Falling Into Your Smile ซีรีส์จีน E-sports ที่ทำเอาคนดูต้องเกาะขอบสนาม

หลังเผลอกดเข้าไปดูซีรีส์ Falling Into Your Smile หรือ รักยิ้มของเธอ ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวงการ E-sports ของจีน กว่าจะรู้ตัวอีกทีเราก็เกาะขอบสนามแข่งโต้รุ่งมาหลายคืน และรีบ Fast Track ดูจนจบทันทีที่ 3 อีพีสุดท้ายถูกปล่อยออกมา (31 อีพีจบ)

ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จึงอยากแชร์สิ่งที่ประทับใจจาก Falling Into Your Smile รวมถึงหลายประเด็นที่ซีรีส์สอดแทรกเข้ามาให้ผู้ชมที่ไม่รู้จัก ‘วงการ E-sports’ ได้เข้าใจเหล่านักกีฬาที่หลายคนอาจมองว่าเป็น ‘เด็กติดเกม’ ให้มากขึ้น

จาก ‘มือสมัครเล่น’ สู่ ‘นักกีฬาอาชีพ’

สำหรับใครที่ไม่ได้เล่นเกมหรือมีความรู้เรื่องเกมเป็นศูนย์ ตอนเปิดอีพี 1 ก็อาจจะงงๆ หน่อยว่าตำแหน่งหรือชื่อเรียกสกิลต่างๆ ในเกมคืออะไร แต่ขออย่าได้ท้อถอย เพราะหากดูไปเรื่อยๆ ซีรีส์จะค่อยๆ ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นผ่านกราฟิกตัวละครในเกมเอง

Falling Into Your Smile นับเป็นซีรีส์ที่เดินเรื่องค่อนข้างกระชับฉับไว และช่วยทำให้ผู้ชมก้าวเข้าสู่โลกของ ‘นักกีฬาอาชีพ’ ไปพร้อมกับนางเอกของเรื่องอย่าง ถงเหยา (รับบทโดย เฉิงเซียว วง WJSN) ทีละสเต็ป โลกของนักกีฬา E-sports อาชีพที่หลายคนอาจคิดว่าพวกเขาน่าจะนั่งจับเจ่าอยู่หน้าคอมพิวเตอร์และฝึกเล่นแต่เกมไปวันๆ

แต่ในความเป็นจริงแล้วการอยู่ร่วมกันในสโมสรมีการจัดสรรอย่างเป็นระบบ ทั้งตารางการฝึกซ้อมที่ชัดเจน การพักผ่อนอย่างเพียงพอที่ต้องสมดุลในช่วงใกล้แข่งขัน การออกกำลังกาย ไปจนถึงการบริหารสายตา ฯลฯ ที่ซีรีส์แทรกซึมให้เห็นทีละเล็กละน้อยจนทำให้ผู้ชมค่อยๆ เข้าใจชีวิตประจำวันของนักกีฬา E-sports มากขึ้น

เพราะอย่าลืมว่า ‘นักกีฬา E-sports’ ก็เป็น ‘นักกีฬา’ ไม่ต่างจากกีฬาประเภทอื่นๆ การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานในท่าเดิมๆ และใช้ชีวิตในบางช่วงเวลาผิดแผกไปจากคนปกติ ระบบร่างกายของพวกเขาเองก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการใส่ใจดูแลไม่ต่างกัน

ผู้หญิงในวงการ E-sports

“ผู้หญิงจะเล่นลีกอาชีพเหรอ?” – ความคิดเห็นชาวเน็ต A

“ทีม ZGDX หาคนไม่ได้แล้วเหรอ เลยเลือกสตรีมมิงที่ไร้ชื่อเสียงแบบนี้ แถมเป็นผู้หญิงอีก” – ความคิดเห็นชาวเน็ต B

หนึ่งในคำถามชวนขบคิดตลอดทั้งเรื่องกับความเหมาะสมของการมีนักกีฬา ‘ผู้หญิง’ ในลีกที่หลายคนฟันธงว่าเป็นพื้นที่ของ ‘ผู้ชาย’ ด้วยความที่ถงเหยาเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกในลีกอาชีพ ซีรีส์จึงพาผู้ชมเข้าไปสัมผัสกับทุกความกดดันที่เธอต้องพบเจอ และสองประโยคข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคอมเมนต์ที่ปรากฏในซีรีส์ ที่ทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่นักกีฬาอาชีพหญิงต้องเผชิญนั้นไม่ได้มีแต่คำดูแคลนเรื่อง ‘ฝีมือ’ แต่ยังมีเรื่องของ ‘เพศ’ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

แต่ซีรีส์ก็ค่อยๆ พาผู้ชมร่วมฝ่าฟันทุกคำครหาเหล่านั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และทำให้ตัวเราเองที่แม้จะไม่เคยเล่นเกมมาก่อนสัมผัสได้ว่า ‘ลีกอาชีพ’ ไม่ใช่ที่สำหรับผู้ชาย แต่มันคือสถานที่ของ ‘ทุกคน’ ที่มีความฝัน มีใจรัก และทุ่มเทกับมันเพื่อไปถึงเป้าหมายต่างหาก!

การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว

ในเมื่อก้าวเท้าจาก ‘มือสมัครเล่น’ มาเป็น ‘มืออาชีพ’ การแข่งขันที่ปกติมักจะแรนดอมจับกลุ่มกับผู้เล่นคนอื่นๆ ในเซิร์ฟเวอร์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะหลังจากมีสังกัดทีมที่ชัดเจน การ ‘หลอมรวม’ เป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนร่วมทีมเพื่อฝ่าฟันแมตช์ต่างๆ สู่จุดหมายปลายทางเดียวกันอย่างการคว้าถ้วยรางวัลระดับประเทศและระดับโลกก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กับการฝึกฝนสกิลต่างๆ ในเกม

“ในฐานะที่เป็นผู้เล่น E-sports มืออาชีพ เป้าหมายสูงสุดของการลงแข่งไม่ใช่การไปถึงชัยชนะของคนเพียงคนเดียว แต่เพื่อชัยชนะของทีม ระหว่างนี้เธอจำเป็นต้องทิ้งนิสัยชอบบุกเดี่ยวหลายๆ อย่างของเธอไป สิ่งที่ต้องทำความคุ้นเคยก่อนเลยก็คือต้องมองว่าตัวเองเป็นสกรูของทีม” – อวี่หมิง

เพราะก่อนจะเข้าร่วมสโมสร ถงเหยาเล่นเกมเพียงลำพัง การต่อสู้ การตัดสินใจ รวมถึงการบุกตะลุยอย่างใจกล้าล้วนเกิดขึ้นจากความเคยชิน และการนำนิสัยนั้นมาใช้ในทีมที่ต้องอาศัยความไว้ใจ เชื่อใจ และสามัคคีกัน จึงเป็นสิ่งที่นักกีฬา E-sports มือใหม่ต้องปรับตัว

และเมื่อมองกลับมาในชีวิตจริง เราคิดว่าในหลายสาขาอาชีพเองก็ต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนร่วมทีม เพื่อนร่วมงาน เพื่อก้าวไปสู่จุดหมายเดียวกันเช่นกัน ดังนั้น E-sports จึงไม่ใช่การหาว่าใครเก่งกว่า ใครแม่นยำกว่า ใครคิลได้เยอะกว่า แต่มันคือการหา ‘สมดุล’ ของทีม หลอมรวม และก้าวไปข้างหน้าพร้อมเป้าหมายเดียวกันด้วย

แพ้-ชนะ ที่เกิดจากความพยายาม

ขึ้นชื่อว่าการแข่งขัน ‘แพ้-ชนะ’ จึงเป็นเรื่องปกติที่นักกีฬาทุกคนต้องเผชิญและตั้งรับกับสิ่งที่จะถาโถมเข้ามา เพราะเมื่อได้รับ ‘ชัยชนะ’ สิ่งที่ถาโถมเข้ามาอาจเป็นคำชมที่ทำให้ใครหลายคนตัวลอยไม่ติดพื้น ในขณะที่เมื่อต้องลิ้มรสกับความ ‘พ่ายแพ้’ สิ่งที่ถาโถมเข้ามาอาจเป็นคำพูดบาดหูบาดใจที่กระแทกเข้ามาแรงเกินกว่าจะลุกขึ้นยืนไหว

ช่วงหนึ่งของซีรีส์ Falling Into Your Smile ได้เผยให้เห็นถึงความเสียใจที่ถงเหยาต้องเผชิญ เธอผู้เคยชนะ เธอผู้เคยมั่นใจ เธอผู้เป็นที่หนึ่งของเซิร์ฟเวอร์ ในวันที่ต้องพ่ายแพ้ แม้จะน่าเจ็บใจ แต่มันก็ช่วยทำให้เธอเรียนรู้และเติบโตขึ้นมา

ซีรีส์ทำให้เราเห็นว่าแพ้-ชนะไม่ได้เกิดจากคำว่า ‘เก่ง’ หรือ ‘ไม่เก่ง’ แต่เกิดจากความ ‘พยายาม’ ด้วย เพราะต่อให้เป็นทีมที่เก่งกาจแค่ไหน ก็อาจจะพ่ายแพ้ได้หากไม่มีการทำการบ้าน ศึกษาคู่แข่ง หรือประคองทีมเวิร์กให้ดีได้ตลอดทั้งแมตช์

มีบทพูดหนึ่งของถงเหยาที่เราชอบมากคือ “ไม่มีใครรู้หรอกว่าเบื้องหลังชัยชนะเหล่านั้น ทุกคนในทีมต้องผ่านอะไรมาบ้าง ต้องดูแท็กติกการเล่นของทีมที่ต้องแข่งด้วยกี่สิบรอบ” ซึ่งทำให้เธอเข้าใจว่าในวันที่เธอพ่ายแพ้ ฝ่ายตรงข้ามเองก็คงทำการบ้านและศึกษาสไตล์การเล่นของเธอมาอย่างหนักเช่นกัน

‘ไม่มีใครเก่งที่สุดหรือยืนอยู่บนจุดสูงสุดได้ตลอดไป’ ประโยคนี้ไม่มีใครกล่าว แต่เป็นซีรีส์ที่สอนให้เราเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น

การรับมือกับความโด่งดัง และการถูกรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว

เมื่อนักกีฬา E-sports ได้เข้าไปอยู่ในสังกัดสโมสรและแข่งขันในลีกต่างๆ นอกจากเงินทองแล้ว ‘ชื่อเสียง’ คือสิ่งที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องเตรียมตัวรับมือให้ดีหลังจากเปิดตัวพร้อมตราสโมสร เพราะมันจะเหมือนการขึ้นลิฟต์จากการเป็น ‘คนธรรมดา’ ไปสู่การเป็น ‘ไอดอล’ ที่มีแฟนคลับรายล้อม และแน่นอนว่าทุกการขยับตัว ทุกคำพูดของพวกเขาล้วนมีผลกระทบที่ ‘ต้องแลก’

ในซีรีส์เราจะเห็นว่าทุกแมตช์การแข่งขันจะมี ‘แฟนคลับ’ คอยส่งเสียงเชียร์ คอยดูพวกเขาไลฟ์สตรีมเกม มอบของขวัญให้ ไปจนถึงการคอมเมนต์ชื่นชมและก่นด่าในวันที่พวกเขาไม่เป็น ‘ไอดอล’ ในแบบที่หวังไว้

ซีรีส์ค่อยๆ ทำให้เราเข้าใจมุมมองของฝั่งผู้เล่นทีละน้อยว่านักกีฬา E-sports เองก็คือ ‘คน’ ที่เดินดินกินข้าวเหมือนกับทุกคน พวกเขามีอารมณ์ มีความรู้สึก และไม่ว่าจะในซีรีส์หรือชีวิตจริง นักกีฬาเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วง ‘วัยรุ่น’ การมีแฟนคลับที่ค่อยส่งเสียงเชียร์และให้กำลังใจล้วนเป็นแรงผลักที่ดี

แต่สำหรับแฟนคลับที่คาดหวังให้พวกเขามุ่งมั่นตั้งใจฝึกฝนทั้งวันทั้งคืน ห้ามวอกแวกกับเรื่องอื่นๆ รวมถึงเรื่องความรัก ก็ดูจะเป็นการบงการชีวิตและกดดันให้พวกเขาต้องอยู่ในกรอบของความคาดหวังและรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวจนเกินไป

“ถ้าคุณชื่นชอบผู้เล่นอาชีพคนหนึ่งจากใจจริง ก็เข้ามาให้ใกล้เวทีแข่งขันของเขาเข้าไว้ และอยู่ให้ห่างจากชีวิตส่วนตัวของเขาหน่อย” – ลู่ซือเฉิง (รับบทโดย สวีข่าย)

แต่ในทางกลับกัน หากพวกเขาและเธอใช้ความพลุ่งพล่านของวัยรุ่นอย่างขาดสติและการยั้งคิด ซีรีส์ก็จะพาผู้ชมร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกันว่าสิ่งที่พวกเขาและเธอต้องแลกอาจไม่ใช่ชื่อเสียงของคนเพียงคนเดียว แต่มันอาจหมายถึงชื่อเสียงของทีม การทำงานหนักของทีมงานเบื้องหลัง เงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ ไปจนถึงอนาคตที่อาจต้องดับลงในวงการเช่นกัน

ครอบครัว สายซัพที่สำคัญที่สุด

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ซีรีส์ E-sports ส่วนใหญ่มักจะนำเสนอคือเรื่อง ‘ครอบครัว’ เพราะอย่างที่บอกว่านักกีฬาส่วนใหญ่ยังคงเป็นวัยรุ่น วัยที่พ่อแม่หลายคนต่างก็คาดหวังไม่ต่างจากแฟนคลับว่าลูกๆ ของพวกเขาจะตั้งใจเรียน สอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ มีอาชีพการงานที่มั่นคง

ในซีรีส์ก็มีการเผยให้เห็นว่านักกีฬาทุกคนล้วนต้องเผชิญกับเรื่องนี้มาไม่น้อยเช่นกัน พ่อแม่บางคนเข้าใจว่าความฝันของลูกเป็นเรื่องไร้สาระ ในขณะที่บางคนมองว่าอาชีพของลูกคือบ่อเงินบ่อทอง แค่นั่งเล่นเกมก็ได้เงินแล้ว จะไปเหนื่อยยากอะไรกัน

ส่วนตัวเราคิดว่าทุกความคิดของเหล่าพ่อแม่ในซีรีส์เรื่องนี้ค่อนข้างหลากหลาย และทำให้เข้าใจมุมมองคนเป็นพ่อแม่มากขึ้น และเชื่อว่าในชีวิตจริงหลายคนน่าจะเคยเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้มาไม่มากก็น้อยเช่นกัน เพราะคงไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีมีพ่อแม่สายซัพในทุกความฝัน

และสำหรับใครที่ชื่นชอบความฟิน ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ความ E-sports จ๋า แต่พาร์ตความรักของพระนางเรื่องนี้นั้น เราขอนั่งยัน นอนยัน ยืนยันในความน่ารักกุ๊กกิ๊กหัวใจ บทจะเดินเครื่องก็คือเต็มอัตรา ไม่แผ่ว ไม่พัก รวมถึงเคมีของนักแสดงทั้งสองอย่างสวีข่ายและเฉิงเซียวนั้นดีมากกกกก! เหมาะสมลงตัวทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทำให้คนดูอย่างเราเผลออมยิ้มจนเจ็บแก้มอยู่บ่อยๆ ใครอยากท้าทายความเจ็บแก้ม เราขอท้า!

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้