ย้อนรอย โอลิมปิก ปี 1988 อีเวนต์ใหญ่ระดับโลกของเกาหลี ที่ปรากฏใน Reply 1988 และ Seoul Vibe l แอบรู้หลังดูซี
จาก Reply 1988 มาจนถึง Seoul Vibe ที่กำลังจะได้ชมพร้อมกันในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ เป็นอีกครั้งที่เราจะได้เห็นเรื่องราวของมหกรรม ‘โอลิมปิก ปี 1988’ ที่ปรากฏขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ แต่กว่าจะกลายมาเป็นอีเวนต์ใหญ่ระดับโลกอย่างที่เห็น จริงๆ แล้วช่วงเวลานั้นในเกาหลีเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตามมาเลกเชอร์กันแบบละเอียดยิบได้ในเอพิโสดนี้
มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิก เกาหลีใต้เป็นชาติที่ 2 ของเอเชียที่ได้จัดโอลิมปิกต่อจาก Tokyo 1964 โดยในปี 1981 เกาหลีใต้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงการเป็นเจ้าภาพ โอลิมปิก ปี 1988 ซึ่งต้องแข่งกับประเทศญี่ปุ่นที่มีความพร้อมมากกว่าในทุกด้าน โดยญี่ปุ่นเสนอ Nagoya 1988 เกาหลีเสนอ Seoul 1988 การจัดโอลิมปิกในครั้งนั้นถือเป็นความสำเร็จของเกาหลีที่แสดงให้เห็นว่าประเทศที่เคยผ่านสงครามแบ่งแยกประเทศมาแล้ว 35 ปี ได้มีการพัฒนาและพร้อมที่จะต้อนรับความสัมพันธ์กับทุกประเทศ
ย้อนกลับไป 1 ปีก่อนการคัดเลือกเจ้าภาพในปี 1980 เกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู (Gwangju Uprising) จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเกือบ 4,000 คน ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ถูกมองในแง่ลบ ประเด็นทางการเมืองถูกใช้ถามถึงความเหมาะสมต่อการเป็นเจ้าภาพ
ในยุค 50-80 ภาพจำของชาวโลกต่อเกาหลีไม่ดีเท่าไหร่ เพราะมีทั้งสงครามแบ่งแยกประเทศ สงครามเย็น เผด็จการทหาร การปราบปรามนักศึกษาและการยิงแก๊ส ทำให้ทางรัฐบาลทหารเกาหลีคิดกันหนักมากว่าจะโชว์อะไรให้ทั้งโลกดู เพราะมันไม่มีอะไรเลยนอกจากสงครามและม๊อบที่กวางจู ดังนั้นรัฐบาลจึงเห็นว่าการจัดมหกรรมกีฬานี่แหละเป็นวิธีแสดงให้โลกเห็นว่าเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศทันสมัยในสายตาประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก ทำให้เกิด Asian Games 1986 และ Summer Olympics 1988
อย่างไรก็ดี สุดท้ายด้วยแรงกดดันต่างๆ ประธานาธิบดีชอนดูฮวาน ต้องยอมคืนอำนาจให้กับประชาชน และจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในเดือนธันวาคม ปี 1987 และเปลี่ยนประเทศให้เป็นประเทศประชาธิปไตยในที่สุด ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวก็คือ โนแทอู และเป็นผู้ทำพิธีเปิดงานโอลิมปิกครั้งนี้ด้วย
การสร้างสรรค์ผลงานศิลป์ของเจ้าภาพ โอลิมปิก ปี 1988
งานออกแบบหลักๆ ตัวของโลโก้ถูกเตรียมตัวกันมาตั้งแต่สมัยของชอนดูฮวานแล้ว มันจึงไม่มีอะไรมากตามสไตล์เผด็จการทหาร โดยเน้นความเป็น ‘ชาติเกาหลี’ โลโก้ได้แรงบันดาลใจมาจากสัญลักษณ์ ซัมแทกึก (삼태극) กล่าวคือเป็นสัญลักษณ์เชิงปรัชญาที่เกาหลีได้รับมาจากสัญลักษณ์ในลัทธิเต๋าของจีนอีกที คล้ายๆ หยิน-หยาง สื่อถึงสมดุลในธรรมชาติอันเป็นสัจธรรมสูงสุด มี 3 สี ได้แก่ สีแดงคือโลก สีน้ำเงินคือสวรรค์ สีเหลืองคือมนุษย์ และนำมาออกแบบลายประยุกต์เอาทั้ง 3 สีเชื่อมเข้าหากัน
ในส่วนของสีที่ใช้หลักๆ ในโปสเตอร์ก็จะเป็นประจำชาติคือ แดง น้ำเงิน ภาพของนักวิ่งที่ถือคบเพลิงโอลิมปิกเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าของมนุษยชาติ ความสุข และความเจริญรุ่งเรือง เป็นไปตามคติของงานที่ว่า ‘Harmony and Progress’ (화합과 전진)
มาสคอต ใช้เป็นสัตว์ประจำชาติอย่าง โฮรางงิ (호랑이) หรือเสือ ชื่อ ‘โฮโดริ’ ใส่หมวกซังโม (상모) ซึ่งแฟนซีรีส์พีเรียดน่าจะคุ้นเคยกันดี โดย ‘โฮ’ มาจากรากศัพท์จากตัวฮันจา หมายถึงเสือ ส่วน ‘โดริ’ มาจากชื่อของเด็กผู้ชายทั่วไปในเกาหลี
พิธีเปิดโอลิมปิกปี 1988 ที่โลกไม่มีวันลืม
พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงโซลเมื่อปี 1988 คือครั้งสุดท้ายที่จัดพิธีดังกล่าวในตอนกลางวัน และเป็นที่จดจำในเรื่อง ‘นกพิราบ’ ที่ถูกนำมาปล่อยให้โบยบินในพิธีเปิดทุกครั้งก่อนหน้านั้น เพื่อเป็นตัวแทนของสันติภาพ แต่ที่โซลกลายเป็นโศกนาฏกรรมเมื่อนกไปเกาะบนกระถางคบเพลิงขณะที่อดีตนักกีฬาของเกาหลีจุดไฟ ทำให้โดนย่างสดออกอากาศ ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจและต้องยุติการปล่อยนกพิราบตั้งแต่โอลิมปิกปี 1992 เป็นต้นมา
และอีกไฮไลต์หนึ่งของงานจะที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการเชิญคบเพลิง โดยบุคคลที่เป็นตัวแทนชาติเกาหลีมาเชิญคบเพลิงในครั้งนี้คือ ‘ซนกีจอง’ นักกีฬาวิ่งมาราธอน วัย 76 ปี เขาเป็นนักกีฬาเกาหลีคนแรกที่ได้รับเหรียญทองโอลิมปิกจากการแข่งขันวิ่งมาราธอน ที่กรุงเบอร์ลิน ปี 1936 แต่ทว่าตอนนั้นเขาได้วิ่งในเสื้อทีมของ ‘ญี่ปุ่น’ เพราะขณะนั้นเกาหลียังตกอยู่ในอาณานิคมของญี่ปุ่นอยู่นั่นเอง
นอกจากนี้การแสดงอื่นๆ ก็เป็นที่พูดถึงไม่แพ้กัน เช่น การแสดงเทควันโดอันพร้อมเพรียง การแสดงพื้นบ้านโคซาอุมโนรี (고싸움놀이) ที่น่าตื่นเต้น และการกระโดดร่มของกลุ่มนักดิ่งเวหาที่เกาะกันเป็นห่วงห้าสีของโอลิมปิกบนน่านฟ้าอย่างสวยงาม
สำหรับประเทศไทย ผู้ที่เข้าร่วมพิธีเปิดนอกจากจะมีนักกีฬาทั้ง 16 คนแล้ว ก็ยังมีรองนายกรัฐมนตรี พลเอก เทียนชัย สิริสัมพันธ์ และปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก Miss Universe 1988 คนที่ 2 ของไทยไปร่วมงานด้วย
บทเพลงที่เป็นเพลงประจำการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้คือ ‘Hand in Hand’ (손에 손 잡고) ซึ่งมีทั้งเวอร์ชันที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาเกาหลี ขับร้องโดยวง Koreana ด้วยทำนองที่ไพเราะ ชวนติดหู และเสียงของนักร้องอันทรงพลัง ทำให้เพลงนี้ดังเป็นพลุแตก ติดท็อปชาร์ตกว่า 17 ประเทศ มียอดขายอัลบั้มกว่า 12 ล้านแผ่นทั่วโลก อีกทั้งยังมีการนำไปแปลหรือคัฟเวอร์ในภาษาอื่นๆ อีกด้วย ถือเป็นหนึ่งในเพลงประจำโอลิมปิกที่ดังที่สุดเลยก็ว่าได้ แถมในปัจจุบันก็ยังมีนักร้องยังหยิบเพลงนี้มาร้องอยู่บ่อยครั้ง เช่น วง I.O.I วงเซอร์ไววัลแห่งชาติเกาหลี ที่นำมารีเมคและปล่อยให้ฟังในปี 2016 เรียกได้ว่าเป็นเพลงระดับตำนานสุด ๆ เพลงหนึ่งเลย
FUN FACTS
– ในปี 1986 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้เจรจากับเกาหลีเหนือและใต้ ถึงการรวมประเทศเพื่อส่งนักกีฬาแข่งขันเป็นทีมเดียวกัน แต่ข้อเรียกร้องของเกาหลีเหนือที่ต้องการจัดพิธีเปิดและปิด รวมถึงจัดแข่ง 11 กีฬาในฝั่งเหนือไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้สุดท้ายเกาหลีใต้จึงเป็นเจ้าภาพทั้งหมด ทำให้เกาหลีเหนือเลือกที่จะบอยคอตการแข่งขัน และไม่ส่งทีมมาร่วมแข่ง
– สิ่งปลูกสร้างช่วงโอลิมปิกที่ต่อมาได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อน เช่น สนาม Jamsil Sports Complex สวน Olympic Park ประตู World Peace Gate ซึ่งเบื้องลึกเบื้องหลังก็มาจากการปรับทัศนียภาพ โดยรื้อถอนอาคารบ้านเรือนที่ทรุดโทรม จับคนไร้บ้านที่อยู่กันเป็นสลัมให้ย้ายออกไปจากบริเวณสำคัญที่ต้องวิ่งคบเพลิงผ่าน แบนการบริโภคเนื้อสุนัขในหลายๆ เมืองที่จัดแข่งกีฬา และยังมีการออกกฎเฉพาะกาล ห้ามรวมกลุ่มประท้วงในช่วงเวลานั้นอีกด้วย
– กีฬาเทควันโด ถูกบรรจุเป็นกีฬาสาธิตครั้งแรก ก่อนที่จะได้จัดแข่งขันจริงครั้งแรกในโอลิมปิก ปี 2000 ที่ซิดนีย์ นอกจากนี้ยังมีแบดมินตัน เบสบอล และโบว์ลิ่ง ที่เป็นกีฬาสาธิตในโอลิมปิก ปี 1988 เช่นกัน
– จากผลการแข่งขันทั้งหมด เกาหลีได้อันดับ 4 รวม 12 เหรียญทอง ได้มากสุดจากกีฬายิงธนู 3 เหรียญทอง ส่วนอันดับ 1 เป็นของสหภาพโซเวียต 55 เหรียญทอง และเป็นครั้งสุดท้ายที่สหภาพโซเวียตแข่งขัน ทั้งนี้ ปีนั้นประเทศไทยก็คว้า 1 เหรียญทองแดงจากกีฬามวยสากลของผจญ มูลสัน
ดูซีรีส์ให้ซีเรียส อยากชวนทุกคนมาดูภาพยนตร์เรื่องใหม่จากเกาหลีเรื่อง Seoul Vibe: ซิ่งทะลุโซล ซึ่งเป็นแนวแอ็กชัน อาชญากรรม เล่าเรื่องราวของการไล่ล่าสุดระทึกของกลุ่มนักซิ่งรถที่ไปพัวพันกับการลักลอบขนเงินผิดกฎหมายในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก ปี 1988 ณ กรุงโซล นำแสดงโดย ยูอาอิน โกคยองพโย อีคยูฮยอง พัคจูฮยอน และองซองอู นับว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่น่าจับตาดูในครึ่งปีหลังนี้เป็นอย่างมาก จ่อคิวฉาย 26 สิงหาคมนี้ทาง Netflix บอกเลยว่าห้ามพลาด
เรื่องโดย ธนภัทร จันทร์เหม
อ้างอิง: olympics.com, koreatimes.co.kr, mainstand.co.th, stadiumth.com