Squid Game ซีรีส์สะท้อนปัญหาสังคมในเปลือกสีลูกกวาด รสหวาน ทานง่าย และกำลังดังไกลระดับโลก
น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า Squid Game กำลังจะขึ้นแท่นเป็นซีรีส์ออริจินัลของ Netflix ที่สร้างปรากฏการณ์เป็นซีรีส์ที่มีคนดูสูงที่สุดในโลก โดยที่แชมป์เก่าในตอนนี้ยังคงเป็นซีรีส์ Bridgerton ที่ใกล้จะเสียเข็มขัดในอีกไม่กี่วันนี้
คำถามที่ตามมาก็คือ อะไรที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้กลายเป็นกระแสฮิตติดลมบนไปทั่วโลก ซึ่งคำตอบก็ชัดเจนอยู่ว่าเป็นเพราะความละเอียดในการสร้างสรรค์ผลงาน พล็อตเรื่องที่ลึกซึ้ง มีหลายเลเยอร์ ทำให้จะดูสนุกๆ เลือดสาดก็ได้ หรือจะดูให้ลึกซึ้งระดับวิพากษ์สังคมก็ได้เช่นกัน
และถ้าใครอยากรู้ลึกรู้จริงทุกรายละเอียดของซีรีส์เรื่องนี้ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส รวบรวมมาให้แล้ว
จุดเริ่มต้นของ Squid Game ในปี 2008
“จริงๆ แล้วปี 2008 คือทันทีหลังจากที่ผมมีผลงานเดบิวต์ ตอนนั้นผมไปร้านหนังสือการ์ตูนบ่อยมาก พอผมอ่านการ์ตูนมากเข้าก็เริ่มคิดถึงการสร้างอะไรที่คล้ายๆ เรื่องในหนังสือการ์ตูนเกาหลี แล้วผมก็เขียนบทเสร็จในปี 2009” ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ ฮวังดงฮยอก จึงมีความตั้งใจจะทำมันออกมาในรูปแบบภาพยนตร์
บทดราฟต์แรกเกิดขึ้นในปี 2008 ก่อนภาพยนตร์ยอดนิยมของเขาอย่าง Silenced และ The Fortress เสียอีก ผู้กำกับฮวังดงฮยอกเล่าถึงช่วงเวลาที่เริ่มเขียนบท “ตอนนั้นดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะมีเนื้อหาที่คนอาจไม่คุ้นเคยหรือดูรุนแรงเกินไป และมีบางคนที่มองว่าเรื่องราวดูซับซ้อนเกินไปหน่อยและไม่น่าจะทำตลาดได้ อีกทั้งตอนนั้นผมยังไม่สามารถระดมทุนในการผลิตได้มากพอ และในส่วนของการแคสต์นักแสดงก็ยากเช่นกัน ผมคลุกคลีอยู่กับการเตรียมการเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ประมาณปีหนึ่ง แต่ก็ต้องพับโปรเจกต์เก็บไปในที่สุด”
เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ผู้กำกับฮวังดงฮยอกได้ร่วมงานกับ Netflix ในการสร้างสรรค์ผลงานตามที่ใจต้องการ
สำหรับผู้กำกับฮวังดงฮยอก เขาเป็นทั้งผู้เขียนบทและกำกับซีรีส์ด้วยตัวเอง เขาเป็นที่รู้จักในแง่ของความสามารถในการสร้างผลงานหลากหลายประเภท และจากผลงานภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอย่าง Silenced, Miss Granny และ The Fortress ส่วน Squid Game เป็นผลงานที่ฮวังดงฮยอกได้เปลี่ยนความทรงจำที่บริสุทธิ์และสวยงามของเกมในวัยเด็กให้เป็นความจริงอันโหดร้ายและเต็มไปด้วยการแข่งขันสุดโหด
ทำไมแต่ละด่านในซีรีส์จึงต้องเป็นเกมเด็กเล่น
ผู้กำกับฮวังดงฮยอกคิดคำนึงอย่างรอบคอบในการเลือกเกมเด็กเล่นที่เข้าใจง่ายและทำให้คนดูรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้ แต่รายละเอียดเบื้องหลังก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละเกมต้องผ่านการคิดวางแผนมากมายเพียงใด
ยกตัวอย่างเช่นเกมแรก เออีไอโอยู หยุด ซึ่งเป็นเกมที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี หุ่นยนต์ในเกมนั้นนำมาจากเด็กผู้หญิงในตำราเรียนเด็ก ซึ่งทำให้ฉากออกมาดูสะเทือนขวัญยิ่งขึ้น เมื่อความสนุกในวัยเด็กกลายมาเป็นการต่อสู้ดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อให้รอดตาย หรือเกมชักเย่อ ที่เด็กๆ ทุกคนบนโลกน่าจะเคยผ่านประสบการณ์การแข่งขันนี้มาแล้วทั้งนั้น
การถ่ายทอดอารมณ์ที่สมจริงในงานสร้าง
หนึ่งในแง่มุมที่โดดเด่นที่สุดของซีรีส์เรื่องนี้คืองานภาพที่มีสีสันสดใสอย่างเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งทำให้แตกต่างจากซีรีส์แนวเซอร์ไววัลเรื่องอื่นๆ ผู้กำกับศิลป์แชกยองซอนเล่าว่า “เราสร้างสถานที่และจัดวางสิ่งต่างๆ โดยพยายามให้ผู้ชมคิดถึงเจตนาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังซีรีส์ไปพร้อมกับเรา” ฉากถ่ายทำขนาดใหญ่และสีสันสดใสได้พาผู้ชมเข้าไปสู่โลกที่ทั้งสมจริงและทั้งแฟนตาซีในเวลาเดียวกัน
เช่นเดียวกัน ฉากถ่ายทำขนาดมหึมาก็มีส่วนช่วยให้นักแสดงถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้สมจริงขึ้น ผู้กำกับฮวังดงฮยอกกล่าวว่า “ผมพยายามกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศของสนามเด็กเล่นจริงๆ เพื่อให้นักแสดงได้สามารถรู้สึกและสัมผัสได้ว่ากำลังทำบางอย่างตรงนั้น ผมคิดว่าฉากถ่ายทำแบบนี้ทำให้การแสดงของนักแสดงสมจริงมากขึ้น” การนำเกมที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เอาชีวิตรอดมาอยู่คู่กับสนามเด็กเล่นที่ใสซื่อไร้เดียงสานับว่าโดดเด่นและสร้างแรงกระตุ้นทางอารมณ์ได้ดีทีเดียว
ซังมุนดง ฉากสำคัญที่สร้างความรู้สึกหวนรำลึกถึงอดีต
หนึ่งในฉากที่ใช้เวลาสร้างนานที่สุดคือการจำลอง ‘ตรอกซังมุนดง’ ซึ่งเป็นลักษณะชุมชนบ้านสไตล์เกาหลีในยุค 70-80 ด้านนักแสดง ฮอซองแท ยังกล่าวชื่นชมฝ่ายศิลป์สำหรับความใส่ใจในรายละเอียดกับการโรยดินไว้ตามจุดต่างๆ ในตรอกเหล่านั้นด้วย เช่นเดียวกับ พัคแฮซู ที่ให้สัมภาษณ์ว่า “สนามเด็กเล่นนั้นเหมือนจริงมาก เหมือนตรอกแถวบ้านในอดีต เหมือนกำลังอยู่หน้าบ้านสมัยก่อนจริงๆ ทำให้นึกถึงความหลัง และรู้สึกถึงความตึงเครียดที่ไม่ธรรมดาเลยครับ”
สัญลักษณ์ตีความในเกมปลาหมึก
นอกจากความบันเทิงแล้ว ซีรีส์ยังใส่สัญลักษณ์ไว้ให้ตีความมากมาย ตัวซีรีส์เองตลอดทั้งเรื่องก็เป็นสัญลักษณ์ที่ตั้งใจจะสะท้อนภาพการแข่งขันในสังคมปัจจุบันที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ วิถีที่มนุษย์ถูกสังคมหล่อหลอมให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่นั้นสะท้อนออกมาในรูปแบบของการที่เกมเด็กเล่นแสนบริสุทธิ์กลายมาเป็นสิ่งที่โหดร้ายและอันตรายถึงชีวิต
เหล่านักแสดงยังออกปากชมการออกแบบฉากอย่างละเอียด โดยที่ผู้กำกับไม่ต้องพึ่งพา CG มากนัก เพราะเขาตัดสินใจจะใช้ฉากขนาดใหญ่ที่สมจริง ท้ายที่สุดดนตรีที่ใช้ก็เป็นภาพแทนของสิ่งที่เด็กๆ ในยุค 70 และ 80 ฟังกัน ทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองและหวนรำลึกถึงอดีต โดยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้รวมกันกลายเป็นประสบการณ์ที่จะทำให้ผู้ชมประทับใจและหลงเสน่ห์ได้ง่ายๆ
การวางธีมเรื่องที่สื่อความลึกซึ้ง
หากดูเผินๆ จะพบว่าซีรีส์เรื่องนี้เริ่มตื่นเต้นระทึกขวัญเมื่อเกมเริ่มและผู้เล่นถูกฆ่าตายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การนองเลือดนั้นมีความหมายและเน้นย้ำนัยสำคัญที่ลึกลงไปซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ต้องการจะสื่อ
มองอีกมุมหนึ่งก็อาจรู้สึกว่าพล็อตของเรื่องนี้ไม่มีอะไรพิเศษ แต่ความจริงแล้วซีรีส์เรื่องนี้เต็มไปด้วยการแทนสัญลักษณ์อย่างชาญฉลาด สะท้อนภาพของสังคมร่วมสมัยและการแข่งขันไม่จบสิ้นของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยเป็นความตั้งใจสุดสร้างสรรค์ของผู้กำกับฮวังดงฮยอก ที่ต้องการแสดงให้เห็นความย้อนแย้งว่าเจตนารมณ์ที่ดีของระบบทุนนิยมซึ่งเดิมต้องการที่จะช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดีนั้น แท้จริงแล้วสามารถทำร้ายมนุษย์และนำไปสู่การแข่งขันอันโหดร้ายได้อย่างไร เราจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนและแจ่มแจ้งของธรรมชาติมนุษย์ และเห็นว่าแต่ละคนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เราไม่สามารถไว้ใจใครได้ทั้งสิ้น โดยมีสัญลักษณ์มากมายที่ทิ้งเอาไว้ให้ตีความได้อย่างล้ำลึก
สร้างให้ออกมาเป็นสากล แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเกาหลีด้วย
แง่มุมต่างๆ ที่กล่าวมานี้ได้รวมกันเป็นเรื่องราวที่มีความเป็นสากล แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเกาหลีด้วย เกมเด็กเล่นส่วนใหญ่เป็นเกมที่รู้จักกันแพร่หลาย แต่บางเกมก็มีแค่ในเกาหลีเท่านั้น อารมณ์ของมนุษย์และอุปสรรคที่ตัวละครเผชิญจะเข้าถึงอารมณ์ของใครหลายๆ คนไม่ว่าจะเป็นคนที่ไหนก็ตาม ผู้กำกับฮวังดงฮยอกมองว่า “ในฐานะเกมเซอร์ไววัล มันเป็นทั้งความบันเทิงและเป็นความดราม่าของมนุษย์”
การสื่อสารที่เฉียบคม
ซีรีส์เรื่องนี้พาไปสำรวจธรรมชาติของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ ผ่านการนำผู้ใหญ่กลับมาเล่นเกมในวัยเด็กอีกครั้ง
ผู้กำกับฮวังดงฮยอกระบุว่า “ผมอยากเขียนเรื่องที่เป็นสัญลักษณ์ภาพหรือนิทานเปรียบเทียบสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน อะไรที่จะทำให้เห็นภาพการแข่งขันสุดโต่ง อะไรที่คล้ายกับการแข่งขันอันรุนแรงของชีวิตคน” แต่มันก็ไม่ได้สิ้นหวังไปเสียทั้งหมด ดังที่เราได้เห็นหลายตัวละครยังไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์และมีความหวังไปพร้อมกัน ซึ่งการวิพากษ์ธรรมชาติมนุษย์และสังคมนั้นกระตุ้นความคิดของคนได้อย่างแน่นอน
FYI:
Squid Game คือเกมท้าตายที่มีจำนวนผู้เข้าแข่งขันถึง 456 คน และมีเงินรางวัลสูงถึง 456,000,000 ล้านวอน (ราว 2,700 ล้านบาท) จึงไม่น่าแปลกใจที่มีผู้คนหลากหลายจากแทบทุกมิติของสังคมมาร่วมเล่นเกมนี้ ไม่ว่าจะเป็น กีฮุน (อีจองแจ) พ่อม่ายที่เผชิญความล้มเหลวทางธุรกิจและปัญหาหนี้สิน เพื่อนที่โตมาในละแวกเดียวกันของเขา ซังอู (พัคแฮซู) ซึ่งสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดังและได้ทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ แต่กลับเจอทางตันในท้ายที่สุด และยังมี แซบยอก (จองโฮยอน) ผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือที่ดิ้นรนเพื่อให้ครอบครัวของเธอได้อยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง รวมถึงตัวละครอื่นๆ ที่น่าสนใจอย่าง ด็อกซู (ฮอซองแท) ที่เป็นนักเลง และจุนโฮ (วีฮาจุน) ตำรวจที่ค้นพบเกมนี้ระหว่างออกตามหาพี่ชายของเขาที่หายตัวไป
ภาพ: Netflix