kdrama-lgbt-boylove

WH (Y) เกาหลี: ทำไม LGBTQ+ ครอบครองเศษเสี้ยวของพื้นที่ซีรีส์และวาไรตี้ หรือเกาหลีไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกวัฒนธรรมได้อย่างแข็งแรง จากการผลักดันกระแสฮันรยูให้ออกสู่ตลาดโลกจนประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องของดนตรี ภาพยนตร์ ซีรีส์ วาไรตี้ อาหารการกิน ไปจนถึงแฟชั่นและความงาม

แม้ว่า เกาหลี จะมีภาพลักษณ์ด้านความก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังคงเป็นรากฝังลึกอยู่ในสังคม คือปัญหาการต่อต้านและไม่ยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ นอกจากนี้ ในขณะที่กระแสของซีรีส์วายกำลังมาแรงในเอเชีย ภายใต้สังคมที่ยังคงมีการต่อต้านความหลากหลายทางเพศ และในอนาคต ซีรีส์วายเกาหลี จะสามารถช่วงชิงพื้นที่ไปได้หรือไม่ 

ดูซีรีส์ให้ซีเรียส เองก็สงสัย จึงเป็นที่มาของบทความนี้ เราจะพาไปสำรวจและเจาะลึกเรื่องราวของ LGBTQ+ ที่ปรากฏอยู่ตั้งแต่หน้าประวัติศาสตร์ ไปจนถึงวงการบันเทิงของ เกาหลี และสภาพสังคมในปัจจุบัน 

เพื่อตามหาความจริงกันว่า ในขณะที่วัฒนธรรม BoyLove กลายเป็นกลุ่มย่อยที่ได้รับความนิยมในเอเชีย แต่สำหรับเกาหลีใต้ ดูเหมือนว่าความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นที่ยอมรับนัก และมันสะท้อนผ่านซีรีส์ได้อย่างชัดเจน

kdrama-lgbt-boylove
Prison Playbook (2017)
kdrama-lgbt-boylove
Nevertheless (2021)

ที่ผ่านมาซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องพยายามสอดแทรกประเด็นความหลากหลายทางเพศผ่านชีวิตของตัวละคร LGBTQ+ เช่น 

Prison Playbook (2017) ซีรีส์สีเทาเคล้าน้ำตาสุดฮาที่มีเรื่องราวความรักแบบชายรักชายระหว่าง เจ้าเอ๋อฮันยาง (รับบทโดย อีคยูฮยอง) กับเพื่อนสนิทสมัยมัธยม ที่แจ้งจับเขาในข้อหาครอบครองและเสพยาเสพติด 

Nevertheless (2021) ที่นอกจากจะมีเรื่องราวสุดแซ่บของ ยูนาบี-พัคแจออน ก็ยังมีเรื่องราวความรักสุดน่ารักของคู่รักเลสเบี้ยน ยุนซล  (รับบทโดย อีโฮจอง) และคังจีวาน (รับบทโดย ยุนซอเอ) 

Vincenzo (2021) ฮวังมินซอง (รับบทโดย คิมซองชอล) ประธานธนาคารผู้ถูกความรักที่มีต่อทนายวินเชนโซบังตา ทำให้เขาเชื่อใจทนายมาเฟียคนนี้ และล่มแผนธุรกิจกับบาเบลกรุ๊ป 

Hometown Cha-Cha-Cha (2021) ยูโซฮี (รับบทโดย ฮงจีฮี) คุณครูสาวที่ย้ายเข้ามาในหมู่บ้านกงจิน และตกหลุมรักผู้นำชุมชนจองฮวามากกว่าการเป็นพี่สาวคนสนิท 

Extraordinary Attorney Woo (2022) ในตอนท้ายของอีพีชุดแต่งงานที่หลุดลง ลูกสาวของท่านประธานได้ยกฟ้องคดีและเดินออกจากศาลไป พร้อมกับคนรักซึ่งเป็นรุ่นพี่หญิงคนสนิท 

นอกจากนี้ยังมีซีรีส์อีกหนึ่งประเภทที่กำลังมาแรงและประกาศสร้างกันแบบรัวๆ นั่นก็คือซีรีส์วาย ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีส์ LGBTQ+ จะเล่าเรื่องราวความรักระหว่างชายหนุ่ม และเมื่อไม่นานมานี้ยังมีการประกาศฉายรายการเรียลลิตี้  LGBTQ+ อย่าง Marry Queer และ His Man อีกด้วย

เกาหลีไม่มีเกย์ แต่ทำไมมีคู่รักเพศเดียวกันในประวัติศาสตร์ 

“เกาหลีไม่มีเกย์” เป็นประโยคที่กีดกัน LGBTQ+ ให้ออกจากสังคม จนทำเหมือนพวกเขาไม่มีตัวตนและไม่เคยมีอยู่ใน เกาหลี ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมาอย่างยาวนานเหมือนในประวัติศาสตร์กรีกโบราณหรือไทย โดยตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ของเกาหลีพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชายและชายยังคงเป็นเรื่องธรรมดาที่พบได้ทั่วไปในสังคม เช่น 

ในกลุ่มนักรบฮวารัง หรือนักรบรูปงามแห่งอาณาจักรซิลลา ดังจะเห็นได้จาก บทกวีใน ซัมกุก ยูซา (삼국유사) หรือความทรงจำของสามอาณาจักร ที่มีการพรรณาถึงฮวารังในเชิงรักโรแมนติก

kdrama-lgbt-boylove
Hwarang: The Poet Warrior Youth (2016)

ในสมัยโครยอ ความสัมพันธ์ระหว่างชายและชายถูกแทนด้วยมังกรและพระอาทิตย์ ซึ่งต่างเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้ามกจง (ค.ศ. 980-1009) และพระเจ้าคงมิน (ค.ศ. 1325–1374) ที่มีบันทึกอย่างเด่นชัดว่าทั้งคู่แต่งตั้งวอนชุง (원충) ชายอันเป็นที่รักของตนจำนวนหลายคนในฐานะสนมชาย ชาเจวี (자제위) โดยอ้างว่าเป็นการฝึกฝนก่อนจะเข้ารับราชการในวัง 

ในสมัยโชซอน ช่วงก่อนการผนวกดินแดนเกาหลี-ญี่ปุ่น เหล่านัมซาดง (남사당) หรือคณะละครเร่ของกลุ่มชายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะทำการแสดงดนตรี เต้นรำสวมหน้ากาก ละครสัตว์ หรือหุ่นกระบอก แต่ในบางครั้งก็มีการแสดงในที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน และยังใช้คำว่า มีดง (미동) เพื่อเรียกเด็กหนุ่มหรือผู้ชายที่งดงามอีกด้วย 

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างชายและชายอาจจะเป็นเรื่องทั่วไปในอดีต แต่ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและหญิงกลับเป็นเรื่องผิด เมื่อพระมเหสีซัน มเหสีคนที่สองของมกุฎราชกุมารมุนจองแห่งโชซอน ถูกไล่ออกจากวังและลดตำแหน่งเป็นสามัญชน เพราะความสัมพันธ์ที่เธอมีต่อสาวใช้ของตัวเอง

การเข้ามาของลัทธิขงจื๊อและศาสนาคริสต์มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตและรูปแบบความสัมพันธ์ในเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเพศเดียวกันที่มีมาตั้งแต่อดีตเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

ลัทธิขงจื๊อ – ศาสนาคริสต์ในเกาหลีใต้ ปัจจัยหลักของค่านิยมต่อต้าน LGBTQ+ 

การเข้ามาของลัทธิขงจื๊อและศาสนาคริสต์มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตและรูปแบบความสัมพันธ์ในเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเพศเดียวกันที่มีมาตั้งแต่อดีตเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

ลัทธิขงจื๊อเข้ามาตั้งแต่ช่วงสามก๊กของเกาหลี และขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงสมัยโครยอ จนกลายเป็นคำสอนหลักของสังคมเกาหลีจนถึงปัจจุบัน โดยเชื่อว่าหากสมาชิกของสังคมทำตามหน้าที่ สังคมจะเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้เกิดคำสอนเรื่องความสัมพันธ์ทั้ง 5 ประการ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์-ผู้ใต้ปกครอง, พ่อแม่-ลูก, สามี-ภรรยา, ผู้ใหญ่-เด็ก, เพื่อน-เพื่อน เพื่อให้ผู้คนอยู่ในความสัมพันธ์แนวตั้ง ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งเพื่อสังคมในอุดมคติ จนเกิดสังคมแบบอนุรักษนิยมที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะจะทำลายความเป็นระเบียบของสังคม 

โดยความสัมพันธ์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมเกาหลีมากที่สุด ได้แก่ ความสัมพันธ์ของสามี-ภรรยา ซึ่งหญิงผู้เป็นภรรยาจะต้องทำหน้าที่เชื่อฟังสามี ทำให้สังคมเกาหลีกลายเป็นสังคมปิตาธิปไตย หรือสังคมชายเป็นใหญ่ และ ความสัมพันธ์ของพ่อแม่-ลูก กำหนดหน้าที่ของลูกว่าต้องกตัญญูและดูแลพ่อแม่ยามแก่ รับผิดชอบในการบูชาบรรพบุรุษ แต่งงานและให้กำเนิดทายาทเพื่อสืบทอดตระกูล โดยเฉพาะลูกชาย 

เมื่อมาประกอบกับอีกหนึ่งศาสนาที่มีอิทธิพลต่อสังคมเกาหลีคือศาสนาคริสต์ ซึ่งเข้ามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เรื่อง การมีเพศสัมพันธ์ต้องทำเพื่อให้กำเนิดบุตรเท่านั้น การมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นจึงถือว่าเป็นบาป ผู้นับถือคริสต์ในเชิงอนุรักษนิยม จึงมักยกคำสอนจากไบเบิลมาต่อต้าน LGBTQ+ ในสังคมเกาหลีอยู่บ่อยครั้ง

โดยสรุปแล้ว ทั้งลัทธิขงจื๊อและศาสนาคริสต์อนุญาตให้ผู้คนมีความสัมพันธ์ได้เพียงแบบเดียวเท่านั้น คือการมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศตรงข้ามที่สามารถแต่งงานและมีทายาทได้ จนกลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมและจริยธรรมที่สำคัญในเกาหลี โดยครั้งหนึ่งเคยมีกลุ่มแม่บ้านรวมตัวกันประณามซีรีส์ Life is beautiful (2010) ที่ออกอากาศช่อง SBS และมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจกับ Daughters of Club Bilitis (2011) ที่ออกอากาศช่อง KBS2

Life is Beautiful (2010) เป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ด้วยกันบนเกาะเชจู ซึ่งดูเป็นซีรีส์ชีวิตประจำวันที่เหมาะแก่การดูร่วมกับครอบครัวตอน 4 ทุ่มเหมือนซีรีส์เรื่องอื่น แต่ซีรีส์เรื่องนี้กลับถูกกลุ่มแม่บ้านร่วมกันซื้อโฆษณาบนหนังสือพิมพ์ The Chosun Ilbo เพราะ ยังแทซอบ (รับบทโดย ซองชางอึย) ลูกชายคนโตของบ้าน มีคนรักเป็นศาสตราจารย์หนุ่ม คยองซู (รับบทโดย อีซังอู) ทำให้เหล่าแม่บ้านกังวลว่า หากลูกชายของตนรับชมซีรีส์เรื่องนี้ก็จะกลายเป็นเกย์ และมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น 

Daughters of Club Bilitis (2011) เป็นเรื่องราวของคู่รักเลสเบี้ยน 3 คู่ 3 ช่วงวัย แม้จะฉายในช่วงเที่ยงคืน แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าอาจจะเป็น ตัวอย่างที่ไม่ดี ให้แก่สังคม ซึ่งภายหลังจากเกิดประเด็นนี้ ทำให้ไม่ค่อยเห็นทั้งสองช่องออกอากาศซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ มากนัก 

kdrama-lgbt-boylove
Life is Beautiful (2010)
kdrama-lgbt-boylove
Daughters of Club Bilitis (2011)

การปรากฏตัวของ LGBTQ+ ในซีรีส์เกาหลี 

ทว่า ในปัจจุบันเกาหลีใต้ไม่ได้มีการบังคับให้ผู้คนนับถือศาสนา ประกอบกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีการเปิดรับและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของวัยรุ่นยุคใหม่เกี่ยวกับ LGBTQ+ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้เริ่มมองเห็นความหวังของ LGBTQ+ ในสังคมเกาหลีมากขึ้น โดยสามารถรับชมความคิดเห็นบางส่วนได้ที่ Do Korean Support LGBTQ+ (Ft. Seoul Queer Parade? | ASIAN BOSS

รวมถึงเรายังจะเห็นได้จากฝั่งของสื่อที่เริ่มนำเสนอภาพของ LGBTQ+ ผ่านการสอดแทรกเข้ามาในซีรีส์ต่างๆ มากขึ้นเพื่อสะท้อนภาพและขับเคลื่อนประเด็นนี้ ซึ่งนอกจาก 5 เรื่องที่กล่าวไปข้างต้นแล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น 

kdrama-lgbt-boylove

“คนที่คุณเซราควรจะเห็นใจ ก่อนที่จะเข้าใจพ่อแม่ของคุณ ก็คือตัวคุณเอง” – จีแฮซู

It’s Okay, That’s Love (2014)

เซรา (รับบทโดย อีเอล) หญิงสาวที่ถูกครอบครัวทุบตีปางตายจนเป็นโรคซึมเศร้า เหตุเพราะเป็นทรานส์เจนเดอร์ที่ผ่าตัดแปลงเพศ แต่เธอยังคงยอมทนโดนทำร้ายร่างกายและให้อภัยพวกเขาอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่ามันจะทำให้เธอได้รับการยอมรับจากครอบครัว 

ฉากนี้ จิตแพทย์จีแฮซู (รับบทโดย กงฮโยจิน) ไม่เพียงแค่ปลอบประโลมเซราเท่านั้น แต่ยังปลอบประโลม LGBTQ+ ที่กำลังเผชิญปัญหานี้จากภายในครอบครัวด้วยสีหน้าและแววตาที่จริงจังว่า ให้ลองหลีกหนีจากสถานการณ์ที่กำลังทำร้ายเราและหันมาสนใจตัวเองก่อนบ้าง เพื่อสภาพจิตใจของตัวเอง 

kdrama-lgbt-boylove

“ฉันเป็นทรานส์เจนเดอร์” 
“สิ่งที่ฉันเป็นไม่จำเป็นต้องให้ใครมาเข้าใจ” – มาฮยอนอี

Itaewon Class (2020) 

คำพูดของเชฟหลักประจำร้านทันบัม เชฟมาฮยอนอี (รับบทโดย อีจูยอง) จาก Itaewon Class (2020) ที่ประกาศว่าตนเป็นทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) หรือบุคคลที่พอใจกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ตรงข้ามกับเพศสรีระ (sex) 

การประกาศอย่างกล้าหาญผ่านรายการสุดยอดร้านอร่อยซึ่งกำลังถ่ายทอดสด เป็นการบอกว่าแม้สังคมจะไม่เข้าใจการเป็นทรานส์เจนเดอร์ แต่เธอก็จะยืนหยัดกับตัวตนของตัวเองเหมือนหินที่แข็งแกร่ง และจะไม่วิ่งหนีหรือพิสูจน์ความจริงข้อนี้ เพราะเธอไม่ได้ทำอะไรผิด 

ต่อจากนี้เธอไม่จำเป็นจะต้องแต่งตัวเป็นผู้หญิงเฉพาะเวลาไปผับตอนกลางคืนเท่านั้นอีกแล้ว แต่เธอจะสามารถแต่งตัวเป็นผู้หญิงเวลาใดก็ได้ตามที่เธอต้องการ  และไม่ว่าเธอจะเป็นอย่างไร สมาชิกร้านทันบัมก็จะยังคงคอยสนับสนุนและอยู่เคียงข้างเธอ 

kdrama-lgbt-boylove

“เพราะกลัวจะโดนคนด่า เราเลยต้องทำเหมือนพวกเขาไม่มีตัวตนอย่างนั้นเหรอ คนเราถ้าไม่รู้จักตัวตนของใครก็จะมองว่าเขาแตกต่างจากตัวเอง แล้วพอไม่รู้อะไร ก็จะไม่สบายใจและกลัว ฉันแค่อยากแสดงให้ทุกคนเห็นว่าวิถีชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาเหมือนกับเรา”  – พีดีคิมอาจิน

Sweet Munchies (2020) 

Sweet Munchies เป็นเรื่องราวของการทำรายการมื้อดึกแสนอร่อยกับเชฟเกย์ ที่จะสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมและทัศนคติของผู้คนที่มีต่อ LGBTQ+ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้เกี่ยวกับ LGBTQ+ ไปพร้อมกับตัวละคร

เพราะแม้แต่พีดีหลักของรายการอย่าง พีดีคิมอาจิน (รับบทโดย คังจียอง) ผู้คิดค้นรายการที่หวังจะสร้างความเข้าใจให้แก่สังคมก็ยังมีบางเรื่องที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับ LGBTQ+ ซึ่งจะได้เชฟพัคจินซอง (รับบทโดย จองอิลอู) มาคอยช่วยเหลือ ถึงแม้เขาจะเป็นเชฟเกย์ที่ปลอมตัวมาเพราะร้อนเงิน แต่ก็จะเป็นคนที่ทำให้สังคมมีมุมมองต่อ LGBTQ+ แตกต่างออกไปจากเดิมได้ 

พร้อมด้วย คังแทวาน (รับบทโดย อีฮักจู) แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังที่ตกหลุมรักเชฟเกย์ตัวปลอม ก็จะมาสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของ ‘เกย์’ ที่เป็น ‘ลูกชาย’ เพียงคนเดียวของตระกูลที่มีชื่อเสียง ซึ่งถูกบังคับให้อยู่ในกรอบที่พ่อวางไว้ตามค่านิยมของสังคมในปัจจุบัน 

kdrama-lgbt-boylove

“การรักใครสักคนไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่การไม่ได้รักใครเลยต่างหากที่เป็นเรื่องน่าอาย” – ฮันกือรู

Move To Heaven (2021) 

ชีวิตรักของ จองซูฮยอน (รับบทโดย ควอนซูฮยอน) นายแพทย์ห้องฉุกเฉิน และเอียน พัค (รับบทโดย คิมโดยอน) นักเชลโล่หนุ่ม นับได้ว่าเป็นคู่รัก LGBTQ+ ในซีรีส์ที่พรากน้ำตาผู้ชมไปเป็นจำนวนมาก 

เพราะนอกจากพวกเขาจะต้องหลบซ่อนจากสังคมแล้ว ชีวิตรักของพวกเขายังไม่สมหวังและถูกกีดกันจากครอบครัวของซูฮยอน ที่พยายามบังคับให้เขาเดินตามขนบขงจื๊อครบสูตร ด้วยการจับแต่งงานคลุมถุงชนกับหญิงอื่นเพื่อเป็นลูกชายที่กตัญญูต่อพ่อแม่ ทว่าในวันที่ซูฮยอนพร้อมจะเดินจับมือกับคนรักหนุ่มของเขาอย่างกล้าหาญก็เป็นวันที่สายเกินไปแล้ว  

kdrama-lgbt-boylove

“ฉันเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศค่ะ คนรักของฉัน คนที่ฉันลืมไม่ได้ เธอเป็นผู้หญิงค่ะ ขอโทษนะคะที่ไม่ได้บอกให้เร็วกว่านี้” – จองซอฮยอน

Mine (2021)

ฉากการเปิดใจก่อนขึ้นเป็นประธานบริษัทของ จองซอฮยอน (รับบทโดย คิมซอฮยอง) สะใภ้ใหญ่ของตระกูลแชโบลที่ยังไม่เคยลืมรักแรก หลังต้องทนเก็บซ่อนชีวิตรักของตนเอาไว้ภายใต้กรอบที่สังคมกำหนดเพื่อขึ้นมาอยู่จุดสูงสุด 

แต่คำขอโทษคำนี้ไม่ได้เป็นการขอโทษเพราะเธอเป็น LGBTQ+ แต่สิ่งที่เธอทำเป็นการขอโทษด้วยความรู้สึกผิดจากการปิดบังความจริงข้อนี้จากสามี ซึ่งในฉากนี้ก็นับได้ว่าเป็นอีกฉากที่พยายามจะสะท้อนให้สังคมเข้าใจว่า LGBTQ+ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด 

ทุกเรื่องพยายามนำเสนอภาพของ LGBTQ+ ในบทบาทที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของซีรีส์เท่านั้น และยังไม่เคยมีซีรีส์ที่ที่ถูกสร้างโดยช่องเคเบิลหรือ Netflix ที่ดำเนินเรื่องโดยมีตัวละครหลักเป็น LGBTQ+ และสมหวังในความรักในแบบของตนเองเลย 

จากซีรีส์ทั้ง 4 เรื่องที่กล่าวมาจะสังเกตเห็นได้ว่าทุกเรื่องพยายามนำเสนอภาพของ LGBTQ+ ในบทบาทที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของซีรีส์เท่านั้น และยังไม่เคยมีซีรีส์ที่ที่ถูกสร้างโดยช่องเคเบิลหรือ Netflix ที่ดำเนินเรื่องโดยมีตัวละครหลักเป็น LGBTQ+ และสมหวังในความรักในแบบของตนเองเลย 

รวมถึงเราจะไม่ค่อยได้เห็นนักแสดงเบอร์หนึ่งหรือนักแสดงแถวหน้าสุดของวงการเข้ามารับบท LGBTQ+ ในซีรีส์มากนัก ยกเว้น Mine ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจว่าในอนาคตจะมีซีรีส์เรื่องใดอีกบ้างที่นักแสดงระดับท็อปจะมารับบทนี้

ขณะที่ทางฝั่งของภาพยนตร์ ครั้งหนึ่ง ชาซึงวอน เคยแสดงเป็นทรานส์เจนเดอร์มาแล้วในบท ยุนจีอุค จากเรื่อง Man on High Heels ตำรวจมาดเข้มผู้มีฝีมือด้านการปราบอาชญากรรมที่อยากจะผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง จึงตัดสินใจลาออกและกำลังจะไปทำตามความฝัน แต่แผนนี้ก็ต้องชะงัก เมื่อถูกแก๊งมาเฟียกลับมาล้างแค้น 

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะกลุ่มเป้าหมายของซีรีส์ทั้ง 3 เรื่องและภาพยนตร์เรื่อง Man on High Heels ออกอากาศอยู่ในช่องเคเบิลและสตรีมมิ่ง ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ชมที่อาจจะพร้อมเปิดรับมากกว่ากลุ่มเป้าหมายของช่องหลักอย่าง SBS และ KBS ที่เคยแบนซีรีส์ที่มีตัวละครเป็น LGBTQ+ มาก่อน

kdrama-lgbt-boylove
Color Rush (2020) / You Make Me Dance (2021)
kdrama-lgbt-boylove
My Sweet Dear(2021) / To My Star (2022)

ไอดอล มินิซีรีส์วาย และสตรีมมิ่ง พื้นที่ใหม่ของ LGBTQ+ 

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวและเติบโตของสตรีมมิ่งมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตสื่อสามารถผลิตซีรีส์ที่มีเนื้อหาหลากหลายมากขึ้นได้เอง โดยเฉพาะ ‘มินิซีรีส์วาย’ ที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นบนสื่อหลัก แต่ขณะนี้กำลังโลดแล่นอยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งจุดเด่นหนึ่งที่น่าสนใจของมินิซีรีส์วายคือการมีไอดอลมารับบทเป็นนักแสดงนำ ไม่ว่าจะเป็น 

Where Your Eyes Linger (2020) – ฮันกีชาน จาก Produce X 101 มารับบทเป็น ฮันแทจู ทายาทเพียงคนเดียวของตระกูลที่มีเพื่อนสนิทเป็นบอดี้การ์ด (จองกุก รับบทโดย จางอึยซู)

Color Rush 2 (2022) ฮันซังฮยอก หรือฮยอก วง VIXX มารับบทเป็น เซฮยอน เพื่อนร่วมชั้นคนใหม่ที่จะเข้ามาปกป้องและทำให้ ชเวยอนอู รับบทโดย ยูจุน กลับมามองเห็นสีต่างๆ อีกครั้ง 

Unintentional Love Story (2022) ซีรีส์วายที่ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนเกาหลีเรื่องล่าสุดที่กำลังจะออนแอร์ ก็มีการประกาศมาแล้วว่า กงชาน จากวง B1A4 จะมารับบทเป็น จีวอนยอง พนักงานแผนกธุรการที่ถูกไล่ออกจากบริษัทเพราะคดีทุจริตของหัวหน้า เขาจึงหาทางสร้างผลงานจากการโน้มน้าวใจ ยุนแทจุน รับบทโดย ชาซอวอน นักปั้นเซรามิกคนโปรดของประธานให้เซ็นสัญญากับบริษัท เพื่อให้ได้กลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง

Semantic Error (2022) ซีรีส์วายดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนเกาหลีที่ได้ พัคซอฮัม จากวง KNK มารับบทเป็น จางแจยอง และพัคแจชาน จากวง DONGKIZ มารับบทเป็น ชูซังอู ซึ่งทำให้ทั้งคู่คว้ารางวัลนักแสดงยอดนิยมจาก 1st Blue Dragon Series Awards 2022

kdrama-lgbt-boylove
Reply 1997 (2012)
kdrama-lgbt-boylove
Where Your Eyes Linger (2020) / Color Rush 2 (2022)

อย่างไรก็ตาม ไอดอลที่มารับบทเป็น LGBTQ+ ก็ไม่ได้อยู่แค่บนมินิซีรีส์เหล่านี้ เพราะในอดีต โฮย่า Infinite เองก็เคยรับบทเป็น คังจุนฮี ในซีรีส์ Reply 1997 ที่หลงรักเพื่อนสนิท ยุนยุนแจ รับบทโดย ซออินกุก มาแล้ว 

เนื่องจากในวงการนักแสดง โดยทั่วไปแล้วค่าจ้างของไอดอลจะถูกกว่าค่าจ้างนักแสดงมืออาชีพถึง 10 เท่า ทำให้สตรีมมิ่งที่เพิ่งเปิดตัวอาจจะมีเงินทุนไม่สูงมากนัก จนต้องเลือกจ้างไอดอลให้มารับบทในซีรีส์แทนการจ้างนักแสดงมืออาชีพที่มีราคาสูง ประกอบกับไอดอลเองก็มีมีฐานแฟนคลับที่เข้าใจและมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับ Bromance ซึ่งทำให้มีฐานแฟนซีรีส์ตั้งแต่ยังไม่เริ่มออนแอร์ ในบางครั้งจึงอาจส่งผลให้ถูกมองว่าเป็น Queerbaiting 

Queerbaiting มาจากการรวมกันของคำว่า Queer ที่ใช้กล่าวถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบกว้าง และ bait ที่มาจากคำว่า Clickbait ซึ่งหมายถึงการใช้ข้อความหรือรูปภาพจูงใจให้กดเข้าเว็บไซต์เพื่อเพิ่มยอดการตอบสนอง ดังนั้น Queerbaiting จึงหมายถึงการนำเสนอตัวละครที่ ‘อาจจะ’ เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศมาใช้จูงใจผู้ชม

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยคุณภาพการผลิตซีรีส์และรายการของเกาหลี ทำให้การมีอยู่ของสตรีมมิ่งนับได้ว่าเป็นช่องทางใหม่สำหรับการนำเสนอซีรีส์วาย และการให้พื้นที่แก่ LGBTQ+ แม้บางเรื่องจะไม่ได้ผลักดันประเด็นสิทธิของ LGBTQ+ อย่างมีนัยยะสำคัญ แต่การเริ่มผลิตซีรีส์วายก็ทำให้เริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการบันเทิงแล้ว รวมถึงในสตรีมมิ่งยังเริ่มมีการเปิดตัวรายการเรียลลิตี้ของ LGBTQ+ มากขึ้น เช่น 

Merry Queer เรียลลิตี้ LGBTQ+ รายการแรกของเกาหลีใต้ที่จะนำคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ 3 คู่มาถ่ายทอดเรื่องราวการใช้ชีวิตคู่ของตน พร้อมผู้ดำเนินรายการ 3 ท่านที่จะมาร่วมแบ่งปันเรื่องราวและมุมมองของตน ได้แก่ ฮานิ EXID, ชินดงยอบ และฮงซอกชอน คนดังคนแรกๆ ที่เปิดตัวว่าเป็น LGBTQ+ ซึ่งเคยปรากฏตัวเป็นเจ้าของผับใน Itaewon Class เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQ+ ให้สังคม โดย Ep.1 สามารถรับชมได้ที่ช่อง 뽀송한준_bosungjun ของคิมมินจุนและโบซังจุน คู่รักยูทูบเบอร์ที่มีผู้ติดตามเกือบ 2 ล้านคน 

Merry Queer

His Man รายการหาคู่เดทรายการแรกของเกาหลีที่นำชายหนุ่ม 8 คน 8 สไตล์มาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อค้นหาคู่เดตคนใหม่ ซึ่งในตอนท้ายมีการขึ้นโลโก้กระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีที และ Korean Communicate Agency ทำให้คาดว่าน่าจะได้รับการอนุมัติและสนับสนุนจากทั้งสองกระทรวงนี้ 

His Man

สิทธิของ LGBTQ+ ในปัจจุบัน

Seoul Queer Culture Festival เป็นงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2022 งานนี้ถูกจัดขึ้นบริเวณ Seoul City Hall Plaza ซึ่งจะเปลี่ยนพื้นที่กลางกรุงโซลให้กลายเป็นสีรุ้งเพื่อขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศในเกาหลีใต้ ถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชน ชมรม LGBT มหาวิทยาลัย สถานทูต องค์กรทางศาสนา และองค์กรสมัยใหม่ที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ทำให้ดูเหมือนว่าประเทศเกาหลีใต้อาจจะมีแนวโน้มเปิดกว้างต่อเรื่องเพศมากขึ้น

แต่เมื่อมองมายังอีกฝั่งหนึ่งของถนนก็จะเห็นกลุ่มคริสตศาสนิกชนและอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่งกำลังรวมตัวกันชุมนุมต่อต้านการจัดงานนี้ โดยใช้คำสอนจากไบเบิล อ้างถึงจริยธรรมทางเพศที่จะส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก และอ้างถึงข้อเรียกร้องเรื่องการจัดงานที่ไม่เหมาะสม โดยใช้เงินจากภาษีของประชาชน ซึ่งทั้งสองฝั่งมีจำนวนไม่ต่างกันมาก จึงทำให้ประเด็นนี้ยังคงเป็นที่น่าจับตามองในเกาหลีอยู่

โดยในช่วงปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังมีการระบาดโควิด-19 ก็มีการนำเสนอข่าวว่า Superspread รายหนึ่งเข้าไปใช้งานผับเกย์ย่านอิแทวอน ซึ่งทำให้คริสตศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งกระพือข่าวนี้ เพื่อให้เกิดการเหมารวมในเชิงลบต่อ LGBTQ+ ซึ่งภายหลังสืบทราบอีกครั้งว่าไม่ได้มีการเข้าไปใช้งานผับเกย์แห่งใดในอิแทวอนเลย 

รวมถึงประธานาธิบดีคนล่าสุด ยุนซอกยอล ที่มีคะแนนความนิยมพุ่งสูงขึ้นจากการหาเสียงในเชิงต่อต้านเฟมินิสต์และ LGBTQ+ เช่น การเป็นเฟมินิสต์ที่ดีไม่ควรอยู่ในอำนาจและเอาเปรียบการเลือกตั้ง หรือตอบคำถามเป็นนัยว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการเกิดของเกาหลีใต้ต่ำลงเป็นเพราะการมีอยู่ของเฟมินิสต์ และยังมีการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่าตนต้องการจะยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัว นอกจากนี้นักการเมืองอีกหลายคนที่แสดงท่าทีต่อต้านเฟมินิสต์และ LGBTQ+ แต่กลับได้รับเสียงตอบรับที่ดี  

โดยในปี 2019 Mango Zero ได้มีการเปรียบเทียบกฎหมายของ LGBTQ+ จำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน เยอรมนี อังกฤษ สเปน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พบว่าเกาหลีใต้มีข้อกฎหมายเพียง 2 ข้อที่เห็นชอบตามกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศของคนเพศเดียวกัน และกฎหมายเกี่ยวกับอัตลักษณ์/การแสดงออกทางเพศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ LGBTQ+ ก็ยังคงเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้รับการยอมรับอยู่

ส่วนข้อกฎหมายที่ยังไม่ชอบด้วยกฎหมายมีถึง 6 ข้อ ได้แก่ การรับรองการอยู่กินของเพศเดียวกัน การสมรสเพศเดียวกัน การรับบุตรบุญธรรมของคู่เพศเดียวกัน การรับราชการทหารอย่างเปิดเผย กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ 

ทำให้ทัั้งภาคประชาชน นักขับเคลื่อน องค์กรอิสระ หรือพรรคการเมืองขนาดเล็กต่างรวมใจเพื่อต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิเหล่านี้มากขึ้น เช่น การพยายามยื่นร่างกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเพศในปี 2021 โดยมุ่งหวังว่าจะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน แต่ถ้าหากคาดเดาจากประธานาธิบดีและนักการเมืองอีกหลายคนแล้ว ก็ยังคงไม่เห็นแนวโน้มที่ LGBTQ+ จะได้รับสิทธิทางกฎหมายในเร็ววันนี้เลย

อย่างไรก็ตาม การที่นักแสดงนำซีรีส์วายได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลและมีการแปะโลโก้จากกระทรวง ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าจับตามอง เพราะแสดงให้เห็นถึงทิศทางที่เริ่มเปลี่ยนไปของวงการบันเทิงที่เริ่มเปิดพื้นที่ให้ซีรีส์และรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ มากขึ้น และถ้าหากมีการผลักดันอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับซีรีส์อื่น ก็อาจจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการช่วงชิงพื้นที่ตลาดวงการบันเทิง พร้อมกับขับเคลื่อนสังคมได้ 

หากกระแสฮันรยูอย่างซีรีส์เกาหลีและ K-Pop สามารถสร้างอิทธิพลและการเปลี่ยนแปลงให้สังคมเกาหลีได้ ก็หวังว่าซีรีส์วายและรายการเหล่านี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมตระหนักรู้และสนับสนุนสิทธิของ LGBTQ+ มากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน  

สุดท้ายนี้ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน #สมรสเท่าเทียม เพื่อเรียกร้องให้ ทุกคนมีสิทธิอย่างที่ทุกคนควรมี

เรื่องโดย อรณิชา ชูสกุล
อ้างอิง:
thaipublica.org, adaymagazine.com, mangozero.com, thematter.co, asianews.network, reuters.com, urbancreature.co, Homosexuality in Ancient and Modern Korea

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้