Death’s Game เมื่อความตายไม่ใช่คำตอบ แต่คือคำถาม?
Death’s Game เป็นซีรีส์น้ำดีแห่งปี 2023 ที่ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส ไม่อยากให้ใครพลาด โดยเฉพาะถ้าเป็นแฟนซีรีส์เกาหลีอยู่แล้ว บอกได้เลยว่าเรื่องนี้ครบ จบ ทุกความรู้สึกในเรื่องเดียว
นั่นก็เพราะมันพาเราไปมองเห็นชีวิตผู้คนในเกาหลีที่ต่างทนทุกข์กับความกดดันในชีวิต แบบที่ไม่ว่าคนดูจะอยู่ที่ไหนในโลกก็เชื่อมโยงเข้ากับตัวละครในเรื่องได้ไม่ยาก เพราะสุดท้ายเราต่างมีชีวิตที่ต้องต่อสู้ ทั้งกับปัญหานานาที่ผ่านเข้ามา ผู้คนรอบตัว เรื่องปากท้อง กฎหมายที่เต็มไปด้วยช่องโหว่ ฯลฯ เพียงแต่เรามองสิ่งต่างๆ เหล่านี้ว่าเป็นกำแพงสูงลิ่วที่เราไม่อาจก้าวข้ามจนยอมแพ้มันไปเอง หรือจะยังค่อยๆ เดินต่อไป เพื่อให้เราก้าวข้ามผ่านปัญหาเหล่านั้นไปให้ได้ในสักวัน
สำหรับซีรีส์ Death’s Game ความตาย ไม่ใช่คำตอบ แต่คือคำถามถึงการมีชีวิตอยู่ต่างหาก
Death’s Game สนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว
ทุกครั้งที่ขึ้นอีพีใหม่ แล้วปรากฏโลโก้กระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้แต่นึกในใจว่านี่คือซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้
การสร้างสรรค์ซีรีส์สักเรื่องให้กลมกล่อมได้ขนาดนี้ ต้องยอมรับในฝีมือเอามากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือก ‘ความตาย’ หรือ ‘การฆ่าตัวตาย’ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่และบอบบางต่อความรู้สึกมาใช้เป็นคีย์แมสเสจก็ยิ่งเป็นความยากไปอีกหลายเท่าตัว ซึ่งเชื่อได้ว่าทั้งทีมสร้าง ทีมนักแสดง และผู้สนับสนุนหลักอย่างกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเกาหลี ต่างมองเห็นตรงกันว่าภารกิจครั้งนี้สำคัญและให้ประโยชน์กับสังคมอย่างที่สุด
ในซีรีส์มีการพูดถึงสถิติการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเอาไว้ เพราะอย่างที่เราพอจะรู้กันดีก็คือ เกาหลีนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงติดอันดับต้นๆ จากการหาข้อมูลเพิ่มเติมเราพบว่า ถ้ามองสถิติทั่วโลก เกาหลีอาจไม่ใช่ที่สุด แต่ถ้ามองตัวเลขในกลุ่มประเทศ OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด 38 ประเทศ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2004 มาจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นเพียงในปี 2016-2017 เท่านั้น
อ้างอิงตัวเลขจาก BBC เกาหลีใต้มีอัตราการฆ่าตัวตาย 25.2 ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งมากกว่าเท่าตัวจากตัวเลขเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ที่มีอัตรการฆ่าตัวตายที่ 10.6 ต่อประชากร 100,000 คน
และถ้ามองไปในรายละเอียด การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นกับกลุ่มวัยราว 20 และ 30 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ทำให้ทางรัฐบาลเกาหลีได้ประกาศแผนระยะเวลา 5 ปีในการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยหวังว่าจะลดอัตราการเกิดขึ้นให้ได้ 30% ทั้งการวางพื้นฐานการตรวจสภาพจิตใจให้กับประชาชนทุกๆ 2 ปี สนับสนุนชุมชนในการดูแลผู้คนในชุมชนของตน ลดปริมาณคอนเทนต์ออนไลน์ที่กระตุ้นต่อความรู้สึกเจ็บปวด และพัฒนาระบบในการเข้าถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ รวมไปถึงการติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
โทนอารมณ์ Death’s Game จากแอ็กชัน เลิฟไลน์ ไปจนถึงดราม่าขั้นสุด
ความน่าสนใจอีกอย่างคือการไต่ระดับเรื่องราวไปได้อย่างน่าทึ่ง วิธีการเล่าเรื่องที่สมูท ชวนให้คนดูติดตามเรื่องราวชีวิตผู้คนไปเรื่อยๆ กับตัวละครที่หลากหลายและยากจะคาดเดา
ส่วนที่แอ็กชันก็ไปสุดทางมาก มุมกล้อง การดีไซน์ฉากแอ็กชัน ความเลือดสาดต่างๆ ดีงามจนไม่รู้จะบอกยังไงดี ขณะเดียวกันตอนที่เล่าเส้นเรื่องโรแมนซ์ก็ทำได้ดีสมราคาซีรีส์เกาหลี ส่วนที่ดราม่าก็กระทบกระเทือนจิตใจได้อย่างที่เป็นทางถนัดของซีรีส์เกาหลีมากๆ
ซีรีส์เรื่องนี้จึงเหมือนหนังสั้นหลายๆ เรื่องที่มาร้อยต่อด้วยกัน แล้วกลับกลายเป็นหนังยาวเรื่องหนึ่งได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งต้องชื่นชมทีมสร้างอย่างมากๆ
ฮาบยองฮุน ผู้กำกับที่พร้อมย้อนกลับสู่อดีต
ชื่อของ ฮาบยองฮุน ผู้กำกับซีรีส์ อาจจะไม่ได้คุ้นหูแฟนซีรีส์ขนาดนั้น แต่หลังจากนี้เราต้องจำชื่อเขาไว้ให้ดี เหนืออื่นใด เขาคือผู้กำกับที่ถนัดงานเล่าเรื่องอดีตของตัวละครที่มีโอกาสย้อนกลับไปแก้ไขอะไรบางอย่าง
ไล่เรียงจากผลงานที่ผ่านมา เช่น Go Back Couple (2017) คู่สามีภรรยาที่หมดรักกันแล้ว ได้โอกาสย้อนกลับไปวันแรกที่พบกันในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย หรือซีรีส์ 18 Again (2020) สามีไม่เอาไหนในวัย 37 ลืมตาตื่นมาพบว่าตัวเองอายุแค่ 18 การที่เขาได้ใช้ชีวิตวัย 18 อีกครั้งจะเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตเขาได้หรือไม่ เหล่านี้ก็พอจะมอบตำแหน่งผู้กำกับย้อนอดีตให้กับฮาบยองฮุนได้แล้ว
ผลงานที่ผ่านมาของฮาบยองฮุน
– Death’s Game (TVING / 2023-2024)
– 18 Again (JTBC / 2020)
– Go Back Couple (KBS2 / 2017)
– The Sound of Your Heart (KBS2-Naver TV-Netflix / 2016-2017)
นักแสดงเทพๆ ที่ไม่ได้มีแค่ ซออินกุก พัคโซดัม โกยุนจอง
พลังสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราวอีกส่วนหนึ่งก็คือทีมนักแสดง โดยเฉพาะในเรื่องนี้ที่เต็มไปด้วยนักแสดงฝีมือดีมารับบททุกตัวละคร และยังมาในแบบถูกที่ถูกเวลา บทนี้ได้คนนี้มาเล่นคือใช่แล้ว เป็นใครไปไม่ได้แล้ว ซึ่งพอได้นักแสดงที่เชื่อมือได้ในการรับบทต่างๆ ก็ยิ่งสร้างน้ำหนักให้เรื่องราว และทำให้เราเชื่อ อินตามไปกับแมสเสจที่ซีรีส์ต้องการสื่อสาร
ทีมนักแสดงนำที่เป็นเส้นเรื่องหลักๆ ประกอบด้วย ซออินกุก พัคโซดัม โกยุนจอง และยังได้คุณแม่แห่งชาติ คิมมีกยอง มารับบทเป็นแม่ของตัวละครชเวอีแจด้วยแล้ว ก็ต้องบอกว่าเหมาะสมกว่านี้ไม่ได้แล้ว ส่วนนักแสดงที่มารับบทสำคัญในอีพีต่างๆ ทางเราอยากให้ไปรับชมกันเอง เพราะทุกคนทุ่มเทให้กับการแสดงแบบหมดหน้าตักจริงๆ
พัคโซดัม กับชีวิตที่สองหลังการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์
คาแรกเตอร์หนึ่งที่ต้องพูดถึงเลยคือ ‘ความตาย’ ตัวละครนี้ตีความออกมาได้น่าสนใจ และที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือการที่ได้พัคโซดัมมารับบทนี้
พัคโซดัม ดังแบบฉุดไม่อยู่จากภาพยนตร์ Parasite ในปี 2019 และในเดือนธันวาคม ปี 2021 เธอได้แจ้งข่าวต่อสาธารณะว่าจะต้องเข้ารับการผ่าตัดและทำการรักษาโรคมะเร็งไทรอยด์ นั่นทำให้ซีรีส์เรื่องนี้เป็นผลงานแรกของเธอหลังจากหายดีจากโรคร้าย
ในงานแถลงข่าวซีรีส์ พัคโซดัมให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ไว้ว่า เธอใช้เวลาถึง 8 เดือนในการทำให้เสียงของตัวเองกลับมาเป็นปกติหลังการรักษามะเร็ง และในการรักษาก็มีทั้งการรักษาทางด้านร่างกายและด้านจิตใจควบคู่ไปด้วย
“ช่วงครึ่งแรกของการถ่ายทำซีรีส์ ฉันเองก็พบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก หลังจากไปถ่ายทำ ฉันร้องไห้ทุกวันเลยค่ะตอนที่กลับถึงบ้าน
“มีหลายครั้งที่ฉันไม่สามารถลุกออกจากเตียงได้เลย ถ้าพ่อไม่คอยช่วย ตอนนี้แค่ฉันเคลื่อนไหวร่างกายได้ด้วยตัวเองก็รู้สึกขอบคุณมากๆ แล้ว นี่คือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ฉันรู้สึกขอบคุณจริงๆ ในซีรีส์มีบทพูดหนึ่งที่ว่า ‘มนุษย์เราตายแค่ครั้งเดียว’ หวังว่าการได้รับชม Death’s Game จะทำให้คนดูนึกถึงคุณค่าและราคาที่ประเมินค่าไม่ได้ของการมีชีวิตอยู่ค่ะ”
สังคมเกาหลีที่มาพร้อมแรงกดดัน ยากตั้งแต่ลืมตามาดูโลกแล้ว
คดีทำร้ายร่างกายเด็ก การบูลลี่ในโรงเรียน สังคมการทำงานที่ยากมากกับการได้เข้าทำงานประจำในบริษัทยักษ์ใหญ่ การถูกเลย์ออฟก่อนเวลาอันควร และไม่มีใครช่วยได้ ธุรกิจสีเทา ฯลฯ
จากเรื่องจริงที่พบเห็นได้ในหน้าข่าวต่างๆ กลายมาเป็นเรื่องราวในซีรีส์ ซึ่งจริงๆ มันสะท้อนให้เห็นระบบสังคมเกาหลี ที่แม้ว่าด้านหนึ่งจะเจริญเต็มที่กับการก้าวเป็นแถวหน้าของโลก ในอีกด้านหนึ่ง สภาพสังคมก็บีบคั้นให้การมีชีวิตอยู่นั้นมันยากเย็นเหลือเกิน
ซีรีส์หลายเรื่องก่อนหน้านี้ เราคงได้เห็นกันแล้วว่าสะท้อนความเป็นสังคมที่กดดันขั้นสุดอย่างไร เรียกว่าเป็นสังคมที่ยากตั้งแต่เกิดมาเป็นคนแล้ว คุณเกิดมาในครอบครัวแชโบลหรือคนชั้นล่าง พ่อแม่มีครบไหม เป็นเด็กในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวจนสังคมติฉินนินทาหรือเปล่า กระทั่งการเรียนก็หนักหนาแสนสาหัสเพื่อที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของเกาหลีใต้ให้ได้ ไม่นับกรณีโดนบูลลี่ในโรงเรียน ที่ดูเหมือนว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เลย
เรียนจบมหาวิทยาลัยออกมาก็ยังเต็มไปด้วยด่านยากๆ รออยู่ ทั้งการหางานในบริษัทใหญ่ ทำอย่างไรให้หาเงินเพียงพอต่อค่าครองชีพสูงลิ่ว ไหนจะเรื่องการสร้างครอบครัวที่มารออยู่อีก ความเข้มข้นของสังคมเกาหลีใต้แบบนี้เองเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ทำให้ผู้คนบอบบาง ขาดน้ำหนักในการดึงให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อ เพราะขึ้นชื่อว่าการฆ่าตัวตายต้องตกนรก แต่ก็อาจไม่ต่างกับสิ่งที่ต้องเจอในนรกชีวิตจริง หรือไม่?
กระทั่งวันที่มืดมนที่สุด เรามองไม่เห็นแม้แสงของดวงดาว แต่ขออย่าให้ไฟนำทางรอบตัวถูกลบเลือนไปด้วย
เวลาที่มันมืด มันมองไม่เห็นอะไรเลยก็จริง แต่ความทรงจำที่ดีในชีวิตของเราจะยังมีช่วงส่องประกายให้เราพอมองเห็นแสงสว่าง
ความทรงจำที่ทำให้เรายิ้มได้ หัวเราะได้ มีความสุข คนรอบตัวที่เขาให้ความสำคัญ ให้คุณค่ากับเรา มองจากมุมของเราเองอาจจะไม่เห็นว่าเป็นอะไรใหญ่โตนัก แต่ในความจริง มันยิ่งใหญ่เพียงต่อให้เราอยากมีชีวิตสู้ไปต่อ
และในเวลาที่มืดมนที่สุด การขอความช่วยเหลือจากใครสักคนไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย เพราะในชีวิตจริงเราไม่ได้มีเกมหลังความตายให้ลองเล่น หรือโอกาสที่จะได้เจอจุดพลิกผันอะไรให้ได้กลับมาใช้ชีวิตใหม่ก็คงไม่มี
และนี่คือ Death’s Game ซีรีส์ที่ส่งผลต่อคนดู สังคมในวงกว้าง แม้เราไม่ได้มีรายชื่อในทีมผู้สร้าง แต่การได้ดูซีรีส์เรื่องนี้จนจบ ซึมซับความรู้สึก และส่งต่อมันไปยังคนรอบๆ ตัว เราก็มองว่านี่คือความงดงามของในชีวิตหนึ่งแล้ว