บทสัมภาษณ์ ‘ฮันแจริม’ ผู้กำกับ Emergency Declaration ผู้เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ทั้งกำกับ เขียนบท โปรดิวเซอร์ และอำนวยการสร้าง
ฮันแจริม ผู้กำกับเจ้าของผลงาน Emergency Declaration ไฟลต์คลั่ง ฝ่านรกชีวะ หนังหายนะบนเครื่องบินเรื่องแรกของเกาหลี เป็นผู้กำกับที่เคยฝากผลงานสร้างชื่อมาแล้วทั้งใน The Face Reader (2013) และ The King (2017) ชื่อของเขามักถูกพูดถึงในแง่ของการสร้างผลงานที่มีการผสมผสานความซับซ้อนและปรัชญาที่ลึกล้ำเข้าไปในหนังได้อย่างดี รวมถึงยังสามารถหยิบเอาสถานการณ์ที่แปลกประหลาดมาถ่ายทอดในโลกของภาพยนตร์ให้สมจริงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ผลงานภาพยนตร์แอ็กชัน-ระทึกขวัญโปรเจกต์ยักษ์ชิ้นล่าสุดของเขาถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์หนังหายนะบนเครื่องบินเรื่องแรกของเกาหลีที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงที่เกิดวิกฤตร้ายแรงขึ้นในทั่วโลก ยิ่งทำให้ Emergency Declaration เป็นหนังที่ทันสมัยและทันเหตุการณ์ที่ผู้ชมต่างรอคอยมากที่สุดในขณะนี้
ทำไมคุณถึงหยิบเอาประเด็นมหันตภัยบนเครื่องบินมาทำเป็นภาพยนตร์?
ผมได้ข้อเสนอให้ทำหนังเรื่องนี้เมื่อ 10 ปีก่อน จึงเริ่มวางโครงเรื่องและแผนคร่าวๆ แต่ไม่รู้จะทำออกมาเป็นภาพได้อย่างไรในตอนนั้น ผมเลยเริ่มศึกษาและดูหนังเกาหลีที่ว่าด้วยมหันตภัยต่างๆ แทบทุกเรื่อง จนกระทั่งได้ไอเดียว่าจะสานต่อโปรเจกต์นี้อย่างไรให้มันโดดเด่นออกมา ซึ่งเหตุการณ์ใน Emergency Declaration ผมคิดว่าหนังสามารถมอบความระทึกให้กับคนทุกเพศวัยได้
คุณเคยเจอเรื่องอกสั่นขวัญแขวนบนเครื่องบินบ้างไหม?
ผมว่าในเครื่องบินมันก็เหมือนสังคมของเราแบบย่อส่วนนะ เราติดอยู่ด้วยกันในที่แคบๆ แต่กลับรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ผมว่านั่นช่วยเพิ่มความตระหนกในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแบบในเรื่องเข้าไปอีกระดับ การที่ปกติผมเป็นคนกลัวการบินอยู่แล้ว มันช่วยให้ผมเขียนบทเรื่องนี้ออกมาให้ระทึกขวัญกว่าเดิม
คุณใช้เวลาเตรียมถ่ายทำนานมาก ทำไมถึงทุ่มเวลาให้มันขนาดนั้น?
เราใส่ใจทุกรายละเอียดในช่วงระยะเวลา 3-4 เดือนที่เราพัฒนา เมื่อมันเสร็จ เราก็เหมือนทำงานเสร็จกันไปแล้วครึ่งหนึ่ง เพราะเรายึดมันเป็นคัมภีร์ในการถ่ายทำ
100% ในนั้นมีระบุไว้หมดว่าจะถ่ายมุมไหม ตัดต่อยังไง รวมไปถึงอารมณ์ในซีน เสื้อผ้า และอุปกรณ์ประกอบฉาก
ระหว่างการเตรียมงานหายนะทางการบินเรื่องนี้ คุณได้ขอคำแนะนำจากมืออาชีพเช่นนักบินตัวจริงบ้างไหม?
แน่นอนครับ เพราะเราตั้งใจทำให้หนังเรื่องนี้ออกมาสมจริงที่สุด เราได้คำแนะนำจากผู้สันทัดด้านนี้หลายคน เราได้นักบินและลูกเรือมาเป็นที่ปรึกษาให้เราตั้งแต่เริ่มเขียนบท และยังมีทีมตำรวจมาให้คำปรึกษาด้านการก่อการร้ายบนเครื่องบิน รวมไปถึงความร่วมมือจากกองทัพอากาศและเจ้าหน้าที่รัฐ เราพยายามใช้คำแนะนำที่พวกเขามอบให้มาสร้างความสมจริงให้หนังมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ผมอยากให้ผู้ชมได้มีประสบการณ์เหมือนอยู่บนเครื่องบินลำนั้นด้วยตัวเอง ดังนั้นความสมจริงจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการใช้เครื่องบินจริงๆ ทำฉาก งานแสง และงานกล้องทุกอย่าง
ในเรื่องนี้คุณทำแทบทุกตำแหน่งทั้งกำกับ เขียนบท โปรดิวเซอร์ และอำนวยการสร้าง การทำเองหมดนี่มันมอบอิสระในการทำงานให้คุณมากกว่าเดิมไหม
ทั้งหน้าที่ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์มันหนักพอกัน แต่คนละแบบ ยิ่งกับการทำหนังแอ็กชันหายนะที่ไม่ทิ้งความคิดสร้างสรรค์แบบเรื่องนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
ส่วนเรื่องอิสระในการทำงานหรือการเลือกนักแสดง ส่วนตัวผมเคยทำงานกับซงคังโฮมาก่อน ผมรู้จักเขาโดยส่วนตัว มันเลยง่ายที่จะชวนเขามาเล่น ส่วนอีบยองฮอน ผมอยากทำงานกับเขามานานแล้ว ตอนเขียนบทผมมีภาพเขาในหัว ผมดีใจมากที่เขาตอบตกลงรับบทนี้
ฉากเครื่องบินคืออีกหนึ่งซีนไฮไลต์ของภาพยนตร์ได้ยินว่าคุณสั่งมันมาจากต่างประเทศ
เราต้องใช้เครื่องบินโดยสารที่สามารถเดินทางจากโซลไปฮาวายได้จริง เพราะว่า Airbus ควบคุมโดยใช้แค่คันบังคับ มันคงดูไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ เราเลยหันไปใช้ Boeing 777 แทน
เราซื้อเครื่องจากลาสเวกัส ก่อนที่มันจะถูกแยกส่วนและส่งขึ้นเครื่องมาให้เรา งานตกแต่งภายใน ทั้งเบาะและพื้นถูกปรับให้เข้ากับคอนเซปต์ เดิมทีมันเป็นสีฟ้า แต่เราอยากให้มันดูอบอุ่น ผู้ชมจะได้รู้สึกเหมือนเป็นหนึ่งในผู้โดยสาร
เราติดตั้งเครื่องบินทั้งลำบนหัวกิมบอล ขนาดฮอลลีวูดยังไม่ค่อยทำกันเลย ในฉากที่เครื่องบินเสียการควบคุม กล้องเราหมุนรอบเครื่อง 360 องศา เป็นร้อยรอบ ทีมเทคนิคพิเศษและสตันท์แมนแนวหน้าของวงการภาพยนตร์เกาหลีช่วยกันเพื่อให้นักแสดง และทีมงานกว่า 70 ชีวิตถ่ายทำกันอย่างปลอดภัย
ถ่ายทำด้วยเทคนิคแฮนด์เฮลด์ 100% นานแล้วที่คุณไม่ได้ใช้เทคนิคนี้ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกๆ ของคุณอย่าง Rules of Dating และ The Show Must Go On
สองผู้กำกับภาพ อีโมแก และพัคจงชู ติดสลิงนิรภัยกับตัวเครื่องขณะที่เดินถือกล้องเก็บสีหน้าของผู้โดยสารตอนที่เครื่องเสียการควบคุม เทคนิคนี้มันทำร้ายตากล้องพอสมควร มันกินพลังอย่างมาก ผมรู้สึกผิดทุกครั้งตอนที่บอกว่าเอาอีกเทค แต่มันเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ผู้ชมสัมผัสประสบการณ์เดียวกับตัวละครตั้งแต่ต้นจบจบ
เราพยายามทำให้งานของตากล้องง่ายขึ้นโดยขอให้นักแสดงยึดบทเป็นหลัก ไม่ต้องอิมโพรไวส์ จะได้ถ่ายตรงตามคิวกับที่ซ้อมไว้
พูดถึงบทบาทของ ซงคังโฮ จากที่เคยแสดงใน Memories of Murder ต่างกันอย่างไรบ้าง
บทบาทมีความแตกต่างกัน ในเรื่องนี้เขาไม่ต้องไปไล่สืบถามแบบปากต่อปากเอง เขายศใหญ่เกินกว่าที่จะไปทำแบบนั้นแล้ว (หัวเราะ) ผมบอกซงคังโฮว่าตัวละครของเขาในเรื่องนี้ต้องใส่แว่นสายตายาวเวลาอ่านหนังสือพิมพ์ เขาหัวโบราณ พูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ ใช้มือถือยังไม่เป็นเลย แต่ตัวละครนี้มีความคลาสสิก ตอนที่ผมเขียนซีนในเรื่องที่มีตัวละครนี้ ผมชอบเปิดเพลง Love Me Tender โดย เอลวิส เพรสลีย์ ไปด้วย
พูดถึงการร่วมงานกับนักแสดงในเรื่อง นักแสดงในหนังเรื่องนี้ถือเป็นระดับไอคอน พวกเขาไม่ได้ดังแค่ในประเทศ แต่ยังระดับโลก ผู้กำกับคนไหนก็อยากทำงานกับพวกเขา
ผมแทบไม่เชื่อเลยว่าเราได้นักแสดงคุณภาพระดับนี้ ตอนทำงานผมยังคิดว่าผมกำลังฝันไป เหมือนกำลังทำหนัง 7 เรื่องไปพร้อมกัน แต่ผมรู้สึกเป็นเกียรติและสนุกมาก
คำถามสุดท้าย อะไรคือ Key Message ของภาพยนตร์ Emergency Declaration ที่คุณต้องการสื่อสารออกไป
ผมต้องการเน้นประเด็นว่าคนเราเอาชนะความกลัวในสถานการณ์บีบคั้นถึงชีวิตอย่างไร ธรรมชาติของมนุษย์พร้อมทำทุกอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา หวังว่าผู้ชมจะได้แง่คิดตรงนี้กลับไป นอกเหนือจากความบันเทิงครับ