WH (Y) เกาหลี: ทำไม LGBTQ+ ครอบครองเศษเสี้ยวของพื้นที่ซีรีส์และวาไรตี้ หรือเกาหลีไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกวัฒนธรรมได้อย่างแข็งแรง จากการผลักดันกระแสฮันรยูให้ออกสู่ตลาดโลกจนประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องของดนตรี ภาพยนตร์ ซีรีส์ วาไรตี้ อาหารการกิน ไปจนถึงแฟชั่นและความงาม
แม้ว่า เกาหลี จะมีภาพลักษณ์ด้านความก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังคงเป็นรากฝังลึกอยู่ในสังคม คือปัญหาการต่อต้านและไม่ยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ นอกจากนี้ ในขณะที่กระแสของซีรีส์วายกำลังมาแรงในเอเชีย ภายใต้สังคมที่ยังคงมีการต่อต้านความหลากหลายทางเพศ และในอนาคต ซีรีส์วายเกาหลี จะสามารถช่วงชิงพื้นที่ไปได้หรือไม่
ดูซีรีส์ให้ซีเรียส เองก็สงสัย จึงเป็นที่มาของบทความนี้ เราจะพาไปสำรวจและเจาะลึกเรื่องราวของ LGBTQ+ ที่ปรากฏอยู่ตั้งแต่หน้าประวัติศาสตร์ ไปจนถึงวงการบันเทิงของ เกาหลี และสภาพสังคมในปัจจุบัน
เพื่อตามหาความจริงกันว่า ในขณะที่วัฒนธรรม BoyLove กลายเป็นกลุ่มย่อยที่ได้รับความนิยมในเอเชีย แต่สำหรับเกาหลีใต้ ดูเหมือนว่าความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นที่ยอมรับนัก และมันสะท้อนผ่านซีรีส์ได้อย่างชัดเจน
ที่ผ่านมาซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องพยายามสอดแทรกประเด็นความหลากหลายทางเพศผ่านชีวิตของตัวละคร LGBTQ+ เช่น
Prison Playbook (2017) ซีรีส์สีเทาเคล้าน้ำตาสุดฮาที่มีเรื่องราวความรักแบบชายรักชายระหว่าง เจ้าเอ๋อฮันยาง (รับบทโดย อีคยูฮยอง) กับเพื่อนสนิทสมัยมัธยม ที่แจ้งจับเขาในข้อหาครอบครองและเสพยาเสพติด
Nevertheless (2021) ที่นอกจากจะมีเรื่องราวสุดแซ่บของ ยูนาบี-พัคแจออน ก็ยังมีเรื่องราวความรักสุดน่ารักของคู่รักเลสเบี้ยน ยุนซล (รับบทโดย อีโฮจอง) และคังจีวาน (รับบทโดย ยุนซอเอ)
Vincenzo (2021) ฮวังมินซอง (รับบทโดย คิมซองชอล) ประธานธนาคารผู้ถูกความรักที่มีต่อทนายวินเชนโซบังตา ทำให้เขาเชื่อใจทนายมาเฟียคนนี้ และล่มแผนธุรกิจกับบาเบลกรุ๊ป
Hometown Cha-Cha-Cha (2021) ยูโซฮี (รับบทโดย ฮงจีฮี) คุณครูสาวที่ย้ายเข้ามาในหมู่บ้านกงจิน และตกหลุมรักผู้นำชุมชนจองฮวามากกว่าการเป็นพี่สาวคนสนิท
Extraordinary Attorney Woo (2022) ในตอนท้ายของอีพีชุดแต่งงานที่หลุดลง ลูกสาวของท่านประธานได้ยกฟ้องคดีและเดินออกจากศาลไป พร้อมกับคนรักซึ่งเป็นรุ่นพี่หญิงคนสนิท
นอกจากนี้ยังมีซีรีส์อีกหนึ่งประเภทที่กำลังมาแรงและประกาศสร้างกันแบบรัวๆ นั่นก็คือซีรีส์วาย ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีส์ LGBTQ+ จะเล่าเรื่องราวความรักระหว่างชายหนุ่ม และเมื่อไม่นานมานี้ยังมีการประกาศฉายรายการเรียลลิตี้ LGBTQ+ อย่าง Marry Queer และ His Man อีกด้วย
เกาหลีไม่มีเกย์ แต่ทำไมมีคู่รักเพศเดียวกันในประวัติศาสตร์
“เกาหลีไม่มีเกย์” เป็นประโยคที่กีดกัน LGBTQ+ ให้ออกจากสังคม จนทำเหมือนพวกเขาไม่มีตัวตนและไม่เคยมีอยู่ใน เกาหลี ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมาอย่างยาวนานเหมือนในประวัติศาสตร์กรีกโบราณหรือไทย โดยตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ของเกาหลีพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชายและชายยังคงเป็นเรื่องธรรมดาที่พบได้ทั่วไปในสังคม เช่น
ในกลุ่มนักรบฮวารัง หรือนักรบรูปงามแห่งอาณาจักรซิลลา ดังจะเห็นได้จาก บทกวีใน ซัมกุก ยูซา (삼국유사) หรือความทรงจำของสามอาณาจักร ที่มีการพรรณาถึงฮวารังในเชิงรักโรแมนติก
ในสมัยโครยอ ความสัมพันธ์ระหว่างชายและชายถูกแทนด้วยมังกรและพระอาทิตย์ ซึ่งต่างเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้ามกจง (ค.ศ. 980-1009) และพระเจ้าคงมิน (ค.ศ. 1325–1374) ที่มีบันทึกอย่างเด่นชัดว่าทั้งคู่แต่งตั้งวอนชุง (원충) ชายอันเป็นที่รักของตนจำนวนหลายคนในฐานะสนมชาย ชาเจวี (자제위) โดยอ้างว่าเป็นการฝึกฝนก่อนจะเข้ารับราชการในวัง
ในสมัยโชซอน ช่วงก่อนการผนวกดินแดนเกาหลี-ญี่ปุ่น เหล่านัมซาดง (남사당) หรือคณะละครเร่ของกลุ่มชายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะทำการแสดงดนตรี เต้นรำสวมหน้ากาก ละครสัตว์ หรือหุ่นกระบอก แต่ในบางครั้งก็มีการแสดงในที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน และยังใช้คำว่า มีดง (미동) เพื่อเรียกเด็กหนุ่มหรือผู้ชายที่งดงามอีกด้วย
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างชายและชายอาจจะเป็นเรื่องทั่วไปในอดีต แต่ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและหญิงกลับเป็นเรื่องผิด เมื่อพระมเหสีซัน มเหสีคนที่สองของมกุฎราชกุมารมุนจองแห่งโชซอน ถูกไล่ออกจากวังและลดตำแหน่งเป็นสามัญชน เพราะความสัมพันธ์ที่เธอมีต่อสาวใช้ของตัวเอง
ลัทธิขงจื๊อ – ศาสนาคริสต์ในเกาหลีใต้ ปัจจัยหลักของค่านิยมต่อต้าน LGBTQ+
การเข้ามาของลัทธิขงจื๊อและศาสนาคริสต์มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตและรูปแบบความสัมพันธ์ในเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเพศเดียวกันที่มีมาตั้งแต่อดีตเริ่มเปลี่ยนแปลงไป
ลัทธิขงจื๊อเข้ามาตั้งแต่ช่วงสามก๊กของเกาหลี และขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงสมัยโครยอ จนกลายเป็นคำสอนหลักของสังคมเกาหลีจนถึงปัจจุบัน โดยเชื่อว่าหากสมาชิกของสังคมทำตามหน้าที่ สังคมจะเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้เกิดคำสอนเรื่องความสัมพันธ์ทั้ง 5 ประการ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์-ผู้ใต้ปกครอง, พ่อแม่-ลูก, สามี-ภรรยา, ผู้ใหญ่-เด็ก, เพื่อน-เพื่อน เพื่อให้ผู้คนอยู่ในความสัมพันธ์แนวตั้ง ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งเพื่อสังคมในอุดมคติ จนเกิดสังคมแบบอนุรักษนิยมที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะจะทำลายความเป็นระเบียบของสังคม
โดยความสัมพันธ์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมเกาหลีมากที่สุด ได้แก่ ความสัมพันธ์ของสามี-ภรรยา ซึ่งหญิงผู้เป็นภรรยาจะต้องทำหน้าที่เชื่อฟังสามี ทำให้สังคมเกาหลีกลายเป็นสังคมปิตาธิปไตย หรือสังคมชายเป็นใหญ่ และ ความสัมพันธ์ของพ่อแม่-ลูก กำหนดหน้าที่ของลูกว่าต้องกตัญญูและดูแลพ่อแม่ยามแก่ รับผิดชอบในการบูชาบรรพบุรุษ แต่งงานและให้กำเนิดทายาทเพื่อสืบทอดตระกูล โดยเฉพาะลูกชาย
เมื่อมาประกอบกับอีกหนึ่งศาสนาที่มีอิทธิพลต่อสังคมเกาหลีคือศาสนาคริสต์ ซึ่งเข้ามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เรื่อง การมีเพศสัมพันธ์ต้องทำเพื่อให้กำเนิดบุตรเท่านั้น การมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นจึงถือว่าเป็นบาป ผู้นับถือคริสต์ในเชิงอนุรักษนิยม จึงมักยกคำสอนจากไบเบิลมาต่อต้าน LGBTQ+ ในสังคมเกาหลีอยู่บ่อยครั้ง
โดยสรุปแล้ว ทั้งลัทธิขงจื๊อและศาสนาคริสต์อนุญาตให้ผู้คนมีความสัมพันธ์ได้เพียงแบบเดียวเท่านั้น คือการมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศตรงข้ามที่สามารถแต่งงานและมีทายาทได้ จนกลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมและจริยธรรมที่สำคัญในเกาหลี โดยครั้งหนึ่งเคยมีกลุ่มแม่บ้านรวมตัวกันประณามซีรีส์ Life is beautiful (2010) ที่ออกอากาศช่อง SBS และมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจกับ Daughters of Club Bilitis (2011) ที่ออกอากาศช่อง KBS2
Life is Beautiful (2010) เป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ด้วยกันบนเกาะเชจู ซึ่งดูเป็นซีรีส์ชีวิตประจำวันที่เหมาะแก่การดูร่วมกับครอบครัวตอน 4 ทุ่มเหมือนซีรีส์เรื่องอื่น แต่ซีรีส์เรื่องนี้กลับถูกกลุ่มแม่บ้านร่วมกันซื้อโฆษณาบนหนังสือพิมพ์ The Chosun Ilbo เพราะ ยังแทซอบ (รับบทโดย ซองชางอึย) ลูกชายคนโตของบ้าน มีคนรักเป็นศาสตราจารย์หนุ่ม คยองซู (รับบทโดย อีซังอู) ทำให้เหล่าแม่บ้านกังวลว่า หากลูกชายของตนรับชมซีรีส์เรื่องนี้ก็จะกลายเป็นเกย์ และมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น
Daughters of Club Bilitis (2011) เป็นเรื่องราวของคู่รักเลสเบี้ยน 3 คู่ 3 ช่วงวัย แม้จะฉายในช่วงเที่ยงคืน แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าอาจจะเป็น ตัวอย่างที่ไม่ดี ให้แก่สังคม ซึ่งภายหลังจากเกิดประเด็นนี้ ทำให้ไม่ค่อยเห็นทั้งสองช่องออกอากาศซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ มากนัก
การปรากฏตัวของ LGBTQ+ ในซีรีส์เกาหลี
ทว่า ในปัจจุบันเกาหลีใต้ไม่ได้มีการบังคับให้ผู้คนนับถือศาสนา ประกอบกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีการเปิดรับและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของวัยรุ่นยุคใหม่เกี่ยวกับ LGBTQ+ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้เริ่มมองเห็นความหวังของ LGBTQ+ ในสังคมเกาหลีมากขึ้น โดยสามารถรับชมความคิดเห็นบางส่วนได้ที่ Do Korean Support LGBTQ+ (Ft. Seoul Queer Parade? | ASIAN BOSS
รวมถึงเรายังจะเห็นได้จากฝั่งของสื่อที่เริ่มนำเสนอภาพของ LGBTQ+ ผ่านการสอดแทรกเข้ามาในซีรีส์ต่างๆ มากขึ้นเพื่อสะท้อนภาพและขับเคลื่อนประเด็นนี้ ซึ่งนอกจาก 5 เรื่องที่กล่าวไปข้างต้นแล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น
“คนที่คุณเซราควรจะเห็นใจ ก่อนที่จะเข้าใจพ่อแม่ของคุณ ก็คือตัวคุณเอง” – จีแฮซู
It’s Okay, That’s Love (2014)
เซรา (รับบทโดย อีเอล) หญิงสาวที่ถูกครอบครัวทุบตีปางตายจนเป็นโรคซึมเศร้า เหตุเพราะเป็นทรานส์เจนเดอร์ที่ผ่าตัดแปลงเพศ แต่เธอยังคงยอมทนโดนทำร้ายร่างกายและให้อภัยพวกเขาอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่ามันจะทำให้เธอได้รับการยอมรับจากครอบครัว
ฉากนี้ จิตแพทย์จีแฮซู (รับบทโดย กงฮโยจิน) ไม่เพียงแค่ปลอบประโลมเซราเท่านั้น แต่ยังปลอบประโลม LGBTQ+ ที่กำลังเผชิญปัญหานี้จากภายในครอบครัวด้วยสีหน้าและแววตาที่จริงจังว่า ให้ลองหลีกหนีจากสถานการณ์ที่กำลังทำร้ายเราและหันมาสนใจตัวเองก่อนบ้าง เพื่อสภาพจิตใจของตัวเอง
“ฉันเป็นทรานส์เจนเดอร์”
“สิ่งที่ฉันเป็นไม่จำเป็นต้องให้ใครมาเข้าใจ” – มาฮยอนอี
Itaewon Class (2020)
คำพูดของเชฟหลักประจำร้านทันบัม เชฟมาฮยอนอี (รับบทโดย อีจูยอง) จาก Itaewon Class (2020) ที่ประกาศว่าตนเป็นทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) หรือบุคคลที่พอใจกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ตรงข้ามกับเพศสรีระ (sex)
การประกาศอย่างกล้าหาญผ่านรายการสุดยอดร้านอร่อยซึ่งกำลังถ่ายทอดสด เป็นการบอกว่าแม้สังคมจะไม่เข้าใจการเป็นทรานส์เจนเดอร์ แต่เธอก็จะยืนหยัดกับตัวตนของตัวเองเหมือนหินที่แข็งแกร่ง และจะไม่วิ่งหนีหรือพิสูจน์ความจริงข้อนี้ เพราะเธอไม่ได้ทำอะไรผิด
ต่อจากนี้เธอไม่จำเป็นจะต้องแต่งตัวเป็นผู้หญิงเฉพาะเวลาไปผับตอนกลางคืนเท่านั้นอีกแล้ว แต่เธอจะสามารถแต่งตัวเป็นผู้หญิงเวลาใดก็ได้ตามที่เธอต้องการ และไม่ว่าเธอจะเป็นอย่างไร สมาชิกร้านทันบัมก็จะยังคงคอยสนับสนุนและอยู่เคียงข้างเธอ
“เพราะกลัวจะโดนคนด่า เราเลยต้องทำเหมือนพวกเขาไม่มีตัวตนอย่างนั้นเหรอ คนเราถ้าไม่รู้จักตัวตนของใครก็จะมองว่าเขาแตกต่างจากตัวเอง แล้วพอไม่รู้อะไร ก็จะไม่สบายใจและกลัว ฉันแค่อยากแสดงให้ทุกคนเห็นว่าวิถีชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาเหมือนกับเรา” – พีดีคิมอาจิน
Sweet Munchies (2020)
Sweet Munchies เป็นเรื่องราวของการทำรายการมื้อดึกแสนอร่อยกับเชฟเกย์ ที่จะสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมและทัศนคติของผู้คนที่มีต่อ LGBTQ+ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้เกี่ยวกับ LGBTQ+ ไปพร้อมกับตัวละคร
เพราะแม้แต่พีดีหลักของรายการอย่าง พีดีคิมอาจิน (รับบทโดย คังจียอง) ผู้คิดค้นรายการที่หวังจะสร้างความเข้าใจให้แก่สังคมก็ยังมีบางเรื่องที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับ LGBTQ+ ซึ่งจะได้เชฟพัคจินซอง (รับบทโดย จองอิลอู) มาคอยช่วยเหลือ ถึงแม้เขาจะเป็นเชฟเกย์ที่ปลอมตัวมาเพราะร้อนเงิน แต่ก็จะเป็นคนที่ทำให้สังคมมีมุมมองต่อ LGBTQ+ แตกต่างออกไปจากเดิมได้
พร้อมด้วย คังแทวาน (รับบทโดย อีฮักจู) แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังที่ตกหลุมรักเชฟเกย์ตัวปลอม ก็จะมาสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของ ‘เกย์’ ที่เป็น ‘ลูกชาย’ เพียงคนเดียวของตระกูลที่มีชื่อเสียง ซึ่งถูกบังคับให้อยู่ในกรอบที่พ่อวางไว้ตามค่านิยมของสังคมในปัจจุบัน
“การรักใครสักคนไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่การไม่ได้รักใครเลยต่างหากที่เป็นเรื่องน่าอาย” – ฮันกือรู
Move To Heaven (2021)
ชีวิตรักของ จองซูฮยอน (รับบทโดย ควอนซูฮยอน) นายแพทย์ห้องฉุกเฉิน และเอียน พัค (รับบทโดย คิมโดยอน) นักเชลโล่หนุ่ม นับได้ว่าเป็นคู่รัก LGBTQ+ ในซีรีส์ที่พรากน้ำตาผู้ชมไปเป็นจำนวนมาก
เพราะนอกจากพวกเขาจะต้องหลบซ่อนจากสังคมแล้ว ชีวิตรักของพวกเขายังไม่สมหวังและถูกกีดกันจากครอบครัวของซูฮยอน ที่พยายามบังคับให้เขาเดินตามขนบขงจื๊อครบสูตร ด้วยการจับแต่งงานคลุมถุงชนกับหญิงอื่นเพื่อเป็นลูกชายที่กตัญญูต่อพ่อแม่ ทว่าในวันที่ซูฮยอนพร้อมจะเดินจับมือกับคนรักหนุ่มของเขาอย่างกล้าหาญก็เป็นวันที่สายเกินไปแล้ว
“ฉันเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศค่ะ คนรักของฉัน คนที่ฉันลืมไม่ได้ เธอเป็นผู้หญิงค่ะ ขอโทษนะคะที่ไม่ได้บอกให้เร็วกว่านี้” – จองซอฮยอน
Mine (2021)
ฉากการเปิดใจก่อนขึ้นเป็นประธานบริษัทของ จองซอฮยอน (รับบทโดย คิมซอฮยอง) สะใภ้ใหญ่ของตระกูลแชโบลที่ยังไม่เคยลืมรักแรก หลังต้องทนเก็บซ่อนชีวิตรักของตนเอาไว้ภายใต้กรอบที่สังคมกำหนดเพื่อขึ้นมาอยู่จุดสูงสุด
แต่คำขอโทษคำนี้ไม่ได้เป็นการขอโทษเพราะเธอเป็น LGBTQ+ แต่สิ่งที่เธอทำเป็นการขอโทษด้วยความรู้สึกผิดจากการปิดบังความจริงข้อนี้จากสามี ซึ่งในฉากนี้ก็นับได้ว่าเป็นอีกฉากที่พยายามจะสะท้อนให้สังคมเข้าใจว่า LGBTQ+ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด
จากซีรีส์ทั้ง 4 เรื่องที่กล่าวมาจะสังเกตเห็นได้ว่าทุกเรื่องพยายามนำเสนอภาพของ LGBTQ+ ในบทบาทที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของซีรีส์เท่านั้น และยังไม่เคยมีซีรีส์ที่ที่ถูกสร้างโดยช่องเคเบิลหรือ Netflix ที่ดำเนินเรื่องโดยมีตัวละครหลักเป็น LGBTQ+ และสมหวังในความรักในแบบของตนเองเลย
รวมถึงเราจะไม่ค่อยได้เห็นนักแสดงเบอร์หนึ่งหรือนักแสดงแถวหน้าสุดของวงการเข้ามารับบท LGBTQ+ ในซีรีส์มากนัก ยกเว้น Mine ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจว่าในอนาคตจะมีซีรีส์เรื่องใดอีกบ้างที่นักแสดงระดับท็อปจะมารับบทนี้
ขณะที่ทางฝั่งของภาพยนตร์ ครั้งหนึ่ง ชาซึงวอน เคยแสดงเป็นทรานส์เจนเดอร์มาแล้วในบท ยุนจีอุค จากเรื่อง Man on High Heels ตำรวจมาดเข้มผู้มีฝีมือด้านการปราบอาชญากรรมที่อยากจะผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง จึงตัดสินใจลาออกและกำลังจะไปทำตามความฝัน แต่แผนนี้ก็ต้องชะงัก เมื่อถูกแก๊งมาเฟียกลับมาล้างแค้น
ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะกลุ่มเป้าหมายของซีรีส์ทั้ง 3 เรื่องและภาพยนตร์เรื่อง Man on High Heels ออกอากาศอยู่ในช่องเคเบิลและสตรีมมิ่ง ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ชมที่อาจจะพร้อมเปิดรับมากกว่ากลุ่มเป้าหมายของช่องหลักอย่าง SBS และ KBS ที่เคยแบนซีรีส์ที่มีตัวละครเป็น LGBTQ+ มาก่อน
ไอดอล มินิซีรีส์วาย และสตรีมมิ่ง พื้นที่ใหม่ของ LGBTQ+
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวและเติบโตของสตรีมมิ่งมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตสื่อสามารถผลิตซีรีส์ที่มีเนื้อหาหลากหลายมากขึ้นได้เอง โดยเฉพาะ ‘มินิซีรีส์วาย’ ที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นบนสื่อหลัก แต่ขณะนี้กำลังโลดแล่นอยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งจุดเด่นหนึ่งที่น่าสนใจของมินิซีรีส์วายคือการมีไอดอลมารับบทเป็นนักแสดงนำ ไม่ว่าจะเป็น
Where Your Eyes Linger (2020) – ฮันกีชาน จาก Produce X 101 มารับบทเป็น ฮันแทจู ทายาทเพียงคนเดียวของตระกูลที่มีเพื่อนสนิทเป็นบอดี้การ์ด (จองกุก รับบทโดย จางอึยซู)
Color Rush 2 (2022) ฮันซังฮยอก หรือฮยอก วง VIXX มารับบทเป็น เซฮยอน เพื่อนร่วมชั้นคนใหม่ที่จะเข้ามาปกป้องและทำให้ ชเวยอนอู รับบทโดย ยูจุน กลับมามองเห็นสีต่างๆ อีกครั้ง
Unintentional Love Story (2022) ซีรีส์วายที่ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนเกาหลีเรื่องล่าสุดที่กำลังจะออนแอร์ ก็มีการประกาศมาแล้วว่า กงชาน จากวง B1A4 จะมารับบทเป็น จีวอนยอง พนักงานแผนกธุรการที่ถูกไล่ออกจากบริษัทเพราะคดีทุจริตของหัวหน้า เขาจึงหาทางสร้างผลงานจากการโน้มน้าวใจ ยุนแทจุน รับบทโดย ชาซอวอน นักปั้นเซรามิกคนโปรดของประธานให้เซ็นสัญญากับบริษัท เพื่อให้ได้กลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง
Semantic Error (2022) ซีรีส์วายดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนเกาหลีที่ได้ พัคซอฮัม จากวง KNK มารับบทเป็น จางแจยอง และพัคแจชาน จากวง DONGKIZ มารับบทเป็น ชูซังอู ซึ่งทำให้ทั้งคู่คว้ารางวัลนักแสดงยอดนิยมจาก 1st Blue Dragon Series Awards 2022
อย่างไรก็ตาม ไอดอลที่มารับบทเป็น LGBTQ+ ก็ไม่ได้อยู่แค่บนมินิซีรีส์เหล่านี้ เพราะในอดีต โฮย่า Infinite เองก็เคยรับบทเป็น คังจุนฮี ในซีรีส์ Reply 1997 ที่หลงรักเพื่อนสนิท ยุนยุนแจ รับบทโดย ซออินกุก มาแล้ว
เนื่องจากในวงการนักแสดง โดยทั่วไปแล้วค่าจ้างของไอดอลจะถูกกว่าค่าจ้างนักแสดงมืออาชีพถึง 10 เท่า ทำให้สตรีมมิ่งที่เพิ่งเปิดตัวอาจจะมีเงินทุนไม่สูงมากนัก จนต้องเลือกจ้างไอดอลให้มารับบทในซีรีส์แทนการจ้างนักแสดงมืออาชีพที่มีราคาสูง ประกอบกับไอดอลเองก็มีมีฐานแฟนคลับที่เข้าใจและมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับ Bromance ซึ่งทำให้มีฐานแฟนซีรีส์ตั้งแต่ยังไม่เริ่มออนแอร์ ในบางครั้งจึงอาจส่งผลให้ถูกมองว่าเป็น Queerbaiting
Queerbaiting มาจากการรวมกันของคำว่า Queer ที่ใช้กล่าวถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบกว้าง และ bait ที่มาจากคำว่า Clickbait ซึ่งหมายถึงการใช้ข้อความหรือรูปภาพจูงใจให้กดเข้าเว็บไซต์เพื่อเพิ่มยอดการตอบสนอง ดังนั้น Queerbaiting จึงหมายถึงการนำเสนอตัวละครที่ ‘อาจจะ’ เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศมาใช้จูงใจผู้ชม
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยคุณภาพการผลิตซีรีส์และรายการของเกาหลี ทำให้การมีอยู่ของสตรีมมิ่งนับได้ว่าเป็นช่องทางใหม่สำหรับการนำเสนอซีรีส์วาย และการให้พื้นที่แก่ LGBTQ+ แม้บางเรื่องจะไม่ได้ผลักดันประเด็นสิทธิของ LGBTQ+ อย่างมีนัยยะสำคัญ แต่การเริ่มผลิตซีรีส์วายก็ทำให้เริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการบันเทิงแล้ว รวมถึงในสตรีมมิ่งยังเริ่มมีการเปิดตัวรายการเรียลลิตี้ของ LGBTQ+ มากขึ้น เช่น
Merry Queer เรียลลิตี้ LGBTQ+ รายการแรกของเกาหลีใต้ที่จะนำคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ 3 คู่มาถ่ายทอดเรื่องราวการใช้ชีวิตคู่ของตน พร้อมผู้ดำเนินรายการ 3 ท่านที่จะมาร่วมแบ่งปันเรื่องราวและมุมมองของตน ได้แก่ ฮานิ EXID, ชินดงยอบ และฮงซอกชอน คนดังคนแรกๆ ที่เปิดตัวว่าเป็น LGBTQ+ ซึ่งเคยปรากฏตัวเป็นเจ้าของผับใน Itaewon Class เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQ+ ให้สังคม โดย Ep.1 สามารถรับชมได้ที่ช่อง 뽀송한준_bosungjun ของคิมมินจุนและโบซังจุน คู่รักยูทูบเบอร์ที่มีผู้ติดตามเกือบ 2 ล้านคน
His Man รายการหาคู่เดทรายการแรกของเกาหลีที่นำชายหนุ่ม 8 คน 8 สไตล์มาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อค้นหาคู่เดตคนใหม่ ซึ่งในตอนท้ายมีการขึ้นโลโก้กระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีที และ Korean Communicate Agency ทำให้คาดว่าน่าจะได้รับการอนุมัติและสนับสนุนจากทั้งสองกระทรวงนี้
สิทธิของ LGBTQ+ ในปัจจุบัน
Seoul Queer Culture Festival เป็นงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2022 งานนี้ถูกจัดขึ้นบริเวณ Seoul City Hall Plaza ซึ่งจะเปลี่ยนพื้นที่กลางกรุงโซลให้กลายเป็นสีรุ้งเพื่อขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศในเกาหลีใต้ ถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชน ชมรม LGBT มหาวิทยาลัย สถานทูต องค์กรทางศาสนา และองค์กรสมัยใหม่ที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ทำให้ดูเหมือนว่าประเทศเกาหลีใต้อาจจะมีแนวโน้มเปิดกว้างต่อเรื่องเพศมากขึ้น
แต่เมื่อมองมายังอีกฝั่งหนึ่งของถนนก็จะเห็นกลุ่มคริสตศาสนิกชนและอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่งกำลังรวมตัวกันชุมนุมต่อต้านการจัดงานนี้ โดยใช้คำสอนจากไบเบิล อ้างถึงจริยธรรมทางเพศที่จะส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก และอ้างถึงข้อเรียกร้องเรื่องการจัดงานที่ไม่เหมาะสม โดยใช้เงินจากภาษีของประชาชน ซึ่งทั้งสองฝั่งมีจำนวนไม่ต่างกันมาก จึงทำให้ประเด็นนี้ยังคงเป็นที่น่าจับตามองในเกาหลีอยู่
โดยในช่วงปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังมีการระบาดโควิด-19 ก็มีการนำเสนอข่าวว่า Superspread รายหนึ่งเข้าไปใช้งานผับเกย์ย่านอิแทวอน ซึ่งทำให้คริสตศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งกระพือข่าวนี้ เพื่อให้เกิดการเหมารวมในเชิงลบต่อ LGBTQ+ ซึ่งภายหลังสืบทราบอีกครั้งว่าไม่ได้มีการเข้าไปใช้งานผับเกย์แห่งใดในอิแทวอนเลย
รวมถึงประธานาธิบดีคนล่าสุด ยุนซอกยอล ที่มีคะแนนความนิยมพุ่งสูงขึ้นจากการหาเสียงในเชิงต่อต้านเฟมินิสต์และ LGBTQ+ เช่น การเป็นเฟมินิสต์ที่ดีไม่ควรอยู่ในอำนาจและเอาเปรียบการเลือกตั้ง หรือตอบคำถามเป็นนัยว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการเกิดของเกาหลีใต้ต่ำลงเป็นเพราะการมีอยู่ของเฟมินิสต์ และยังมีการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่าตนต้องการจะยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัว นอกจากนี้นักการเมืองอีกหลายคนที่แสดงท่าทีต่อต้านเฟมินิสต์และ LGBTQ+ แต่กลับได้รับเสียงตอบรับที่ดี
โดยในปี 2019 Mango Zero ได้มีการเปรียบเทียบกฎหมายของ LGBTQ+ จำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน เยอรมนี อังกฤษ สเปน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พบว่าเกาหลีใต้มีข้อกฎหมายเพียง 2 ข้อที่เห็นชอบตามกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศของคนเพศเดียวกัน และกฎหมายเกี่ยวกับอัตลักษณ์/การแสดงออกทางเพศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ LGBTQ+ ก็ยังคงเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้รับการยอมรับอยู่
ส่วนข้อกฎหมายที่ยังไม่ชอบด้วยกฎหมายมีถึง 6 ข้อ ได้แก่ การรับรองการอยู่กินของเพศเดียวกัน การสมรสเพศเดียวกัน การรับบุตรบุญธรรมของคู่เพศเดียวกัน การรับราชการทหารอย่างเปิดเผย กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ
ทำให้ทัั้งภาคประชาชน นักขับเคลื่อน องค์กรอิสระ หรือพรรคการเมืองขนาดเล็กต่างรวมใจเพื่อต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิเหล่านี้มากขึ้น เช่น การพยายามยื่นร่างกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเพศในปี 2021 โดยมุ่งหวังว่าจะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน แต่ถ้าหากคาดเดาจากประธานาธิบดีและนักการเมืองอีกหลายคนแล้ว ก็ยังคงไม่เห็นแนวโน้มที่ LGBTQ+ จะได้รับสิทธิทางกฎหมายในเร็ววันนี้เลย
อย่างไรก็ตาม การที่นักแสดงนำซีรีส์วายได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลและมีการแปะโลโก้จากกระทรวง ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าจับตามอง เพราะแสดงให้เห็นถึงทิศทางที่เริ่มเปลี่ยนไปของวงการบันเทิงที่เริ่มเปิดพื้นที่ให้ซีรีส์และรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ มากขึ้น และถ้าหากมีการผลักดันอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับซีรีส์อื่น ก็อาจจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการช่วงชิงพื้นที่ตลาดวงการบันเทิง พร้อมกับขับเคลื่อนสังคมได้
หากกระแสฮันรยูอย่างซีรีส์เกาหลีและ K-Pop สามารถสร้างอิทธิพลและการเปลี่ยนแปลงให้สังคมเกาหลีได้ ก็หวังว่าซีรีส์วายและรายการเหล่านี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมตระหนักรู้และสนับสนุนสิทธิของ LGBTQ+ มากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
สุดท้ายนี้ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน #สมรสเท่าเทียม เพื่อเรียกร้องให้ ทุกคนมีสิทธิอย่างที่ทุกคนควรมี
เรื่องโดย อรณิชา ชูสกุล
อ้างอิง: thaipublica.org, adaymagazine.com, mangozero.com, thematter.co, asianews.network, reuters.com, urbancreature.co, Homosexuality in Ancient and Modern Korea