choi-ran

ชเวรัน นักเขียน Mouse สรุปไอเดียสำคัญจากการทำซีรีส์กำพาราที่เรายกขึ้นหิ้งไปแล้ว

พูดเรื่องการทำงานของนักเขียน ดูซีรีส์ให้ซีเรียส ก็ได้ไปเข้าฟังการบรรยาย Content Lab: Advanced Scriptwriting ของ ชเวรัน นักเขียนซีรีส์ Mouse ที่ทำให้เราอดหลับอดนอน กำพารา ขอบตาคล้ำกันแบบหนักมาก

และต้องบอกเลยว่าการได้ฟังการทำงานของนักเขียนชเวปลุกไฟนักสืบซีรีส์มากขึ้นไปอีก เพราะเขาทำงานอย่างพิถีพิถัน ตั้งใจ และไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อระบบงานสร้างซีรีส์ที่มีหลายปัจจัยเหลือเกินที่อาจจะทำให้เรื่องราวไม่ได้ดำเนินไปอย่างที่ตั้งใจไว้

ถือโอกาสนี้ ถอดเทปสรุปไอเดียสำคัญจากการทำงานของนักเขียนชเว มาฝากชาวดูซีรีส์ให้ซีเรียสกันค่ะ

choi-ran

ชเวรัน (Choi Ran) เป็นผู้หญิงตัวเล็ก คือถ้าเราเดินผ่านแถวพารากอนหรืออโศก ก็คงไม่ได้คิดเลยว่านี่คือ นักเขียนซีรีส์ Mouse ที่ทำเราให้อดหลับอดนอนกันหลายวัน เธอขึ้นเวทีที่โรงภาพยนตร์พารากอนซีนีเพล็กซ์ ในงานเธอดูยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเองมากๆ 

ก่อนจะเข้าสู่ช่วงสนทนาก็มีการแนะนำนักเขียนชเวอีกครั้งว่าเธอคือนักเขียนบทสายสืบสวนสอบสวน เจ้าของผลงานซีรีส์ชื่อดัง Mouse (2021) และ ‘Black (2017) ซีรีส์แนวลึกลับแฟนตาซีของยมทูตล่าวิญญาณ โดยการบินมาประเทศไทยครั้งนี้ก็เพื่อจะมาบอกเล่าเรื่องราวแรงบันดาลใจ เทคนิคการเขียนบท และเคล็ดลับในการสร้างตัวละครที่น่าจดจำจากมืออาชีพที่มีประสบการณ์จริง

ไวท์บอร์ดขนาดใหญ่ในห้องทำงาน
นักเขียนชเวเล่าว่าตอนที่เขียนบทซีรีส์ ห้องทำงานเธอจะมีบอร์ดใหญ่มาก ไว้ติดรายละเอียดสำคัญที่ช่วยให้เห็นภาพรวมของเรื่องราวมากยิ่งขึ้น

Synopsis หนึ่งร้อยหน้า
ว่ากันว่านักเขียนบทเกาหลีจะเขียน Synopsis หรือสรุปสาระสำคัญของเรื่องเอาไว้ที่ 20 หน้า แต่นักเขียนชเวจะเขียนเอาไว้ 100 หน้า เธอบอกว่าเขียนละเอียดมากเอาไว้ก่อน ตอนที่ทำงานจะได้ใช้ได้เลย 

คาแรกเตอร์มาก่อนสตอรี่
การทำงานของนักเขียนชเวอาจจะไม่เหมือนคนอื่น เธอใช้วิธีเขียนด้วยการสร้างคาแรกเตอร์ตัวละครสำคัญ ก่อนที่จะเขียนเรื่องราว นั่นจึงทำให้เราได้เห็นคาแรกเตอร์ตัวละครที่ละเอียดมากๆ นั่นเอง

choi-ran

ทำงานคนเดียว แบบลุยเดี่ยว
เช่นกัน ปกติเรามักเห็นนักเขียนบทเกาหลีมีทีมช่วยกันหลายๆ คน แต่สำหรับชเวรัน เธอเป็นคนที่ชอบทำงานคนเดียว เพราะก่อนหน้านี้เธอทำงานด้านสารคดีมาถึง 15 ปี จึงถนัดที่รับจบคนเดียวอยู่แล้ว เพราะเคยชินกับการทำงานแบบลุยเดี่ยว

แรงบันดาลใจจากข่าวและยูทูบ
แหล่งข้อมูลสำคัญของนักเขียนชเวก็เหมือนกับความสนใจคนทั่วไป เพราะเธอต้องดูว่าคนชอบเรื่องราวแบบไหน อย่างไร ซึ่งข่าวและเรื่องราวในยูทูบก็ทำให้เธอได้ไอเดียเยอะ 

ที่มาของ Mouse
“Mouse เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับไซโคพาธ ซึ่งที่เกาหลีมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น เด็กประถมโดนเด็กมัธยมลักพาตัวไปฆ่า ซึ่งเด็กที่เป็นฆาตกรบอกว่าไม่รู้สึกอะไรเลย แค่เสียใจที่ไม่ได้ออกไปดูดอกพ็อดกด ซึ่งคนเกาหลีตกใจกับข่าวนี้มาก ฉันเองก็ตกใจ แล้วจากข่าวนี้ก็เลยเอาไปคิดต่อว่าคนที่เป็นไซโคพาธเกิดจากอะไร”

คิดพล็อตแฟนตาซี
“ไซโคพาธหลายคนบอกว่าภาวะนี้เกิดจากการเลี้ยงดู แต่มันมาจากดีเอ็นเอ ซีรีส์ Mouse ก็มีความแฟนตาซีในมุมมองที่ว่า ถ้าเนื้อสมองมีการสับเปลี่ยนแล้วจะเป็นการเปลี่ยนดีเอ็นเอด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นแฟนตาซีที่ไม่มีอยู่จริง แต่เหตุผลมันพอจะทำให้เชื่อได้ แล้วเราดัดแปลงให้เข้ากับเหตุการณ์จริง คนดูก็จะอินกับเรื่องราวได้ง่าย”

ลงลึกศึกษาข้อมูล
พอเริ่มหาข้อมูลและเขียนบท โดยมีโปรไฟเลอร์ตัวจริงมาช่วยให้คำแนะนำด้วย นักเขียนชเวดูสารคดีฆาตกรไซโคพาธเยอะมาก แล้วเอาสิ่งที่เหมือนกันมาจดรวมกันไว้ นอกจากนี้ก็ดูหนังฝรั่งหลายเรื่อง จนได้คาแรกเตอร์ตัวละครที่เธอแกะเอามาใช้ให้เข้ากับตัวละครของตัวเอง ตัวอย่างรายละเอียดอย่างเช่น ในอีพีแรกของ Mouse ฆาตกรเกาแขนตัวเองจนเป็นแผล เพราะรู้สึกหงุดหงิดกับตัวเอง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เธอนำมาจากสารคดีที่ดู

ซีรีส์ต้องจบแบบได้ข้อคิดหรือไม่
นักเขียนไม่ได้มีหน้าที่บอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี แต่เป็นผู้สะท้อนเรื่องเล่าไปสู่สังคม ถ้านักเขียนต้องการสื่ออะไรออกไป ก็ต้องทำในแบบที่คนดูรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ได้บอกออกไปโต้งๆ

วิธีเขียนแบบสับขาหลอก
ซีรีส์โดยปกติ เทรนด์ตอนนี้จะเฉลยก่อนแล้วเล่าเรื่องต่อ แต่สำหรับซีรีส์ Mouse เราเปิดเผยตัวฆาตกรในตอนสุดท้าย และยังสับขาหลอกด้วยการปูทางให้พระเอกเป็นคนดีมากในตอนแรก “ฉันใช้วิธีนี้ในการสับขาหลอก ด้วยความที่เขาเป็นคนดี คนดูจะเชียร์ จนผ่าตัดสมองกลายเป็นคนร้าย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ไม่ใช่แบบนั้น การที่ซีรีส์จบแบบนี้จึงมีความสมจริงมากกว่า”

choi-ran

คนดูของเราคือใคร
นักเขียนต้องรู้ว่าคนดูของเราเป็นใคร เป็นกลุ่มคนดูที่ชอบสืบเสาะหรือเปล่า (ยกตัวอย่าง ชาวดูซีรีส์ให้ซีเรียส เป็นต้น ^^) ซีรีส์ Mouse มีการวางแผนล่วงหน้า มีโครงสร้าง ทุกอีพีมีบทสรุป และยังมีบทสรุปในภาพรวมด้วย 

ปัญหาการทำงาน
นักเขียนชเวบอกว่าเธอไม่ค่อยมีปัญหาในการเขียนบทสักเท่าไร ที่มีปัญหาก็คือเขียนเยอะเกินไปจนต้องตัดออก แล้วก็รู้สึกแย่เอง 

สไตล์การทำงานของนักเขียนชเว
ปกตินักเขียนส่วนใหญ่ เวลาเขียนได้สัก 5-6 อีพีก็จะมีการแคสติ้งนักแสดงและมองหาผู้กำกับมาทำงานร่วมกันแล้ว แต่สำหรับนักเขียนชเว เธอจะเขียนเรื่องจนจบก่อน เพราะไม่อยากให้ความคิดเห็นอื่นๆ เข้ามาทำให้ไขว้เขวต่อเรื่องราว เพราะในบางครั้งผู้กำกับที่เข้ามาร่วมงานทีหลังอาจจะมีความคิดไม่ตรงกัน และทำให้ทะเลาะกันได้ 

Off record หรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่นักเขียนชเวเล่าให้ฟัง
“ตอนที่เขียนบทเรื่อง Black ตอนนั้นผู้กำกับแก้บทโดยที่ไม่บอก ฉันก็เลยเบิร์นเอาท์กับการทำงานมากๆ เพราะการที่ผู้กำกับเลือกตอนจบเอง พอมันออกมาไม่ดี คนดูก็บ่นที่ตัวนักเขียน เพราะฉะนั้นนักเขียนกับผู้กำกับมักจะเป็นสองคนที่ขัดแย้งกัน ตัวฉันเองที่ผ่านมาก็ต้องสู้เพื่อปกป้องผลงานตัวเอง รักษาเส้นเรื่องเอาไว้ ฉันเป็นคนดื้อและไม่ยอมคน”

ซีรีส์มีการเขียนบทแบ่งเป็นองก์ 1, 2, 3 ส่วนไหนยากที่สุด
องก์ 2 ยากที่สุด นักเขียนชเวเรียกว่าส่วนเอว “ฉันเป็นคนให้ความสำคัญทุกส่วน ไม่ดูถูกคนดู จะพยายามใส่คอนฟลิกต์ ใส่ความน่าสนใจตรงกลางเรื่องเพื่อให้คนดูตื่นเต้น บทเรื่อง Mouse ก็ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ทั้งหมดเลย แต่ช่วงกลางเรื่องก็โดนด่าอยู่เหมือนกัน เพราะชาวเน็ตจวกยับว่านักเขียนน่าจะเขียนบทไม่ทัน ทั้งที่จริงๆ ฉันเขียนเสร็จก่อนถ่ายทำเสียอีก”

อะไรคือสิ่งที่รู้ว่าเขียนบทมาถูกทางแล้ว
นักเขียนชเวบอกว่ารู้สึกได้เองเลย อย่างตอนที่เธอเขียนบทซีรีส์ Mouse ตั้งแต่เขียนบทย่อก็ค่อนข้างมั่นใจ จนกระทั่งซีรีส์ออนแอร์ก็มีฟีดแบ็กที่ทำให้เธอรู้ได้ว่าซีรีส์จะประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นฟีดแบ็กของนักแสดงในเรื่องเองก็มีส่วนสำคัญตั้งแต่แรกว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับเรื่องราว

“ฉันสนใจในการเล่าเรื่องมากกว่าความสำเร็จหรือเรตติ้งค่ะ ฉันเป็นนักเขียนที่ดื้อ ก็เลยไม่ค่อยเป็นที่รักของสถานีโทรทัศน์สักเท่าไรนักค่ะ” นักเขียนชเวกล่าว 😂

choi-ran

มาถึงคำถามสำคัญ เพราะเราอาจจะรู้กันแล้วว่าซีรีส์ Mouse จะมีการรีเมกเวอร์ชันภาษาไทย นำแสดงโดย ชาคริต แย้มนาม และนนกุล-ชานน สันตินธรกุล ที่มารับบทตำรวจคู่หู คำถามก็คือทำไมซีรีส์เกาหลีรีเมกมักจะไม่ค่อยดังในไทย

นักเขียนชเวตอบว่าเธอเองก็ไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ แต่ถ้าให้ตอบ เธอมองว่าซีรีส์เกาหลีเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นเอกลักษณ์สำคัญเลย ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้ คนทางฝั่งอเมริกาจะไม่ค่อยเข้าใจ อย่างซีรีส์ Mouse เองก็มีการเน้นความสัมพันธ์ตัวละครคุณยาย คุณแม่ และครอบครัว ที่เป็นประเด็นสำคัญมาก ถ้ารีเมกในเวอร์ชันไทย แนะนำว่าไม่ควรตัดประเด็นนี้ออก

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้