law-of-karma

Karma กฎแห่งกรรม ยุติธรรมจริงไหม วิเคราะห์ชีวิตจริงโดยอ้างอิงซีรีส์

ซีรีส์ Karma หรือชื่อภาษาไทย อุบัติกรรม ตรงความหมายของ กรรม = การกระทำ ที่มีทั้งดีและชั่ว ซึ่งในซีรีส์จะพาเราไปติดตามเรื่องราวของทุกตัวละครที่ต่างพบกับทางเลือกและการตัดสินใจที่จะทำอะไรบางอย่าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตามมา เพราะทันทีที่เห็นแก่ตัวเองเป็นที่ตั้ง ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง เราก็เหมือนโดนฉุดให้เข้าไปในกงเกวียนกำเกวียนนั้นแล้ว

ซึ่งเอาจริงๆ เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน Karma อุบัติกรรม ก็ล้วนมาจากชีวิตจริง ข่าวจริงที่เราได้เห็นอยู่หน้าสื่อจนแทบจะเคยชิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้นอกระบบ ลงทุนคริปโตฯ ตามเจ้าแล้วเจ๊ง คดีเมาแล้วขับ ชนแล้วหนี การฆ่าหวังเงินประกัน คดีแย่งชิงมรดก ฯลฯ หรือถ้าตามข่าวช่วงนี้ เหล่าคนดูอย่างเราๆ ก็อยู่ใน กฎแห่งกรรม ไม่ต่างกัน 

เพราะฉะนั้น Karma จึงเป็นเหมือนซีรีส์ที่จำลองสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้จริงในชีวิตคนเรา มาขยายความต่อถึง ‘เหตุและผล’ จากการตัดสินใจกระทำบางสิ่งบางอย่างที่ส่งผลกระทบไปยังผู้คนอื่นๆ ล้มระเนระนาดเป็นลูกโซ่

แนะนำ 6 ชีวิตที่ถูกโยงกันไว้ในอุบัติกรรม

ซีรีส์เรื่องนี้เป็นงานทริลเลอร์ที่เต็มไปด้วยการหักมุมและปมปริศนาที่คาดเดาอะไรไม่ได้เลย ไม่ใช่แค่เรื่องราวที่เข้มข้น แต่ทุกตัวละครต่างมีอดีตและความลับที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาในแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

✨พัคแฮซู รับบทเป็นชายที่ดันไปพบเห็นเหตุการณ์ลึกลับ และต้องยอมรับข้อตกลงที่อันตราย

✨ชินมินอา เป็นหมอที่ถูกอดีตตามหลอกหลอน จนได้พบใครบางคนที่เชื่อมโยงกับความทรงจำในอดีตของเธอ

✨อีฮีจุน ตัดสินใจเสี่ยงลงทุนกับคริปโตฯ โดยใช้เงินที่กู้ยืมมา แต่กลับพบว่าตัวเองติดกับดักของหนี้สิน

✨คิมซองกยุน ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม และเลือกทำงานใหม่ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง

✨อีกวางซู แพทย์แผนโบราณที่ชีวิตพลิกผันจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรม

✨กงซึงยอน แฟนสาวของเขา ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันด้วยเช่นกัน

law-of-karma

จากเหตุการณ์และกฎหมายจริง กรณีเมาแล้วขับรถ ปมเหตุแห่งกรรม 

เหตุการณ์ในซีรีส์ Karma อธิบายความเอาจริงเอาจังของกฎหมายเมาแล้วขับที่เรียกได้ว่าที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ซึ่งทำให้ตัวละครในซีรีส์ตัดสินใจทำอะไรที่ยิ่งผิดพลาดไปกันใหญ่

ในประเทศเกาหลีใต้ การขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมาเป็นความผิดที่มีบทลงโทษรุนแรง โดยกฎหมายได้กำหนดระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด (Blood Alcohol Concentration – BAC) ที่อนุญาตไว้ที่ 0.03% ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ที่กำหนดไว้ที่ 0.08% 

BAC 0.03% หรือปริมาณแอลกอฮอล์ 0.03 ต่อเลือด 100 มิลลิลิตร เปรียบเทียบคร่าวๆ คือประมาณการดื่ม 1-3 แก้วเท่านั้นเอง (ขึ้นอยู่กับความสามารถของร่างกาย)

เพราะฉะนั้นสำหรับเกาหลีใต้แล้ว บทลงโทษสำหรับการขับขี่ขณะมึนเมามีความรุนแรงมาก ชนิดที่ว่าอาจจะเป็นตัวจบอนาคตของคนคนนั้นได้เลย

▪️BAC 0.03-0.08% โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 ล้านวอน
▪️BAC 0.08-0.2% โทษจำคุกตั้งแต่ 1-2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5-10 ล้านวอน
▪️BAC 0.2% ขึ้นไป โทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10-20 ล้านวอน
▪️หากผู้ขับขี่ปฏิเสธการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ จะถูกลงโทษเช่นเดียวกับผู้ที่มี BAC 0.2% ขึ้นไป
▪️การขับขี่ขณะมึนเมาที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เช่น ชนบ้าน หรือเสาไฟฟ้า ถือเป็นความผิดที่มีบทลงโทษรุนแรง โดยบทลงโทษจะพิจารณาจากระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (BAC) และความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงโดนระงับหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
▪️การขับขี่ขณะมึนเมาและก่อให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิต ถือเป็นความผิดร้ายแรง ตามกฎหมายที่แก้ไขในปี 2018 หรือที่เรียกว่า ‘กฎหมายยุนชางโฮ’ (Yoon Chang-ho Act) ได้กำหนดบทลงโทษขั้นต่ำ 3 ปี หรือโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต

หนี้นอกระบบ มาเฟียรถตู้ดำ ชำแหละอวัยวะ
แม้จะเป็นหนึ่งในประเทศที่เจริญแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ความยากจน ความฝืดเคืองทางการเงินก็ยังคงเป็นปัญหา รวมถึงเงินกู้นอกระบบที่ปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที แฟนซีรีส์เกาหลีคงคุ้นเคยกันอยู่แล้วกับบรรดาเรื่องราวที่ลูกหนี้ดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อหาเงินมาให้ดอกเบี้ยมหาโหด เช่นเดียวกับในซีรีส์ Karma 

ในอดีต เกาหลีใต้เคยมีปัญหาแก๊งอาชญากรรมที่แฝงตัวในวงการเงินเถื่อน การพนัน หรือธุรกิจสีเทา โดยเงินกู้นอกระบบถือเป็นหนึ่งในช่องทางที่ใช้ในการหาผลประโยชน์ 

วิธีการทำงานของมาเฟียเงินกู้นอกระบบที่เราอาจรู้ไว้ใช่ว่า เพราะที่ประเทศไทยก็ไม่น่าจะต่างกัน
1. ปล่อยเงินกู้ง่าย ดอกโหด
มาเฟียจะเสนอเงินกู้ให้กับคนที่ไม่มีทางเลือก เช่น คนจน ผู้ล้มละลาย หรือคนที่กู้ธนาคารไม่ได้ ไม่มีเอกสารยุ่งยาก ไม่ต้องค้ำประกัน แต่คิดดอกเบี้ยสูงมาก เช่น 30-50% ต่อเดือน

2. ข่มขู่ ใช้ความรุนแรงหากเบี้ยวหนี้
เริ่มจากโทรศัพท์ข่มขู่ ส่งคนมาตาม เขียนป้ายประจานหน้าบ้าน ถ้าลูกหนี้ยังไม่จ่าย อาจมีการทำร้ายร่างกายหรือคุกคามครอบครัว มีบางกรณีถึงขั้นบังคับให้ทำงานใช้หนี้ เช่น ค้าประเวณี หรือใช้แรงงาน

3. ใช้ ‘คนกลาง’ หรือหน้าเว็บไซต์เป็นฉากหน้า
มาเฟียไม่ค่อยโผล่หน้าเอง มักใช้คนอื่นเปิดเว็บไซต์นายหน้ากู้เงิน หรือปลอมตัวเป็นบริษัทปล่อยกู้ อาจมีตัวแทนเป็นนักเรียนนักศึกษาหรือผู้มีหน้าตาไม่น่าสงสัยมาทำหน้าที่ปล่อยกู้-เก็บหนี้

4. ฟอกเงิน เพื่อให้ตามคืนกลับมาได้ยาก 
เงินที่ได้จากดอกเบี้ยหรือกิจกรรมผิดกฎหมายจะถูก ‘ฟอก’ ผ่านธุรกิจที่ถูกกฎหมาย เช่น ร้านอาหาร คลับ คาราโอเกะ หรืออสังหาริมทรัพย์ ทำให้จับยาก และดูเหมือนเงินนั้นได้มาอย่างสุจริต

5. ขยายอิทธิพลด้วยการช่วยเหลือ
บางรายเริ่มต้นจากการช่วยเหลือคนในชุมชน เช่น ให้ยืมเงินยามลำบากโดยไม่เก็บดอกในตอนแรก แต่พอผูกพันหรือเสพติดความช่วยเหลือนั้นก็จะโดนดอกเบี้ยแบบซ่อนเร้น หรือเงื่อนไขโหดๆ

ถึงจะมีธุรกิจเงินกู้นอกระบบอยู่จริง และยังคงอยู่ ถึงอย่างนั้นทางรัฐบาลเกาหลีมีความพยายามในการแก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มบทลงโทษ โดยล่าสุดมีความพยายามผลักดันให้แก้ไขบทลงโทษของการทำความผิดด้านการเงินนอกระบบ โดยธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนจะมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี และปรับสูงสุด 500 ล้านวอน เพื่อสกัดกั้นการเงินที่ผิดกฎหมาย เพราะเมื่อมีการให้กู้เงินนอกระบบ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นการทำงานของกลุ่มอาชญากรหรือแก๊งมาเฟียเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการแสวงหาประโยชน์ทางเพศหรือการค้ามนุษย์ แลกกับการปลดหนี้ ซึ่งทางรัฐบาลกำลังปราบปรามอยู่ในตอนนี้

นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการให้หน่วยงานเอกชนจัดการบล็อกเนื้อหาการเงินผิดกฎหมาย เช่น การโฆษณาเงินกู้นอกระบบต่างๆ ได้ทันที รวมถึงการป้องกันไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้ารั่วไหลไปยังเหล่ามิจฉาชีพหรือผู้ให้กู้นอกระบบ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

law-of-karma

หลอกให้ฝันไว้สวยหรู กู้เงินมาลงคริปโตฯ แล้วเจ๊ง 

​ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้เผชิญกับหลายเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริษัทคริปโตฯ ที่ประสบปัญหาทางการเงินและการดำเนินงาน ซึ่งทำให้ผู้คนสูญเงินไปแบบหมดอนาคตมากมาย เชื่อได้ว่ากลายมาเป็นประเด็นที่เราได้เห็นในซีรีส์หลายเรื่อง รวมถึง Karma

1. การล่มสลายของ Terraform Labs นำไปสู่การจับกุม Do Kwon
ในปี 2022 บริษัท Terraform Labs ซึ่งก่อตั้งโดย โดควอน ได้ประสบปัญหาจากการล่มสลายของสกุลเงินดิจิทัล TerraUSD และ Luna ส่งผลให้มูลค่าตลาดสูญเสียไปประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ​

โดควอนได้หลบหนีออกจากเกาหลีใต้และถูกจับกุมที่มอนเตเนโกรในปี 2023 ต่อมาในเดือนธันวาคม 2024 เขาถูกส่งตัวไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อเผชิญข้อหาฉ้อโกงหลายกระทง และได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ​

2. การล้มละลายของ Delio และ Haru Invest
พฤศจิกายน 2024 ศาลในกรุงโซลได้ประกาศให้ Delio ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มฝากสินทรัพย์ดิจิทัลล้มละลาย หลังจากที่บริษัทหยุดการถอนเงินของลูกค้าและมีหนี้สินประมาณ 2.45 แสนล้านวอน (ประมาณ 1.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ​

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน Haru Invest ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มยีลด์คริปโตฯ ถูกศาลประกาศล้มละลาย หลังจากมีการฉ้อโกงมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ​

3. การระงับการดำเนินงานของ Upbit
มกราคม 2025 Upbit ซึ่งเป็นตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตฯ ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ถูกหน่วยงานกำกับดูแลตรวจสอบและอาจเผชิญกับการระงับการดำเนินงาน เนื่องจากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดกฎระเบียบการป้องกันการฟอกเงิน (AML) และการยืนยันตัวตนลูกค้า (KYC) ​

law-of-karma

ปีศาจวัยเยาว์ที่กลายเป็นฝันร้ายตลอดกาล

หนึ่งในตัวละครที่ได้รับผลกระทบทั้งที่ไม่ได้มีความผิดอะไร คือตัวละครที่คนดูซีรีส์ Karma น่าจะอินและเอาใจช่วยที่สุด นั่นคือตัวละครที่ความบริสุทธิ์ของเยาว์วัยถูกทำลายลงด้วยเหล่าปีศาจอายุไล่เลี่ยกัน 

จริงๆ แล้วเป็นเรื่องราวที่เราได้เห็นได้ยินในหน้าข่าวมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ไม่ว่าเวลาผ่านไปแค่ไหน มันก็ยังไม่เคยได้รับการแก้ไขให้หายไปจากโลกนี้ และจะยังถูกผลิตซ้ำในซีรีส์และภาพยนตร์ไปอีกนาน

ในเกาหลีใต้ มีปัญหาที่ยังเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชน แต่กลับได้รับโทษที่ไม่รุนแรง แม้จะกระทำความผิดร้ายแรง เช่น การข่มขืน 

▪️ข้อมูลจากศาลฎีกาเกาหลีใต้ระบุว่า ระหว่างปี 2017-2022 มีคดีอาชญากรรมร้ายแรงที่กระทำโดยเยาวชนอายุ 14-18 ปี จำนวน 18,084 คดี 
▪️แต่มีเพียง 3.1% หรือ 567 คดีเท่านั้น ที่ได้รับโทษทางอาญา 
▪️ส่วนที่เหลือ 96.9% ได้รับการจัดการผ่านมาตรการป้องกัน เช่น การบำบัดหรือการบริการสังคม ซึ่งไม่ส่งผลให้มีประวัติอาชญากรรม
▪️ในปี 2023 มีเยาวชนถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีอาชญากรรมทางเพศจำนวน 2,963 คน แต่มีเพียง 143 คน หรือ 4.8% เท่านั้นที่ถูกส่งไปยังสถานพินิจ ส่วนที่เหลือได้รับโทษที่เบากว่า เช่น การบำบัดหรือการบริการสังคม 

ระบบยุติธรรมของเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเยาวชนมากกว่าการลงโทษ โดยเยาวชนอายุ 10-13 ปีจะได้รับมาตรการป้องกันและไม่ถูกลงโทษทางอาญา แม้ว่าจะกระทำความผิดร้ายแรงก็ตาม ​

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าการลงโทษที่เบาอาจไม่เพียงพอในการยับยั้งการกระทำผิดของเยาวชน และอาจส่งผลให้ผู้กระทำผิดไม่สำนึกผิดหรือไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

เรื่องราวที่เกิดขึ้นและจบไปในซีรีส์ Karma จึงเหมือนเป็นการบอกเป็นนัยบางอย่างผ่านมุมมองของคนที่ทำผิด คนที่ถูกกระทำ หรือคนธรรมดาที่วันหนึ่งต้องอยู่ตรงทางเลือกระหว่างดี-ชั่ว ยิ่งดูซีรีส์ มันก็ยิ่งเชื่อมโยงพวกเขาทั้งหมดเข้าด้วยกัน รวมถึงคนดูอย่างเราด้วยที่ติดตามเส้นเรื่องแบบพาเราไปขึ้นสวรรค์ แล้วลงทัวร์นรก ก่อนพากลับมาโลกมนุษย์ ให้คิดเอาเองว่าจะกระทำกรรมดีหรือกรรมชั่วต่อจากนี้

ที่สำคัญ การเล่าเรื่อง การผูกโยงเรื่องเก่งมาก ตัวละครวางมาไม่ทิ้งขว้างไว้กลางทาง เก็บละเอียดแบบที่แฟนดูซีรีส์ให้ซีเรียสจะชอบ ส่วนการแสดงไม่ต้องพูดถึง คือตัวจริง ตัวเทพ ตัวมารดากันทั้งนั้น โดยเฉพาะ 6 ตัวละครหลักที่ทำให้เราลืมผลงานก่อนหน้าเขาไปหมดเลย

เบื้องหลังงานสร้างระดับคุณภาพโดย อีอิลฮยอง ผู้กำกับจาก Remember และ A Violent Prosecutor เริ่มสตรีมแล้ววันนี้ ทาง Netflix

ติดตามเนื้อหาสนุกๆ ของ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้
Facebook: TheSeriousSeries.TH
Twitter: TheSeriousSerie
YouTube: The Serious Series
Website: Theseriousseries.com
สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษก่อนใครได้ที่ Link นี้