Kkondae Intern ซีรีส์ที่สะท้อนสังคมการทำงานของเกาหลีใต้
Kkondae Intern เป็นซีรีส์ตลกที่เสียดสีสังคมได้เจ็บปวดและรู้สึกโหวงๆ บางอย่างในใจ กับเรื่องของ ‘คายอลชาน’ ที่ได้งานในบริษัทรามยอน เขาเป็นคนเก่ง มีเซนส์ดี แต่ ‘อีมันชิก’ หัวหน้างานในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปไม่เวิร์ก เพราะความที่เป็นบริษัทยุคเก่าที่ระบบอาวุโส ชายเป็นใหญ่ ระบบอำนาจ และการเมืองยังเข้มข้น ทำให้น้องใหม่ในทีมกลายเป็นกระสอบทราย รับทุกอย่างไปเต็มๆ
สุดท้ายยอลชานเลือกลาออก และสิบปีล้างแค้นยังไม่สาย เขาไปทำงานบริษัทจุนซูฟู้ด เติบโตแบบก้าวกระโดด และสุดท้ายก็ได้เป็นหัวหน้างานให้กับมันชิก คนที่เคยบีบเขาออกในตอนนั้น!
ครึ่งแรกของอีพี 1 ย้อนไปในปี 2015 ที่ทำให้เราเห็นว่าการทำงานในสังคมคนเกาหลีมันเครียด กดดัน เต็มไปด้วยเรื่องการเมืองภายในบริษัท ตำแหน่งผู้บริหารตกอยู่ในมือเจน Baby Boomer ที่ทำงานแบบถวายหัวให้กับบริษัทเดียวยาวนาน หน้าที่ของพวกเขาคือทำงานหาเงินเพื่อครอบครัว
แต่เมื่อซีรีส์เดินทางไปถึงครึ่งหลังในอีพี 1 เวลาก็ผ่านมาถึงปี 2020 ระบบการบริหารของบริษัทต่างๆ ถูกเปลี่ยนผ่านสู่คนรุ่นใหม่ คนเจน X และ Y ขึ้นมาเป็นผู้บริหารเต็มตัว ส่วนเหล่า Baby Boomer ก็อย่างที่เห็นในซีรีส์ คือถูกลดคุณค่าความสำคัญ กลายเป็นเพียงคนแก่หัวโบราณที่ทำงานโดยไม่เปลี่ยนไปตามโลก มันค่อนข้างเจ็บที่ได้เห็นฉากการไปสมัครงานในวัย 50-60 ซึ่งสุดท้ายกระทั่งแข่งสอบเป็น รปภ. ก็ต้องลองไปทำดู
ตรงนี้ทำให้ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส เข้าใจคำว่า Kkondae Intern ได้แจ่มแจ้ง ชื่อเรื่องซีรีส์ที่ใช้คำสแลงในภาษาเกาหลี แปลว่าคนแก่หัวโบราณที่ใช้กรอบความคิดตัวเองตัดสินคนอื่น
อย่างหนึ่งที่ซีรีส์สะท้อนเห็นชัดก็คือในสังคมเกาหลีใต้ การจะได้งานบริษัทเป็นเรื่องที่ยากเย็นเหลือเกิน และเมื่อเข้าไปทำแล้วก็ต้องยอมทุกอย่างเพื่อให้ป้ายพนักงานยังมีแขวนคอ ทั้งก้มหัวให้ระบบเจ้านายเผด็จการ ทำงานแต่เช้าเลิกดึก อุทิศเวลาทั้งหมดให้ หรือกระทั่งไปช่วยเจ้านายจัดการเรื่องส่วนตัวต่างๆ เช่น ช่วยลูกชายทำงานประดิษฐ์ส่งครู ไปเคลียร์ปัญหาดราม่าของบริษัท ทั้งที่ธุระและตำแหน่งก็ไม่ใช่
นอกจากนี้เรายังได้เห็นรูปแบบสังคมที่คล้ายคลึงกันในเมืองใหญ่ทั่วโลก คือการที่วัยหนุ่มสาวเริ่มต้นทำงานในเมืองใหญ่ แต่ต้องเช่าหอพักราคาถูกเพราะรายได้ไม่พอกิน ขณะเดียวกันยังสะท้อนรูปแบบชีวิตเจน Baby Boomer ที่จงรักภักดีกับบริษัทที่ทำงาน ค่อยๆ ไต่เต้าจากพนักงานตัวเล็กๆ ทุ่มเทชีวิตให้ร้อยเปอร์เซ็นต์
อย่างที่ในซีรีส์ มันชิกเองยังบอกว่าเมียคลอดลูกสองคน แม่เสียชีวิต เขายังไม่ไปอยู่ข้างๆ ครอบครัว แต่เลือกอยู่ทำงานให้บริษัท เพราะ “บริษัทขาดเขาไม่ได้” การที่ใช้ทั้งชีวิตทำงานให้บริษัทเดียวกลายเป็นดาบสองคมให้เขาฝังหัวกับการทำงานของตัวเองที่ดีที่สุดแล้ว และมองข้ามความคิดเห็นอื่นที่แตกต่าง
แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน การทำงานทุกวันนี้ที่ทุกอย่างซิงก์กับออนไลน์ ข้อมูลทุกอย่างตามหาได้ง่าย เป็นระบบ แทบจะทุกองค์กรก็ไม่จำเป็นที่ต้องอาศัยใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป องค์กรดิจิทัลใหญ่ๆ ทั่วโลกมี Turnover สูงขึ้นมาก ด้วยความที่ผู้คนแสวงหาความรู้ใหม่ๆ กับองค์กรใหม่ๆ
ขณะเดียวกันบริษัทก็ได้รับพลังงานใหม่ๆ สร้างงานอยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้คนอย่างมันชิกสูญเสียคุณค่าของตัวเองลงไปทันที และในซีรีส์เราได้เห็นพนักงานที่ทำงานมา 20 ปีต้องลาออกในวัยใกล้เกษียณ และจากผู้จัดการทั่วไปก็ไม่มีโอกาสเลือกงานอะไรใหญ่โตได้อีกแล้ว
ซีรีส์สะท้อนความจริงในสังคมได้อย่างน่าเจ็บปวด เพราะไม่ใช่แค่ในเกาหลี แต่กระทั่งบริษัทในประเทศไทยที่มีอายุยืนยาวมากมายก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นกัน ก็คือการที่เจเนอเรชัน Baby Boomer ผู้เป็นคนก่อร่างสร้างธุรกิจ แม้ว่าจะเคยเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่มากมายในช่วงเวลานั้น แต่เมื่อมาถึงปี 2021 พวกเขากลับกลายเป็นพนักงานอาวุโส ซึ่งคนรุ่นใหม่มองว่าไม่ทันโลก ไม่เข้าใจเทคโนโลยี ไม่รู้จักปรับตัวให้การเปลี่ยนแปลง
เชื่อว่าซีรีส์จะทำให้เรามองเห็นช่องว่างระหว่างวัย ความรุ่งโรจน์ของแต่ละช่วงวัย และรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คู่ไปกับเส้นเรื่องเชิงคอเมดี้ระหว่างมันชิกจากเจน Baby Boomer และยอลชานจากเจน Y ท้ายที่สุดก็ทำให้เห็นว่าแต่ละเจเนอเรชันล้วนมีความสำคัญ เพียงแค่ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สง่างามของเจเนอเรชันไหน