If You Wish Upon Me ซีรีส์สร้างความปรารถนาสุดท้ายให้กลายเป็นจริง
If You Wish Upon Me คือซีรีส์ดราม่าควรค่าแก่การเสียน้ำตาที่อยากแนะนำให้ทุกคนได้ดู เนื้อหาเป็นการบอกเล่าความเศร้าที่สวยงามของความตาย ความโดดเดี่ยว และคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ และเมื่อดูแล้วจะทำให้ผู้ชมเข้าใจความหมายของคำว่า “ความตายไม่ใช่จุดจบของชีวิต”
If You Wish Upon Me เล่าเรื่องราวของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่รับดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่นี่แตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปตรงที่มีการจัดตั้ง ‘ทีมจีนี่’ ทีมรับคำปรารถนาสุดท้ายจากผู้ป่วยที่เหลือเวลาบนโลกนี้อีกไม่นานนัก
ยุนกยอเร (รับบทโดย จีชางอุค) อดีตนักโทษที่เพิ่งออกมาจากเรือนจำ เพราะอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ทำให้เขาได้เจอกับ คังแทชิก (รับบทโดย ซองดงอิล) หัวหน้าทีมอาสาสมัครของโรงพยาบาล ขณะกำลังพาผู้ป่วยไปทำความปรารถนาสุดท้ายให้เป็นความจริง
ด้วยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้ยุนกยอเรต้องชดใช้ความผิดด้วยการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แทน โดยเข้าไปเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลแห่งนี้ และทำให้เขาได้พบกับ ซอยอนจู (รับบทโดย ชเวซูยอง) พยาบาลสาวที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมจีนี่ที่คอยช่วยเหลือให้ความปรารถนาของผู้ป่วยในสถานพยาบาลกลายเป็นจริง ซึ่งในช่วงเวลานี้เอง ยุนกยอเรก็ได้ค้นพบหนทางที่จะกลับมาใช้ชีวิตของตัวเองอย่างมีความหมายอีกครั้ง
เมื่อถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต บางคนอาจพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ ขณะที่บางคนมัวแต่เศร้าเสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างนั้นก็นับเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะมี ‘สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ’ ซึ่งประเด็นหลักของซีรีส์เรื่องนี้ในการทำให้ความปรารถนาของผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้กลายเป็นจริง ก็มาจากเรื่องจริงขององค์กรที่ชื่อว่า Ambulance Wish Foundation
องค์กรที่มีอยู่จริงในซีรีส์ If You Wish Upon Me
Ambulance Wish Foundation คือองค์กรการกุศลที่เติมเต็มความหวังของผู้กำลังวายชนม์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่รู้จักกันในชื่อ Stichting Ambulance Wens ก่อตั้งโดย Kees Veldboer ที่เคยทำงานเป็นคนขับรถโรงพยาบาล วันหนึ่งในระหว่างการไปส่งผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เป็นอดีตนักเดินเรือเกษียณอายุที่ชื่อ Mario Stefanutto แต่จู่ๆ ก็มีโทรศัพท์จากโรงพยาบาลแจ้งว่าการรักษาถูกเลื่อนของชายผู้นี้ต้องออกไป และไหนๆ ก็ออกมาแล้ว เขาจึงถามว่าผู้ป่วยว่ามีที่ไหนที่อยากไปบ้างไหม และได้รับการร้องขอให้ขับรถพาไปที่ริมน้ำแห่งหนึ่ง เพื่อที่เขาจะได้บอกลาท่าเรือรอตเตอร์ดัมเป็นครั้งสุดท้าย
พวกเขาอยู่ที่ท่าเทียบเรือเป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง “น้ำตาแห่งความสุขไหลอาบใบหน้าของเขา และเมื่อผมถามเขาว่าคุณอยากลองล่องเรืออีกครั้งไหม เขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะเขาคงต้องนอนอยู่บนเปลหามแบบนี้” Veldboer กล่าว
สุดท้ายแล้ว Veldboer ก็มุ่งมั่นทำความปรารถนาสุดท้ายของชายคนนี้ให้เป็นจริงจนสำเร็จ การได้ล่องเรือของเขาอาจเป็นสิ่งเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นบนโลกในแต่ละวัน
หลายสัปดาห์ต่อมา Stefanutto ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งก่อนที่เขาจะเสียชีวิต “ผมรู้สึกดีที่ยังมีคนห่วงใยผู้อื่น… ผมบอกคุณได้จากประสบการณ์ของตัวเองว่าการกระทำเล็กๆ น้อยๆ จากผู้อื่นสามารถส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน”
การทำให้ความปรารถนี้นี้เกิดขึ้นจริง ทำให้ Veldboer รับรู้และสัมผัสได้ถึงผลกระทบที่ยิ่งใหญ่มากกว่าความพยายามของตัวเขา การเติมเต็มคำอธิษฐานสุดท้าย ในท้ายที่สุดจึงไม่ใช่แค่สำหรับผู้ป่วยเท่านั้น แต่รวมถึงครอบครัว เพื่อน และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และนั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งองค์กร Stichting Ambulance Wens
โดยเฉลี่ยแล้ว องค์กรจะทำคำปรารถนาได้สำเร็จ 4 คนต่อวัน โดยผู้ป่วยจะมีอายุเท่าไรก็ได้ มีความปรารถนาอะไรก็ได้ แต่มีข้อกำหนดเดียวคือจะต้องเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย และไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองได้นอกจากบนเปลหาม และเหล่านี้คือตัวอย่างของความปรารถนาครั้งสุดท้ายที่องค์กรทำสำเร็จไปแล้ว
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้องค์กร Stichting Ambulance Wens ที่มีจุดเริ่มต้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีการขยายสาขาไปในหลายประเทศทั่วโลก เช่นเบลเยียม เยอรมนี อังกฤษ เอกวาดอร์ อิสราเอล ออสเตรเลีย สวีเดน และสิงคโปร์
เรื่องโดย ณัฏฐริณีย์ แย้มแก้ว
อ้างอิง: bbc.com, ambulancewens.nl