Cafe Minamdang เจาะลึกตำนาน ร่างทรงเกาหลี ที่มีอิทธิพลมาทุกยุคทุกสมัย
Cafe Minamdang ซีรีส์แนวสืบสวนและลึกลับเรื่องใหม่จากช่อง KBS ที่กำลังจะออนแอร์ในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ ดัดแปลงมาจากนิยาย Minamdang – Case Note เรื่องราวของ นัมฮันจุน (รับบทโดย ซออินกุก) อดีตโปรไฟเลอร์ที่อาศัยความสามารถเดิมผันตัวมาเป็น ‘มูดัง’ หรือร่างทรงต้มตุ๋นในคาเฟ่ และฮันแจฮี (รับบทโดย โอยอนซอ) ตำรวจนักสืบสาวที่จะมาร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ดูซีรีส์ให้ซีเรียส สงสัยว่า Cafe Minamdang จะเล่าเรื่องของ มูดัง หรือ ร่างทรงเกาหลี ออกมาในรูปแบบไหน มีประวัติที่มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร เพราะมูดังถือว่าเป็นหนึ่งในบทบาทที่ปรากฏให้เห็นในซีรีส์เกาหลีอยู่บ่อยครั้ง และการหาคำตอบในครั้งนี้จึงน่าจะช่วยเพิ่มมุมมองที่มีต่อมูดังในซีรีส์ต่างๆ ให้มากขึ้นได้
ลัทธิมู คืออะไร?
ลัทธิมู (무교) หรือลัทธิชิน (신교) เป็นความเชื่อพื้นเมืองของเกาหลีที่นับถือกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เกาหลี เชื่อว่าวิญญาณมีอยู่ภายในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่า ต้นไม้ หรือสัตว์ก็ล้วนมีวิญญาณ โดยเฉพาะสังคมเกษตรที่ผูกโยงชีวิตประจำวันอยู่กับความเชื่อเรื่องนี้
คำว่า มู (무) ยังไม่ปรากฏแหล่งที่มาที่แน่ชัด คำนี้อาจเป็นคำจีน-เกาหลี โดยมาจากคำว่า วู (wu; 巫) ในภาษาจีน ที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับหมอผีในจีน หรืออาจมาจากทางฝั่งไซบีเรียที่มีอิทธิพลกับเกาหลีในช่วงนั้นมากกว่าจีน รวมถึงยังมีลักษณะการทำพิธีดูดวงที่คล้ายกันแล้วนำอักษรจีนมาใช้แทน
มูดัง คือใคร?
มูดัง (무당) หรือร่างทรง จะเป็นผู้สื่อสารระหว่างมนุษย์และวิญญาณต่างๆ ผ่านการทำพิธี หรือกุด (굿) เช่น ขอฝน ทำนายอนาคต หรือขึ้นบ้านใหม่ แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในพิธีจะประกอบไปด้วย ดนตรีประกอบการร่ายรำ เช่น กลอง ฉาบ ขลุ่ย อาหารเซ่นไหว้ เช่น หมู วัว ผลไม้ โซจู และมูกู (무구) หรืออุปกรณ์ในการประกอบพิธี เช่น กระดิ่ง ทวน พัด ซึ่งจะใส่ชุดฮันบกที่มีลักษณะและสีสันแตกต่างกันออกไป โดยจะไม่มีสถานที่ทำพิธีที่ชัดเจน
การทำพิธีของมูดังในสมัยโชซอน โดย ชินยุนบก (신윤복)
โดยส่วนใหญ่แล้วมูดังจะเป็นผู้หญิง เพราะเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาและเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่อาชีพที่ผู้หญิงสามารถทำได้ในอดีต ถ้าหากเป็นผู้ชายจะเรียกว่า พัคซู (박수) และมีสัดส่วนที่น้อยกว่า แต่ในปัจจุบันสามารถเรียกมูดังได้ทั้งหญิงและชาย
มูดังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. คังชินมู (강신무) หรือมูดังที่ถูกเลือก ผู้ที่ถูกเลือกจะมีอาการเจ็บป่วยที่เรียกว่า ชินพย็อง (신병) หรือมูพย็อง (무병) ซึ่งไม่สามารถรักษาหรืออธิบายด้วยความรู้ทางการแพทย์ได้ จึงต้องเข้าทำพิธีเนริม (내림굿) เพื่อรับวิญญาณและหายจากอาการป่วย มูดังลักษณะนี้พบได้ทั่วไปในเกาหลี แต่อาจมีลักษณะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ มีหน้าที่เป็นร่างทรงของวิญญาณในการทำพิธีและทำนายดวง
2. เชซึมมู (세습무) หรือมูดังที่สืบเชื้อสายโดยตรงจากครอบครัว จึงสามารถทำพิธีหรือสื่อสารร่วมกับวิญญาณหรือเทพเจ้ามากกว่าหนึ่งได้ โดยจะมีพื้นที่ที่แต่ละครอบครัวสามารถทำพิธีได้ แต่จะไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพหรือแต่งงานกับคนที่มีสถานะทางสังคมต่างจากครอบครัวได้ ทำให้ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลง พบในทางตอนใต้ของแม่น้ำฮัน ในเชจูจะเรียกว่า ชิมบัง (심방) ส่วนในคยองซังและชอลลาจะเรียกว่า ดันกล (단골)
บทบาทของมูดังตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในอดีต การหน้าที่ทำพิธีและทำนายดวงของมูดังเปรียบได้กับการเป็นที่ปรึกษากษัตริย์ ทำให้มูดังมีสถานะทางสังคมที่โดดเด่นมาก จนถึงช่วงสามอาณาจักรเกาหลี ศาสนาพุทธและขงจื๊อจากจีนเริ่มเผยแพร่เข้ามา ทำให้สถานภาพของมูดังเริ่มถดถอยลงบ้าง
ในสมัยโครยอ แม้ศาสนาพุทธจะเริ่มเจริญรุ่งเรือง แต่ก็ยังมีผู้นับถือลัทธิมูมากกว่า แต่สมัยโชซอน นักปราชญ์ในลัทธิขงจื๊อพยายามลดบบทบาทของมูดังลง แต่ก็ไม่อาจทำได้ เพราะยังคงมีพิธีบางอย่างที่ยังต้องพึ่งพามูดังอยู่ เช่น การขอฝน
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19-20 การเข้ามาของศาสนาคริสต์ทำให้อิทธิพลของความเชื่อนี้ลดลง อีกทั้งในช่วงอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ยังมีการเผยแพร่ศาสนาชินโต ทำให้ความเชื่อนี้มีลักษณะคล้ายกับศาสนาชินโต และญี่ปุ่นยังพยายามทำให้ความเชื่อนี้หายไปจากสังคมเกาหลี
ภายหลังการได้รับอิสรภาพจากญี่ปุ่น เกาหลีพยายามปรับภาพลักษณ์ให้เป็นสังคมสมัยใหม่ ความเชื่อในลักษณะนี้จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับและต้องหลบซ่อน แต่ก็มีการพยายามฟื้นฟูอยู่หลายครั้ง เพราะเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ที่มีทั้งดนตรี การร่ายรำ เรื่องเล่า และภาษาในบทสวดที่ควรอนุรักษ์ จนตอนนี้มูดังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงเกาหลีไม่ได้กำหนดการนับถือศาสนาทำให้ความเชื่อนี้ยังคงมีอยู่ในบางพื้นที่
ปัจจุบันมูดังเป็นหมอดูที่สามารถสื่อสารกับวิญญาณได้ และมีหน้าที่ปรึกษาและแก้ปัญหาชีวิตให้ลูกค้าที่มาเข้ารับบริการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรืออาการป่วยทางกายที่ไม่สามารถรักษาทางการแพทย์ได้ผ่านการทำพิธี ทำให้อาจมีจำนวนผู้ถูกหลอกจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นมูดังจะแตกต่างจาก ซาจู (사주) หรือการดูดวงทั่วไป
ซาจู: การดูดวงแบบเกาหลี
ซาจู (사주) หรือการดูดวงจากวันเดือนปีเกิด โดยซาจูแปลว่า สี่เสาหลัก เสาแต่ละต้นจะมีอักขระตัวแทนของสวรรค์และโลกอย่างละ 2 ต้น รวม 8 อักขระ ซึ่งมีพลังหยิน-หยางและธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และโลหะ เพื่อวิเคราะห์พลังงานดวงตามตำราโหราศาสตร์จากจีน
จากการวิจัยด้านการตลาดในปี 2018 พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 66% ดูดวงอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และในช่วง COVID-19 พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 70% อีกทั้งการวิจัยของ Embrain Trend Monitor ในปี 2019 ยังชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่ชาวเกาหลีนิยมดูดวงเพื่อความสบายใจ และเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่ตนกำลังกังวลใจอยู่
ซาจูจึงถือว่าเป็นศาสตร์การดูดวงที่เป็นที่นิยมมากและสามารถพบได้ทั่วไปในเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นย่านฮงแด ย่านกังนัม พื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัย ในคาเฟ่ เรียกว่าซาจูคาเฟ่ (사주카페) หรือแม้แต่ในเต็นท์ริมถนน โดยบางที่จะมีบริการดูดวงเป็นภาษาอังกฤษ หรือจะมีบริการล่ามแปลภาษาเพื่อชาวต่างชาติโดยเฉพาะ เช่น Fun Saju Cafe คาเฟ่ซาจูที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในย่านฮงแด
มูดังบางคนเองก็อาศัยโซเชียลมีเดียหรือเว็บบล็อกส่วนตัวในการบอกรายละเอียด นัดทำพิธีเพื่อความสะดวก และเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย เช่น Jennifer Kim และ Shaman Helena รวมถึงยังมีรูปแบบที่หลากหลายมากไปกว่าการใส่ชุดฮันบก เช่น ฮงกัลลี (홍칼리) มูดังหญิงที่แต่งชุดลำลองนั่งทำนายดวงให้ลูกค้าในคาเฟ่ โดยอาศัยแนวคิดเฟมินิสต์มาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาให้ลูกค้า
นอกจากนี้มูดังยังปรากฏอยู่ในสื่อด้วยรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น เช่น คุณครูห้องพยาบาลที่ปราบปีศาจใน The School Nurse Files, นักเรียน ม.ปลาย ที่เป็นร่างทรงใน The Great Shaman Ga Doo Shim และล่าสุดอดีตโปรไฟเลอร์ที่จะใช้ทักษะของตนมาหลอกลูกค้าว่าเป็นมูดังใน Cafe Minamdang ซึ่งน่าจะมาเพิ่มมิติความหลากหลายให้มูดังหรือซาจู ให้มากยิ่งขึ้นได้
เรื่องโดย อรณิชา ชูสกุล