มหากาพย์ ซากึก โชซอน: เรียนรู้ ประวัติศาสตร์เกาหลี ผ่านการดูซีรีส์
เชื่อหรือไม่… เราสามารถเรียนรู้ ประวัติศาสตร์เกาหลี ผ่านการดูซีรีส์ได้? เพราะถ้าให้พูดถึงซีรีส์เกาหลีที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็คงต้องยกให้ ซีรีส์แนวประวัติศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า ซากึก ซึ่งนับว่าเป็นซีรีส์แนวแรกๆ ที่สร้างภาพจำให้กับประเทศเกาหลี ยกตัวอย่างเช่น แดจังกึม ทำให้อาหารเกาหลีอย่างกิมจิโด่งดังไปทั่วโลก
แต่ ซากึก ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะวงการซีรีส์เกาหลีมีการพัฒนามากขึ้นจนทำให้ถูกผลิตออกมาหลากหลายแนว หลากหลายยุค สังเกตได้จากเสื้อผ้าหน้าผม ลักษณะที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันไปตาม ประวัติศาสตร์เกาหลี ในแต่ละยุค อันได้แก่ ยุคสามอาณาจักร ยุคโครยอ ยุคโชซอน ฯลฯ อีกทั้งยังนำเสนอเนื้อหาหลากหลายรูปแบบ ทั้งอิงประวัติศาสตร์ ฟิวชั่นพีเรียด ฯลฯ
หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า ซากึก ที่เคยดูๆ กันนั้นอยู่ในประวัติศาสตร์จริงยุคไหน? หรืออ้างอิงจาก ประวัติศาสตร์เกาหลี จริงๆ หรือไม่? วันนี้ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จะมาสรุปรวมประวัติศาสตร์เกาหลีผ่านซีรีส์ซากึกแบบจัดเต็ม
ประเภทของซีรีส์ซากึก
1. ซากึกแบบอิงประวัติศาสตร์ ย่อยออกมาได้อีก 2 แบบ ได้แก่
1.1 ซากึกแบบมีเนื้อหาตามประวัติศาสตร์ เป็นซีรีส์ที่อิงความเป็นประวัติศาสตร์โดยไม่เติมแต่งเนื้อหาอื่นๆ เข้าไป โดยเป็นซีรีส์ที่พบมากในช่วงปี 1990
1.2 แฟคชั่นซากึก (Faction) หรือซากึกอิงประวัติศาสตร์ มาจากคำว่า fiction รวมกับคำว่า fact เป็นมีการเติมแต่งเนื้อหาบางส่วนเข้าไปตามการตีความในสมัยใหม่ และไม่ละทิ้งความจริงในประวัติศาสตร์
2. ฟิวชันซากึก
โดยซีรีส์ซากึกส่วนใหญ่มักจะนิยมสร้างในยุคโชซอนมากกว่ายุคตอนต้นอื่นๆ เนื่องจากยุคโชซอนมีการบันทึกเอาไว้ชัดเจน รวมถึงการแต่งกายที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน และมีประเด็นที่สามารถนำมาเติมแต่งตามการตีความแบบสมัยใหม่โดยไม่ขัดกับประวัติศาสตร์มากนัก โดยจะขอสรุปไทม์ไลน์ออกเป็นช่วงๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย และจะเรียงตามช่วงเวลาตามประวัติศาสตร์
ช่วงปลายโครยอ – ช่วงโชซอนตอนต้น
เรื่องราวที่นิยมสร้างในสมัยนี้ หลักๆ ก็คือการสร้างโชซอนนั่นเอง เริ่มในช่วงปลายโครยอ บ้านเมืองเข้าสู่ช่วงระส่ำระสาย ประชาชนอดอยาก ได้มีกลุ่มคนที่วาดฝันในการสร้างประเทศแห่งใหม่ที่ประชาชนเป็นใหญ่ขึ้น นำโดย แม่ทัพอีซองกเย และนักปราชญ์จองโดจอน หรือที่รู้จักในนาม ซัมบง ได้เตรียมการล้มล้างราชวงศ์โชซอนในยุคสมัยของ วังอู (1374-1388) กษัตริย์แห่งโครยอ ลำดับที่ 34 แต่ก็มีแม่ทัพอีกหนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยคือ แม่ทัพชเวยอง ผู้จงรักภักดีกับแผ่นดินโครยออย่างยิ่ง
อีซองกเยจึงได้สังหารแม่ทัพชเวยองในรัชสมัยวังอู ต่อจากนั้นก็มีการแต่งตั้งกษัตริย์หุ่นเชิดต่ออีกสองรัชกาล ก่อนแม่ทัพอีซองกเยจะปราบดาภิเษกตนเป็นกษัตริย์องค์แรกในปี 1392 ซึ่งตรงกับสมัย สมเด็จพระราเมศวร (1388-1395) แห่งอาณาจักรสุโขทัย มีนามว่า พระเจ้าแทโจ (1392-1398) ในแผ่นดินใหม่ที่มีชื่อว่าอาณาจักรโชซอน และได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองแคกยอง หรือเมืองแคซอง มายังเมืองฮันซอง หรือกรุุงโซลในปัจจุบัน โดยซีรีส์ที่มีเนื้อหาในช่วงนี้ได้แก่เรื่อง The Great Seer (2012), Six Flying Dragons (2016) Jung Do Jeon (2014)
ในช่วงต้นโชซอน เรื่องราวจะลากยาวมาจนถึงสมัยของพระเจ้าแทจง หรือ อีบังวอน กษัตริย์ลำดับที่ 3 ของอาณาจักรโชซอน เนื่องจากอีบังวอนเป็นกษัตริย์ที่เข่นฆ่าพี่น้องและขุนนางที่สนับสนุนลูกชายทั้งสองจากมเหสีชินด็อก ภรรยาคนที่สองของพระเจ้าแทโจอย่าง จองโดจอน สร้างความไม่พอใจให้กับอีบังวอนที่เกิดจากพระนางชินอึย พระมเหสีองค์แรกที่สิ้นพระชนม์ก่อนการสถาปณาอาณาจักรอย่างมาก อีกทั้งยังมีการก่อกบฏของอีบังกันผู้เป็นพี่ชาย แต่ก็ถูกอีบังวอนปราบจนสิ้น หลังจากนั้น พระเจ้าจองจง (1398-1400) กษัตริย์ลำดับที่ 2 หรือ อีบังกวา ผู้เป็นพี่ชาย ได้สละราชสมบัติ และอีบังวอนก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าแทจง (1400-1418) กษัตริย์ลำดับที่ 3 ของโชซอน
ถึงแม้ว่าอีบังวอนจะมีภาพจำในการเข่นฆ่าผู้คนเพื่อที่จะได้บัลลังก์ แต่ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งอาณาจักรโชซอน และหลังจากขึ้นครองราชย์ก็ยังได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติหลากหลาย อาทิ การทำสำมะโนประชากร มีการเริ่มใช้ โฮแพ (호패) หรือบัตรประชาชนในยุคนั้น โดยเรื่องราวของอีบังวอนจะพบได้ทั้งในเรื่องข้างต้นที่กล่าวไป และยังมีเป็นพื้นหลังในเรื่อง My Country: The New Age (2019) อีกด้วย
ในปี 1418 อีบังวอนได้สละราชสมบัติและมอบบัลลังก์ให้กับลูกชายซึ่งก็คือ พระเจ้าเซจงมหาราช (1418-1450) หรือผู้ประดิษฐ์คิดค้นตัวอักษรเกาหลี (ฮันกึล) ที่ใช้กันในปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนสามารถอ่านออกเขียนได้ โดยสามารถชมเรื่องราวการประดิษฐ์อักษรได้ในเรื่อง Deep Rooted Tree (2011)
นอกจากนี้ในสมัยของพระเจ้าเซจงยังมีการก่อตั้ง จิบฮยอนจอน (집현전) หรือสถาบันสำหรับวิจัยค้นคว้าในสมัยโชซอน ซึ่งเป็นสถานที่รวมเหล่านักปราชญ์หัวกะทิ โดยผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ก็คือหนังสือ ฮุนมินจองอึม (훈민정음) หรือแบบเรียนแรกของตัวอักษรฮันกึล
แต่ในสมัยของพระเจ้าเซจงยังมีอีกบุคคลที่เรื่องราวของเขาถูกสร้างมาเป็นซีรีส์ Jang Young Sil (2016) ตามชื่อของเขา จางยองชิล เป็นนักประดิษฐ์ เขาคือบุคคลที่ประดิษฐ์ มาตรวัดนํ้าฝน (측우기) และสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ เช่น มาตรวัดนํ้า เครื่องพิมพ์เหล็ก ฯลฯ จนความสามารถเข้าตาพระเจ้าเซจง และได้เข้าทำงานในจิบฮยอนจอน แต่จางยองชิลไม่ได้รับการสนับสนุนจากเหล่าขุนนางชั้นสูงคนอื่นๆ เพียงแค่เขามาจากชนชั้นทาส ท้ายที่สุดก็ถูกปลดจากจิบฮยอนจอนและถูกประหารในที่สุด ในสมัย พระเจ้าเซโจ (1445-1468) กษัตริย์ลำดับที่ 7
โชซอนตอนต้น
มาต่อกันที่กษัตริย์ลำดับที่ 10 ของโชซอนอย่าง ยอนซันกุน (1495–1506) ซึ่งเป็นที่คุ้นหูในฐานะกษัตริย์ที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์ เดิมยอนซันกุนถูกเลี้ยงมาอย่างดีเพราะเป็นบุตรคนโตของกษัตริย์องค์ก่อน แต่แล้วยอนซันกุนได้ล่วงรู้ความจริงเกี่ยวกับพระมารดาที่ถูกประหารไป พระเจ้ายอนซันจึงสั่งสังหารคนที่เกี่ยวข้องต่างๆ และเกิดเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ถึง 2 ครั้งใหญ่ๆ ในปี 1498 และปี 1504
เวลาผ่านไป ยอนซันกุนกลายเป็นกษัตริย์ที่ไม่สนกิจการงานบ้านเมือง เอาแต่เสเพล บ้ากาม เสพสมกับผู้หญิงจากหอนางโลมอยู่เรื่อย ใครขัดใจก็อาจจะถูกประหารได้ เรื่องราวของยอนซันกุนปรากฏในซีรีส์ The Rebel (2017), Queen For Seven Days (2017) ในท้ายที่สุดแล้ว ยอนซันกุนก็ถูกปลดเป็นเพียงเจ้าชายธรรมดา และถูกเนรเทศไปยังเกาะคังฮวา ก่อนจะสิ้นพระชนม์ที่นั่น
ต่อมาในสมัยกษัตริย์ลำดับที่ 11 หรือ พระเจ้าจุงจง (1506-1544) อาจจะไม่ได้มีเรื่องราวการเมืองระหว่างกษัตริย์และขุนนาง แต่เป็นเรื่องราวของหญิงเก่งทั้งสองคนในสังคมแบบขงจื๊อที่มีชายเป็นใหญ่ ได้แก่ แดจังกึม จากเรื่อง Dae Jang Geum (2003) ถึงแม้เรื่องราวของเธออาจจะไม่ได้ระบุตัวตนชัดเจน แต่ก็มีการบันทึกถึงหมอหญิงในจดหมายเหตุราชวงศ์โชซอน และเป็นหมอประจำกายของพระเจ้าจุงจง
หญิงเก่งอีกหนึ่งคน ได้แก่ ชินซาอิมดัง จากเรื่อง Saimdang: Memoir of Colors (2017) เรื่องราวของจิตรกร นักเขียน และกวีหญิงแห่งอาณาจักรโชซอน อีกทั้งยังเป็นต้นแบบมารดาที่ดีให้กับบุตร ถึงแม้ชีวิตครอบครัวของเธอจะไม่ได้ราบรื่นก็ตาม ในปัจจุบันเธอหญิงเพียงคนเดียวที่มีรูปอยู่บนธนบัตร 50,000 วอนของประเทศเกาหลีใต้
นอกจากหญิงเก่งในยุคโชซอนแล้ว ในสมัยของ พระเจ้าซอนโจ (1567-1608) กษัตริย์ลำดับที่ 14 ยังมีการบันทึกถึง หมอฮอจุน ที่ถูกนํามาสร้างเป็นซีรีส์มากมาย เช่น Guam Hur Jun (2013) หมอฮอจุนเป็นหมอหลวงประจำของพระเจ้าซอนโจ ถึงแม้จะเกิดในตระกูลขุนนาง แต่มีแม่เป็นเพียงเมียรองที่มาจากชนชั้นล่าง จึงไม่ได้รับฐานะทางสังคมและการสนับสนุนอย่างที่ควร ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ของหมอฮอจุนหนังสือ ทงอีโบกัม (동의보감) หรือหนังสือศาสตร์การแพทย์แผนตะวันออก ที่ปัจจุบันถูกแปลในหลากหลายภาษา และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2009
นอกจากหมอฮอจุนแล้วยังมีหมออีกหนึ่งคนในยุคพระเจ้าซอนโจ นั่นก็คือ หมอฮออิม จากซีรีส์เรื่อง Live Up to Your Name (2017) เป็นแพทย์แผนตะวันออกอีกหนึ่งคนที่มาจากชนชั้นล่าง และมีชื่อเสียงด้านการรักษาด้วยการฝังเข็ม
ในปลายรัชสมัยของพระเจ้าซอนโจ นอกจากการเมืองในวังมีการแบ่งฝักฝ่ายแล้ว ยังเจอกับศึกภายนอกอย่างสงครามกับญี่ปุ่น หรือ สงครามอิมจิน (1592-1598) พระเจ้าซอนโจจึงได้ตั้งรัชทายาทขึ้นเป็นการเร่งด่วนก่อนจะแปรพระราชฐาน โดยรัชทายาทก็คือ ควังแฮกุน (1608-1623) ที่ต่อมาได้การยอมรับจากประชาชนและขุนนางต่างๆ จากเหตุการณ์สงครามครั้งนี้และการฟื้นฟูประเทศชาติหลังสงคราม เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 15 ของอาณาจักรโชซอน
แต่ควังแฮกุนก็ถูกคัดค้านจากฝ่ายอื่นๆ เนื่องจากพระองค์เกิดจากสนม ต่างจากน้องชายที่เกิดจากมเหสี และจากการที่ขุนนางฝ่ายที่สนับสนุนพระองค์ได้เสนอให้ปลดพระพันปี และเนรเทศองค์ชายยองชางไปเจจูและสังหาร โดยอ้างเหตุผลทางความมั่นคง แต่ในท้ายที่สุดกลุ่มขุนนางขั้วอำนาจอื่นได้ปฏิวัติพระองค์ โดยให้เหตุผลว่าพระองค์ทรงเข่นฆ่าพี่น้อง และตั้งองค์ชายนึงยางขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป โดยเนรเทศควังแฮกุนไปยังเจจู และใช้ชีวิตบั้นปลายที่นั่นเกือบ 20 ปีก่อนจะสิ้นพระชนม์ โดยพระองค์ไม่ได้รับนามกษัตริย์เช่นเดียวกับยอนซันกุน เรื่องราวรอยต่อสองรัชสมัยนี้สามารถชมได้ในซีรีส์ Jung-Yi, Goddess of Fire (2013), Hwa Jung, the Princess of Light (2015)
โชซอนตอนปลาย
เรื่องราวของโชซอนช่วงปลายจะนิยมสร้างเรื่องราวตั้งแต่สมัย พระเจ้าซุกจง (1674-1720) กษัตริย์ลำดับ 19 ไปจนถึง พระเจ้าจองโจ (1776-1800) กษัตริย์ลำดับที่ 22 เริ่มที่การเมืองในสมัยของพระเจ้าซุกจงค่อนข้างเข้มข้น มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน โดยจะมีมเหสีหรือสนมเอกที่มีชื่อเสียงโลดแล่นในการสร้างซีรีส์อย่างมาก อันได้แก่ มเหสีอินฮยอน, สนมจางฮีบิน, สนมชเวซุกบิน และพระมเหสีอินวอน
เรื่องราวเริ่มด้วย พระมเหสีอินฮยอน ไม่มีบุตรชายให้สืบทอดบัลลังก์ พระเจ้าซุกจงและขุนนางบางกลุ่มจึงเสนอให้แต่งตั้งบุตรชายของ สนมจางฮีบิน ขึ้นเป็นรัชทายาท แต่ขุนนางอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้าน ด้วยเล่ห์กลบางอย่างทำให้มีการปลดมเหสีอินฮยอนแล้วแต่งตั้งจางฮีบินเป็นมเหสี และแต่งตั้ง องค์ชายอียุน บุตรชายของจางฮีบินเป็นรัชทายาท แต่แล้วเวลาผ่านไป พระเจ้าซุกจงได้คืนยศให้พระนางอินฮยอน และลดยศจางฮีบินให้เป็นสนมเอกเช่นเดิม อีกทั้งยังประกาศห้ามแต่งตั้งสนมเป็นมเหสีอีก
ต่อมาพระนางอินฮยอนได้สิ้นพระชนม์ และจางฮีบินโดนประหารด้วยยาพิษ เพราะใช้คุณไสยกับพระนางอินฮยอนจนสิ้นพระชนม์ แต่หลังจากจางฮีบินถูกประหาร อียุน บุตรชายของเธอก็ยังเป็นรัชทายาทต่อไป และได้ครองราชย์เป็น พระเจ้าคยองจง (1720-1724) กษัตริย์ลำดับที่ 20 ของโชซอน โดยเรื่องราวของพระเจ้าซุกจง มเหสีอินฮยอน จางฮีบิน และชเวซุกบิน ปรากฏในซีรีส์มากมาย โดยบางเรื่องจางฮีบินอาจจะดีหรือร้ายตามการตีความ หรือชเวซุกบินอาจจะดีหรือร้ายได้เช่นกัน ซีรีส์ดังกล่าว ได้แก่ Dong Yi (2010), Jang Ok Jung (2013)
พระเจ้าคยองจงครองราชย์ได้ไม่นานก็สิ้นพระชนม์ เหล่าขุนนางสนับสนุนให้ องค์ชายอีกึม บุตรของ สนมชเวซุกบิน ขึ้นเป็นกษัตริย์นามว่า พระเจ้ายองโจ (1724-1776) เป็นลำดับที่ 21 ในยุคของพระเจ้ายองโจนี้ มีพระราชกรณียกิจมากมาย เป็นช่วงแห่งการพัฒนาบ้านเมือง มีการปฏิรูปต่างๆ อีกทั้งการลดการใช้ผมปลอมคาเซที่หนักและเป็นปัญหาสุขภาพต่อสตรี โดยพระเจ้ายองโจครองราชย์ยาวนานที่สุดในราชวงศ์โชซอน หรือราว 52 ปี เรื่องราวของพระองค์ตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์สามารถชมได้ใน Haechi (2019)
แต่เรื่องราวของพระเจ้ายองโจยังไม่จบลง มีการแต่งตั้งรัชทายาทคือ องค์ชายฮโยจาง แต่พระองค์อายุสั้น และสิ้นพระชนม์ไปก่อนในปี 1728 หลังจากนั้นก็ได้มีการแต่งตั้ง องค์ชายอีซอน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ องค์ชายรัชทายาทซาโด (1749-1762) เป็นองค์ชายที่ถูกเอาใจใส่อย่างมาก เพราะเป็นลูกชายเพียงคนเดียวหลังจากนั้น อีกทั้งยังถูกกดดันและเข้มงวดจากบิดาด้วยช่วงวัยที่ต่างกัน ทำให้องค์ชายผิดใจกับพระเจ้ายองโจบ่อยๆ และการสูญเสียแม่และพี่สาว ทำให้องค์ชายคลุ้มคลั่งและมีอาการป่วยทางจิต ท้ายสุดพระเจ้ายองโจจึงได้ประหารพระองค์โดยขังไว้ในกล่องไม้ 7 วันจึงสิ้นพระชนม์ไป เรื่องราวของพระเจ้ายองโจกับซาโดเซจาจะพบได้ในซีรีส์เรื่อง Secret Door (2014) และภาพยนตร์ดังเรื่อง The Throne (2015)
ต่อมาพระเจ้ายองโจได้แต่งตั้ง องค์ชายอีซาน ลูกชายของซาโดเซจา ขึ้นเป็นรัชทายาท ถึงแม้ว่าจะถูกคัดค้านจากเหล่าขุนนาง แต่พระเจ้ายองโจได้ยกชื่อขององค์ชายอีซานให้เป็นบุตรบุญธรรมของรัชทายาทฮโยจาง ก่อนจะได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าจองโจ (1776-1800) กษัตริย์ลำดับที่ 22 ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งยุคทองของอาณาจักโชซอน ทรงสนับสนุนวิทยาการใหม่ๆ และอีกหนึ่งผลงานก็คือความคิดที่จะย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองฮวาซอง หรือเมืองซูวอนในปัจจุบัน โดยเรื่องราวของพระเจ้าจองโจสามารถชมได้ในเรื่อง Lee San (2007), The Red Sleeve (2022) ที่เล่าเรื่องราวความรักของพระเจ้าจองโจกับสนมเอกอึยบิน
รอยต่อระหว่างปลายโชซอนไปถึงจักรวรรดิเกาหลี
ตำแหน่งกษัตริย์ในช่วงปลายมีการระสํ่าระสาย ขุนนางตระกูลคิมแห่งอันดงมีอำนาจมาก มีการเสาะแสวงหากษัตริย์สายห่างๆ อันได้แก่ พระเจ้าชอลจง (1849-1864) กษัตริย์ลำดับที่ 25 ที่เดิมครอบครัวถูกเนรเทศไปยังเกาะคังฮวา ไม่เคยได้รับการศึกษาตามแบบองค์ชายอื่นๆ ไม่มีราศี เป็นเพียงชาวประมงคนหนึ่ง ท้ายที่สุดก็ไม่มีทายาท จึงไปได้องค์ชายห่างๆ มาอีกองค์ก็คือ พระเจ้าโคจง (1864-1897) กษัตริย์ลำดับที่ 26 วัย 12 ปีขึ้นครองราชย์ โดยมีบิดาอย่าง อีฮาอึง เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เรื่องราวรอยต่อพระเจ้าชอลจงกับพระเจ้าโคจงปรากฏในซีรีส์เรื่อง Dr.Jin (2012)
อีฮาอึงได้จัดหามเหสีให้กับพระเจ้าโคจง เป็นหญิงจากตระกูลมินนามว่า มินจายอง เป็นมเหสีมยองซอง ด้วยความที่ครอบครัวของพระนางเสียชีวิตตั้งแต่ 8 ปี ทำให้อีฮาอึงวางใจว่านางจะไม่มีครอบครัวเข้ามาสร้างอำนาจในวัง แต่นี่เป็นสิ่งที่อีฮาอึงคิดผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะพระนางมีความสนใจในด้านการเมืองอย่างมาก และรวบรวมอำนาจในวังในฝ่ายตรงข้ามอีฮาอึง
ต่อมาเข้าสู่ยุคอาณานิคม ทั้งประเทศตะวันตกและญี่ปุ่นได้เข้ามารุกราน และจากเหตุการณ์ สงครามญี่ปุ่นกับราชวงศ์ชิง ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะ ทำให้โชซอนได้หลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของจีน จึงได้มีการก่อตั้งจักรวรรดิเกาหลี มีพระเจ้าโคจงเป็นจักรวรรดิองค์แรก ในปี 1897 แต่เกาหลีก็ยังเป็นประเทศที่ไม่ได้เข้มแข็งขนาดนั้น มีการรุกรานของต่างชาติ อย่างญี่ปุ่นมองว่าเกาหลีจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีเวลามีชาติตะวันตกรุกรานญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงเข้าทางอีฮาอึง ที่หัวโบราณ ไม่ชอบชาติตะวันตก ส่วน จักรพรรดินีมยองซอง จากตระกูลมิน อยู่ฝั่งตรงข้ามกับพ่อสามี ไม่เข้าทางญี่ปุ่น แต่หันไปพึ่งรัสเซียเพื่อคานอำนาจ
ท้ายที่สุดจักรพรรดินีมยองซองถูกสังหารในวังคยองบก เรื่องราวปรากฏในซีรีส์ The Last Empress (2001) ท้ายที่สุดเกาหลีก็ตกเป็นมลฑลหนึ่งของญี่ปุ่นในปี 1910 สิ้นสุดการปกครองของราชวงศ์อีแห่งอาณาจักรโชซอน เป็นเวลากว่า 518 ปี ซึ่งตรงกับเวลาประวัติศาสตร์ไทยช่วงรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี (1868-1910) เรื่องราวในสมัยพระเจ้าโคจงเป็นพื้นหลังของซีรีส์หลายเรื่อง อาทิ Mr. Sunshine (2019) เรื่องราวเล่าในช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าโคจงไปจนถึงการปกครองประเทศโดยญี่ปุ่น และ Nokdu Flower (2019) ที่เรื่องราวเน้นไปในเรื่องกบฏชาวนาในสมัยพระเจ้าโคจง
ฟิวชั่นซากึก
ซากึก รูปแบบใหม่ที่มีสร้างมาแบบไม่เน้นเรื่องราวใน ประวัติศาสตร์เกาหลี อาจจะโฟกัสที่ความรัก หรือสร้างจากนิยายโดยมีฉากหลังเป็นช่วงต่างๆ เป็นที่นิยมสร้างในปัจจุบัน อาจจะเพราะสามารถเติมแต่งจินตนาการได้อย่างเต็มที่ และสร้างรูปแบบใหม่ๆ ให้กับซากึกในปัจจุบัน โดยจะขอยกตัวอย่างเรื่องเด่นๆ เช่น
Hwarang (2016) เรื่องราวของกลุ่มนักเรียนในฮวารัง ที่เป็นสถานที่อบรมความรู้เพื่อเป็นนักรบ มีฉากหลังในสมัยชิลลา ช่วงสมัยพระเจ้าจินฮึง
Moon Lovers: Scarlet Heart Ryeo (2016) เรื่องราวสร้างจากซีรีส์ดังของจีน Scarlet Heart โดยใช้ฉากหลังเป็นช่วงต้นราชวงศ์โครยอ
Sungkyunkwan Scandal (2010) เรื่องราวของนักเรียนในซองกยุนกวาน สถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดในโชซอน ในยุคของพระเจ้าจองโจ
Gu Family Book (2013) เรื่องราวความรักของจิ้งจอกเก้าหางกับมนุษย์ ที่มีพื้นหลังในยุคโชซอน โดยมีตัวละครแม่ทัพอีซุนชิน แม่ทัพเรือที่มีชื่อเสียงในสงครามกับญี่ปุ่นในสมัยพระเจ้าซอนโจ
Mirror of the Witch (2016) เรื่องราวของเด็กต้องคำสาปกับหมอฮอจุน ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาตร์สมัยของพระเจ้าซอนโจ
Mr.Queen (2020) เรื่องที่ถูกดัดแปลงมาจาก Go Princess Go โดยสร้างในยุคของพระเจ้าชอลจง
นอกจากนี้ยังมีซีรีส์อื่นๆ ที่ใช้พื้นหลังเป็นยุคโชซอนอื่นๆ ที่สมมติตัวละครขึ้นมา เช่น Rooftop Prince (2012), Moon Embracing the Sun (2012), Love in the Moonlight (2016), 100 Days My Prince (2018), The Crowned Clown (2019), Kingdom (2020) ฯลฯ อีกทั้งยังมีซากึกที่สร้างดินแดนสมมติขึ้นมา อาทิ Arthdal Chronicles (2019) ในดินแดนอาธดัล ที่มีพื้นหลังเรื่องราวในยุคประวัติศาตร์ที่เริ่มมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และ Alchemy of Souls (2022) เรื่องราวของจอมเวทย์ในประเทศแดโฮที่ไม่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ไหนๆ
การดูซีรีส์ซากึกแล้ว นอกจากจะได้ความสนุกก็ยังได้รับความรู้ต่างๆ ที่ผู้สร้างได้สอดแทรกลงไปในซีรีส์นั้นๆ อีกทั้งยังได้เห็นวัฒนธรรมและการต่อสู้ต่างๆ ของประชาชนเกาหลี ซึ่งเรื่องราวในประวัติศาสตร์ยังเป็นรากฐานทางประวัติศาตร์ของชาวเกาหลีที่เป็นทั้งบาดแผล บทเรียนที่ไม่อยากผิดซํ้าสอง และกลายเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เกาหลีกลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งของโลกในปัจจุบัน
อ่านต่อ: Mr. Queen วังหลวงลวงสังหาร ใครเป็นใคร มาเปิดประวัติศาสตร์จริงเทียบกัน!
เรื่อง: ธนัชชา เหมืองหม้อ
ภาพปก: ธัญฐรัตน์ โกมลวัฒน์
อ้างอิง: newworldencyclopedia.org, namu.wiki, report.dbpia.co.kr, namu.wiki, koreatimes.co.kr, en.wikipedia.org, ncbi.nlm.nih.gov, namu.wiki, worldhistory.org, en.wikipedia.org, koreatimes.co.kr, newworldencyclopedia.org