แยกขยะที่เกาหลี ทำความเข้าใจระบบจัดการขยะ เตรียมพร้อมก่อนไปตามรอยซีรีส์ที่เกาหลี
ปัญหาขยะ เป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องพบเจอและหาแนวทางแก้ไข โดยเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการผลิตขยะมากพอสมควร จากสถิติในปี 2019 พบว่ามีขยะมูลฝอยในโซลถึง 9,189 ตันต่อวัน แต่เมื่อเทียบสัดส่วนดูแล้วกลับพบขยะและถังขยะตามท้องถนนน้อยมาก
เกาหลีใต้จึงขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบที่มีความสามารถด้านการจัดการขยะ โดยความจริงจังนี้ได้แสดงให้เห็นผ่านซีรีส์หลายเรื่องที่มีฉากเกี่ยวกับการทิ้งและแยกขยะแบบผ่านตาไปมา เช่น
– หมู่บ้านกงจินใน Hometown Cha-Cha-Cha นับได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่มีความจริงจังกับขยะมาก ทุกคนในหมู่บ้านที่มาช่วยกันเก็บขยะในแต่ละสัปดาห์ ผู้ใหญ่บ้านและหัวหน้าฮงที่ช่วยกันร้องเรียนเรื่องการขอติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณจุดทิ้งขยะ
– หมู่บ้านทังกึดในเมืองแฮนัม ซีรีส์ Racket Boys ที่ช่วยกันต่อสู้กับคนกรุงที่ทิ้งขยะผิดในบริเวณภูเขา
– ล่าสุดซีรีส์ Link: Eat, Love, Kill ก็แอบเห็นว่า โนดาฮยอนนำกล่องของขวัญที่ได้รับจากอีจินกึนไปวางข้างถังขยะรีไซเคิลขวดน้ำ
แม้จะยกตัวอย่างมาเพียง 3 เรื่อง แต่ก็เห็นได้ว่าการจัดการขยะเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่ไทยไม่ได้มีระบบจัดการขยะที่เข้มงวดมากนัก ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จึงสงสัยว่าระบบ แยกขยะที่เกาหลี เกิดขึ้นได้อย่างไร วิธีและข้อปฏิบัติการแยกขยะเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะไปเที่ยวหรือตามรอยซีรีส์เกาหลีหลังเปิดประเทศ
การพัฒนาระบบจัดการขยะ กระตุ้นการรีไซเคิล
ในปี 1970-1990 เกาหลีใต้ประสบกับปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยจำนวน 12,000-84,000 ตันต่อวัน การฝังกลบและการเผาขยะจำนวนมากเหล่านั้นส่งผลให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางดิน น้ำ และอากาศ ตามมาเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มให้ความสนใจและหาแนวทางบรรเทาปัญหานี้
ปี 1986 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ตรากฎหมายการจัดการของเสีย (Waste Management Law) มาแทนที่กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และกฎหมายความสกปรกและการทำความสะอาด โดยมุ่งหวังว่าจะลดการสร้าง เผา ฝังกลบขยะ และสร้างนิสัยการแยกขยะก่อนทิ้ง ทำให้การจัดการขยะในประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงรัฐบาลยังให้ทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะเพื่อนำมาพัฒนาแผนการจัดการขยะด้วย
ต่อมาในปี 1992 มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการประหยัดทรัพยากรและการรีไซเคิล (Resource Saving and Recycling Promotion) ด้วยระบบจ่ายค่าขยะตามปริมาณขยะมูลฝอยที่ทิ้ง (Pay-as-you-throw)
และระบบนี้ยังถูกพัฒนาต่อมาจนปี 1995 กลายเป็น The Volume-based Waste Fee System (VBWF) หรือระบบการจ่ายค่าขยะตามปริมาณขยะมูลฝอยเท่านั้น โดยไม่ต้องจ่ายค่าขยะรีไซเคิล ขยะขนาดใหญ่ และถ่านหินอัดก้อน เพื่อลดการสร้างขยะและส่งเสริมการรีไซเคิล ทำให้การจัดการขยะในเกาหลีใต้มีความเข้มข้นมากขึ้น จนถึงขั้นมีการติดกล้องวงจรปิดบริเวณหน้าบ้าน เพื่อตรวจดูการลักลอบทิ้งขยะในบริเวณบ้านคนอื่น
จงรยังเจ ระบบจัดการขยะสุดซับซ้อน แต่ได้ผลดี
จงรยังเจ (종량제) หรือระบบจัดการแยกขยะของเกาหลีใต้ แบ่งออกเป็น ขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์หรือเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะขนาดใหญ่
1. ขยะทั่วไป คือขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้และไม่ใช่เศษอาหาร เช่น กระดาษทิชชู่ใช้แล้ว ผ้าอนามัย
2. ขยะรีไซเคิล คือขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วขยะเหล่านี้จะมีเครื่องหมายรีไซเคิลว่าเป็นขยะใด แบ่งเป็น
– กระดาษ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ลังกระดาษ
– กล่องกระดาษ เช่น กล่องนม กล่องน้ำผลไม้
– แก้ว เช่น ขวดเบียร์
– กระป๋อง อลูมิเนียม โลหะ
– พลาสติกทุกชนิด ยกเว้น ของเล่น ปากกา และซองลูกอม
– ขวดพลาสติก PET
– ถุงพลาสติกไวนิล เช่น ซองขนม
หากเป็นขยะบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถรีไซเคิลได้ ต้องเทสิ่งปนเปื้อนภายในบรรจุภัณฑ์ ล้างทำความสะอาด และดึงฉลาก หรือแยกวัสดุที่แตกต่างกันออกก่อนทิ้งเสมอ และหากบริเวณนั้นไม่มีถังขยะรีไซเคิล สามารถแยกขยะรีไซเคิลและนำใส่ถุงพลาสติกใส่ก่อนนำไปทิ้งได้
3.เศษอาหาร คือขยะทุกอย่างที่สัตว์กินได้ เช่น เศษผักและผลไม้ เนื้อและไข่ดิบ เนื่องจากเป็นหนึ่งในมาตราการลดขยะตั้งแต่ปี 2013 ที่เริ่มนำเศษอาหารมาแปรรูปเป็นอาหารปศุสัตว์
ยกเว้น เศษอาหารจำพวกหนึ่งที่ถูกจัดเป็นขยะทั่วไป เนื่องจากไม่สามารถนำไปทำเป็นอาหารปศุสัตว์ได้ เช่น
– ผักที่มีราก เปลือกหัวหอม เปลือกกระเทียม พริก ผักและผลไม้ที่มีก้านแข็ง เช่น ข้าวโพด แกลบข้าวโพด
– ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดต่าง ๆ เช่น เมล็ดแอปริคอต
– เปลือกไข่ เปลือกสัตว์อาหารทะเลแข็ง เช่น กุ้ง ปู หอย
– ขนและกระดูกสัตว์
– ชา กาแฟ สมุนไพร ใบไม้ และไม้จิ้มฟัน
หากเป็นที่พักอาศัยทั่วไป จะต้องทิ้งลงในถุงสำหรับทิ้งเศษอาหาร แต่ถ้าหากเป็นอพาร์ตเมนต์จะต้องทิ้งลงในถังเศษอาหาร ซึ่งจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือนตามน้ำหนักผ่านบัตร Radio Frequency Identification (RFID)
เนื่องจาก ในปี 2005 รัฐบาลออกคำสั่งห้ามทิ้งเศษอาหารในหลุมฝังกลบ ส่งผลให้ประชาชนตระหนักถึงภาระค่าใช้จ่ายจากเศษอาหาร จนทำให้ปริมาณเศษอาหารมีจำนวนลดลง
4.ขยะขนาดใหญ่ เช่น เตียง โต๊ะ ตู้เย็น ทีวี เครื่องปรับอากาศ ต้องติดต่อสำนักงานเขตในพื้นที่เพื่อติดสติกเกอร์และวางไว้ในบริเวณที่กำหนดในวันที่นัดหมาย ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ในบางพื้นที่จะมีถังขยะแยกเฉพาะ หรือหากไม่มีก็ต้องแยกชิ้นส่วนเพื่อรีไซเคิลตามปกติ
ขยะแต่ละประเภทนั้นต้องทิ้งใส่ถุงขยะเฉพาะตามแต่ละประเภทและเขตที่อยู่ ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป โดยสามารถรับได้ที่สำนักงานเขต ผู้ใหญ่บ้าน หรือซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต และมินิมาร์ท ทำให้ตรวจสอบได้ว่าเป็นขยะจากเมืองใด จึงไม่สามารถนำขยะจากเขตหนึ่งไปทิ้งที่อีกเขตหนึ่งได้ อย่างที่เราได้เห็นในซีรีส์ Hometown Cha Cha Cha ผู้ใหญ่บ้านฮวาจองและหัวหน้าฮงแห่งกงจินจึงต้องไปรับถุงขยะของหมู่บ้านที่สำนักงานเขต และนำมาแจกจ่ายให้ลูกบ้านในชุมชนต่อ
“ทิ้งขยะรีไซเคิลวันจันทร์กับวันพฤหัส”
ประโยคหนึ่งจาก Move to Heaven ที่กือรูพูดกับโจซังกูย้ายเข้ามาไม่นาน ทำให้ได้เห็นตัวอย่างวันจัดการขยะของพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ เนื่องจากวัน เวลา และสถานที่ทิ้งขยะเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป
ควรนำขยะมาทิ้งในวันและเวลาที่กำหนด โดยสามารถตรวจสอบได้ที่รายละเอียดบนถุงทิ้งขยะ เพื่อนบ้าน สำนักงานหรือเว็บไซต์ราชการ แม้วันจะไม่แน่นอน แต่จะมีการเก็บขยะช่วงประมาณ 6 โมงเย็นถึงเช้าตรู่ ประมาณตี 5 ของเช้าวันถัดไป
ข้อกำหนดเหล่านี้เป็นสิ่งที่เข้มงวดมาก หากไม่ปฏิบัติตามต้องจ่ายค่าปรับตามที่แต่ละเขตกำหนดไว้ ซึ่งอาจสูงถึง 400,000 – 1,000,000 วอน
นอกจากนี้ยังมีขยะพิเศษที่จะต้องใส่ถุงหรือทิ้งลงถังขยะเฉพาะที่ระบุไว้เท่านั้น เช่น
– เศษไม้หัก เศษแก้ว หรือเซรามิกแตก เรซินสังเคราะห์ หรือพีวีซี จัดเป็นขยะพิเศษ และต้องทิ้งในถุงขยะมาตรฐาน
– เศษผ้า หรือเสื้อผ้า ต้องทิ้งลงในถังขยะสำหรับผ้า
– ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่ ต้องทิ้งลงในถังขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ตามข้อบังคับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า (Waste Electrical and Electronic Equipment: WEEE)
สถานการณ์ปัจจุบัน และทิศทางการจัดการขยะในอนาคตของเกาหลี
ภายหลังปี 2017 จีนออกคำสั่งห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ ทำให้เกาหลีใต้สั่งห้ามการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และเปลี่ยนมาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิลได้ เช่น ถุงกระดาษ หรือถุงผ้า เพื่อลดการเกิดขยะพลาสติกให้ได้มากที่สุด
รวมถึงเกาหลีใต้ยังกำลังอยู่ในช่วงพยายามสร้างสังคมไร้ขยะเพื่อลดการฝังกลบและเพิ่มการรีไซเคิล และพยายามผลักดันนโยบายเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานสำหรับการผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงต่างๆ เนื่องจากเป็นพลังงานที่มีราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะสามารถช่วยลดปริมาณ PM2.5 ในเกาหลีลงได้
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้เป็นส่วนสำคัญในการจัดการปัญหาขยะ โดยอาศัยอำนาจในการออกกฎหมายที่เข้มงวด เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดการขยะให้ประชาชนปฏิบัติตาม แม้จะดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและวุ่นวายในช่วงแรก แต่การร่วมมือกันของประชาชนก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ส่งผลให้การจัดการขยะเป็นไปได้ด้วยดี โดยซีรีส์เป็นช่องทางหนึ่งที่มีการสอดแทรกเรื่องนี้ได้อย่างแนบเนียน เหมือนเป็นชีวิตประจำวันที่ชาวเกาหลีทุกคนต่างก็ปฏิบัติ ซึ่งทำให้ผู้ชมทั้งในและนอกประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการขยะมากขึ้น
ในปัจจุบัน ไทยก็เป็นประเทศที่กำลังประสบกับปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจากเกาหลีใต้ จึงนับได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องใส่ใจและร่วมมือกันแก้ไข โดยเฉพาะภาครัฐที่มีอำนาจในการออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะและสามารถบังคับใช้ได้อย่างเข้มงวด เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน และประชาชนเองก็จำเป็นต้องใส่ใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยให้ทิศทางการจัดการขยะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต
เรื่องโดย อรณิชา ชูสกุล
อ้างอิง: www.downtoearth.org.in, en.wikipedia.org, www.ydp.go.kr, 10mag.com