Doctor Lawyer เจเดน ลี ทำงานอะไร แกะรอยอาชีพ ‘ล็อบบี้ยิสต์’ บทบาทสำคัญที่มาปรากฏในซีรีส์
หลังจาก Doctor Lawyer ออนแอร์มาถึง EP.3-4 ซีรีส์ก็ยังคงความสนุกอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการปรากฏตัวของ ‘เจเดน ลี’ (รับบทโดย ชินซองรก) หนึ่งในตัวละครสำคัญของเรื่อง เขาเป็นชาวเกาหลี-อเมริกันที่มีอาชีพ ‘ล็อบบี้ยิสต์’ (Lobbyist) ผู้จัดการสาขาเอเชียของ Honors Hand บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการล็อบบี้และการลงทุน
มาถึงตรงนี้ก็น่าสนใจขึ้นมาทีเดียว เพราะอาชีพล็อบบี้ยิสต์ไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยๆ ในซีรีส์ เท่าที่จำได้ หลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับอาชีพนี้ผ่านหูผ่านตามาบ้างแล้วกันในซีรีส์เรื่อง Vagabond (2019) และเมื่อฟังจากชื่ออาชีพดูแล้วอาจจะเข้าใจในแง่ลบได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่คิดผิดซะทีเดียว
แต่จริงๆ แล้ว ล็อบบี้ยิสต์คืออะไร? มีหน้าที่อะไร? เกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทไหน? วันนี้ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จะมาไขข้อข้องใจอาชีพนี้ให้รู้กันแบบทะลุปรุโปร่ง
ล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyist) หรือนักวิ่งเต้น
ล็อบบี้ยิสต์ คือผู้สนับสนุนมืออาชีพที่ทำงานเพื่อโน้มน้าวการตัดสินใจทางการเมืองในนามของบุคคลและองค์กร การสนับสนุนนี้อาจนำไปสู่การเสนอกฎหมายใหม่ หรือการแก้ไขกฎหมายและข้อบังคับที่มีอยู่
ล็อบบี้ยิสต์เป็นอาชีพที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 95,000- 163,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราวๆ 3.3-5.7 ล้านบาท ) ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงมาก
คำว่า ล็อบบี้ยิสต์ เกิดขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา โดยมีที่มาจากคำว่า ล็อบบี้ (Lobby) หรือห้องโถง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ในการชักชวนสมาชิกรัฐสภาในการลงมติต่างๆ ตามที่พวกพ้องของตนต้องการ
อาชีพสีเทาที่ถูกกฎหมาย
ล็อบบี้ยิสต์เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายในอเมริกาและยุโรป โดยในสหรัฐอเมริกามีการประกาศใช้ Federal Lobbying Activity Control Act หรือพระราชบัญญัติควบคุมกิจกรรมการล็อบบี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในปี 1946 ที่ว่าด้วยนักล็อบบี้ยิสต์ที่ลงทะเบียนไว้จะต้องรายงานกิจกรรมที่ได้ทำการล็อบบี้ในแต่ละปีอย่างชัดเจน และถูกแทนที่ด้วย Lobbying Disclosure Act หรือพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลการล็อบบี้ ในปี 1995 ที่เพิ่มเติมในส่วนของข้อมูลที่จำเป็นต้องมีในรายงานกิจกรรม
อาชีพล็อบบี้ยิสต์ในเกาหลีใต้
เมื่ออ้างอิงตามรายงานของสำนักงานสอบสวนคดีนิติบัญญัติแห่งชาติ ตามกฎหมายทนายความ มาตราที่ 111 และกฎหมายลงโทษร้ายแรงในอาชญากรรมเฉพาะ มาตราที่ 3 กล่าวเอาไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นทนายความหรือไม่ ถ้ามีการล็อบบี้โดยได้รับค่าตอบแทน ถือว่าเป็นไปอย่างผิดกฎหมาย ส่วนในกฎหมายอาญามีการระบุเอาไว้ว่า การบริจาคเงินให้สมาชิกรัฐสภาต้องทำโดยไม่มีเงื่อนไข มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน
ในปี 2007 กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ได้มีการฝึกส่งเสริมการล็อบบี้ขึ้นอย่างเป็นทางการ ผู้เสนอแนวคิดนี้ให้เหตุผลว่า ถ้าทำให้การล็อบบี้ถูกกฎหมาย จะทำให้การล็อบบี้ที่มีการระดมเงิน สินค้าและบันเทิงหมดไป แต่กลับถูกคัดค้านจากกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและภาคประชาชน ทำให้ร่างกฎหมายว่าด้วยตัวแทนคำร้อง (ชื่อไม่เป็นทางการ) ถูกปัดตกไป
ธุรกิจแบบไหนที่ใช้ล็อบบี้ยิสต์
ล็อบบี้ยิสต์ถูกใช้ในหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจนํ้ามัน ธุรกิจประกัน ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการประสานงาน การเจรจาผลประโยชน์ต่างๆ ที่อาจจะทับซ้อนกัน อย่างในประเทศเกาหลีใต้ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Samsung ก็ใช้บริการล็อบบี้ยิสต์ในการติดต่อกับฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศเกาหลี
และเมื่อดูผลการรายงานกลุ่มธุรกิจที่ใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการล็อบบี้ของ Open Secret องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1998-2022 พบว่าจากทั้งหมด 20 อันดับ มีกลุ่มธุรกิจสายการแพทย์อยู่ทั้งหมด 4 อันดับ โดยถือเป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเปรียบเทียบกับอันดับอื่นๆ
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ แล้ว ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมซีรีส์ Doctor Lawyer เลือกนำเสนออาชีพล็อบบี้ยิสต์กับธุรกิจโรงบาลการแพทย์ครบวงจรอย่างโรงพยาบาลพันซอก โดยหลังจากได้รับเงินทุนและล็อบบี้ยิสต์เก่งๆ อย่างเจเดน ที่ทำให้กฎหมายว่าด้วยการแปรกิจการทางการแพทย์ของรัฐเป็นของเอกชนผ่านวาระรับรองได้ และนั่นทำให้ กูจินกิ (รับบทโดย อีคยองยอง) ได้ก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิและโรงพยาบาลพันซอกนั่นเอง
เรื่องโดย ธนัชชา เหมืองหม้อ
อ้างอิง: biz.chosun.com, namu.wiki, opensecrets.org, salary.com, ballotpedia.org, lobbyit.com