“ฉันเป็นวิศวกรโครงสร้าง ไม่ใช่สถาปนิก” My Mister ความละเอียดของอาชีพ วิศวกร ที่เล่าผ่านตัวละคร พัคดงฮุน
Highlight
- บรรยากาศกดดันที่ได้เห็นใน My Mister ก็ไม่ต่างจากซีรีส์เกี่ยวกับการทำงานเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมการทำงานของคนเกาหลีใต้มีการแข่งขันและความกดดันสูงมาก
- “ทุกตึกเกิดจากการต่อสู้ระหว่างแรงภายนอกกับแรงภายใน ชีวิตก็เหมือนกัน มันเป็นการต่อสู้ระหว่างแรงภายนอกและแรงภายใน ต่อให้เกิดเรื่องอะไรขึ้น เราก็จะผ่านไปได้ ถ้ามีแรงภายในที่เข้มแข็งเพียงพอ” – พัคดงฮุน
My Mister ซีรีส์อบอุ่นหัวใจ แต่ในขณะเดียวกันก็กลับหนักหน่วงชีวิตเกินกว่าจะรับไหว การันตีด้วยรางวัลซีรีส์ยอดเยี่ยมและเขียนบทยอดเยี่ยมจากเวที Baeksang Arts Awards ครั้งที่ 55 ผลงานของผู้กำกับ คิมวอนซอก จาก Signal และนักเขียน พัคแฮยอง ที่เราอินมากๆ กับซีรีส์ My Liberation Notes ส่วนนักแสดงผู้รับบทคุณลุงพัคดงฮุนก็ไม่ใช่ใครที่ไหน อีซอนกยุน คุณพ่อคนรวยกลิ่นดีจากภาพยนตร์ Parasite นี่เอง
My Mister เล่าเรื่องราวชีวิตผู้คนธรรมดา และการที่คนสองคนได้เข้ามาเยียวยาชีวิตกันและกัน ระหว่าง พัคดงฮุน วิศวกรโครงสร้างวัย 40 กว่าที่เต็มไปด้วยภาระมากมายให้ต้องอดทน ทั้งในฐานะลูกชายคนกลางที่ดูมีการงานมั่นคงที่สุดในครอบครัว และเรื่องราวชวนปวดหัวในบริษัท พ่วงด้วยชีวิตแต่งงานที่ดูไม่มีความสุข กับ อีจีอัน หญิงสาววัย 21 ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ดูแลย่าที่เป็นใบ้เพียงลำพัง แถมยังมีเจ้าหนี้โหดที่คอยตามทำร้ายจนเนื้อตัวฟกช้ำ เอาเป็นว่าสองตัวละครหลักเป็นคนที่มีชีวิตช้ำๆ ไม่ต่างกัน
ปัจจุบันมีซีรีส์เกี่ยวกับอาชีพมากมาย ทั้งซีรีส์ทนาย นักข่าว และการแพทย์ แต่อาชีพ วิศวกร ยังมีไม่เยอะนัก อีกทั้งยังมีความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาชีพก่อสร้างบ้าน ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จึงอยากชวนมารู้จักอาชีพวิศวกรโครงสร้าง ซึ่งเป็นอาชีพของ พัคดงฮุน ตัวเอกของ My Mister
แนะนำตัวละครที่เราต้องรู้จักใน My Mister
พัคดงฮุน (รับบทโดย อีซอนกยุน) หัวหน้าทีมวิศวกรโครงสร้างของบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งที่เริ่มมีปัญหากับที่ทำงาน เป็นคุณลุงที่พูดน้อยและเก็บทุกอย่างไว้ในใจ แต่กลับเป็นที่พึ่งของทุกคนในย่านฮูกเย
อีจีอัน (รับบทโดย ไอยู หรืออีจีอึน) ลูกจ้างชั่วคราวของบริษัททำหน้าที่คัดแยกใบเสร็จและเอกสารต่างๆ ของแผนก ใช้ชีวิตอย่างดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อเอาชีวิตรอด แม้จะต้องทำในสิ่งผิดกฎหมายก็ตาม
พัคซังฮุน (รับบทโดย พัคโฮซาน) พี่ชายคนโตที่โดนไล่ออกจากบริษัท ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาด
พัคกีฮุน (รับบทโดย ซงแซบยอก) น้องชายคนเล็กที่ใฝ่ฝันจะเป็นผู้กำกับใหญ่ เป็นคนใจร้อน ชอบโวยวาย จนเป็นเหตุทำให้ตกงาน และได้มาทำงานกับพี่คนโต
ทำความรู้จักอาชีพวิศวกรโยธาของพัคดงฮุน
ไม่ได้ดีแค่รางวัล นักแสดง ผู้กำกับ นักเขียน แต่ประเด็นอาชีพในซีรีส์ My Mister ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเล่าถึงอาชีพที่ไม่ค่อยได้เห็นในซีรีส์บ่อยนัก นั่นก็คือวิศวกรโยธา (Civil Engineer) ซึ่งแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นหนึ่งอาชีพแล้ว แต่ในสายงานวิศวกรโยธายังสามารถแบ่งย่อยได้เป็น 6 สายงานหลักๆ ประกอบด้วย
– วิศวกรรมโครงสร้าง – เกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างสิ่งก่อสร้าง
– วิศวกรรมฐานราก – เน้นงานฐานราก สำรวจชั้นดิน กำลังการรับ การทรุดตัว
– วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ – บริหารจัดการน้ำ ออกแบบระบบระบายน้ำ
– วิศวกรรมและการบริหารการก่อสร้าง – บริหารงานด้านโยธา เงิน คนงาน เวลาการทำงาน
– วิศวกรรมสำรวจ – สำรวจพื้นที่ การทำแผนที่ การเตรียมพื้นที่
– วิศวกรรมขนส่ง – การวางแผนและออกแบบระบบขนส่งมวลชน
เมื่อศึกษาในรายละเอียดแล้วก็พอจะบอกได้ว่าในซีรีส์ My Mister พัคดงฮุน ประกอบอาชีพวิศวกรโครงสร้าง เป็นผู้ดูแลการวางแผน วิเคราะห์ ออกแบบ และการก่อสร้างโครงการต่างๆ อีกทั้งในซีรีส์ยังเล่าถึงสังคมการทำงานในสายงานนี้ที่บริษัทจับตาดูพนักงานตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสอดส่องการใช้โทรศัพท์ในที่ทำงาน พฤติกรรม และความกดดันจากการทำงาน ที่ทำให้คนดูรู้สึกถึงความอึดอัดตามไปด้วย
จะว่าไป บรรยากาศกดดันที่ได้เห็นในซีรีส์ My Mister ก็ไม่ต่างจากซีรีส์เกี่ยวกับหนุ่มสาวออฟฟิศเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมการทำงานของคนเกาหลีใต้มีการแข่งขันและความกดดันสูงมาก
ตั้งแต่การเรียนที่ทุ่มเทอย่างหนักเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดัง เพื่อจะได้ทำงานในองค์กรใหญ่ ได้ทำงานในตำแหน่งสูงๆ มีสถานะทางสังคมที่ดี นั่นทำให้คนเกาหลีมีความรับผิดชอบต่อบริษัทสูง และยังแบกรับความคาดหวังความกดดันที่จะต้องทำงานให้ออกมาดี
สิ่งที่เป็นความเข้มงวดอีกอย่างในระบบการทำงานคือระบบอาวุโส ที่ยังคงมีความเชื่ออย่างเหนียวแน่นในสังคม อย่างในซีรีส์ My Mister เองก็มีการเล่าถึงตัวประธานบริษัท ซึ่งเป็นรุ่นน้องมหาวิทยาลัยของพัคดงฮุน แต่กลับไม่เคารพเขา
รวมถึงการที่พัคดงฮุนทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง จนบางครั้งทำให้ผู้บริหารไม่ถูกใจ รุ่นน้องก็อยากที่จะกำจัดเขาออกจากบริษัท จนทำให้ตัวพัคดงฮุนที่เคยทำหน้าที่วิศวกรออกแบบโครงสร้างถูกลดตำแหน่งงาน และโยกย้ายไปเป็นผู้จัดการทีมตรวจสอบอาคารแทน
“ฉันเป็นวิศวกรโครงสร้าง ไม่ใช่สถาปนิก” คำพูดที่พัคดงฮุนบอกกับอีจีอัน ที่มองว่าสถาปนิกกับวิศวกรก็เหมือนๆ กัน แต่ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย เพราะสถาปนิกคือคนที่ออกแบบอาคาร ส่วนวิศวกรโครงสร้าง คือคนที่ต้องคำนวณขั้นตอนการสร้างว่าต้องใช้วัสดุแบบไหน สร้างอย่างไรให้ถูกกฎหมายและปลอดภัย เพื่อให้ได้อาคารอย่างที่สถาปนิกออกแบบมา
งานของวิศวกรรมโครงสร้าง คืออะไร
การออกแบบโครงสร้าง หมายถึงการเลือกใช้ขนาดหน้าตัดขององค์ประกอบแต่ละส่วนของโครงสร้าง รวมถึงการพิจารณาขนาดรูปร่างเพื่อนำมาออกแบบ
โดยทั่วไปแล้วการออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งานจะเป็นหน้าที่ของสถาปนิก ที่เป็นผู้ระบุว่าโครงสร้างจะมีรูปร่างเป็นอย่างไร แล้ววิศวกรโครงสร้างจะพิจารณาการเลือกใช้วัสดุรับแรง ขนาดขององค์ประกอบ จุดยึดต่อ ที่ทำให้โครงสร้างแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งาน และภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งด้วยตัวอาชีพของพัคดงฮุนนั้นเป็นส่วนงานวิศวกรรมที่สำคัญมากในการสร้างอาคารหรือที่พักอาศัย
งานของการตรวจสอบอาคาร คืออะไร
การตรวจสอบอาคาร คือการตรวจสอบสภาพอาคารด้านความมั่นคงแข็งแรงและระบบอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใช้อาคาร ได้แก่
– การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร เช่น การต่อเติมดัดแปลงปรับปรุงตัวอาคาร การวิบัติของโครงสร้างอาคาร
– ความปลอดภัยของระบบและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร เช่น ระบบลิฟต์ ระบบบันไดเลื่อน ระบบไฟฟ้า
– การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ของอาคารเพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร เช่น บันไดหนีไฟ ป้ายทางออกฉุกเฉิน ระบบแจ้งสัญญาณเหตุเพลิงไหม้
– การตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร เช่น แผนการป้องกันอัคคีภัยในอาคาร แผนการซ้อมอพยพผู้ใช้อาคาร
“ทุกตึกเกิดจากการต่อสู้ระหว่างแรงภายนอกกับแรงภายใน ชีวิตก็เหมือนกัน มันเป็นการต่อสู้ระหว่างแรงภายนอกและแรงภายใน ต่อให้เกิดเรื่องอะไรขึ้น เราก็จะผ่านไปได้ ถ้ามีแรงภายในที่เข้มแข็งเพียงพอ”– พัคดงฮุน
จากคำพูดของพัคดงฮุนที่กำลังพูดถึงแรงภายในและภายนอกของตัวตึกให้อีจีอันฟัง เรียกได้ว่าถ้ามองลงไปลึกๆ ก็จะต้องขอขยายความหมายของคำว่า ‘แรง’ ในทางวิศวกรรมออกมาอย่างคร่าวๆ ให้ผู้ชมได้ลองดูซีรีส์ให้ซีเรียสกันสักหน่อย
วิศวกรโครงสร้างจะศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้าง โดยเน้นที่การวิเคราะห์แรงภายนอกที่กระทำกับชิ้นส่วนหรืออาคารต่างๆ ที่ทำให้เกิดแรงดึง แรงอัด แรงเฉือน แรงบิด และโมเมนต์ดัด รวมถึงการวิเคราะห์แรงภายในที่เกิดขึ้นภายในวัสดุที่ถูกกระทำจากแรงภายนอก ที่ทำให้เกิดความเค้น (Stress) และความเครียด (Strain) รวมไปถึงการเสียรูป และการแอ่นตัว (Deflection) ของชิ้นส่วน
และด้วยความที่คนเกาหลีส่วนใหญ่มีการอาศัยอยู่บนตึกสูง การสร้างตึกสูงจึงต้องทำการคำนวณแรงภายนอกที่จะมากระทำต่อตัวตึก หรือที่เรียกว่าโครงสร้างรับแรงด้านข้างให้ถูกต้อง แรงด้านข้างที่กระทำต่ออาคาร เช่น แรงลม ยิ่งความสูงของตัวอาคารสูงจากพื้นมากเท่าไหร่ แรงลมยิ่งทวีคูณมากขึ้นเท่านั้น และแรงจากแผ่นดินไหว อีกทั้งต้องคำนวณแรงภายนอกที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ยังต้องคำนวณการสร้างโครงสร้างที่มีแรงภายในให้แข็งแกร่ง ในทางวิศวกรรมเรียกว่า การออกแบบแรงกระทำในแนวราบและแรงที่กระทำในแนวดิ่ง คือน้ำหนักที่เกิดจากเสา ผนัง กำแพงของแต่ละชั้น และจะมีความผันแปรไปตามสัดส่วนของความสูงอาคาร ซึ่งการเลือกใช้รูปแบบในการก่อสร้างโครงสร้างจะสอดคล้องกับระดับความสูงของอาคาร เพราะจะช่วยในการลดน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร
โดยการวิเคราะห์โครงสร้างเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกแบบโครงสร้าง และในการออกแบบโครงสร้างที่จะให้ใช้งานได้จะต้องเริ่มต้นจาก
– การเลือกรูปแบบของโครงสร้าง วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ขนาดและรูปร่างของอาคาร
– จากนั้นทำการจำลองโครงสร้าง เพื่อประเมินโครงสร้าง
– หากไม่เป็นที่น่าพอใจก็จะต้องทำการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของโครงสร้างใหม่ หรือวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างใหม่ จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
จากซีรีส์ My Mister ใน EP.8 มีฉากที่พัคดงฮุนนั่งดื่มกับอีจีอันที่ร้านอาหารและเกิดลมพัดแรงขึ้น เขาจึงตรวจสอบตึก จนทำให้เราได้เห็นอุปกรณ์ตรวจสอบความปลอดภัยที่ใช้จริงในงานวิศวกรรมโยธาที่ติดตั้งไว้ นั่นก็คือลูกดิ่งเพื่อความเที่ยงตรง
ลูกดิ่งเครื่องมือช่างเพื่อความเที่ยงตรง
การที่เราจะเช็กว่าการก่อสร้างอะไรก็ตามในทางวิศวกรรมโยธามีการตั้งฉากกับพื้นโลกหรือไม่ ถูกต้องตามสัดส่วน และจะไม่มีทางเอน เราสามารถใช้อุปกรณ์สำหรับงานช่างที่เรียกว่า ลูกดิ่ง มีลักษณะเป็นตุ้มน้ำหนักที่มีปลายด้านหนึ่งแหลม และปลายอีกด้านยึดไว้ด้วยเชือก ใช้เป็นเส้นอ้างอิงสำหรับงานก่อสร้างและงานช่างอื่นๆ โดยการปล่อยให้ตุ้มน้ำหนักห้อยอย่างอิสระจนนิ่ง จากนั้นจึงเคลื่อนจุดแขวนลูกดิ่งจนกระทั่งปลายแหลมของตุ้มน้ำหนักจรดตรงกับตำแหน่งอ้างอิงบนพื้น ก็จะรู้ได้ว่าแนวเชือกที่ห้อยตุ้มน้ำหนักไว้นั้นคือเส้นแนวดิ่งจากจุดอ้างอิงบนพื้น
เครื่องวัดรอยร้าวคอนกรีต
ใช้ตรวจสอบรอยแตกบนพื้นผิวเรียบ สามารถติดตามการเคลื่อนที่ในแนวนอนหรือแนวตั้งของรอยแตก เพื่อหารอยแตกที่เกิดจากการขยายตัวของพื้นผิวหรือรอยแตกของโครงสร้าง โดยรอยร้าวส่วนมากสาเหตุหลักอาจเกิดจากการใช้งานบ้านที่ผิดประเภท
ขั้นตอนการแก้ไขอย่างง่ายคือเริ่มจากสำรวจรอยร้าว และควรนำดินสอไปขีดไว้ที่รอยร้าวเพื่อจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากรอยร้าวไม่ลามต่อไปจุดอื่นก็ไม่อันตราย แต่ถ้ารอยร้าวลามและกว้างมากขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว นั่นแสดงว่าบ้านของเกิดปัญหา ต้องรีบไปปรึกษาวิศวกรโครงสร้างเพื่อหาวิธีรับมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน
จากฉากดังกล่าว ทำให้เราได้รู้จักกับสองอาชีพที่เกี่ยวข้องก็คือวิศวกรโครงสร้างและผู้ตรวจสอบอาคาร มาทบทวนกันอีกทีสั้นๆ
วิศวกรโครงสร้าง รับผิดชอบในการออกแบบทางวิศวกรรมและการวิเคราะห์โครงสร้าง เพื่อโครงสร้างของอาคารที่มั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย
ผู้ตรวจสอบอาคาร ทำหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัย โดยจะจัดทำเป็นรายงานการตรวจสอบอาคารเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตใช้อาคารนั้นๆ
จริงๆ แล้ว My Mister ที่เป็นซีรีส์ในดวงใจของใครหลายคนนั้นเต็มไปด้วยบทพูดที่แสนจะแทนใจ ตรงใจ และเจ็บหัวใจในบางที แต่ขณะเดียวกัน รายละเอียดของอาชีพตัวละครที่ทีมสร้างใส่ใจจนคนดูทางบ้านได้ความรู้ไปด้วยก็ช่วยให้ตัวซีรีส์มีประโยชน์สำหรับผู้คนเพิ่มขึ้นมา นอกเหนือจากการเป็นรายละเอียดเพื่อให้ตัวละครดูมีชีวิตสมจริง
สำหรับพัคดงฮุนก็พอจะสะท้อนให้เห็นได้ว่า อาชีพวิศวกรโครงสร้างของเขาคือความเพอร์เฟกต์ที่ทุกอย่างต้องถูกต้อง แต่กับปัญหาชีวิตที่เจ้าตัวต้องเผชิญ กลับเป็นความแตกต่างที่ยากจะใช้เครื่องมือหรือการออกแบบใดๆ ให้มันออกมาสมบูรณ์
เรื่องโดย ณัฏฐริณีย์ แย้มแก้ว
อ้างอิง: autodoorcenter.com, personalweb.mahidol.ac.th, th.wikipedia.org, dsignsomething.com, safesiri.com, cstth.com