ย้อนรอย โอลิมปิก ปี 1988 อีเวนต์ใหญ่ระดับโลกของเกาหลี ที่ปรากฏใน Reply 1988 และ Seoul Vibe l แอบรู้หลังดูซี

จาก Reply 1988 มาจนถึง Seoul Vibe ที่กำลังจะได้ชมพร้อมกันในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ เป็นอีกครั้งที่เราจะได้เห็นเรื่องราวของมหกรรม ‘โอลิมปิก ปี 1988’ ที่ปรากฏขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ แต่กว่าจะกลายมาเป็นอีเวนต์ใหญ่ระดับโลกอย่างที่เห็น จริงๆ แล้วช่วงเวลานั้นในเกาหลีเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตามมาเลกเชอร์กันแบบละเอียดยิบได้ในเอพิโสดนี้

olympics-seoul-1988

มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิก เกาหลีใต้เป็นชาติที่ 2 ของเอเชียที่ได้จัดโอลิมปิกต่อจาก Tokyo 1964 โดยในปี 1981 เกาหลีใต้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงการเป็นเจ้าภาพ โอลิมปิก ปี 1988 ซึ่งต้องแข่งกับประเทศญี่ปุ่นที่มีความพร้อมมากกว่าในทุกด้าน โดยญี่ปุ่นเสนอ Nagoya 1988 เกาหลีเสนอ Seoul 1988 การจัดโอลิมปิกในครั้งนั้นถือเป็นความสำเร็จของเกาหลีที่แสดงให้เห็นว่าประเทศที่เคยผ่านสงครามแบ่งแยกประเทศมาแล้ว 35 ปี ได้มีการพัฒนาและพร้อมที่จะต้อนรับความสัมพันธ์กับทุกประเทศ

ย้อนกลับไป 1 ปีก่อนการคัดเลือกเจ้าภาพในปี 1980 เกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู (Gwangju Uprising) จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเกือบ 4,000 คน ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ถูกมองในแง่ลบ ประเด็นทางการเมืองถูกใช้ถามถึงความเหมาะสมต่อการเป็นเจ้าภาพ

olympics-seoul-1988

ในยุค 50-80 ภาพจำของชาวโลกต่อเกาหลีไม่ดีเท่าไหร่ เพราะมีทั้งสงครามแบ่งแยกประเทศ สงครามเย็น เผด็จการทหาร การปราบปรามนักศึกษาและการยิงแก๊ส  ทำให้ทางรัฐบาลทหารเกาหลีคิดกันหนักมากว่าจะโชว์อะไรให้ทั้งโลกดู เพราะมันไม่มีอะไรเลยนอกจากสงครามและม๊อบที่กวางจู ดังนั้นรัฐบาลจึงเห็นว่าการจัดมหกรรมกีฬานี่แหละเป็นวิธีแสดงให้โลกเห็นว่าเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศทันสมัยในสายตาประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก ทำให้เกิด Asian Games 1986 และ Summer Olympics 1988

อย่างไรก็ดี สุดท้ายด้วยแรงกดดันต่างๆ ประธานาธิบดีชอนดูฮวาน ต้องยอมคืนอำนาจให้กับประชาชน และจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในเดือนธันวาคม ปี 1987 และเปลี่ยนประเทศให้เป็นประเทศประชาธิปไตยในที่สุด ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวก็คือ โนแทอู และเป็นผู้ทำพิธีเปิดงานโอลิมปิกครั้งนี้ด้วย

การสร้างสรรค์ผลงานศิลป์ของเจ้าภาพ โอลิมปิก ปี 1988

งานออกแบบหลักๆ ตัวของโลโก้ถูกเตรียมตัวกันมาตั้งแต่สมัยของชอนดูฮวานแล้ว มันจึงไม่มีอะไรมากตามสไตล์เผด็จการทหาร โดยเน้นความเป็น ‘ชาติเกาหลี’ โลโก้ได้แรงบันดาลใจมาจากสัญลักษณ์ ซัมแทกึก (삼태극) กล่าวคือเป็นสัญลักษณ์เชิงปรัชญาที่เกาหลีได้รับมาจากสัญลักษณ์ในลัทธิเต๋าของจีนอีกที คล้ายๆ หยิน-หยาง สื่อถึงสมดุลในธรรมชาติอันเป็นสัจธรรมสูงสุด มี 3 สี ได้แก่ สีแดงคือโลก สีน้ำเงินคือสวรรค์ สีเหลืองคือมนุษย์ และนำมาออกแบบลายประยุกต์เอาทั้ง 3 สีเชื่อมเข้าหากัน 

ในส่วนของสีที่ใช้หลักๆ ในโปสเตอร์ก็จะเป็นประจำชาติคือ แดง น้ำเงิน ภาพของนักวิ่งที่ถือคบเพลิงโอลิมปิกเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าของมนุษยชาติ ความสุข และความเจริญรุ่งเรือง เป็นไปตามคติของงานที่ว่า ‘Harmony and Progress’ (화합과 전진)

มาสคอต ใช้เป็นสัตว์ประจำชาติอย่าง โฮรางงิ (호랑이) หรือเสือ ชื่อ ‘โฮโดริ’ ใส่หมวกซังโม (상모) ซึ่งแฟนซีรีส์พีเรียดน่าจะคุ้นเคยกันดี โดย ‘โฮ’ มาจากรากศัพท์จากตัวฮันจา หมายถึงเสือ ส่วน ‘โดริ’ มาจากชื่อของเด็กผู้ชายทั่วไปในเกาหลี

olympics-seoul-1988
olympics-seoul-1988

พิธีเปิดโอลิมปิกปี 1988 ที่โลกไม่มีวันลืม

พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงโซลเมื่อปี 1988 คือครั้งสุดท้ายที่จัดพิธีดังกล่าวในตอนกลางวัน และเป็นที่จดจำในเรื่อง ‘นกพิราบ’ ที่ถูกนำมาปล่อยให้โบยบินในพิธีเปิดทุกครั้งก่อนหน้านั้น เพื่อเป็นตัวแทนของสันติภาพ แต่ที่โซลกลายเป็นโศกนาฏกรรมเมื่อนกไปเกาะบนกระถางคบเพลิงขณะที่อดีตนักกีฬาของเกาหลีจุดไฟ ทำให้โดนย่างสดออกอากาศ ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจและต้องยุติการปล่อยนกพิราบตั้งแต่โอลิมปิกปี 1992 เป็นต้นมา

และอีกไฮไลต์หนึ่งของงานจะที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการเชิญคบเพลิง โดยบุคคลที่เป็นตัวแทนชาติเกาหลีมาเชิญคบเพลิงในครั้งนี้คือ ‘ซนกีจอง’ นักกีฬาวิ่งมาราธอน วัย 76 ปี เขาเป็นนักกีฬาเกาหลีคนแรกที่ได้รับเหรียญทองโอลิมปิกจากการแข่งขันวิ่งมาราธอน ที่กรุงเบอร์ลิน ปี 1936 แต่ทว่าตอนนั้นเขาได้วิ่งในเสื้อทีมของ ‘ญี่ปุ่น’ เพราะขณะนั้นเกาหลียังตกอยู่ในอาณานิคมของญี่ปุ่นอยู่นั่นเอง

olympics-seoul-1988

นอกจากนี้การแสดงอื่นๆ ก็เป็นที่พูดถึงไม่แพ้กัน เช่น การแสดงเทควันโดอันพร้อมเพรียง การแสดงพื้นบ้านโคซาอุมโนรี (고싸움놀이) ที่น่าตื่นเต้น และการกระโดดร่มของกลุ่มนักดิ่งเวหาที่เกาะกันเป็นห่วงห้าสีของโอลิมปิกบนน่านฟ้าอย่างสวยงาม

สำหรับประเทศไทย ผู้ที่เข้าร่วมพิธีเปิดนอกจากจะมีนักกีฬาทั้ง 16 คนแล้ว ก็ยังมีรองนายกรัฐมนตรี พลเอก เทียนชัย สิริสัมพันธ์ และปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก Miss Universe 1988 คนที่ 2 ของไทยไปร่วมงานด้วย

บทเพลงที่เป็นเพลงประจำการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้คือ ‘Hand in Hand’ (손에 손 잡고) ซึ่งมีทั้งเวอร์ชันที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาเกาหลี ขับร้องโดยวง Koreana ด้วยทำนองที่ไพเราะ ชวนติดหู และเสียงของนักร้องอันทรงพลัง ทำให้เพลงนี้ดังเป็นพลุแตก ติดท็อปชาร์ตกว่า 17 ประเทศ มียอดขายอัลบั้มกว่า 12 ล้านแผ่นทั่วโลก อีกทั้งยังมีการนำไปแปลหรือคัฟเวอร์ในภาษาอื่นๆ อีกด้วย ถือเป็นหนึ่งในเพลงประจำโอลิมปิกที่ดังที่สุดเลยก็ว่าได้ แถมในปัจจุบันก็ยังมีนักร้องยังหยิบเพลงนี้มาร้องอยู่บ่อยครั้ง เช่น วง I.O.I วงเซอร์ไววัลแห่งชาติเกาหลี ที่นำมารีเมคและปล่อยให้ฟังในปี 2016 เรียกได้ว่าเป็นเพลงระดับตำนานสุด ๆ เพลงหนึ่งเลย

olympics-seoul-1988

 FUN FACTS

– ในปี 1986 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้เจรจากับเกาหลีเหนือและใต้ ถึงการรวมประเทศเพื่อส่งนักกีฬาแข่งขันเป็นทีมเดียวกัน แต่ข้อเรียกร้องของเกาหลีเหนือที่ต้องการจัดพิธีเปิดและปิด รวมถึงจัดแข่ง 11 กีฬาในฝั่งเหนือไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้สุดท้ายเกาหลีใต้จึงเป็นเจ้าภาพทั้งหมด ทำให้เกาหลีเหนือเลือกที่จะบอยคอตการแข่งขัน และไม่ส่งทีมมาร่วมแข่ง

– สิ่งปลูกสร้างช่วงโอลิมปิกที่ต่อมาได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อน เช่น สนาม Jamsil Sports Complex สวน Olympic Park ประตู World Peace Gate ซึ่งเบื้องลึกเบื้องหลังก็มาจากการปรับทัศนียภาพ โดยรื้อถอนอาคารบ้านเรือนที่ทรุดโทรม จับคนไร้บ้านที่อยู่กันเป็นสลัมให้ย้ายออกไปจากบริเวณสำคัญที่ต้องวิ่งคบเพลิงผ่าน แบนการบริโภคเนื้อสุนัขในหลายๆ เมืองที่จัดแข่งกีฬา และยังมีการออกกฎเฉพาะกาล ห้ามรวมกลุ่มประท้วงในช่วงเวลานั้นอีกด้วย

– กีฬาเทควันโด ถูกบรรจุเป็นกีฬาสาธิตครั้งแรก ก่อนที่จะได้จัดแข่งขันจริงครั้งแรกในโอลิมปิก ปี 2000 ที่ซิดนีย์ นอกจากนี้ยังมีแบดมินตัน เบสบอล และโบว์ลิ่ง ที่เป็นกีฬาสาธิตในโอลิมปิก ปี 1988 เช่นกัน

– จากผลการแข่งขันทั้งหมด เกาหลีได้อันดับ 4 รวม 12 เหรียญทอง ได้มากสุดจากกีฬายิงธนู 3 เหรียญทอง ส่วนอันดับ 1 เป็นของสหภาพโซเวียต 55 เหรียญทอง และเป็นครั้งสุดท้ายที่สหภาพโซเวียตแข่งขัน ทั้งนี้ ปีนั้นประเทศไทยก็คว้า 1 เหรียญทองแดงจากกีฬามวยสากลของผจญ มูลสัน 

ดูซีรีส์ให้ซีเรียส อยากชวนทุกคนมาดูภาพยนตร์เรื่องใหม่จากเกาหลีเรื่อง Seoul Vibe: ซิ่งทะลุโซล ซึ่งเป็นแนวแอ็กชัน อาชญากรรม เล่าเรื่องราวของการไล่ล่าสุดระทึกของกลุ่มนักซิ่งรถที่ไปพัวพันกับการลักลอบขนเงินผิดกฎหมายในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก ปี 1988 ณ กรุงโซล  นำแสดงโดย ยูอาอิน โกคยองพโย อีคยูฮยอง พัคจูฮยอน และองซองอู นับว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่น่าจับตาดูในครึ่งปีหลังนี้เป็นอย่างมาก จ่อคิวฉาย 26 สิงหาคมนี้ทาง Netflix บอกเลยว่าห้ามพลาด

เรื่องโดย ธนภัทร จันทร์เหม
อ้างอิง: olympics.com, koreatimes.co.kr, mainstand.co.th, stadiumth.com

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้