามีความสุขก็พอ หรือจริงๆ แล้ว ความสุขมันคือเรื่องเหล่านี้แหละ ความภาคภูมิใจที่เรียนดี ทำงานเก่ง ทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจได้?
“กระดาษห่อของขวัญให้ชีวิตแม่” การที่แบซอกรยูบอกแบบนั้น มันคือความเจ็บปวดที่สะท้อนทั้งตัวเธอเองและแม่ ที่ฝ่ายหนึ่งคิดว่าการปลูกฝังค่านิยมความสำเร็จคือความปรารถนาดีที่จะเห็นลูกตัวเองทำสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็คิดว่าการทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จอย่างที่พ่อแม่ปรารถนาก็คือความถูกต้องเช่นกัน
Work-Life Balance ของคนแต่ละเจเนอเรชันแตกต่าง และมันก็ยิ่งแตกต่างไปในระดับบุคคล ต้นทุน ความฝันสูงสุด บริบทแวดล้อม แต้มต่อที่มีเราต่างกัน เพราะอย่างนั้นเราจึงได้เห็นดราม่าเรื่องนี้ในโซเชียลมีเดียอยู่เนืองๆ และพอมันมีประเด็นนี้ที่เป็นจุดพีคใน EP.2 จึงทำให้เราได้รับรู้อีกครั้งว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การตัดสินผิด-ถูก และเราไม่อาจจะเอาไม้บรรทัดของตัวเองไปวัดความสุข-ความสำเร็จของคนอื่น
เพราะฉะนั้น ดวงดาวที่แบซอกรยูติดเอาไว้เต็มเพดานห้องนอน มันคือความฝันที่จะยื่นแขนไปให้ถึงความสำเร็จ แต่ความสำเร็จแบบไหนกันแน่ที่เธอฝันถึง เราคงต้องรอฟังคำตอบจาก Love Next Door ในตอนต่อๆ ไป