นักกีฬา Olympics Paris 2024 กับพล็อตซีรีส์เกาหลีที่อยากลองเขียนบทให้
ปิดฉาก Olympics Paris 2024 พบกันอีกที 4 ปีข้างหน้า LA 2028 ดูซีรีส์ให้ซีเรียส ที่เกาะติดกีฬาโอลิมปิกปีนี้แบบนอนรอข้างจอทีวี ก็ได้รวบรวมความน่ารักๆ ซาบซึ้ง สนุกสนาน มิตรภาพ ความสุข ความเศร้าเอาไว้ เพื่อเก็บไว้เป็นแรงบันดาลใจในเวลาที่จิตใจต้องการ
ขณะเดียวกันก็น่าเชื่อเหลือเกินว่าเรื่องราวของเหล่านักกีฬาที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจเหล่านี้ คิดไปคิดมาแทบไม่ต่างจากพล็อตซีรีส์ที่เคยดู และเราอยากให้มีคนนำไปสร้างให้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์เกาหลี ซีรีส์ไทย ซีรีส์วาย ใดๆ จากที่ไหนก็ตาม
มาลองไล่เลียงกันดูว่าเรื่องราวของนักกีฬาใน Olympics Paris 2024 ที่น่านำไปสร้างเป็นซีรีส์จริงมีอะไรบ้าง
ฮยอนวิว ลุ้นรักลูกขนไก่บ้านทองหยอด
ลุ้นรักลูกขนไก่ ตั้งชื่อรอเลยสำหรับซีรีส์กีฬาแบดมินตัน ที่ถึงแม้จะมีซีรีส์เกี่ยวกับแบดมินตันอยู่บ้างทั้งในเกาหลีและในไทย แต่เราก็เชื่อว่าทำออกมาอีกก็อยากดูอีก โดยเฉพาะพล็อตเรื่องของสองเจเนอเรชันนักแบดมินตันบ้านทองหยอด โดยมีฉากหลังอยู่ที่คอร์ตแบดในโรงงานบ้านขนมไทย
พล็อตรักกุ๊กกิ๊กในคอร์ตแบดที่อยู่ในโรงงานขนมไทยอีกที น่าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ให้วงการได้ไม่ยาก นอกจากเหล่าตัวละครหลัก เราอยากให้มีตัวละคร แม่ปุก-กมลา ทองกร เจ้าของบ้านทองหยอด และโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ร่วมอยู่ในเส้นเรื่องด้วย
ส่วนแคสต์นักแสดง คิดว่า ฮยอนวิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์ น่าจะเอาอยู่ แล้วมีคู่รองเป็น เมย์ รัชนก รุ่นพี่ที่เป็นไอดอลด้านแบด มีประเด็นการฝึกซ้อม การคิดแผนในการต่อสู้ ลูกตบ ลูกหยอดที่มีซิกเนเจอร์ของตัวเอง ผสมกับประเด็นการทำธุรกิจขนม แล้วเปิดคอร์ตแบดเพื่อสานฝันคนที่ชอบกีฬาแบดมินตันเป็นชีวิตจิตใจ จุดเด่นอีกหนึ่งคือตัวละครเด็กๆ ที่มาฝึกซ้อมแบด จะได้ฟีลความน่ารักกวนๆ ที่สร้างสีสันได้อีกด้วย
คุณย่าทาเนีย นักตบปิงปองที่เดบิวต์โอลิมปิกในวัย 58 ปี ขยี้อารมณ์ให้หัวเราะทั้งน้ำตากันไปเลย
คุณย่าทาเนีย หรือชื่อภาษาจีนว่า เจิง จือยิง (Zeng Zhiying) เพิ่งลงสนามแข่งขันโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรกให้กับทีมชาติชิลี แม้ว่าจะไม่ผ่านเข้ารอบลึก แต่เรื่องราวของเธอกลับสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย
“ฉันไม่ได้เสียใจอะไรนัก เพราะว่ามันคือการแข่งกีฬา.. ตอนที่กำลังแข่ง ได้ยินเสียงสามี ลูกชาย และทุกคนที่ฉันรักตะโกนเรียกชื่อฉัน รวมถึงเสียงกองเชียร์ในสนาม นั่นคือความสุขของฉันแล้ว ความฝันกลายเป็นจริงแล้ว.. ตั้งแต่เด็กเวลามีคนถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ฉันตอบคำตอบนี้อยู่เสมอ นั่นก็คือได้เป็นนักกีฬาโอลิมปิก”
คุณย่าทาเนีย แต่เดิมเป็นคนจีน เธอมีพรสวรรค์ในการตีปิงปอง จนไต่อันดับได้อย่างรวดเร็วและเทิร์นโปรในวัยเพียง 12 ปี จนกระทั่งได้รับคัดเลือกเป็นทีมชาติจีนไปสู้ศึกโอลิมปิก 1988 แต่ในปีนั้นมีการเปลี่ยนกติกาการแข่งขัน ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อการตีปิงปองของเธอ จนทำให้ฟอร์มตกและต้องออกจากทีมชาติจีน
หลังจากนั้นเธอได้รับเชิญให้ไปเป็นโค้ชสอนปิงปองเด็กๆ ที่ประเทศชิลี แล้วก็ไปได้ดีบนเส้นทางนั้น จนเปลี่ยนสายงานไปด้านธุรกิจในภายหลัง จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่เธอไม่เคยคิดก็คือสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เธอต้องเก็บตัวอยู่บ้าน และกลับมาตีปิงปองเล่นอีกครั้ง ฝีมือระดับนี้ เคาะสนิมไม่นานก็ทำให้คุณย่าทาเนียติดทีมชาติชิลี เข้าแข่งขันในรายการ Pan-American Games ในปี 2023 และเป็นตัวแทนชิลีเข้าแข่งขันโอลิมปิกในที่สุด
อ่านเรื่องราวของคุณย่าทาเนียแล้วทำให้นึกถึงซีรีส์ Navillera ว่า ถึงคุณลุงวัย 70 ที่อยากเป็นนักบัลเลต์เพื่อทำตามความฝันให้ได้สักครั้งในชีวิต เชื่อว่าคุณย่าทาเนียน่าจะกลายเป็นหนึ่งในตัวละครซีรีส์ฟีลกู๊ดได้ไม่ยากเลย
โพ พินสัน ซือเจ้สเกตบอร์ด ที่ทำให้นึกถึงตัวละคร นาฮีโด Twenty-Five, Twenty-One
กีฬาสเกตบอร์ดนับว่าเป็นความสนุกอีกหนึ่งรายการของโอลิมปิก Paris 2024 เพราะนอกจากสนามจะสวยจัดแล้ว ผู้เข้าแข่งขันก็มากันแบบไฟเกินร้อย โดยที่ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจในด้านสเกตบอร์ด คว้าเหรียญรางวัลกันรัวๆ แต่กับ โพ พินสัน ตัวแทนจากสหรัฐอเมริกา เธอมองว่าสิ่งสำคัญกว่าเหรียญรางวัลคือการสะท้อนแก่นแท้ของกีฬาสเกตบอร์ด
ภาพจำของ โพ พินสัน คือเฮดโฟนอันใหญ่ กางเกงหลวมๆ และรอยยิ้มแบบโพสิทีฟขั้นสุด ทั้งในตอนที่ทำได้ดีหรือเล่นพลาดก็ตาม และถ้าจะมีตัวละครในซีรีส์สักเรื่องที่หัวใจนักกีฬายิ่งใหญ่มากๆ ก็อยากแนะนำให้ฟอลโลวคาแรกเตอร์ของ โพ พินสัน คนนี้ได้เลย
โพ พินสัน วัย 19 ปี จากฟลอริดา ตัวแทนสหรัฐอเมริกาที่ผ่านเข้ามาเป็นนักกีฬาทีมชาติแบบนาทีสุดท้าย ด้วยความชิลสุดๆ ในรอบคัดเลือก เราจะเห็นผลงานที่เน้นสนุกลุกนั่งสบายมากกว่าจะทำท่ายากบี้สู้ผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ผ่านเข้ารอบ 8 คนสุดท้ายไปชิงเหรียญทอง.และเอาจริงๆ ถ้าเธอเลือกจะคว้าเหรียญก็อาจได้เหรียญทองแดง แต่ในรอบท่ายาก โพ พินสัน เลือกครีเอตในการโชว์ท่าที่แปลกไปจากการแข่งขันสเกตบอร์ดแบบสตรีท ซึ่งมีความยากระดับยากมาก และนั่นทำให้เธอพลาด จบการแข่งขันโอลิมปิกไปในลำดับที่ 5 ซึ่งแม้จะไม่ได้เหรียญรางวัลใดเลย แต่ก็ได้คะแนนนิยมจากแฟนๆ ไปทั่วโลก
โพ พินสัน ให้สัมภาษณ์กับ USA Today หลังการแข่งขันว่า “ฉันตัดสินใจไปโอลิมปิกนาทีสุดท้าย และก็ไม่ได้คิดด้วยว่าจะต้องเข้ารอบไฟนอล แล้วการที่เข้าถึงรอบสุดท้ายก็คือ โว้ววว มันบ้าบอมาก เพราะฉันเป็นคนที่ไม่เคยนึกถึงรางวัลอะไรเลยจริงๆ.. ฉันชอบที่อะดรีนาลีนหลั่งแล้วตัวเองพยายามทำท่ายากๆ ที่ทำให้กลัว.. มันเสี่ยงนะ แล้วมันก็บีบหัวใจมาก”
ถ้าต้องนึกถึงคาแรกเตอร์นักแสดงนำซีรีส์เกาหลีฝ่ายหญิง โพ พินสัน มีความเป็น นาฮีโด จากซีรีส์ Twenty-Five, Twenty-One จากความห้าวๆ ไม่กลัวเจ็บ ความอารมณ์ดี ความขี้เล่น รอยยิ้มและความมุ่งมั่นทั้งหลายที่มอบให้กับกีฬาที่รักทั้งหมดแล้ว
โค้ชเช ชัชชัย หัวใจไทยแลนด์
พื้นเพชีวิต ชัชชัย เช หรือโค้ชเช กว่าจะมาถึงวันนี้เรียกว่าดราม่าหนักไม่แพ้ซีรีส์เกาหลี และโอลิมปิก Paris 2024 เป็นครั้งแรกที่โค้ชเชเป็นโค้ชคนไทยให้กับทีมชาติเทควันโดเป็นครั้งแรก
ฉากสุดกลั้นน้ำตาก็ต้องเป็นตอนที่เทนนิสก้มลงกราบโค้ชเชบนเวที ที่อาจจะวางเป็นฉากแรกของซีรีส์ แล้วเล่าย้อนไปบนเส้นทางสู่การเป็นคนไทยของเขาที่ปลุกปั้นจนกีฬาเทควันโดที่ไทยเคยอยู่ท้ายตาราง กลายมาเป็นหนึ่งในเบอร์หลักๆ ของเอเชีย และมีนักกีฬาที่ได้เหรียญโอลิมปิก 3 สมัยติดต่อกัน
โค้ชเช เกิดและโตที่เมืองชองนัม เกาหลีใต้ เขาเป็นนักกรีฑามาก่อน จนเริ่มเล่นเทควันโดตอนอายุได้ 12 ปี แล้วทำได้ดีจนได้แข่งชิงแชมป์ที่เกาหลีใต้ และสุดท้ายจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จบปริญญาโทด้านพลศึกษา และได้รับเลือกเป็นนักกีฬาเทควันโดทีมชาติเกาหลีใต้
ในปี 2002 โค้ชเชได้รับชักชวนให้มาเป็นโค้ชเทควันโดที่ประเทศไทย ซึ่งเพียงแค่ 2 ปี โค้ชเชเทรน วิว เยาวภา จนคว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิก Athens 2004 และทำผลงานสร้างเหรียญให้ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในทุกๆ โอลิมปิกหลังจากนั้น โดยเฉพาะความสำเร็จของ เทนนิส พาณิภัค เจ้าของ 2 เหรียญทองและ 1 เหรียญทองแดงจากโอลิมปิก 3 ครั้งติดต่อกัน
วินัยและความมุ่งมั่นของโค้ชเชเพื่อให้เทควันโดไทยไปถึงดวงดาวก็ต้องบอกว่าหนักกว่าเทรนนักกีฬาเกาหลีเสียอีก เพราะการจะขึ้นไปยืนหัวแถวกีฬาเทควันโดได้ นักกีฬาไทยต้องใส่ 200% ในขณะที่เกาหลีใช้เพียงแค่ 60% ที่มีก็เป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้แล้ว
ซีรีส์เกาหลีมีดราม่าเรื่องเปลี่ยนสัญชาติอยู่หลายครั้ง และข่าวการโอนสัญชาติของโค้ชเชก็มีอยู่เป็นระยะ จนในท้ายที่สุดความมุ่งมั่นกว่า 200% ของโค้ชเชก็ทำให้เขาสละสัญชาติเกาหลี ได้เป็นคนไทย สัญชาติไทย อย่างถูกกฎหมายในปี 2565 ที่ผ่านมานี่เอง
อิมชีฮยอน เกิดกี่ครั้งก็ยังยิงธนู
พล็อตว่าด้วยความรัก การต่อสู้ข้ามกาลเวลา ตัวละครหลักหลงยุคมาจากโครยอ และด้วยฝีมือยิงธนูยอดเยี่ยม ทำให้ได้รับเลือกเป็นนักกีฬาโอลิมปิกไปแข่งขันแบบงงๆ ต้องฝึกฝนทุกอย่างใหม่ รวมถึงคันธนูที่โมเดิร์นสุดๆ
ซีรีส์ที่ว่าด้วยการข้ามเวลา เป็นท่าที่เอามาเล่ากี่ครั้งก็สนุก เพราะมันเต็มไปด้วยประเด็นขัดแย้งของเรื่องราวมากมาย ถ้าเลือกเอาความสามารถด้านธนูมาใช้ ก็เบลนด์ไปได้ดีกับการกีฬาที่ชาวเกาหลีเก่งกาจสุดๆ โดยเฉพาะโอลิมปิก Paris 2024 ก็ได้เห็นกันแล้วว่าฝีมือยิงธนูทั้งชายหญิงไม่เป็นสองรองใครเลย
“ผมตื่นเต้นมากที่จะได้ร่วมงานกับผู้กำกับพัคฮุนจองอีกครั้ง ผมเคารพเขามากๆ เลยครับ เพราะเขาไม่ใช่แค่เป็นเพื่อนที่ดี แต่ผมรู้สึกเหมือนว่าเขาเป็นพี่ชายผมด้วย การทำงานกับเขาทำให้ผมเองได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะการถ่ายทอดตัวละครออกมาให้มีมิติและชัดเจนอย่างที่หวังไว้
สุนิสา ลี ที่เราอยากรีเมก My Girl ให้อีกรอบ พร้อมพระเอกคนดีคนเดิมชื่อ อีดงอุค
พล็อตซีรีส์เกาหลีส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวการสู้ชีวิตของตัวละครนำหญิง และชีวิตของ สุนิสา ลี น่าจะตอบโจทย์พล็อตนี้ เพราะแม้ว่าจะสู้ชีวิตแล้วชีวิตสู้กลับ แต่เธอยังคงมีกำลังใจที่หนักแน่นจากครอบครัว
ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร สุนิสา ลี ลูกสาวของผู้ลี้ภัยชาวม้งจากประเทศลาว เกิดและเติบโตที่สหรัฐอเมริกา พร้อมความสามารถด้านยิมนาสติกตั้งแต่เด็ก เส้นทางชีวิตเธอว่าดราม่าแล้ว แต่เรื่องราวชีวิตพลิกผันล่าสุดดราม่ายิ่งกว่า เพราะหลังจากทำได้ดีในโอลิมปิก Tokyo 2021 เธอก็มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในโอลิมปิก Paris 2024 แต่ราว 1 ปีก่อนเธอกลับล้มป่วยด้วยโรคไตที่พบได้ยาก ทำให้ตัวเธอบวมในแบบชั่วข้ามคืน ในตอนนั้นเองที่เธอคิดได้แค่ว่าคงถึงเวลาวางมือจากกีฬายิมนาสติก
แต่หัวใจของความไม่ยอมแพ้และไม่ยอมละทิ้งความฝัน ทำให้เธอลองฮึดสู้ดูอีกครั้ง ตั้งใจรักษาตัว ทำกายภาพบำบัด ลดน้ำหนัก และกลับมาฝึกซ้อมได้อีกครั้ง ใครที่ได้เห็นลีลายิมนาสติกของเธอในโอลิมปิกปีนี้คงนึกไม่ออกเลยจริงๆ ว่าเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สุนิสา ลี อยู่ในสภาพที่ตรงกันข้าม ต้องชื่นชมในสปิริตของเธอจริงๆ และเหรียญรางวัลโอลิมปิก Paris 2024 ที่เธอได้รับ มันเป็นมากกว่ารางวัลของกีฬา แต่คือรางวัลชีวิตที่เธอมอบให้กับตัวเอง
ยูซุฟ ดิเคช คุณพ่อยิงแม่น เจ้าของเหรียญเงิน ยิงปืนสั้น 10 เมตรทีมผสม
คีพคูล ดูแบดบอยสุดๆ กับ ยูซุฟ ดิเคช หนึ่งในไวรัลประจำโอลิมปิก Paris 2024 นั่นก็เพราะท่าทางสบายๆ ล้วงกระเป๋ายิงปืนแบบไม่มีแว่น ที่ปิดตา ที่ปิดหู หรืออุปกรณ์ช่วยใดๆ เรียกว่าเก๋าเกมสุดๆ จนมีคอมเมนต์ทำนองว่า ตุรกีส่งนักฆ่ามาลงแข่งยิงปืนโอลิมปิกหรือเปล่า
เห็นแกร่งนอกแบบนี้ ข้างในของยูซุฟ วัย 51 ปี อบอุ่นเป็นที่สุด เพราะเขาให้สัมภาษณ์ว่าการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูเก๋าเกมเพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้ และการที่ล้วงกระเป๋าก็ไม่ได้จะโชว์เท่ แต่มันช่วยสร้างสมดุลของร่างกายระหว่างการยิงปืนให้ดียิ่งขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด แด๊ดดี้ยูซุฟของเรายังมีลูกสาวน่ารักมากเราเชื่อว่าถ้าดึงคาแรกเตอร์คุณยูซุฟมาเป็นพ่อนางเอก เป็นนักแม่นปืนในตำนาน น่าจะได้เรื่องราวไปใช้ในซีรีส์โรแมนติกคอเมดี้ได้ไม่ยาก
สตีเฟน เนโดรอสซิค นักยิมนาสติก โอลิมปิก Paris 2024 หนึ่งในคาแรกเตอร์ซีรีส์ Moving 2
Stephen Nedoroscik หนุ่มเนิร์ด หรือคลาร์ก เคนต์ บนอุปกรณ์ม้าหู กลายเป็นไวรัลและที่สนใจในโลกออนไลน์ล้นหลาม ด้วยความที่ลุคเนิร์ดๆ ใส่แว่นตานั่งทำสมาธิหรือหลับไม่แน่ใจ อยู่ริมสนามยิมนาสติก แล้วเปลี่ยนเป็นคนละคนราวกับซูเปอร์แมนที่เข้าไปเปลี่ยนชุดในตู้โทรศัพท์ แม้ว่าเขาจะมีปัญหาสายตาจนทำให้มองไม่ค่อยเห็นถ้าถอดแว่น แต่กับอุปกรณ์ม้าหูที่เขาถนัดนั้น เขากลับทำมันได้ราวกับไม่ต้องใช้ตามองเลย
ถ้าซีรีส์ Moving มีภาคต่อ หรือซีรีส์เกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่สักเรื่อง น่าจะดัดแปลงเรื่องของสตีเฟนไปเป็นหนึ่งในตัวละครหลักได้เลย เมื่อเจ้าเนิร์ดถอดแว่นไปเป็นฮีโร่ผดุงความยุติธรรม!
ซีโมน ไบลส์ นักยิมนาสติกเจ้าของ 4 เหรียญโอลิมปิก Paris 2024 ที่เราอยากให้ซีรีส์ Daily Dose of Sunshine ต้องเข้า
เกิดมาพร้อมพรสวรรค์ด้านยิมนาสติก แม้จะไม่ได้โตมากับพ่อแม่ที่แท้จริง แต่ ซีโมน ไบลส์ก็เลือกที่จะอยู่ในแง่บวก ยิ้มรับทุกอย่างที่เข้ามา
จุดพลิกอยู่ตอนที่กำลังแข่งโอลิมปิก Tokyo 2021 เธอเกิดปัญหาทางจิตใจที่ทำให้ควบคุมร่างกายระหว่างลอยอยู่บนอากาศไม่ได้ ทำให้ต้องยุติการแข่งขัน และใช้เวลารักษากายใจอยู่นานนับปี
ด้วยหัวใจของการไม่ยอมแพ้ ทำให้ซีโมนกลับมาเป็นตัวแทนทีมสหรัฐอเมริกาในการแข่งขันยิมนาสติก และเธอกลับมาได้อย่างยิ่งใหญ่ กลายเป็นนักยิมนาสติกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน กับสถิติ 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน ในโอลิมปิก Paris 2024
ถ้าซีรีส์ Daily Dose of Sunshine มองหาแรงบันดาลใจเคสรักษาใจยากๆ สำหรับซีซัน 2 เราอยากฝากเรื่องของ ซีโมน ไบลส์ ไว้ในอ้อมใจสักหนึ่งอีพี
บี จันทร์แจ่ม, อิมาน เคลีฟ, หยาง หลิว, เฟี้ยว จุฆามาศ ควรมารวมตัวกันในซีรีส์ Fight for My Way
เจ้าบี จันทร์แจ่ม วัย 24 จากหนองคาย หอบความฝันไปซ้อมมวยตั้งแต่อายุ 12 ปี จนจบมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ และถ้าลองมาคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ก็น่าสนใจทีเดียวว่าชีวิตวัยรุ่นของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยการกีฬาจะสนุกขนาดไหน หนุ่มสาวแต่ละคนคงเต็มไปด้วยความฝันและความหวังที่การกีฬาจะช่วยเปลี่ยนชีวิตพวกเขาและเธอไปได้ตลอดกาล
สำหรับเหรียญทองแดงมวยสากลโอลิมปิกของจันทร์แจ่ม ที่แม้ว่าจะฝ่าด่านยากอย่าง อิมาน เคลีฟ ไปไม่ได้ แต่ภาพการรับรางวัลร่วมกันอย่างมีน้ำใจนักกีฬาทำให้ดราม่าเบาบางลงไปเยอะ ถ้ามีซีรีส์ที่แสดงให้เห็นเส้นทางของหญิงสาวที่แตกต่างหลากหลายมาอยู่ร่วมกันในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พวกเขาจะประคับประคองกันและกันอย่างไร ทั้งเรื่องการฝึกซ้อม เรื่องส่วนตัว ไปจนถึงความรู้สึกข้างใน เพราะสำหรับผู้หญิง การอยู่ในกีฬาชกมวยที่เป็นของผู้ชาย ก็นับว่าเป็นเรื่องยากแล้ว เส้นทางสู่ความฝันคงยิ่งยากมากกว่า
อยากแนะนำบทซีรีส์ว่าด้วยการตามหาความฝันของกลุ่มเพื่อนที่มีมวยเป็นเส้นเรื่องหลักร่วมกัน ตัวละครหลักต่างมีปัญหาของตัวเองในประเด็นต่างๆ และจะพลิกอย่างไรให้ซีรีส์ดูสนุกและได้ความรู้สึกว่าสุดท้ายกีฬาก็คือเรื่องของการแพ้ชนะ ที่เราต้องปรับเอามาใช้ให้ได้ในชีวิตจริงด้วย