เฉลยคำถาม 3 ข้อที่ ‘จางฮันซอ’ ตอบ Vincenzo ไม่ได้!
อุ่นเครื่องก่อนดู Vincenzo กับเฉลย ‘คำถาม 3 ข้อ’ ของจางฮันซอ (จาก EP. 15) เขาทำให้ มือที่มองไม่เห็น = การโอบทิพย์, กฎของวากเนอร์ = รายการเรียลลิตี้ และ Benchmarking = การออกกำลังกาย ได้อย่างไร? (เพียงเข้าใจความหมายของคำตอบที่เขาตอบออกมาเท่านั้นจะร้องอ๋อ!)
ดูซีรีส์ให้ซีเรียส ขอพาทุกคนไปหาความหมายของคำตอบ ‘ที่ถูกต้อง’ ทั้ง 3 ข้อ จากซีรีส์ Vincenzo แบบย่นย่อ และมองลึกลงไปในคำตอบของจางฮันซอ ‘อย่างเข้าใจ’ แล้วจะรู้ว่าสิ่งที่เขาพูดออกไปไม่ใช่เล่นๆ!
คำใบ้: เขาเป็นคนตลกมากสำหรับเราในตอนนี้!
มือที่มองไม่เห็น
วินเชนโซ: อดัม สมิธ เคยกล่าวไว้ในความมั่งคั่งแห่งชาติว่า มือนี้ทำให้เศรษฐกิจแบบตลาดเป็นระเบียบได้ มันคือมืออะไร?
จางฮันซอ: มือสุภาพ!
ฮงชายอง: ผิด! มือที่มองไม่เห็น
เริ่มจากคำถามที่เด็กเศรษฐศาสตร์ต้องร้องอ๋อ ที่วินเชนโซถามคำถามเกี่ยวกับ อดัม สมิธ ศาสตราจารย์ภาควิชาจริยศาสตร์ ผู้บุกเบิกวิชาเศรษฐศาสตร์ หรือ ‘บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์’ ที่เคยกล่าวเอาไว้ในหนังสือความมั่งคั่งแห่งชาติ (An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations หรือที่หลายคนรู้จักแบบย่อๆ ว่า The Wealth of Nations) ถึง ‘มือที่มองไม่เห็น’ (Invisible Hand) = กลไกตลาดที่มีการแข่งขันเสรีของวิสาหกิจเอกชนขนาดเล็กจำนวนมากและปราศจากการแทรกแซงของรัฐ
โดยตลาดที่มีเงื่อนไขดังกล่าว ผู้บริโภคและผู้ผลิตจะถูกมือที่มองไม่เห็นชักนำให้มีการปรับตัว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าตลาดนั้นจะสามารถกีดกันการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวที่ไม่ชอบมาพากลได้ รัฐจึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง เพราะการแข่งขันในตัวของมันเองเป็นช่องทางไปสู่ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของสังคมได้อยู่แล้ว
ซึ่งคำตอบของจางฮันซอที่ตอบว่า ‘มือสุภาพ’ นั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีความหมายหรือเป็นการตอบส่งๆ ไป เพราะคำว่ามือสุภาพที่ถูกแปลออกมาในซับภาษาไทย มาจากภาษาเกาหลีคือ 매너손 (เม-นอ-ซน) โดย 매너 = มารยาท (Manner) และ 손 = มือ (Hand) เมื่อนำมารวมกันจึงกลายเป็นมือมารยาท หรือมือสุภาพ
เมื่อลองนำไปหาความหมาย จึงพบว่ามือสุภาพคือหนึ่งในวัฒนธรรมที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย (หรือเคยเห็นบ่อยครั้งในภาพถ่ายของเหล่าคนดังในวงการบันเทิง) กับการที่ฝ่ายชาย (ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายชาย) ต้องโอบไหล่ โอบเอว ฯลฯ ของฝ่ายหญิงในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การถ่ายภาพหรือวิดีโอในงานแถลงข่าว และเพื่อป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีหรือกระอักกระอ่วนใจ ‘การโอบทิพย์’ ต่างๆ จึงถูกเรียกว่ามือสุภาพที่จางฮันซอตอบวินเชนโซไปนั่นเอง! (ลองนำคำว่า 매너손 ไปเสิร์ชได้ ภาพการโอบทิพย์ต่างๆ ที่ปรากฏจะทำให้หลายคนร้องอ๋อทันที)
อ้างอิง:
– https://bit.ly/3sPN9Sq
– https://bit.ly/2ROopNx
– https://bit.ly/3tL20is
กฎของวากเนอร์
วินเชนโซ: กฎที่พูดว่ายิ่งเศรษฐกิจเติบโต สัดส่วนรายจ่ายของภาครัฐในมวลรวมของประเทศจะเพิ่มขึ้น คือกฎอะไร
จางฮันซอ: กฎแห่งป่า!
ฮงชายอง: ผิด! กฎของวากเนอร์
The Law of Increasing State Activities หรือ ‘กฎของวากเนอร์’ คือกฎหมายที่ตั้งชื่อตามนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน อดอล์ฟ วากเนอร์ ซึ่งว่าด้วยการที่ภาครัฐมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐต่อรายได้ประชาชาติของประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น การที่ประชาชนมีอุปสงค์ต่อบริการของรัฐในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ จากความต้องการการศึกษาขั้นต้นเป็นการศึกษาในระดับสูงขึ้น บริการอนามัยที่ดีขึ้น และเมื่อประชาชนมีรายได้พ้นขีดความยากจน พวกเขาอาจต้องการให้มีสวนสาธารณะ รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ ซึ่งสัมพันธ์กับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของพวกเขา
และเมื่อฟังคำตอบของจางฮันซอแล้วก็ทำให้คิดเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจากคาดเดาว่าเขาน่าจะเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการดูรายการโทรทัศน์ เพราะคำว่ากฎแห่งป่า หรือ 정글의 법칙 (ชองกือเร พอบชิก) ที่เขาตอบออกมานั้นเป็นชื่อภาษาเกาหลีของรายการเรียลลิตี้แนวผจญภัยเอาชีวิตรอด The Law of Jungle จากช่อง SBS ที่เริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 2011 และเพิ่งตัดสินใจยุติการออกอากาศ (เพราะสถานการณ์โควิด-19) ไปเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา (ตอบคำถามด้วยชื่อรายการข้ามช่องกันเลยทีเดียว)
ส่วนสาเหตุที่จางฮันซอเลือกตอบชื่อรายการ The Law of Jungle ออกมานั้น เราคิดว่ามีเหตุผลเดียวคือเพราะรายการนี้มีชื่อภาษาอังกฤษที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘The Law of…’ เหมือนกัน (จังหวะนั้นเราเองก็เข้าใจ คิดอะไรได้ต้องตอบออกไปก่อน เพราะวินเชนโซคือหนทางแห่งการพ้นทุกข์เพียงหนึ่งเดียวในนาทีนั้น)
ส่วนใครที่อยากดูรายการ The Law of Jungle (ซับไทย) เป็นเพื่อนจางฮันซอ ก็สามารถรับชมได้ผ่านทาง Viu เช่นกัน
อ้างอิง:
– https://bit.ly/3xl7SBe
Benchmarking
วินเชนโซ: นวัตกรรมที่บริษัทเรียนรู้จากบริษัทอื่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ชื่อเรียกนี้ที่มาจากท่อนเหล็กคืออะไร คำใบ้นะ Bench…
จางฮันซอ: Bench Press!
ฮงชายอง: Benchmarking!
แม้วินเชนโซจะบอกว่าเป็นคำถามที่ ‘ง่าย’ และมาพร้อมคำใบ้ ‘Bench…’ ที่แบไต๋สุดๆ แล้ว แต่จางฮันซอก็ไม่สามารถตอบคำว่า ‘Benchmarking’ ซึ่งเป็นกระบวนการวัดและเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ บริการ วิธีปฏิบัติขององค์กรตนเองและองค์กรอื่นที่สามารถทำได้ดีกว่า เพื่อนำผลของการเปรียบเทียบมาใช้ในการปรับปรุงองค์กรของตนเองได้ (ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A ใช้เวลาส่งสินค้าให้ลูกค้า 1 วัน ในขณะที่บริษัท B ใช้เวลาส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง ระยะเวลาที่ใช้คือ Benchmark เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบ และค่าของระยะเวลาที่ใช้เปรียบเทียบเป็นค่าที่กำหนดว่าองค์กรควรเปรียบเทียบกับผู้ที่มีผลการปฏิบัติที่ดีกว่าในระดับใด เช่น ระดับอุตสาหกรรม ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก)
ส่วนคำตอบของจางฮันซออย่าง Bench Press นั้น สายออกกำลังกายน่าจะคุ้นเคยกับคำนี้ดี (ถ้าจางฮันซอกมาได้ยินคำตอบนี้ของน้องชายเขาต้องพูดว่า Are You Crazy? ออกมาแน่ๆ) เพราะ Bench Press ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแวดวงธุรกิจหรือเศรษฐกิจเลยสักนิด แต่มันคือหนึ่งในท่าออกกำลังกายที่รับความนิยมในการสร้างกล้ามอก! (ส่วนใหญ่จะเล่นควบคู่กับดัมเบลหรือบาร์เบล)
หากใครยังนึกไม่ออก ใน EP. 5 มีซีนที่จางฮันซอทำ Bench Press ด้วยบาร์เบลในฟิตเนสให้เห็นด้วย! ซึ่งไม่ทำให้แปลกใจเลยจริงๆ ที่เขาเลือกตอบคำว่า Bench Press ออกมาทันทีที่ได้ยินคำใบ้ (ขึ้นต้นด้วย Bench เหมือนกัน แต่ต่างกันคนละเรื่อง!) ซึ่งคำตอบนี้ของจางฮันซอทำให้นึกย้อนไปถึงช่วงที่วินเชนโซเจอจางฮันซอครั้งแรก ที่ตอนนั้นเขาก็เคยลองภูมิคำถามเกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจกับจางฮันซอมาแล้วเช่นกัน (ผ่านไป 10 อีพีแล้วก็ยังตอบไม่ได้เหมือนเดิม!)
อ้างอิง:
– https://bit.ly/3vj57hE
– https://bit.ly/3gBR0jA