broker-baby-box

Broker เปิดประวัติ ‘กล่องทารก’ (Baby Box) กล่องแห่งรักที่นำพาพวกเขามาพบกัน

Broker สร้างมาจากเรื่องจริงจากข่าวดังในเกาหลีเมื่อสิบกว่าปีก่อนเกี่ยวกับกล่องรับทารก หรือ Baby Box ซึ่งเป็นกล่องที่ทำไว้สำหรับให้พ่อแม่นำทารกที่ตนไม่พร้อมเลี้ยงดูมาวางไว้ โดยผู้กำกับโครีเอดะที่กำลังหาข้อมูลเพื่อมาเขียนบทภาพยนตร์ Liker Father, Like Son บังเอิญไปเจอข่าวนี้เข้า จึงเกิดไอเดียที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่อง Broker ขึ้นมา

Broker (브로커) หรือในชื่อภาษาไทย ‘จัดหารัก’ ผลงานภาพยนตร์ล่าสุดจากผู้กำกับชาวญี่ปุ่นมากฝีมืออย่าง ฮิโรคาสุ โครีเอดะ ที่เคยฝากผลงานสุดประทับใจไว้มากมาย เช่น Nobody Knows (2004), Our Little Sister (2015), Shoplifters (2018) 

คราวนี้นับเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ เพราะล่าสุดเขาได้พา Broker ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 2022 และได้รับเสียงตอบรับที่ดีอย่างล้นหลามพร้อมกับเสียงปรบมือยาวนานถึง 12 นาที อีกทั้งยังได้รับรางวัล Ecumenical Jury และรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมอีกด้วย ดังนั้น Broker จึงถือเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอีกเรื่องหนึ่งของเขาเลยก็ว่าได้

Baby Box กล่องรับทารกที่มีอยู่จริงในเกาหลี

ที่มาที่ไปของภาพยนตร์เรื่อง Broker เริ่มต้นมาจากโบสถ์ชุมชนจูซารัง (Jusarang Community Church) ซึ่งเป็นองค์กรท้องถิ่นที่ดูแลเด็กถูกทอดทิ้งและพิการทางจิตใจ บริหารจัดการและริเริ่มโดย คุณลุงอีจงรัก (이종락) เนื่องมาจากเขามีลูกชายที่พิการแต่กำเนิด ทำให้ต้องลาออกจากบริษัทเพื่อมาดูแลลูกชาย ต่อมาในปี 1999 เขาตัดสินใจรับเลี้ยงเด็กพิการตัวเล็กๆ จากครอบครัวที่ไม่สามารถดูแลเด็กๆ เหล่านั้นได้อีกต่อไป

จากนั้นในปี 2003 เขาได้สร้างพื้นที่เพื่อดูแลเด็กที่ถูกทอดทิ้งในกรุงโซลแบบเต็มตัว และยังใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการกุศลของโบสถ์จูซารังด้วย จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม ปี 2009 มีทารกแรกเกิดพิการทางร่างกายถูกทิ้งไว้ในกล่องกระดาษหน้าโบสถ์ที่คุณลุงอีจงรักดูแล ตอนที่คุณลุงมาพบนั้นทารกตัวเย็นมาก และได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา…

“หญิงสาวคนหนึ่งโทรมาขอโทษตลอดการสนทนา และยังบอกอีกว่าเธอทิ้งลูกไว้หน้าประตูโบสถ์”

คำสัมภาษณ์ของคุณลุงอีจงรักที่ได้ยินแล้วก็รู้สึกเจ็บปวดและใจหายไม่น้อย คุณลุงยังบอกอีกว่ามีทารกจำนวนมากถูกทิ้งในสถานที่ต่างๆ เช่น ถังขยะ ห้องน้ำ และตู้เก็บของในสถานีรถไฟใต้ดิน ทำให้เขาเกิดไอเดียที่จะสร้างกล่องรับทารกขึ้นมา จนในที่สุดก็มีการตั้งกล่องทารกขึ้นครั้งแรกในเดือนธันวาคม ปี 2009 และมีมาจนถึงปัจจุบัน

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมของผู้เป็นพ่อและแม่ในการดูแลเด็กคนหนึ่ง อาจจะด้วยปัจจัยต่างๆ ของแต่ละคน เช่น อายุ เงิน หน้าที่การงาน สุขภาพ หรือแม้แต่สภาพจิตใจ โดยในปี 2017 กล่องทารกใบนี้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ให้กับทารกถึง 1,300 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ถึง 300 คนเลยทีเดียว




broker-baby-box

กฎหมายอุปถัมภ์บุตรที่ยังคงมีช่องโหว่

แม้คุณลุงอีจงรักจะมีเจตนาดี แต่กล่องทารกก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม (CSO-Network) ในเกาหลี ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มพลเมืองมากกว่า 400 กลุ่ม ได้ยื่นรายงานต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กภายใต้องค์การสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยระบบของกล่องทารก (Baby Box) ได้ละเมิดอนุสัญญาสิทธิของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งระบุไว้ว่า “เด็กจะต้องลงทะเบียนแจ้งเกิดทันทีที่เขาเกิด”

เนื่องจากทารกส่วนใหญ่ไม่สามารถลงทะเบียนแจ้งเกิดได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม นอกจากนี้กลุ่มพลเมืองยังให้เหตุผลอีกว่า Baby Box สนับสนุนการละทิ้งเด็กจากพ่อแม่ที่ไม่ต้องการ

ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมของเกาหลีที่เริ่มใช้ในเดือนสิงหาคม ปี 2012 โดยระบุไว้ว่าเป็นการบังคับให้มารดาผู้ให้กำเนิดต้องจดทะเบียนทารกแรกเกิดก่อน เพื่อให้รับบุตรบุญธรรมได้ต่อไป

broker-baby-box

อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่การตั้งครรภ์นอกสมรสถือเป็นบาปร้ายแรงอย่างเกาหลีนั้น ผู้หญิงเหล่านี้จึงเลือกที่จะปกปิดการตั้งครรภ์ของตน และไม่ได้จดทะเบียนแจ้งเกิดเด็กอย่างถูกกฎหมาย จนทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทิ้งหรือฆ่าเด็กเหล่านี้

แต่ทุกอย่างเริ่มดูมีความหวังมากขึ้น เมื่อ โอชินฮวาน ตัวแทนพรรคพารึนมีแร (바른미래당) ได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติ  ‘กฎหมายการคลอดบุตรแบบไม่ระบุชื่อ’ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลส่วนตัวของมารดาผู้ให้กำเนิดยังคงเป็นความลับ และอนุญาตให้เฉพาะเด็กและแม่เท่านั้นที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้เมื่อต้องการ ได้แต่หวังว่ากฎหมายนี้จะผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ในเร็ววัน 

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Broker นับว่าถ่ายทอดประเด็นดังกล่าวออกมาได้อย่างน่าสนใจ เป็นการนำเสนอแบบไม่ได้มาบอกว่าสิ่งนี้ถูกหรือสิ่งนี้ผิดแบบตรงไปตรงมาเสียทีเดียว เพื่อให้คนดูได้กลับไปคิดต่อเอาเอง อย่าเพิ่งด่วนตัดสินการกระทำของใคร เพราะทุกตัวละครมีเหตุผลเป็นของตนเอง อีกทั้งยังนำเสนอประเด็นเรื่องครอบครัวในมุมที่แตกต่างออกไปได้อย่างลงตัวเช่นกัน


“ขอบคุณนะที่เกิดมา” ประโยคสั้นๆ ที่ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส อยากทิ้งท้ายเอาไว้ให้กับทุกๆ คน อาจเป็นประโยคฟังดูแสนธรรมดา แต่ก็แฝงไปด้วยความอบอุ่นจนเหมือนถูกโอบกอดเอาไว้ เพราะทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนมีคุณค่าและสวยงามเสมอ

broker-baby-box

เรื่องโดย ธนภัทร จันทร์เหม
อ้างอิง:
iabb.info, koreatimes.co.kr, time.com

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้