
Adolescence ไขปริศนาวัฒนธรรม Incel สู่โศกนาฏกรรมในชีวิตจริง
Adolescence ซีรีส์จากอังกฤษที่กำลังขึ้นอันดับหนึ่ง Netflix ทั่วโลก เป็นเรื่องราวที่เรียกว่าช็อกใจคนดูอย่างยิ่ง เพราะมันสะท้อนปัญหาวัฒนธรรม Incel หรือ Involuntary Celibate ที่มีอยู่จริงในโลกออนไลน์ และส่งผลกระทบต่อวัยรุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้ววิธีเล่าของซีรีส์คือจริงจนนึกว่าเข้าไปเป็นเพื่อนในโรงเรียนกับเขาด้วยเลย
ดูซีรีส์ให้ซีเรียส เพิ่งดูจบ 4 อีพีรวด แบบหยุดพักแค่เสิร์ชว่า Incel คืออะไร เพราะลำพังเรื่องราวที่ซีรีส์อธิบายมาก็พอจะเข้าใจ แต่มันยังไม่ละเอียดพอจนทำให้เข้าใจองค์รวมของวัฒนธรรมย่อยนี้ เพราะฉะนั้นบทความนี้เราเลยรวมรายละเอียดมาให้ และน่าจะทำให้เข้าใจเรื่องราวได้มากยิ่งขึ้น
แล้วเอาเข้าจริงๆ ไม่ใช่แค่ Incel น่าเชื่อเหลือเกินว่า ในอินเทอร์เน็ตมันยังมีกลุ่มวัฒนธรรมย่อยอีกมากมายที่ก่อร่างสร้างขึ้นเป็นกลุ่มก้อน และส่งผลกระทบต่อความเชื่อ ความเข้าใจบางอย่าง และอาจกลายส่งผลให้กลายเป็นโศกนาฏกรรมได้เช่นกัน

งานสร้างสุดทรงพลัง ส่งให้เรื่องราวเรียลจับใจ
ก่อนอื่นเลยคงต้องพูดถึงซีรีส์ Adolescence กันก่อน เผื่อว่าใครยังไม่ได้ดูแล้วอยากตามมา ซีรีส์เล่าเรื่องราวของ เจมี่ มิลเลอร์ เด็กชายวัย 13 ปี ที่ถูกตำรวจจับกุมตัวในข้อหาฆาตกรรม แบบที่ทางครอบครัวไม่รู้เรื่องราวมาก่อนเลย
วิธีการถ่ายทำแบบ Long Shot ตลอดทั้ง 4 อีพี ทำให้คนดูเหมือนเข้าไปอยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วยในระยะประชิด มันทั้งสร้างความอึดอัด ปั่นป่วน และเป็นหนึ่งในพยานของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องปรบมือให้กับงานสร้างที่ทำถึง ทำดีมากๆ และเนี้ยบมากๆ
โดยใน 4 อีพีนั้น Adolescence แบ่งเรื่องราวออกเป็นในมุมมองต่างๆ
EP.1 ฉากการจับกุมผู้เยาว์ การสืบสวนสอบสวน ตรวจร่างกาย ผู้ปกครองที่ผู้เยาว์ขอให้อยู่ด้วยระหว่างกระบวนการ พนักงานอัยการ พยาบาล ฯลฯ ซีรีส์เล่าเรื่องส่วนนี้ได้ชัดเจน และเข้าใจกระบวนการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องมีประสบการณ์ตรง
EP.2 มองเรื่องราวผ่านสายตาของตำรวจสายสืบ ที่ไปสืบหาเหตุจูงใจและพยานหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งฉากในโรงเรียนนี่เองทำให้เห็นความวายป่วงของเด็กนักเรียน ม.ต้น ได้ชวนปวดหัวมาก ความแตกเนื้อหนุ่มสาว ความกล้าที่จะร้ายจะแรง ความกลัว การกลั่นแกล้ง การเอาตัวรอดในโรงเรียน ฯลฯ เพราะฉะนั้นมันก็คือสังคมของเด็กวัยรุ่นที่ยังทำอะไรไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
EP.3 เมื่อนักจิตวิทยาเข้าไปพบกับเจมี่ ที่สถานกักกันฯ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่ในจิตใจของเขา ต้องบอกว่าการแสดงที่โต้ตอบกันระหว่างนักจิตวิทยากับเจมี่ก็คือทำเอาคนดูทางบ้านนั่งนิ่งกับเก้าอี้ ไม่กล้าลุกเลยเหมือนกัน วิธีการเข้าถึงของนักจิตวิทยา และจิตใจของเด็ก 13 ที่ยากจะคาดเดา เรียกว่าเป็นเดอะเบสต์ของโชว์นี้อีกฉาก
EP.4 ฉายภาพครอบครัวธรรมดาๆ ครอบครัวหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ พ่อก็มีความหัวร้อนอยู่บ้าง แต่ก็ชัดเจนว่าเขารักลูกๆ มากขนาดไหน และเป็นความผิดของพวกเขาหรือเปล่าในการเลี้ยงลูกอย่างเจมี่ขึ้นมา ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นความยากลำบากในการเป็นครอบครัวฆาตกร ที่จะอยู่อย่างไรต่อไป แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ร่วมมือกับการกระทำนั้นเลย

Incel คืออะไร?
เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทราบถึงการมีอยู่ของวัฒนธรรม Incel และอิทธิพลที่มันมีต่อเยาวชน ซีรีส์ Adolescence จึงเป็นการเปิดเผยปัญหาและกระตุ้นให้เกิดการป้องกันและแก้ไข
นอกจากนี้ตัวผู้เยาว์เองที่เคยโดนกลั่นแกล้งหรือรู้สึกว่ากำลังอยู่ในวังวนอันตรายนี้ ก็อาจมองหาทางออกที่ดีกว่าได้
Incel หรือ Involuntary Celibate เป็นกลุ่มย่อยทางสังคมที่ ‘เป็นพรหมจรรย์โดยไม่ได้สมัครใจ’ นั่นก็เพราะพวกเขามองว่าตนเองถูกบังคับให้ไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศหรือความรัก แม้ว่าจะต้องการก็ตาม คนกลุ่มนี้มักรวมตัวกันในชุมชนออนไลน์ เช่น Reddit, 4chan เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความผิดหวังในชีวิตรัก และบางครั้งก็มีมุมมองที่ต่อต้านสังคม หรือผู้หญิงโดยรวม
จุดเริ่มต้นของ Incel มาจากเว็บบอร์ดในช่วงปี 1990 โดยตอนแรกใช้เป็นชุมชนออนไลน์สำหรับคนที่โดดเดี่ยวและมีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำว่า Incel ได้กลายเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับความโกรธแค้น ความเกลียดชังเพศตรงข้าม (โดยเฉพาะผู้หญิง) และแนวคิดสุดโต่งบางอย่าง

Manosphere คืออะไร?
ในซีรีส์ Adolescence มีการกล่าวถึง Manosphere หลายครั้ง และกล่าวว่ากลุ่มนี้ได้มีการ ‘ยุยงให้ลงมือ’
Manosphere เป็นเครือข่ายของเว็บไซต์ บัญชีโซเชียลมีเดีย และกระดานสนทนาที่อุทิศให้กับประเด็นเกี่ยวกับผู้ชาย ตั้งแต่เคล็ดลับด้านสุขภาพและการออกกำลังกาย ไปจนถึงคำแนะนำด้านการออกเดตที่น่ากังวล หลายชุมชน (แม้ไม่ใช่ทั้งหมด) ใน Manosphere ได้กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยแนวคิดเกลียดชังและทัศนคติที่ต่อต้านผู้หญิงอย่างรุนแรง
Incel ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มย่อยที่อยู่ภายใน Manosphere นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่นๆ เช่น นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้ชาย (Men’s Rights Activists), นักจีบสาว (Pick-Up Artists), และ Red-Pillers
ในซีรีส์ Adolescence ยังมีการพูดถึง แอนดรูว์ เทต (Andrew Tate) พอดแคสเตอร์ผู้เป็นที่ถกเถียงและได้รับความนิยมในกลุ่ม Manosphere ซึ่งปัจจุบันเทตกำลังถูกสอบสวนในหลายคดีที่ถูกกล่าวหา รวมถึงการค้ามนุษย์และการข่มขืน ซึ่งเขาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

อะไรคือความหมายที่ซ่อนอยู่ในอีโมจิ?
สัญลักษณ์ในโลกออนไลน์บอกอะไรมากกว่าที่คิด เพราะในขณะที่เราคิดว่ามันก็แค่อีโมจิ แต่มันกลับกลายเป็นรหัสลับที่ใช้กันแพร่หลายในโลกออนไลน์ เช่น 4chan, Reddit, Twitter, TikTok และในบางครั้งอาจมีการใช้มันกลั่นแกล้ง เพื่อล้อเลียน บูลลี่ หรือทำให้เหยื่อถูกมองว่าเป็นพวก Incel ก็ได้เช่นกัน
ในซีรีส์ Adolescence มีการพูดถึงแนวคิด Bluepill, Redpill 💊 ซึ่งมีความหมายแฝงแบบที่เราไม่อาจเข้าใจได้เลย โชคดีที่ตัวละครอดัมมาช่วยไขปริศนา ให้เข้าใจได้ดีขึ้น อย่างเช่นที่เขาอธิบายถึง
💊Bluepill
อ้างอิงจากภาพยนตร์ The Matrix หมายถึง การยอมรับชีวิตแบบเดิมๆ เชื่อในระบบโดยไม่ตั้งคำถาม
💊Redpill
ถ้าเลือก Redpill คุณคือคนที่ ‘ตาสว่าง’ มองเห็นความจริงว่าโลกนี้ไม่ได้ยุติธรรม ผู้หญิงเลือกผู้ชายจากสถานะ ฐานะ และความมั่นใจ
Redpill เปรียบเสมือนการพูดว่า ‘ตื่นรู้จากความจริง’ มันเป็นการเรียกร้องให้ลงมือทำจากกลุ่ม Manosphere (หมายถึงกลุ่มเว็บไซต์ บล็อก และชุมชนออนไลน์ที่ส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นชาย การเกลียดชังผู้หญิง และการต่อต้านลัทธิสตรีนิยม)
💥 Dynamite
อดัมอธิบายว่า คอมเมนต์ของเคที่นั้นมีอีโมจิไดนาไมต์ หมายถึง เม็ดยาสีแดงที่ระเบิด ซึ่งสื่อถึงว่าเจมี่เป็น Incel (Involuntary Celibate หรือ พรหมจรรย์โดยไม่สมัครใจ) พวกเขาเป็นกลุ่มย่อยของชุมชน Manosphere ที่มีแนวคิดเกลียดชังผู้หญิง
ตามรายงานของ Anti-Defamation League (ADL) บอกว่า Incel คือกลุ่มผู้ชายแท้ที่โทษผู้หญิงและสังคมว่าเป็นสาเหตุที่พวกเขาไม่มีความสัมพันธ์โรแมนติก
💯 100
อดัมอธิบาย ‘กฎ 80/20’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่แพร่หลายในหมู่เพื่อนร่วมชั้นของเขา และความเชื่อมโยงกับอิโมจิ 💯 ว่า “ผู้หญิง 80% สนใจผู้ชายแค่ 20% เท่านั้น คุณต้องหลอกล่อพวกเธอ เพราะคุณไม่มีทางได้พวกเธอมาโดยวิธีปกติ ผู้หญิง 80% ถูกตัดออกไป… เคที่กำลังบอกว่าเขาเป็น Incel”
ถ้ายังจำกันได้ ลุค บาสคอมบ์ ตำรวจซึ่งเป็นพ่อของอดัม ยังถามกลับไปว่าเจมี่จะเป็น Incel ได้อย่างไร ในเมื่อเขาเพิ่งจะอายุ 13 ปีเอง คำตอบของอดัมก็คือ “เคที่หมายถึงว่าเจมี่จะเป็นแบบนี้ตลอดไป”
❤️💜💛💗🧡
อดัมพยายามอธิบายให้พ่อเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเห็นว่าไม่มีอะไรนั้น จริงๆ แล้วมันมีความหมายแฝง และได้ยกตัวอย่างถึงการที่พ่อส่งอีโมจิหัวใจให้แม่ นั่นหมายความว่าอะไร และความหมายมันต่างไปอย่างไรสำหรับวัยรุ่นในโลกออนไลน์
❤️ สีแดง = ความรัก
💜 สีม่วง = มีความต้องการทางเพศ
💛 สีเหลือง = ฉันสนใจเธอ แล้วเธอล่ะ?
💗 สีชมพู = ฉันสนใจเธอ แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์
🧡 สีส้ม = เธอจะโอเคนะ
🫘 Kidney Bean
อีโมจิถั่วแดง ก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนตัวเองของ Incel เช่นกัน เป็นไปได้ว่ามีความคล้ายกับเมล็ดกาแฟ ซึ่งมีมนี้ได้รับความนิยมในแพลตฟอร์มอย่าง 4Chan และ Reddit ถูกใช้เพื่อล้อเลียนผู้หญิงและเสริมสร้างภาพจำเชิงลบเกี่ยวกับเพศหญิง

กฎ 80/20 คืออะไร?
80/20 Rule หรือกฎพาเรโต (Pareto Principle) ที่ถูกใช้ใน Incel และ Redpill Community นั้น เป็นการบิดเบือนกฎพาเรโต ที่เป็นกฎจากวิชาเศรษฐศาสตร์และการบริหารธุรกิจ
ต้นฉบับของกฎพาเรโตมาจาก วิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Pareto) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี เขาพบว่า 80% ของผลลัพธ์มาจาก 20% ของสาเหตุ เช่น
– 80% ของความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ที่ 20% ของประชากร
– 80% ของยอดขายมาจาก 20% ของลูกค้า
– 80% ของปัญหามาจาก 20% ของข้อผิดพลาด
แต่ในกลุ่ม Incel และ Redpill พวกเขานำไปใช้กับความสัมพันธ์ โดยอ้างว่า 20% ของผู้ชาย (Chads) ได้ 80% ของผู้หญิง ในขณะที่ผู้ชายที่เหลือ 80% ต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงผู้หญิงเพียง 20% ที่เหลือ
ซึ่งจริงๆ แล้วกฎ 80/20 ใช้วิเคราะห์แนวโน้มในข้อมูลธุรกิจหรือเศรษฐศาสตร์ ไม่เหมาะกับการนำมาอธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีความซับซ้อนและไร้กฎเกณฑ์ ซึ่งมันอาจนำไปสู่การเหมารวมได้
เพราะฉะนั้นกฎ 80/20 ที่เราได้เห็นในซีรีส์ Adolescence เป็นแนวคิดที่ผิดเพี้ยนจากกฎพาเรโต มันถูกใช้เพื่อสร้างแนวคิดว่า ‘ผู้ชายธรรมดาไม่มีโอกาส และความรักเป็นเกมที่มีแต่คนแพ้‘ ซึ่งเป็นแนวคิดที่อันตรายและลดทอนคุณค่าของความสัมพันธ์มนุษย์ในความเป็นจริง

Adolescence เป็นซีรีส์ที่สร้างจากเรื่องจริง?
Adolescence เป็นเรื่องแต่ง แต่ก็อ้างอิงได้จากหลายเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ Incel Subculture เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา แนวคิด Incel ได้รับความสนใจจากสื่อและสังคม เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมความรุนแรงหลายครั้ง เหล่านี้คือเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง
เหตุการณ์กราดยิงที่แคลิฟอร์เนีย (2014):
อิลเลียต โรดเจอร์ (Elliot Rodger) วัย 22 ปี ได้ก่อเหตุแทงและกราดยิง จากนั้นเขาจบชีวิตตัวเองเพราะความเกลียดชังผู้หญิง เขาเป็นลูกของครอบครัวผู้สร้างภาพยนตร์ แม้จะถูกพ่อแม่ละเลย แต่เขาก็เติบโตมาอย่างร่ำรวย เขาส่งเอกสาร 141 หน้า และโพสต์ยูทูบที่อธิบายให้เห็นถึงมูลเหตุแห่งการกระทำ ถึงอย่างนั้น เขาถูกเรียกว่าเป็นราชาของ Incel
เหตุการณ์ขับรถชนในโทรอนโต (2018):
ชายคนหนึ่งขับรถตู้พุ่งชนคนเดินถนน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บอีกหลายคน ก่อนเกิดเหตุ เขาได้โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียที่สนับสนุนกลุ่ม Incel และแสดงความเกลียดชังต่อผู้หญิง
เหตุกราดยิงที่โรงเรียนในแนชวิลล์ (2025):
โซโลมอน เฮนเดอร์สัน (Solomon Henderson) วัย 17 ปี ยิงนักเรียนหญิงวัย 16 ปี ก่อนจะยิงตัวเองเสียชีวิตในโรงเรียนมัธยม Antioch เมืองแนชวิลล์ สหรัฐอเมริกา จากการสืบสวนพบว่าเฮนเดอร์สันโพสต์ข้อความออนไลน์ที่แสดงความเกลียดชัง และระบุว่าตนเองเป็น Incel เขายังแสดงความคิดเหยียดเชื้อชาติและยิว โดยได้รับอิทธิพลจากฟอรัมออนไลน์ที่มีแนวคิดสุดโต่ง

ครอบครัวฆาตกรจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร?
ประเด็นหนึ่งที่สำคัญและหลายคนอาจไม่เคยมองเห็น คือการใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรของครอบครัวฆาตกร พวกเขาจะก้าวข้ามความเจ็บปวดเหล่านั้นไปได้อย่างไร ซึ่งซีรีส์ Adolescence ก็ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้จะพยายามเดินต่อไปข้างหน้า แต่คนในสังคมกลับไม่ได้ให้โอกาสพวกเขาเท่าไรนัก เพราะถูกตราหน้าไปแล้วว่าเป็นครอบครัวฆาตกร แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ลงมือทำเหตุแสนเศร้าเหล่านั้นก็ตาม
ฉากที่พ่อร้องไห้แทบขาดใจในช่วงท้ายของซีรีส์ คงสะท้อนความรู้สึกหลากหลายที่ท่วมท้นอยู่ในใจ ความรู้สึกผิดที่เลี้ยงลูกมาไม่ดี ความรู้สึกเสียใจที่จะพยายามใช้ชีวิตต่อไปก็ยากลำบาก ไหนจะต้องแสดงความเข้มแข็ง เป็นผู้นำครอบครัว และเหนืออื่นใด ความรู้สึกแตกสลายเมื่อลูกชายไม่ยอมรับความจริงกับเขา
Adolescence เป็นซีรีส์ที่นำเสนอปัญหาสำคัญมากในโลกทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลของวัฒนธรรม Incel ต่อเยาวชน มันแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกของการถูกทอดทิ้งหรือการไม่สามารถเชื่อมต่อกับคนอื่นได้มีผลต่อสุขภาพจิตและพฤติกรรมของวัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลที่การเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ผ่านออนไลน์กลายเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาความสัมพันธ์ หรือแม้แต่การเข้าใจตัวเองและโลกภายนอก
เพราะบางครั้ง เรามั่นใจว่าเลี้ยงลูกมาดีที่สุดแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าผลลัพธ์จะออกมาดีเสมอไป ขณะเดียวกันเราอาจเลี้ยงลูกมาแบบไม่รู้อะไรเลย แต่กลายเป็นว่าเขาหรือเธอนั้นเติบโตมาอย่างดี
และในฐานะพ่อแม่ที่ในสายตาพวกเขามองเห็นลูกที่ยังแค่อายุ 13 วันๆ ไปโรงเรียน กลับบ้านมาก็อยู่แต่หน้าคอม ไม่ได้มีอะไรผิดสังเกตเลย จะให้เขาทำใจยอมรับได้อย่างไร เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น นอกจากจะพูดออกมาจากสิ่งที่เห็นว่า “ลูกฉันเป็นเด็กดี”
ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้