อูยองอู ทนายอัจฉริยะ กับการหาทางออกให้ 3 คดีเด็ด ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน
Extraordinary Attorney Woo อูยองอู ทนายอัจฉริยะ ผ่านมาแล้ว 8 ตอน 7 คดี โดยส่วนมากนับเป็นคดีที่อาจเกิดขึ้นได้จริงในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น คดีทำร้ายร่างกายของคู่สามีภรรยาสูงวัย, คดีชุดแต่งงานที่หลุดลง, คดีชายหนุ่มออทิสติกที่รักเพงซู, คดีการต่อสู้ระหว่างสามพี่น้อง, คดีลิขสิทธิ์ของสองบริษัทเอทีเอ็ม, คดีคุณแม่ชาวเกาหลีเหนือ, และคดีเวนคือที่ดินของย่านโซด็อก
จะเห็นได้ว่าทุกคดีที่ถูกนำมาเล่าผ่านการทำงานของอูยองอู เป็นคดีใกล้ตัวที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ Extraordinary Attorney Woo แตกต่างจากซีรีส์กฎหมายอื่นที่มักมีเนื้อหาเข้มข้น และเป็นเรื่องราวที่ค่อนข้างไกลตัว เช่น คดีฆาตกรรม คดีที่เกี่ยวข้องกับตระกูลแชโบล หรือการทุจริตของรัฐบาล
ดูซีรีส์ให้ซีเรียส หยิบ 3 คดีเด็ดในซีรีส์มาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่คล้ายกับคดีจริงในไทย เพราะเราชักเริ่มสงสัยว่าปลายทางของคดีเหล่านั้นจะเหมือนหรือแตกต่างจากใน Extraordinary Attorney Woo หรือไม่ และถ้าคดีเหล่านี้เกิดขึ้น คนธรรมดาอย่างเราจะไปปรึกษาใครได้บ้าง หากไม่ใช่ทนายอูยองอู สำนักกฎหมายฮันบาดา หรือสำนักกฎหมายแทซาน? หรือว่าระบบการเรียกร้องความยุติธรรมในไทยจะพุ่งตรงไปที่โหนกระแส, พี่หนุ่ม กรรชัย, ทนายตั้ม และคุณหญิงปวีณา เท่านั้นหรือ?
คดีทำร้ายร่างกายระหว่างคู่รักสูงวัย – ต้นมะม่วง
คดีแรกของ อูยองอู ทนายอัจฉริยะ ที่ต้องมาว่าความให้อดีตคุณป้าข้างบ้านซึ่งพลั้งมือใช้เตารีดทุบศีรษะสามี เนื่องจากโมโหสามีที่หึงหวงเธอมากจนเกินไปอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้สามีหมดสติล้มลง คุณป้าจึงตกเป็นจำเลยข้อหาพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญาของเกาหลี มาตรา 250 วรรค 1 ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต หรืออย่างน้อย 5 ปี และมาตรา 254 หากผู้ใดมีความพยายามที่จะก่ออาชญากรรมในสี่ข้อก่อนหน้านี้จะถูกลงโทษ
ในท้ายที่สุด คดีของคุณป้าที่ใช้เตารีดทุบตีศีรษะจนเสียชีวิต ถูกฟ้องร้องตามกฎหมายอาญามาตรา 250 วรรค 1 และมาตรา 254 แต่ด้วยความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ทนายอูยองอูเล็งเห็นว่าการทำร้ายร่างกายและการเสียชีวิตไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวัเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง เพราะโรคประจำตัว ไม่ใช่เกิดจากการถูกทุบตี จึงทำให้คุณป้าถูกพิจารณาคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายแทน
จากคดีนี้ทำให้นึกถึงข่าวที่โด่งดังในโซเชียล เรื่อง “ต้นมะม่วงเป็นเหตุ ภรรยาคว้าปังตอฟันหัวสามี” อ้างอิงจากข่าว PPTV
โดยภรรยาทำร้ายสามีด้วยมีดและสาก เหตุเพราะอยากให้สามีช่วยปลูกต้นมะม่วง แต่สามีกลับเอายอดต้นกล้วยปักลงดิน เนื่องจากอยู่ในอาการมึนเมา ชาวบ้านละแวกนั้นเล่าว่าทั้งสองมักทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง แต่ครั้งนี้เหตุการณ์ค่อนข้างรุนแรง จึงต้องโทรแจ้งตำรวจ ทำให้เรื่องราวทั้งหมดจบลงที่การปฐมพยาบาลให้ผู้เป็นสามี และสามียืนยันว่ายังรักกันดี จึงไม่มีการแจ้งความใดๆ แม้คดีทำร้ายร่างกายระหว่างสามี-ภรรยาโดยเจตนาจะถือเป็นความผิดซึ่งไม่สามารถยอมความได้
โดยสำนักงานกิจการยุติธรรมให้ข้อมูลบนเว็บไซต์ว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา การทำร้ายร่างกายจะได้รับโทษตามความรุนแรงของบาดแผลหรือพฤติการณ์พิเศษ เช่น
มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่น รอยแดง รอยช้ำจากการตบตีหรือชกต่อย
มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายต่อบุคคลเฉพาะเจาะจง เช่น บุพการี เจ้าพนักงาน เป็นต้น หรือพฤติการณ์พิเศษ เช่น วางแผนล่วงหน้า กระทำทารุณกรรม เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 200,000 บาท โดยกำหนดลักษณะบาดแผลซึ่งถือเป็นอันตรายสาหัสไว้ 8 ลักษณะ เช่น ตาบอด ใบหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว แท้งลูก ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา หรือทำงานไม่ได้เกินกว่า 20 วัน เป็นต้น
ชุดแต่งงานที่หลุดลง – โรงแรมไม่ตรงปก
คดีชุดแต่งงานที่หลุดลง เป็นคดีของท่านประธานบริษัทที่ต้องการเรียกค่าเสียหายจำนวน 1 พันล้านวอนจากโรงแรมแดฮยอน ซึ่งเป็นทั้งสถานที่จัดงานและออร์แกไนเซอร์ดูแลการแต่งงานของลูกสาวท่านประธานทั้งหมด
เนื่องจากชุดเกาะอกของเจ้าสาวหลุดขณะกำลังเดินเข้าพิธีวิวาห์ จากความสะเพร่าของหัวหน้าทีมที่แก้ไขปัญหาชุดขาดด้วยการเปลี่ยนเป็นชุดที่มีดีไซน์เหมือนกัน แต่ไซส์ใหญ่กว่าให้เจ้าสาวแทน
สุดท้ายอูยองอูสามารถหลักฐานความผิดของทางโรงแรมได้ และเตรียมยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายให้ลูกความได้สำเร็จ
ในประเทศไทยเองก็มักจะเกิดเหตุการณ์ความผิดพลาดของโรงแรมอยู่บ่อยครั้ง โดยรูปแบบหนึ่งที่ผู้บริโภคหลายคนอาจจะเคยเจอก็คงหนีไม่พ้น ห้องพักไม่ตรงปกกับรูปที่ทางโรงแรมโปรโมต ซึ่งคนส่วนใหญ่คงเลือกปล่อยผ่านไป เพราะคิดว่านอนแค่ไม่กี่คืน แต่นั่นอาจหมายถึงการเสียสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากโรงแรม
พิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ผู้บริโภคสามารถแจ้งมายัง 1166 ซึ่งเป็นสายด่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือเจ้าหน้าที่ราชการท้องถิ่นที่ใกล้ที่สุด เช่น เทศบาล และนายกฯ หรือปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อตรวจสอบได้ และยังมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทางโรมแรมได้อีกด้วย โดยต้องเตรียมหลักฐานที่ชัดเจนมาประกอบการฟ้องร้อง
การเวนคืนที่ดินย่านโซด็อกเพื่อสร้างถนน – การพัฒนาเมืองและประชาชน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาเมืองเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็เป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบตามมาได้เช่นกัน เมื่อย่านโซด็อกกำลังจะได้รับผลกระทบทางด้านการอยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมจากการก่อสร้างถนนแฮงบก ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการเมืองใหม่ฮัมอุน
แต่การก่อสร้างนี้ก็ต้องชะงักลง เมื่อต้นแฮกเบอร์รี่ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางธรรมชาติกลายมาเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้พวกเขาชนะคดี เพราะต้นไม้ต้นนี้อยู่ในเส้นทางการสร้างถนน ทำให้ต้องมีการหารือและวางเส้นทางการทำถนนใหม่อีกครั้ง
ทั้งสองคดีก่อนหน้าที่กล่าวมาอาจจะดูเป็นคดีส่วนตัวที่เกิดขึ้นได้ภายในครอบครัว แต่เรื่องราวของย่านโซด็อกเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ซึ่งคล้ายกับ #saveจะนะ อันเป็นการต่อสู้ของชาวบ้านในเขตพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา
เนื่องจากบริเวณที่จะมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ติดทะเล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลในระยะยาว และยังจะทำให้ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการประมงได้รับผลกระทบมากกว่าประโยชน์
ชาวบ้านจึงรวมตัวกันชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐยุติและแก้ไขปัญหานี้อยู่หลายครั้ง จนทำให้รัฐบาลยุติโครงการเพื่อประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA)
ทว่าเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 รัฐบาลกลับมาอนุมัติโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมท่าจะนะอีกครั้ง พร้อมกับดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ตามเดิมภายใต้การรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งการกลับมาเดินหน้าโครงการสร้างความไม่พอใจให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก จึงต้องการยื่นคัดค้านมตินี้ และกำลังวางแผนแนวทางต่อต้านอีกครั้ง
รวมถึงในปี 2564 ก็ยังคงเกิดการต่อสู้ระหว่างรัฐและนายทุนที่พยายามจะตั้งโรงผลิตไฟฟ้าชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชาวบ้านนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช จนเกิด #saveนาบอน และมีการเดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบอยู่หลายครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็เกิดการรวมตัวกันประท้วงบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง เพื่อทวงสัญญาที่รัฐบาลให้ไว้จากการชุมนุมครั้งก่อนว่าจะประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA)
โดยผลจากการประชุมของคณะรัฐบาลในวันที่ 25 กรกฎาคม ยืนยันว่าจะเร่งจัดตั้งคณะกรรมการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่ายภายใน 15 วัน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมพึงพอใจ และประกาศยุติการชุมนุม
แม้รัฐบาลจะให้คำมั่นสัญญาแก่ชาวบ้านทั้งสองกลุ่ม แต่ทั้ง #saveจะนะ และ #saveนาบอน ก็ยังคงเป็นประเด็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงควรติดตาม ช่วยเหลือและสนับสนุนชาวบ้านเหล่านี้ต่อไป
หากต้นไม้ต้นหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างถนนได้ ก็หวังว่าการเรียกร้องของชาวบ้านที่ต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อมก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมได้ด้วยเช่นเดียวกัน
ติดต่อใครดี
หากไม่ใช่ทนายอูยองอู สำนักกฎหมายฮันบาดา หรือสำนักกฎหมายแทซานแล้ว เมื่อเกิดคดีความขึ้น หลายคนอาจจะนึกถึงทนายตั้มหรือทนายเดชา แต่นอกจากนี้ ในเบื้องต้นเราสามารถปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับคดีจากทั้งหน่วยงานรัฐที่รัฐจัดไว้ให้ หรือเอกชนก่อนที่จะดำเนินคดีได้ด้วยเช่นกัน เช่น
ถ้าเป็นคดีเล็ก หรือมีงบน้อย สามารถประเมินคดีและติดต่อ JusThat ได้ ผ่าน https://justhat.app/
ถ้าเป็นคดีปกครอง สามารถปรึกษากับศาลปกครองออนไลน์ได้ ผ่าน https://www.admincourt.go.th/admincourt/site/qonline.php
หรือสามารถเข้าร้องทุกข์และปรึกษาทนายได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ https://www.moj.go.th/thainiyom/detail?id=6
เรื่องโดย อรณิชา ชูสกุล
อ้างอิง: pptvhd36.com, kapook.com, thairath.co.th, seub.or.th, justicechannel.org, elaw.klri.re.kr