Business Proposal เจาะลึกเบื้องหลัง ‘การนัดบอด’ วัฒนธรรมการจับคู่ ต้นเหตุของเรื่องราวความรักที่ทำเอาหัวจะปวด
Business Proposal เรื่องราว ‘การนัดบอด’ แสนวุ่นวายที่กลายมาเป็นความคลั่งรัก หลังจากออนแอร์มาเกินครึ่งทางแล้วพร้อมกับเคมีชวนจิกหมอนของประธานคังแทมู กับชินฮารี (รับบทโดย อันฮโยซอบ และคิมเซจอง) และคู่เลขาฯ ชาซองฮัน กับจินยองซอ (รับบทโดย คิมมินกยู และซอลอินอา) ประกอบกับเนื้อเรื่องที่วายป่วง แต่แฝงไปด้วยความน่ารักโรแมนติกที่ทำให้คนดูอย่างเรานั่งอมยิ้มไปตามๆ กัน
ตลอดหลายอีพีที่ผ่านมา เราได้เห็นพัฒนาการของตัวละครผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มากมายกว่าที่เส้นทางความรักของทั้งสองคู่จะดำเนินมาถึงจุดนี้ แต่หากมองย้อนกลับไปก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงคงจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าในวันนั้นไม่มี ‘การนัดบอด’ ระหว่างคังแทมูกับชินฮารีเกิดขึ้น
ดูซีรีส์ให้ซีเรียส จึงอยากจะขอพาทุกคนมารู้จักกับวัฒนธรรมการนัดบอดแบบฉบับ Business Proposal วัฒนธรรมสุดคลาสสิก แต่แฝงไปด้วยเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าสนใจ และยังเป็นสาเหตุของเรื่องทั้งหมดอีกด้วย
มัชซอน การดูตัวที่ผู้ใหญ่จัดหาให้
โดยปกติแล้ว เราอาจจะคุ้นเคยการนัดบอดแบบที่เรียกว่า โซเกทติ้ง (소개팅) จากซีรีส์เกาหลีหลายๆ เรื่อง ซึ่งเป็นการนัดออกเดทกันโดยมีแม่สื่อแม่ชักเป็นเพื่อนของทั้งสองฝ่าย แต่การนัดบอดในเรื่อง Business Proposal นั้นกลับต่างออกไป เพราะมันคือการนัดบอดแบบที่เรียกว่า มัชซอน (맞선) หรืออาจจะเรียกว่าการดูตัวก็ได้ คอนเซปต์นั้นก็คล้ายกับโซเกทติ้งเลย เพียงแต่แม่สื่อแม่ชักจะกลับกลายเป็นผู้หลักผู้ใหญ่แทนที่จะเป็นเพื่อนนั่นเอง ซึ่งน่าสนใจมากว่ามัชซอนนั้นมีมุมมองบางอย่างที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและสภาพสังคมที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมเกาหลีใต้ได้
การดูตัวกับเค้าโครงวัฒนธรรม
มุมมองแรกคือมัชซอนอาจจะได้เค้าโครงบางอย่างมาจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนเกาหลีตั้งแต่สมัยก่อน เพราะเดิมทีคนเกาหลีที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันหรือละแวกเดียวกันมักจะใช้นามสกุลเดียวกัน และการแต่งงานของคนนามสกุลเดียวกันก็มักจะไม่ได้รับการอนุญาตจากครอบครัวและสังคม ถึงขั้นมีประมวลกฎหมายแพ่งเกาหลี มาตรา 809 ที่ห้ามบุคคลที่มีต้นสกุลเดียวกันจดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งส่งผลกระทบกับคู่รักหลายคู่ ก่อนกฎหมายนี้จะถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในปี 2005
ดังนั้นการแต่งงานในขณะนั้นจึงมุ่งเน้นไปที่การหาคู่ที่ใช้นามสกุลต่างกัน ซึ่งก่อให้เกิดการบังคับไปดูตัวหรือถึงขั้นแต่งงานแบบกะทันหัน ประกอบกับคนเอเชียที่มีลักษณะรักนวลสงวนตัว ไม่สามารถป่าวประกาศความรู้สึกอย่างโจ้งแจ้งได้ ทำให้จำเป็นต้องมีบุคคลที่สามมาเป็นกามเทพสื่อรักเพื่อเป็นตัวช่วยในการปลูกต้นรักของหนุ่มสาวเกาหลี ซึ่งในกรณีนี้ก็คือผู้ใหญ่ที่เข้ามามีบทบาทนั่นเอง
การแต่งงานไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน
อีกมุมมองหนึ่งคือการที่ผู้ใหญ่เข้ามาจัดแจงเรื่องการแต่งงานนั้น แปลว่าทั้งสองฝ่ายต้องถูกผ่านการคัดกรองมาแล้ว ทั้งในแง่ของการศึกษา อาชีพการงาน รูปร่างหน้าตา และประวัติส่วนตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าความเท่าเทียมกันของสถานะทางสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญมากในเกาหลีใต้ มุมมองนี้จะยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในสังคมระดับสูง
อย่างในเรื่อง Business Proposal คุณปู่ได้ให้ประธานคังแทมูเลือกแต่งงานกับหนึ่งในลิสต์สาวโสดจากแวดวงธุรกิจที่คัดเลือกมาเองกับมือ เพราะสาวโสดในลิสต์นี้อาจจะเหมาะสมกับฐานะ และยังสามารถช่วยเกื้อกูลผลประโยชน์ได้ในอนาคตอีกด้วย
ผลกระทบจากชีวิตที่วุ่นวาย
นอกเหนือจากมัชซอน ก็ยังมีการนัดบอดแบบโซเกทติ้ง และการนัดบอดแบบกลุ่มสำหรับเด็กวัยรุ่นที่เรียกว่า มีทติ้ง ที่เป็นวิธีหาคู่ของคนเกาหลี สิ่งเหล่านี้ก็สามารถสะท้อนให้เห็นว่าคนเกาหลีใต้นั้นเรียนและทำงานกันอย่างหนักหน่วงจนไม่มีเวลาไปเจอคนอื่น ทำให้ต้องมีการแสวงหาความรักด้วยวิธีต่างๆ
ในปัจจุบันนี้ความสำคัญของการนัดบอดอาจจะลดลงไปบ้าง เนื่องจากแอปพลิเคชันหาคู่ต่างๆ ที่เข้ามา ประกอบกับหนุ่มสาวสมัยนี้มีอิสระทางการใช้ชีวิตของตัวเองมากขึ้น ทำให้คำถามที่ว่าอายุจะเลยเส้นที่ควรแต่งงานหรือเปล่า หรือว่าคนที่เดทด้วยจะสมฐานะไหม ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวลเท่าเมื่อก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประธานคังแทมูกับชินฮารีจะเริ่มต้นเส้นทางรักด้วยการนัดบอดอย่างไม่เต็มใจเท่าไหร่นัก (แถมยังเป็นการนัดบอดที่โลกจะไม่มีวันลืมซะด้วย) แต่ความรักก็ได้ค่อยๆ เติบโตขึ้นในใจของทั้งสองคน ซึ่งหลังจากนี้เราคงทำได้เพียงปล่อยใจให้สบาย เพลิดเพลินกับความโบ๊ะบ๊ะที่น่ารัก และเฝ้าลุ้นว่าความรักของทั้งคู่จะได้ลงเอยอย่างไรกันต่อไป
FYI: สำหรับคนที่สนใจวัฒนธรรมการนัดบอดของเกาหลี ศึกษาเพิ่มเติมจากซีรีส์เหล่านี้ได้เลย — Business Proposal (มัซซอน) / Weightlifting Fairy Kim Bok Joo (โซเกทติ้ง) / Snowdrop (มีทติ้ง)
เรื่องโดย พิชญา หวังปรีดาเลิศกุล